เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นข่าวใหญ่ที่โดยทั่วไปแล้วคนไทยไม่ค่อยสนใจ หนึ่งเพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจนคนพลอยรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ สองคือความเชื่อว่าการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคไม่ได้ทำให้พรรคเปลี่ยนทิศอย่างมีนัยยะอะไร

โดยอุดมคติ หัวหน้าพรรคคือบุคคลซึ่งจะเป็นผู้นำพรรคในการชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ความเป็นจริงแล้วหลายพรรคมีหัวหน้าซึ่งมีบทบาทเป็นแค่ประธานที่ประชุมพรรค หรือไม่อย่างนั้นคือเป็นตัวแทนของคนนอกพรรคที่มีบารมี มีเงิน หรือมีสัมพันธ์กับผู้ก่อตั้งพรรคขึ้นมา

ม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา วราวุธ ศิลปอาชา คือคนสำคัญของพรรคแน่ๆ ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งใหญ่กว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยทุกคน เนวิน ชิดชอบ มีบารมีในพรรคภูมิใจไทยตลอดกาลเสมอ ส่วนหม่อมเต่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุลไม่มีวันมีความหมายต่อพรรคเมื่อเทียบกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ

ภาพรวมของพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่มีผู้นำซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง หัวหน้าจะเป็นใครจึงไม่ทำให้พรรคเปลี่ยนนัก เพราะถึงอย่างไร ผู้นำจริงๆ ก็เป็นคนเดิมแทบทั้งหมดตลอดเวลา

ท่ามกลางพรรคการเมืองที่มีนับไม่ถ้วนในปัจจุบัน พรรคที่ประกาศว่าหัวหน้าพร้อมเป็นนายกฯ มีไม่กี่พรรค และพรรคซึ่งหัวหน้ามีโอกาสเป็นนายกได้จริงๆ มีแค่สามราย เพราะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่) ต้องรอเวลา ส่วน ม.ร.ว.จัตุมงคล กับคุณไพบูลย์  เหมาะเป็นแค่นายกฯ ในจินตนาการ

เมื่อเทียบกับพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์คือพรรคที่การเปลี่ยนหัวหน้าจะมีผลต่อทิศทางพรรคหรืออนาคตประเทศที่สุด ส่วนหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะเป็นใครก็ไม่ทำให้พรรคเปลี่ยนทิศแน่ๆ เช่นเดียวกับภูมิใจไทยที่ไม่มีแม้วี่แววเปลี่ยนหัวหน้าจากคนปัจจุบัน

ภาพรวมของพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่มีผู้นำซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง หัวหน้าจะเป็นใครจึงไม่ทำให้พรรคเปลี่ยนนัก แต่ประชาธิปัตย์คือพรรคที่การเปลี่ยนหัวหน้าจะมีผลต่อทิศทางพรรคหรืออนาคตประเทศที่สุด

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นใคร ไม่ได้เป็นแค่เรื่องภายในของพรรค เพราะผลการเลือกจะชี้ว่า ใครเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ของประเทศ การเมืองจะเดินหน้าไปทางไหน รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นอย่างไร รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ทหารกับรัฐราชการจะครอบงำประเทศเกือบสิบปี

ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของรัฐประหาร คสช.

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเป็นกิจการภายในซึ่งสมาชิกตกลงกันเรื่องผู้นำ/นโยบาย พรรคที่สมาชิกเลือกหัวหน้าได้จึงมีโอกาสเกิดเหตุที่สมาชิก ‘ประลองกำลัง’ ว่าจะให้ใครนำพรรคไปทางไหน โดยเฉพาะในระบบการเมืองที่การตัดสินใจของพรรคส่งผลต่ออนาคตประเทศโดยตรง

ในเวลาที่ประชาธิปไตยเดินหน้าปกติ พรรคย่อมเลือกหัวหน้าจากคนที่มีโอกาสนำชนะเลือกตั้งที่สุด แต่ในเวลาที่เกิดการรัฐประหาร โจทย์ของการเลือกหัวหน้ามีโอกาสบิดเบี้ยว เป็นทำอย่างไรให้พรรคได้เป็นรัฐบาลในเวลาที่ทหารอยากสืบทอดอำนาจการเมือง

