ชื่อของ ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ เป็นที่คุ้นหูในแวดวงการเมืองไทย เพราะเขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการการเมืองมานานกว่า 27 ปี ทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นดาวเด่นประจำรัฐสภา เจ้าของฉายา ‘มือปราบรัฐสภา’

อลงกรณ์ยังเป็นผู้รับผิดชอบโครงการยุทธศาสตร์ประเทศไทยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ เพื่อทำฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงเป็นผู้เสนอให้มีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2556

หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารในปี 2557 อลงกรณ์ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเข้ารับตำแหน่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่คสช. แต่งตั้ง เขายังเคยประกาศว่า จะวางมือทางการเมืองเพื่อทำงานปฏิรูปเต็มตัว

แต่วันนี้ อลงกรณ์ ตัดสินใจกลับมาลงสนามการเมืองอีกครั้ง เพื่อชิงชัยในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นผู้สมัครคนที่สาม ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคู่แข่งคนเด่นอีกคน หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม

เขาบอกว่า เขาหวังเห็นพรรคการเมืองที่ตัวเองรักเกิดการปฏิรูปไปสู่ ‘การเมืองสีขาว’ การเมืองที่ปลอดคอร์รัปชัน การเมืองที่แข่งขันกันในเชิงนโยบาย ไม่ใช่การใช้โวหารและปฏิเสธการเมืองนอกรัฐสภา แม้จะรู้ดีว่า การปฏิรูปในครั้งนี้เป็นหนทางแห่งความยากลำบาก

 

เมื่อปีที่แล้วคุณอลงกรณ์ ประกาศวางมือทางการเมือง อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจกลับมาลงสนามการเมืองอีกครั้ง

เป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้ว ที่ประกาศวางมือทางการเมืองเพื่อจะผลักดันเรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะหนึ่ง การปฏิรูปประเทศต้องเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สองคือ มีนักการเมืองเพียงแค่ไม่กี่คนที่มาจับงานปฎิรูปในระยะ 5 ปีหลัง สามคือ เรามีความรู้ที่สดใหม่ในเรื่องการปฎิรูป

ก่อนพ้นตำแหน่งรองประธานสปท. จึงประกาศว่าจะทำงานปฎิรูป ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่กลับมาลงสมัครส.ส. หรือทำงานการเมืองอีก

แต่ภายหลังที่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง ปรากฎว่าการเมืองไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แม้แต่กลุ่มผู้มีอำนาจที่เป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการเมืองใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ยังเห็นถึงการเผชิญหน้าและแบ่งฝ่ายเหมือนเดิม อีกทั้งสถานการณ์โลกก็สร้างความเสี่ยงสูงต่ออนาคตประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้า จึงตัดสินใจทบทวน ระหว่างนั้นก็มีหลายพรรคการเมืองเข้ามาติดต่อให้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ปฎิเสธทั้งหมด

ในที่สุดก็ตกผลึกประการหนึ่ง หัวใจของการปฎิรูปประเทศก็คือเรื่องของการบ้านการเมือง ถ้าหลังเลือกตั้งแล้วประเทศมันวิกฤตอีก จะเหลือพื้นที่ให้ทำปฏิรูปอีกหรือ จึงตัดสินใจกลับมา โดยมีทางเลือกสามทาง หนึ่งไปเป็นหัวหน้าพรรคที่เขาเชิญ สองตั้งพรรคใหม่ และสามกลับมาประชาธิปัตย์

ตอนนั้นเป็นจังหวะที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศให้ทำไพรมารีโหวต (ให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรค) เราห่วงใยและผูกพันพรรคนี้มาตลอด การที่ประชาธิปัตย์เริ่มระบบไพรมารี่ เป็นโอกาสครั้งแรกของประเทศที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนจริงๆ และเราก็คิดว่า การปฎิรูปการเมือง หรือการสร้างความปลี่ยนแปลง ต้องอาศัยพรรคการเมืองใหญ่ที่มีพลัง เลยตัดสินใจ มันเป็นเรื่องกะทันหันมาก มาแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ

แต่จริงๆ การกลับมาเล่นการเมืองครั้งนี้ เราต้องการผลักดันกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า ‘การเมืองสีขาว’ (การเมืองสีขาวที่ตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์ สุจริต ความทันสมัย ยึดมั่นหลักนิติรัฐ นิติธรรม) และ ‘กฎเหล็ก 5 ข้อ’ (ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น ต้องยึดกฏเหล็ก 5 ข้อคือ 1) การเมืองสร้างสรรค์ ไม่ทุจริต 2) เลือกตั้งสร้างสรรค์ ไม่โจมตีใส่ร้าย สร้างชุดความเกลียดชัง แข่งกันด้วยวิสัยทัศน์ นโยบาย 3) รับทุนคุณธรรม ปฎิเสธทุนสามานย์ เพราะคือต้นเหตุของการคอรัปชัน 4) ยึดมั่นระบบรัฐสภา 5) ต้องไม่คอรัปชัน)

