เหตุเพราะสไตล์ของเขาโดดเด่นกว่าของดีไซเนอร์คนไหนๆ ในทศวรรษ 1980s นับแต่นั้นมาดีไซเนอร์เชื้อชาติญี่ปุ่นจึงกลายเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตในวงการแฟชั่น ที่แม้จะล่วงเลยวัยทำงานมานาน แต่เขาไม่เคยคิดที่จะวางมือ

เคนโซ ทากาดะ (Kenzo Takada) ยังคงทำงานอย่างคร่ำเคร่ง อยู่กับทีมงานจำนวนไม่กี่คนของเขา ภายในอาคารเก่าหลังใหญ่บนถนน รู เดอ แซเฟรอะส์ ในเขต 6 ของกรุงปารีส เขาเพิ่งสร้างสรรค์น้ำหอมใหม่ให้กับบริษัทเครื่องสำอาง Avon เป็นกลิ่นถัดจากเดิมที่เขาเคยสร้างสรรค์มาก่อนหน้าเมื่อสามปีก่อน “ผมชอบทำงาน” เขาบอก

Life Colour เป็นชื่อของน้ำหอม และเป็นสิ่งเตือนความจำอีกอย่างหนึ่งว่า ชายที่ชื่อเคนโซ ทากาดะยังทำงานต่อไปอย่างอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับแบรนด์ Kenzo ที่ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเครือบริษัทหลุยส์ วิตตอง & โมเอต์ เฮนเนสซี (LVMH) โดยมีแครอล ลิม (Carol Lim) และอุมแบร์โต เลออง (Humberto Leon) รับผิดชอบฝ่ายสร้างสรรค์อยู่ “พวกเขายังเชิญผมไปดูโชว์อยู่ทุกครั้ง และแบรนด์ยังมีลมหายใจของคนหนุ่มสาวอยู่ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ” เคนโซ ทากาดะพูดเล่า “ช่วงแรกๆ หลังจากที่ผมออกจากแบรนด์มาเมื่อปี 1999 ผมยังรู้สึกแปลกๆ อยู่เวลาเดินผ่านหน้าร้าน” เขาหมายถึงชื่อแบรนด์ที่ยังคงเป็นชื่อของเขาอยู่

ปี 1964 เคนโซ ทากาดะนั่งเรือออกจากบ้านเกิดที่ญี่ปุ่น เดินทางมายังเมืองท่ามาร์เซย์ มีใบประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยบุงกะ งะกุเอ็น และเงินติดกระเป๋าอีกเล็กน้อย เขาโยกย้ายเข้าไปในกรุงปารีสตั้งแต่ปี 1965 “ตอนเริ่มแรกค่อนข้างลำบากหน่อย อากาศหนาวมาก ผมไม่รู้จักใคร และพูดภาษาฝรั่งเศสก็ไม่เป็น เงินก็แทบไม่มี ตอนนั้นผมไม่มีความสุขเลย” แต่แล้วหนุ่มญี่ปุ่นก็รังสรรค์คอลเล็กชันเดียวของเขาออกมา เป็นที่สะดุดตาของนักวิจารณ์ โดยเฉพาะเป็นที่ถูกใจของสื่อแฟชั่น

“เคนโซคือมหัศจรรย์แห่งสีสัน” โคลด บรูเอต์ (Claude Brouet) อดีตบรรณาธิการแฟชั่นของนิตยสารแอล-ซึ่งต่อมาเข้าไปรับผิดชอบไลน์เสื้อผ้าสำเร็จรูปของแบรนด์ Hermès-เคยเขียนถึงเขาอย่างชื่นชม ในฐานะดีไซเนอร์ ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก ว่างานออกแบบของเขาเป็นการผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก โดยใช้ศิลปะการตัดเย็บตามประเพณีตะวันออกกับวัสดุของตะวันตกที่หลากหลายสีสัน ทั้งที่ช่วงทศวรรษ 1970s ดีไซเนอร์ต่างชาติไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของสังคมแฟชั่นในปารีสเท่าใดนัก ‘เมืองหลวงแฟชั่น’ แทบจะเป็นโซนต้องห้าม และถูกจับจองไว้เฉพาะดีไซเนอร์ชื่อดังของฝรั่งเศสเท่านั้น