แม้ประเทศไทยจะมีรัฐประหาร 18 ครั้ง สูงเป็นอันดับสี่ของโลก เป็นรองแค่ซูดาน อิรัก และโบลิเวีย แต่พฤติกรรมคณะรัฐประหารแต่ละชุดไม่ได้เหมือนกันหมด เพราะรัฐประหารปี 2534 และ 2549 นั้นอายุสั้น ผู้ก่อรัฐประหารไม่ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล ซ้ำยังคืนอำนาจให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้งในเวลาอันสั้น

รัฐประหารเมื่อปี 2557 ทำลายบรรทัดฐานของรัฐประหารแบบปี 34 และ 49 เพราะครั้งล่าสุดนี้ หัวหน้า คสช.ตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะผู้ยึดอำนาจได้เป็นรัฐมนตรี จากนั้น ก็ตั้งพรรคที่มีสมาชิก ประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ

ตอนที่ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ก่อรัฐประหารปี 2534 นายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นคือ อานันท์ ปันยารชุน อดีตทูตที่ตอนนั้นเป็นผู้บริหารกลุ่มสหยูเนี่ยน แทบไม่มีการตั้งทหารเป็นรัฐมนตรีหรือมีอำนาจบริหารประเทศ จากนั้นหนึ่งปีเศษๆ จึงเริ่มมีการตั้งพรรคทหารขึ้นมา

เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารปี 2549 นายกฯ หลังจากนั้นคือองคมนตรีที่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองน้อยมาก ผู้รัฐประหารไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรี ประกาศให้มีการเลือกตั้งในเวลาหนึ่งปีเศษ และไม่มีการตั้งพรรคสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารเลย

รัฐประหารปี 2534 ไม่มีการยุบหรือแทรกแซงพรรคการเมือง ส่วนพรรคไทยรักไทยถูกยุบหลังรัฐประหาร 2549 แต่ก็ไม่มีการขัดขวางการตั้งพรรคพลังประชาชน เรียกได้ว่า ด้วยสภาพการยึดอำนาจทั้งสองกรณี คณะทหารมีแรงจูงใจให้มองพรรคการเมืองเป็นศัตรูน้อยกว่าเมื่อคราวรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคสช. ซึ่งทำลายบรรทัดฐานเรื่องรัฐประหารแบบปี 34 และ 49 ลงไปหมด เพราะหัวหน้า คสช.ตั้งตัวเองเป็นนายกฯ ผู้ยึดอำนาจทุกคนเป็นรัฐมนตรี จากนั้นก็ตั้งพรรคที่มีสมาชิกประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ

ภายใต้คณะรัฐประหารที่มีทิศทางแบบนี้ พรรคการเมืองย่อมถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามซึ่งต้องกำราบให้มากที่สุด รัฐประหารครั้งล่าสุดนี้จึงห้ามพรรคทำกิจกรรม ขู่ยุบพรรค ฯลฯ ซึ่งไม่เกิดในรัฐประหารที่ผ่านๆ มา ห้าปีใต้ระบอบ คสช. คือห้าปีที่พรรคการเมืองถูกคุกคามตั้งแต่ต้น ไม่มีพรรคไหนรอดพ้นจากกฎหมายเพิกถอนสมาชิกภาพและห้ามทำกิจกรรม

การเมืองไทยหลังปี 2557 อยู่ในสภาวะที่รัฐบาลทหารคุมพรรคการเมืองโดยตั้งพรรคเอง ดูดคนพรรคอื่น กดดันไม่ให้วิจารณ์ทหาร ขู่ยุบพรรค สร้างพรรคเครือข่าย หรือผลักดันให้คนของทหารยึดพรรคไปเลย

สี่ปี คสช. : เวลาอันยาวนานของการทำลายคู่แข่งการเมือง

ภายใต้ยุทธวิธีของทหารด้านคุมพรรคการเมือง พรรคอันดับหนึ่งอย่างเพื่อไทยย่อมเป็นเป้าหมายของการจัดการตั้งแต่ต้น สี่ปีหลังรัฐประหารจึงเป็นสี่ปีที่แกนนำพรรคถูกดำเนินคดี โดนข่มขู่ หรือถูกระบบเลือกตั้งกดดันจนต้องแตกไลน์ ทำพรรคอย่างเพื่อธรรม เพื่อชาติ หรือพลังปวงชนไทย ยิ่งรัฐบาล คสช.ตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจ การควบคุมเพื่อไทยย่อมเป็นภารกิจที่ทวีความสำคัญขึ้น พรรคเพื่อไทยที่อ่อนแอลงลงย่อมหมายถึงความแข็งแกร่งขึ้นของพรรคทหาร และเพิ่มความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ติดต่อกันนานๆ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถูกคนจำนวนมากมองว่าเป็นพวกทหารยิ่งกว่าเพื่อไทย แต่ในบริบทที่ทหารมุ่งคุมพรรคการเมือง ประชาธิปัตย์ก็เผชิญชะตากรรมเหมือนเพื่อไทยด้วย ซึ่งแม้คนบางส่วนจะโจมตีว่า ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งจนเป็นพรรคไร้ราคา แต่ที่จริง การใช้คำนี้กับพรรคที่มี ส.ส.มากอันดับสอง คือวาทกรรมที่บิดเบี้ยว เพราะพรรคที่หนึ่งไม่ใช่พรรคเดียวที่ ‘ชนะเลือกตั้ง’ และพรรคที่มี ส.ส.น้อยกว่าประชาธิปัตย์ กลับไม่ถูกโจมตีแบบนี้แต่อย่างใด

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภาพโดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP

“แพ้เลือกตั้ง” หมายถึงจำนวนผู้สมัครส.ส. ซึ่งได้ความไว้วางใจจากประชาชนมีไม่มากพอจะเข้าสภา แต่ประชาธิปัตย์มี ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 165 คน และมีผู้ลงคะแนนเลือกพรรคในระบบบัญชีรายชื่อเกิน 10 ล้าน

ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เลือกแนวทางตั้งพรรคเพื่อยึดทำเนียบต่ออีกสี่ปี ยุทธวิธีจัดการประชาธิปัตย์ มีเป้าหมายเพื่อให้พรรคมีหัวหน้าที่สู้กับเพื่อไทยได้ในการเลือกตั้งปี ‘62 แล้วใช้พรรคเป็นกำลังหลักในการหนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ ในบั้นปลาย

แต่เมื่อมีการตั้งพรรคเพื่อหวังจะให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ พรรคที่มี ส.ส.ขนาดนี้คือคู่แข่งที่ต้องจัดการให้ได้ อีกทั้งหัวหน้าพรรคนี้ก็เข้าข่าย 1 ใน 3 ของผู้มีโอกาสเป็นนายกฯ มาโดยตลอด ประชาธิปัตย์จึงเป็นอุปสรรคที่กีดขวางการยึดทำเนียบต่ออีกสี่ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง

ในการสำรวจความเห็นทุกสำนัก บุคคลที่มีผู้สนับสนุนเป็นนายกฯ ได้แก่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อภิสิทธิ์ เวชชาขีวะ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การจัดการประชาธิปัตย์ย่อมทำให้คุณประยุทธ์เหลือคู่แข่งน้อยลงไปหนึ่งราย หรืออย่างน้อยก็ขจัดโอกาสที่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะร่วมมือกันในระยะยาว

อย่างไรก็ดี เพื่อไทยมีความเป็นมาและองค์ประกอบซึ่งทำให้ทหารเห็นว่า ทางเลือกมีแต่การควบคุมหรือทำลาย ส่วนประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ทหารเห็นว่า ควรใช้วิธียึดพรรค ดึงเป็นพันธมิตร หรือไม่อย่างนั้น…ก็ทำให้พรรคอ่อนแอลง