ห้าปีถัดมา ทากาดะกล้าที่จะก่อตั้งแบรนด์ Jungle Jap (onaise) ของตนเองขึ้น ตัวอักษรเขียนด้วยพู่กันและสีเป็นป่าฝน เขาเป็นหนึ่งในบรรดาดีไซเนอร์ที่ไม่ใช่เชื้อชาติฝรั่งเศสจำนวนไม่กี่คน และเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่สร้างแบรนด์ในปารีส แม้กระทั่งดีไซเนอร์อย่าง โยจิ ยามาโมโตะ (Yohji Yamamoto) อิซเซ มิยาเกะ (Issey Miyake) หรือเรอิ คาวาคุโบะ (Rei Kawakubo) ก็ยังตามมาภายหลัง

ภายหลังจัดแสดงผลงานแฟชั่นครั้งแรกแล้ว ทากาดะก็เริ่มจัดแสดงผลงานออกแบบเฉพาะกลุ่มในพื้นที่เล็กๆ พยายามก่อสัมพันธ์กับดีไซเนอร์คนอื่นๆ และจำหน่ายงานออกแบบแรกให้กับ Louis Feraud

เคนโซ ทากาดะ ลูกชายเจ้าของโรงแรมที่ยอมขัดใจพ่อแม่ สมัครเข้าเรียนในบุงกะ งะกุเอ็น สถาบันสอนแฟชั่นในกรุงโตเกียว เป็นนักศึกษาชายคนแรก ที่ได้สัมผัสและเรียนรู้ความประณีตของแฟชั่นญี่ปุ่น ซึ่งเขานำมาประยุกต์ใช้ที่กรุงปารีส ในรูปแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เขาตัดเย็บชุดกิโมโนด้วยผ้าทวีด ตัดเย็บโสร่งจากผ้าชีฟองโปร่ง หรือผ้าลายสก็อต รวบเสื้อคลุมตัวกว้างเข้ากับกางเกงทรงคับ

ความเป็นญี่ปุ่นของเขายังปรากฏเด่นชัดอยู่บ้างในช่วงแรก ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป แฟชั่นของเคนโซค่อยๆ กลืนสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน คล้ายกับวิถีชีวิตของเขา ความกลมกลืนนั้นมีความโดดเด่นตรงสีสันและลวดลายที่ฉูดฉาด เขาผสานลวดลายโค้งเข้ากับลายตาราง หรือลายดอกไม้สีสด ดอกเชอร์รีสีชมพูเข้ากับดอกกุหลาบสีแดง เป็นการพบกันของสีชมพูกับแดง ส้มกับเหลือง ทั้งยังมีสีเขียวสดกับฟ้าคราม เคนโซรังสรรค์ Ethno Look ได้อย่างโดดเด่น ก่อนที่ชื่อของเขาจะปรากฏในโลกแฟชั่นด้วยซ้ำ

เคนโซ ทากาดะประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น หลังจากมีร้านเป็นของตนเองแล้ว ก็ตามมาด้วยคอลเล็กชันเสื้อผ้าบุรุษ น้ำหอม โฮมแวร์ สไตล์ของเขาผิดแผกไปจากแนวแฟชั่นที่คล้ายจะล้นทะลักในช่วงทศวรรษ 1980s และค่อยๆ ปรับเข้าสู่สไตล์คลาสสิกในยุคทศวรรษ 1990s ทำให้แบรนด์ Kenzo ยืนหยัดในวงการแฟชั่นโลกจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 และตัวเขาเองก็กลายเป็นตำนาน

“เสื้อผ้าของเขาทำให้ผู้คนมีความสุข” อิซเซ มิยาเกะเคยกล่าวถึงเพื่อนร่วมชาติและวงการอย่างชื่นชม