ต่อให้คนหลายฝ่ายมองว่าทหารฝ่ายคสช.เคยหนุนหลังให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในปี 2550 และสลายการชุมนุมปี 2553 จนเข้าข่าย ‘พวกเดียวกัน’ แต่ก็มีข้อมูลที่คนในพรรคต่างก็รับรู้กันว่า ทหารหรือเครือข่ายหนุน คสช. เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้คุณอภิสิทธิ์พ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาตลอดสี่ปี โดยหากดูเฉพาะที่มีปรากฎในข่าวหลังปี 2557  ก็พบว่า อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ว่ากทม.ของพรรคอย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หรืออดีตรองนายกฯ ยุค คสช.อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ล้วนมีชื่อพัวพันกับขบวนการเปลี่ยนหัวหน้าประชาธิปัตย์มาแล้วทั้งสิ้น ถึงบางเรื่องจะแทบไม่มีมูลเลยก็ตาม

เพื่อไทยมีความเป็นมาและองค์ประกอบซึ่งทำให้ทหารเห็นว่า ทางเลือกมีแต่การควบคุมหรือทำลาย ส่วนประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ทหารเห็นว่า ควรใช้วิธียึดพรรค ดึงเป็นพันธมิตร หรือไม่อย่างนั้น…ก็ทำให้พรรคอ่อนแอลง

แบ่งแยกพรรคใหญ่ : สถาปัตยกรรมของการสืบทอดอำนาจ

ประชาธิปัตย์ยุคคุณอภิสิทธิ์ถูกหลายฝ่ายจงชังเพราะเห็นว่าพรรคเป็นลูกสมุนเผด็จการ ระดับความชังรุนแรงถึงขั้นต่อให้คุณอภิสิทธิ์ประกาศต้านเผด็จการก็ยังถูกครหาว่า ต้านไม่จริง-โหนกระแส-พูดเอาหล่อ ฯลฯ หรือกระทั่งตราหน้าว่าเป็นได้แค่ ‘พรรคอะไหล่’ ของ คสช.

ในมุมมองของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและนิยมประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์มีปัญหาเพราะไม่ได้ต่อต้าน คสช. เท่าเพื่อไทยและคนหลายกลุ่ม แต่ถ้าเอามาตรฐานแบบนี้เป็นตัวตั้ง พรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรค ล้วนเข้าข่ายมีปัญหานี้

พูดอย่างตรงไปตรงมา ‘ต้านเผด็จการ’ จะเป็นการโหนกระแสหรือพูดเอาหล่อหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าประเมินสถานการณ์ต้านเผด็จการอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงคือ การประกาศต้านเผด็จการในเวลาที่ทหารยึดอำนาจห้าปี มีความเสี่ยงแน่ๆ เมื่อเทียบกับการไม่พูดอะไรเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว

ถ้าสถานการณ์ต้านเผด็จการกระแสสูงจริงๆ 3-4 ปีมานี้ คงมีนักวิชาการ พรรคการเมือง สื่อ บุคคลสาธารณะ ฯลฯ โหนกระแสเยอะไปหมด แต่ความเป็นจริงก็คือ บุคคลและองคฺ์กรที่ประกาศต้านเผด็จการในพื้นที่สาธารณะหลังปี 2557 ตอนนั้นมีกี่คน ตอนนี้ก็มีแทบจะเท่าเดิม

ภาพจาก ROYAL THAI GOVERNMENT

บุคคลและองคฺ์กรที่ประกาศต้านเผด็จการในพื้นที่สาธารณะหลังปี 2557 ตอนนั้นมีกี่คน ตอนนี้ก็มีแทบจะเท่าเดิม

หากจัดประเภทพรรคการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้ด้วยเกณฑ์เรื่องต้านเผด็จการ พรรคใหญ่ที่พูดเรื่องนี้ก็มีแค่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เท่านั้น ส่วนพรรคระดับรองอย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ไม่พูดเรื่องนี้แม้แต่น้อย ไม่ต้องพูดถึงพลังประชารัฐที่เกิดเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการตรงๆ

ภายใต้การจัดประเภทแบบนี้ ท่าทีประชาธิปัตย์เป็นปัญหากับ คสช.และการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารแน่ๆ ต่อให้วิธีที่ประชาธิปัตย์เผชิญหน้ากับ คสช.จะไม่แข็งกร้าวเท่าเพื่อไทยก็ตาม

นอกจากท่าทีเรื่องต้านเผด็จการจะทำให้ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่พูดเรื่องนี้ไม่ต่างกับเพื่อไทย ผู้นำประชาธิปัตย์ทั้งพรรคก็ยังคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยเหมือนพรรคเพื่อไทยด้วย เช่นเดียวกับท่าทีต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง การวิจารณ์รัฐบาลโกง ฯลฯ

ในเวลาที่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์พูดหลายเรื่องตรงกัน พรรคอื่นไม่แม้แต่แสดงความเห็นเรื่องเหล่านี้เลย

ขณะที่คนจำนวนหนึ่งมองว่า พรรคพร้อมร่วมตั้งรัฐบาลกับ คสช. แต่ทหารและกลุ่มหนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับเห็นว่า การที่ประชาธิปัตย์ประกาศ ‘ต้านทุจริต’ และ ‘ต้านเผด็จการ’ คือการแสดงท่าทีไม่เอาด้วยกับรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำ

ด้วยมุมมองที่เครือข่ายทหารมีต่อประชาธิปัตย์ยุคคุณอภิสิทธิ์ ความพยายามผลักดันให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนหัวหน้าจึงเริ่มลุกลามเป็นการดูดอดีต ส.ส. กับว่าที่ผู้สมัครของพรรค ทำให้พรรคพลังประชารัฐซึ่งตอนแรกมีจุดหมายเพื่อดูดคนจากเพื่อไทย กลับกลายเป็นที่รวมของอดีตประชาธิปัตย์ในบั้นปลาย

ไม่มีใครรู้ว่าประชาธิปัตย์จะมีท่าทีอย่างไรกับพล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งปีหน้า แต่การที่พลังประชารัฐดูดบุคลากรของประชาธิปัตย์คือหลักฐานว่า ทั้งสองพรรคไม่ใช่พวกเดียวกัน

แม้จำนวนอดีต ส.ส.ที่พรรคทหารดูดจากประชาธิปัตย์จะยังไม่มากจนมีนัยยะสำคัญ แต่การที่รัฐบาลทหารตอบแทนให้คนเหล่านั้นเป็นรองผู้ว่าฯ หรือรองเลขานายกฯ คือการสื่อสารให้คนอื่นๆ เห็นว่า การโดนดูดได้รับผลประโยชน์บางอย่าง กระบวนการดูดจึงยังไม่จบจนกว่าจะถึงวันสมัครเลือกตั้งจริงๆ

เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ขัดแย้งกันมาสิบกว่าปี แต่รัฐประหารปี 2557 นำประเทศเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ที่ทั้งคู่มีชะตากรรมร่วมกัน เพราะเป็นเป้าหมายที่ทหารมุ่งควบคุมเหมือนกัน มีมุมมองต่อรัฐธรรมนูญและการสืบทอดอำนาจคล้ายกัน และถูกพรรคพลังประชารัฐคุกคามเท่ากัน

ถ้าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ไม่รู้จักเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร ทั้งสองพรรคต้องรับผิดชอบที่ประเทศไทยหลังปี 2562 เป็นอย่างที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

 

ศึกชิงประชาธิปัตย์: จบแบบไหน คสช.ก็ชนะ

ไม่ว่าจะในแง่แนวคิดหรือข้อมูลที่คนในพรรคประชาธิปัตย์รู้กัน นอกจากความพยายามตั้งพรรคใหม่ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือการใช้ผลประโยชน์จูงใจดูดให้อดีต ส.ส.ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ การชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะ ‘เข้าทาง’ การผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ผ่านวิธียึดพรรคด้วยการสนับสนุนให้หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากคุณอภิสิทธิ์

มองในแง่ตัวบุคคล บทบาทของหมอวรงค์ในประชาธิปัตย์คือการทำตัวเป็นทนายแก้ต่างให้ กปปส.ตั้งแต่คนเหล่านี้กลับเข้าพรรคในเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งมีคนมองว่าเป็นการกลับมายึดพรรค หรือไม่อย่างนั้นก็คือมีแผนนำพรรคไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับทหารในระยะยาว

สำหรับเรื่องยึดพรรคนั้น คำตอบของหมอวรงค์คือ ไม่มีทางที่ กปปส.จะกลับมายึดพรรคอย่างที่พูดกัน ส่วนเรื่องที่สื่อมักถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับทหาร ซึ่งเป็นคำถามที่อาจทำให้พรรคเสียโอกาสเป็นรัฐบาล หมอวรงค์ก็ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่ ส่วนคุณถาวรซึ่งเป็นมือขวาคุณสุเทพและมีบทบาทสนับสนุนหมอวรงค์ ก็ไม่ปฏิเสธการร่วมมือกับ คสช.

แม้คุณวุฒิและประสบการณ์ของหมอวรงค์จะห่างชั้นจากคุณอภิสิทธิ์อย่างไม่ควรเทียบกัน แต่ด้วยเหตุที่เบื้องหลังหมอวรงค์คือกลุ่มหนุนทหาร ชัยชนะของหมอวรงค์จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากกลุ่มหนุนทหารประสบความสำเร็จในการจูงใจให้สมาชิกพรรคเลือกหมอวรงค์

เมื่อรัฐบาลทหารสมนาคุณให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐมีตำแหน่งการเมืองได้ คนบางประเภทในประชาธิปัตย์ก็อาจคิดว่า การสนับสนุนรัฐบาลทหารจะทำให้ได้ตำแหน่งอื่นๆ จนเลือกหมอวรงค์ซึ่งชูธงหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งกว่าคุณอภิสิทธิ์ซึ่งต้านเผด็จการ

ในแง่นี้ การเลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์ครั้งนี้เป็นการเมืองที่ไม่ปกติ ซึ่งวางอยู่บนการจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมืองแบบต่างตอบแทนล่วงหน้า นี่ขนาดการเลือกตั้งปี 2562 ยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำไป

คนไม่น้อยมองว่า เป็นไปไม่ได้ที่ ส.ส.ซึ่งมีผลงานระดับคุณศิริโชค โสภา และคุณมัลลิกา บุญมีตระกูล จะเป็นหัวหน้าพรรคใหญ่ของประเทศไทย แต่ที่จริง เครือข่ายหนุนทหารอาจไม่ได้มีเป้าหมายที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคล้วนๆ เพราะถึงหมอวรงค์แพ้ ผลพลอยได้ก็คือการทำลายภาพลักษณ์คุณอภิสิทธิ์ และทำให้ประชาธิปัตย์อ่อนแอ

หมอวรงค์เป็นหนึ่งในประชาธิปัตย์ร่วมสมัยที่สร้างชื่อเสียงจากการโจมตีคนเห็นต่างทางการเมือง แต่ในการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากคุณอภิสิทธิ์ หมอวรงค์กลับหยิบยกวาทกรรมจากคนอีกฝ่ายไปโจมตีคุณอภิสิทธิ์ว่าทำให้พรรคถูกดูหมิ่นว่า ‘แพ้เลือกตั้ง’ ‘ดีแต่พูด’ รวมทั้งแบ่งแยกประชาชน

ถ้าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเบื่อประชาธิปัตย์คือการเมืองแบบสาดโคลน วิธีหาเสียงที่หมอวรงค์ทำก็คือการสาดโคลนแม้กระทั่งคนพรรคเดียวกันไปด้วย ถึงแม้หมอวรงค์จะเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากการเล่นการเมืองแบบนี้ที่สุดในรอบสิบกว่าปีก็ตาม