หลังจากเขาขายกิจการให้กับ LVMH แล้ว ในปี 1999 เขารังสรรค์งานโชว์เป็นครั้งสุดท้ายในปารีส ก่อนโบกมือลาจากแบรนด์ Kenzo อย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดทางให้จิลส์ รอซิเยร์ (Giles Rosier) เข้ามารับช่วงต่อในไลน์เสื้อผ้าสตรี และรอย ไครแบร์ก (Roy Krejberg) รับผิดชอบคอลเล็กชันเสื้อผ้าบุรุษ

พ้นจากเวทีโชว์ที่คุ้นเคย เคนโซใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเขาในพื้นที่ใหม่ แต่ไม่ละมือจากแฟชั่นเสียทีเดียว เขายังทำงานออกแบบ อย่างเช่นเครื่องแต่งกายและเมคอัพให้กับโรงโอเปราที่บาสติลย์ เขายังเขียนรูป และในปี 2011 ได้ออกแบบตกแต่งภายในให้กับโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะมอริเชียส

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ผู้ก่อตั้งอาณาจักรแฟชั่นเล็กๆ แทบไม่ค่อยปรากฏตัวให้ใครเห็นบ่อยนัก จนถึงวันนี้ เคนโซ ทากาดะมีหน้าตาคล้ายคนวัย 59 มากกว่าใครที่ย่างเข้าวัย 80 ในขณะที่ธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือยย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านๆ มา

“ทุกวันนี้บางทีอาจจะง่ายกว่าในการทำให้แบรนด์ๆ หนึ่งมีชื่อเสียงขึ้นมา หรืออย่างน้ำหอม แฟชั่นปัจจุบันมีความเป็นศิลปะน้อยลง แต่ก็ยังคงเป็นศิลปะ เพียงแต่การจะทำให้เข้าถึงคนทั่วทั้งโลกได้นั้น ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยจะต้องตอบสนองต่อวัฒนธรรมที่หลากหลาย สำหรับผมแล้วนั่นคืองาน แต่ผมก็คิดว่ามันยังน่าสนใจอยู่”

ด้วยเหตุนี้เขาจึงยังทำงานต่อไป แม้จะด้วยขีดความเร็วที่แตกต่างจากเมื่อ 25 ปีก่อน นอกจากนั้นแล้ว ทากาดะยังใช้เวลาในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น เขาบอก “ผมอยู่ที่นั่นปีละหลายเดือน แต่ปารีสก็ยังคงเป็นฐานของผมอยู่ ผมเดินทางเยอะขึ้น มีความสุขกับการนวด เที่ยวชมนิทรรศการ และทำงานน้อยลง ไม่ทุกวัน แต่สม่ำเสมอ”

สำนักงานของเขาตั้งอยู่ไม่ไกล แค่ฝั่งตรงข้าม และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ยอมวางมือง่ายๆ

 

 

อ้างอิง:

Fact Box

  • ปี 1972 เคนโซได้รับรางวัล Fashion Editor Club of Japan
  • ปี 1984 ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ Ordre des Arts et des Lettres
  • ที่กรุงปารีส เคนโซ ทากาดะตัดเย็บเสื้อผ้าที่เขาออกแบบโดยใช้วัสดุจากตลาดขายของเก่า เนื่องจากเขาไม่มีเงินมากพอจะซื้อวัสดุราคาแพงได้
  • นอกจากผลงานแฟชั่นแล้ว เคนโซยังมีชื่อเสียงในการจัดแฟชั่นโชว์ ปี 1979 เขานำเสนอคอลเล็กชันในเตนท์ละครสัตว์ และให้นักขี่ม้าหญิงสวมชุดเครื่องแบบโปร่งใส เมื่อจบชุดฟินาเลแล้ว เขาเองขึ้นนั่งบนหลังช้างออกมาทักทายผู้ชม
Tags: , , , ,