ภายใต้สภาพที่ฝ่ายสนับสนุนทหารหาเสียงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยทำลายภาพลักษณ์คุณอภิสิทธิ์ลงไป ประชาธิปัตย์จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งปี 62 ในฐานะพรรคที่มีแต่ข่าวลบเต็มไปหมด  ความเสี่ยงที่พรรคจะได้ ส.ส. ลดลง (จากที่เคยทำได้ 165 เสียง) จึงมีมากขึ้นอย่างแน่นอน

กลุ่มหนุนทหารไม่ได้ส่งหมอวรงค์ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากคุณอภิสิทธิ์เพราะเชื่อว่ามีสิทธิชนะ หมอวรงค์เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สร้างความอ่อนแอให้พรรคที่ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลทหาร และนั่นเท่ากับการสร้างเงื่อนไขให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสยิ่งขึ้นในการยึดทำเนียบต่อไปอีกสี่ปี

ถ้าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเบื่อประชาธิปัตย์คือการเมืองแบบสาดโคลน วิธีหาเสียงที่หมอวรงค์ทำก็คือการสาดโคลนแม้กระทั่งคนพรรคเดียวกันไปด้วย

Power Sharing สืบทอดอำนาจด้วยเครือข่ายหนุนทหาร

โดยปกติ คนมักเข้าใจว่าเผด็จการทหารกับสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกัน แต่ที่จริง ทหารสามารถใช้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเพื่อรักษาสถานภาพโดยไม่ ‘ผูกขาด’ อำนาจอย่างเด็ดขาดได้ หากการกระทำนั้นคุ้มค่าต่อการสืบทอดอำนาจในระยะยาว

สุเทพ เทือกสุบรรณ โดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สำหรับนักวิชาการที่สนใจว่า ทำไมทหารบางประเทศประสบความสำเร็จในการธำรงอำนาจเผด็จการ งานศึกษาบางชิ้นเห็นว่า ทหารพม่าเป็นตัวอย่างของการผ่อนคลายแรงต่อต้าน โดยใช้การเลือกตั้งเป็นทางออก ผลก็คือการจัดเลือกตั้งในเวลาที่ประเมินว่าคุมสถานการณ์ได้ และต่อให้มีการเลือกตั้ง สถานะของทหารต้องไม่เปลี่ยนแปลง

พม่าโมเดลเป็นตัวอย่างเผด็จการที่อยู่ยาวด้วยวิธีแบ่งปันอำนาจให้คนกลุ่มอื่นๆ หลังจากผูกขาดอำนาจไว้หลายสิบปี การเลือกตั้งทำให้สถานภาพทหารมั่นคงและบรรลุผลในการกำหนดทิศทางประเทศ ส่วนคนกลุ่มที่เป็นจำเลยสังคมที่สุดหลังเลือกตั้งคือพรรค NLD ไม่ใช่คณะนายทหารซึ่งมีอำนาจจริง

คนจำนวนมากวิจารณ์ว่า ความต้องการเป็นนายกฯ อีกสี่ปีของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นสัญลักษณ์ของการผูกขาดอำนาจการเมือง แต่ที่จริง สิ่งที่ คสช.ทำในเวลานี้คือการแบ่งปันอำนาจให้คนกลุ่มต่างๆ เพื่อรักษาสถานภาพทหารหลังการเลือกตั้งต่อไป

แม้คุณสุเทพจะตั้งพรรคซึ่งเป็นเอกเทศจากพลังประชารัฐและคุณไพบูลย์ คนสามกลุ่มนี้ก็เหมือนกันในแง่เป็น ‘เครือข่ายทหาร’ ที่จะลงเลือกตั้งโดยไม่ได้หวังผลอย่างกว้างขวาง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้สองพรรคใหญ่อ่อนแอลง

แม้คุณสุเทพจะตั้งพรรคซึ่งเป็นเอกเทศจากพลังประชารัฐและคุณไพบูลย์ คนสามกลุ่มนี้ก็เหมือนกันในแง่เป็น ‘เครือข่ายทหาร’ ที่จะลงเลือกตั้งโดยไม่ได้หวังผลอย่างกว้างขวาง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้สองพรรคใหญ่อ่อนแอลง

หมอวรงค์เป็นตัวละครล่าสุดในเครือข่ายทหารที่เกิดขึ้นเพื่อภารกิจนี้ และหากเชื่อมโยงบทบาทของคุณสุเทพ คุณไพบูลย์ พรรคพลังประชารัฐ และหมอวรงค์เข้าด้วยกัน กระบวนการที่เกิดขึ้นคือการทำให้เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ถดถอยในการเลือกตั้งปี 62 มากที่สุดในบั้นปลาย ด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ในรูปตำแหน่งทางการเมืองให้คนหลายฝ่ายในปัจจุบันและอนาคต คณะรัฐประหารชุดนี้กำลังสืบทอดอำนาจโดยวิธี ‘แบ่งปันอำนาจ’ สู่คนหลายกลุ่มตั้งแต่อดีต ส.ส. หัวหน้าพรรคเล็ก แกนนำม็อบ เทคโนแครต พ่อค้า ฯลฯ

ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ คสช.อำนวยการให้มีขึ้น วุฒิสมาชิกจะลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้อย่างไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับไหน ยิ่งกว่านั้นคือ คสช.จะเป็นคนเลือกวุฒิสมาชิก 250 คน เครือข่ายทหารทั้งสามพรรคและหมอวรงค์จึงเป็นจิ๊กซอว์เล็กในภาพใหญ่เรื่องสืบทอดอำนาจโดยตรง

หมอวรงค์จะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่เป็นเรื่องของหมอวรงค์ แต่กระบวนการที่อยู่เบื้องหลังหมอวรงค์เชื่อมโยงกับการเมืองเครือข่าย ซึ่งไม่มีประชาชนในสมการอำนาจ หมอวรงค์จึงเป็นสัญลักษณ์ของการหมุนประเทศกลับสู่คณาธิปไตยที่ปันส่วนอำนาจเฉพาะคนกลุ่มที่เป็นพวกเดียวกัน

ด้วยกระบวนการที่เกิดขึ้นแบบนี้ โจทย์ของการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่ใช่การถกเถียงว่าใครควรเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคไหนควรเป็นรัฐบาลมากที่สุด แต่คือการลงคะแนนเพื่อไม่ใหัสังคมไทยกลายเป็นสังคมปิดอย่างที่เป็นมาตลอดห้าปี

โจทย์ของการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่ใช่การถกเถียงว่าใครควรเป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคไหนควรเป็นรัฐบาลมากที่สุด แต่คือการลงคะแนนเพื่อไม่ใหัสังคมไทยกลายเป็นสังคมปิดอย่างที่เป็นมาตลอดห้าปี

เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่ควรทะเลาะกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะความขัดแย้งของสองพรรคคือการเปิดทางให้เครือข่ายทหารมีโอกาสดึงสังคมไทยถอยหลังผ่านการเลือกตั้งมากขึ้น และการเป็นนายกฯ ในปี 62 ไม่มีความหมายภายใต้เครือข่าย คสช.ในวุฒิสภา องค์กรอิสระ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ท่ามกลางยุทธการแบ่งปันอำนาจเพื่อยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในระยะยาว สถานะทางประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งปี 62 คือการคัดง้างไม่ให้เกิดระบอบคณาธิปไตยที่จะนำประเทศไปอยู่ปกครองของทหารที่มีเทคโนแครต ทุนยักษ์ และนักการเมืองปลายแถวเป็นลูกมือ

 

หมายเหตุ: บรรณาธิการปรับแก้ชื่อบทความ เป็น “ศึกชิงประชาธิปัตย์ : ยุทธการยึดพรรคเพื่อรัฐทหาร” เพื่อให้สอดคล้องกับหัวใจหลักของบทความมากขึ้น แทนร่างแรกที่ใช้ว่า “ยุบ/ยึด/ตั้ง สามยุทธศาสตร์แทรกแซงการเลือกตั้ง สร้างรัฐทหาร” แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2018 เวลา 12.20 น.

Tags: , , , ,