กฎเหล็ก 5 ข้อคล้ายกับศีล 5 ในศาสนาพุทธ เราไม่ได้หวังหรอกว่าคุณจะถือกฎเหล็ก 5 ข้อได้ทุกวันเวลา แต่ต้องยึดมั่นให้ได้ ถ้าคุณบอกทำไม่ได้ คุณกำลังหันหลังให้กฏหมาย กฏเหล็ก 5 ข้อวางอยู่บนพื้นฐานกฎหมายทั้งสิ้น คุณต้องทำอยู่แล้ว การปักธงการเมืองสีขาวและกฎเหล็ก 5 ข้อ ไม่ใช่เฉพาะให้พรรคการเมืองปฎิบัติ แต่เพื่อให้ประชาชนมีหลักคิดหลักยึด ถ้าคุณต้องการให้บ้านเมืองเดินไปสู่ประชาธิปไตย ที่แท้จริงประชาชนต้องมีหลักคิด

ในที่สุดก็ตกผลึกประการหนึ่ง หัวใจของการปฎิรูปประเทศก็คือเรื่องของการบ้านการเมือง ถ้าหลังเลือกตั้งแล้วประเทศมันวิกฤตอีก จะเหลือพื้นที่ให้ทำปฏิรูปอีกหรือ จึงตัดสินใจกลับมา

กฎเหล็ก 5 ข้อที่คุณอลงกรณ์พูด ไม่ว่าจะเป็น การเป็นสุภาพบุรุษ ไม่เล่นการเมืองสาดเสียเทเสีย ไม่คอร์รัปชัน แต่ประชาธิปัตย์ มีข้อครหาพวกนี้หมดทุกข้อ

ใช่ แต่ทุกพรรคก็มีข้อครหานี้หมด เพียงแต่ต้องมีคนเริ่มต้น พอมีคนเริ่ม ทุกอย่างก็ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมขอใบลาออกส.ส.ทุกคนไว้ 350 เขต 150 บัญชีรายชื่อ ระหว่างเลือกตั้ง ใครมีปัญหาคอร์รัปชัน ผมปลดออกทันที บอกประชาชนเลย ผมขอโทษ ผมเลือกคนผิด คนจะเกิดความเชื่อมั่นว่าคนนี้พูดจริงทำจริง ถ้าหากเรากล้า จัดการอย่างเด็ดขาดมันแค่ครั้งเดียวเท่านั้น มันคือการเมืองสีขาว การเมืองของสุภาพบุรุษ นายกฯ คนไหนทุจริตผิดกฎหมายต้องจัดการให้หมด เลือกตั้งห้ามทุจริต ห้ามไปกล่าวโจมตีใส่ร้าย แข่งกันด้วยชุดนโยบาย วิสัยทัศน์ นี่คือการสร้างความแตกต่างชัดเจน

เลือกตั้งครั้งหน้า ในหนึ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีอย่างน้อย 15 คนที่ลงสมัคร คุณต้องสามารถสร้างความโดดเด่นที่แตกต่าง มันก็เหมือนการวางโปรดักชันของสินค้าหนึ่งให้แตกต่างกับชิ้นอื่น และนี่เป็นพรรคที่น่าเลือกอยู่แล้ว มันจะเกิดสิ่งที่ผมพูดว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบฉับพลัน (Disruptive Politics)

คิดว่า กลับมาครั้งนี้จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นตัวอย่าง ความจริงไปทางอื่นสบายกว่าเยอะ นั่งๆนอนๆเดี๋ยวก็ได้ไปเป็นวุฒิสภา หรือไปเป็นหัวหน้าพรรค หรือผู้บริหารพรรคใหม่ แต่เราเลือกมาทำงานที่ยากที่สุดในชีวิต กลับมาท่ามกลางข้อครรหาว่าเป็นนอมินีคสช.

3 ปี ที่ผมทำงานปฎิรูปประเทศ ผมวางตัวเหมือน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ผมไม่เคยพบนายกฯ รองนายกฯ คสช. เป็นการส่วนตัว ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวในสามปี อาจารย์ป๋วยท่านเองก็เคยเป็นที่ปรึกษาให้คณะรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์อยู่หลายปี แต่ท่านก็ยืนอยู่บนเส้นทางการปฎิรูปประเทศ ผมก็บอกทุกคน ผมมาปฎิรูป ไม่ใช่เพื่อใคร คณะใด ผมมาปฎิรูปประเทศเหมือนอาจารย์ป๋วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยึดแนวทางการเมืองสีขาวและกฏเหล็ก 5 ข้อ ไม่ว่าผมจะเป็นหัวหน้าหรือไม่ก็ตาม ผมเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบฉับพลัน

 

นอกจากคุณอลงกรณ์แล้ว คนในพรรคมีความพร้อม และเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางนี้ไหม

ไม่มีใครกล้าปฎิเสธหรอก เพราะมันเท่ากับปฎิเสธกฎหมายและสิ่งดีงาม แต่ต้องถามว่า มีสักกี่คนที่เชื่อว่าทำได้จริง ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรค ผมจะตั้งกรรมการคุณธรรม ถ้ามีเหตุแจ้งว่าทุจริต ผมเอาออกภายใน 36 ชั่วโมง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีอื้อฉาว ผมจะเชิญหัวหน้าพรรค ขอให้เปลี่ยนรัฐมนตรีคนนี้ และผมพร้อมยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน ผมเด็ดขาดพอ และผมเชื่อว่า ถ้าผมเด็ดขาดแบบนี้ ประชาชนจะอยู่กับผม ถามว่าแล้วจะจัดการมันอย่างไร ผมจะออกกฎหมาย 3 ชั่วโคตร ลงโทษประหารชีวิต และยึดทรัพย์ 3 ชั่วโคตร ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน

ถ้าผมเป็นนายกฯ และกฎหมายผ่าน ผมให้โอกาส 180 วัน ใครรู้ว่าโกงเงินไป มาสารภาพและคุณจะโดนลงโทษเฉพาะตัว มิเช่นนั้นคุณโดน 3 ชั่วโคตร พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวคุณ ดูอย่างสี จิ้น ผิง จีนมีคนกว่า 1,370 ล้านคนยังจัดการเฉียบขาดได้ เรามีแค่ 70 ล้านคนทำไมจะจัดการไม่ได้

เราจะฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของนักการเมืองและหลักการประชาธิปไตย แต่วันนี้คือประชาธิปไตยที่คอร์รัปชัน เขาเห็นว่ามันซื้อได้ แล้วเขาจะเอาศรัทธามาจากไหน วันที่ดีเบต ถึงได้เปรียบน้ำคร่ำเสมือนการเมืองเก่าที่พวกเรายอมกินมากว่า 10 ปี วันนี้ผมเอาน้ำบริสุทธิ์มาเป็นทางเลือกให้พวกคุณ ต้องเชื่อว่าความดีชนะทุกสิ่ง ถนนเส้นนี้แม้มันจะเร็ว จะช้า จะยากหรือง่าย ผมก็จะเดินทางอย่างนี้และ จนกว่าคนจะเปลี่ยน

คุณอลงกรณ์ยึดหลักการเมืองสีขาว และรัฐสภา ไม่เล่นการเมืองนอกระบบ แต่การไปเข้ากับสภาปฎิรูปแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นการเล่นการเมืองนอกระบบหรือ

มันไม่มีสภาให้เล่นไง ตอนนั้นมันเป็นจุดเปลี่ยนต่อเนื่องที่สำคัญ ในปี 2556 ผมเป็นรองหัวหน้าพรรค บ้านเมืองตึงเครียดแบ่งฝ่าย จึงเสนอปฏิรูปพรรค ถ้าประชาธิปัตย์ปฎิรูป เพื่อไทยก็ต้องปฎิรูป เหมือน โค๊กกับเป๊ปซี่

ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร มันก็มีทางเลือกว่าจะกลับไปบ้านนั่งเฉยๆ หรือเดินหน้าทำงานปฎิรูป เผอิญว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2557 (ฉบับชั่วคราว) เป็นฉบับแรกที่เสนอให้มีสภาปฎิรูปแห่งชาติ และมาจากการสรรหาจากหลากสาขาอาชีพ จึงตัดสินใจสมัครผ่านมูลนิธิพลังงานทดแทน พอได้มาเป็น เราก็เป็นตัวของตัวเอง โหวตสวนหลายเรื่องทีเดียว

เมื่อเข้าไปตรงนั้นก็บอกทุกคน ผมเหมือนอาจารย์ป๋วย ผมมาปฎิรูปประเทศ ผมไม่ได้ทำงานเพื่อใคร ถึงได้วางตัวว่า 3 ปีนั้น ไม่เคยไปพบกับใครเป็นการส่วนตัว เพราะรู้ว่าวันนึงอาจจะต้องมาตอบคำถามแบบนี้ (ยิ้ม)

 

ถ้าบอกว่าตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในจุดที่ ‘ตกต่ำและอ่อนแอมาก’ คุณเห็นด้วยไหม

ไม่เห็นด้วยทั้งหมด ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ได้ 162 ที่นั่ง เป็นพรรคลำดับที่สอง หลังจากนั้นยังไม่มีใครวัดอีกเลย ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีสมาชิกมากที่สุด สองล้านหกแสนคน และมีสาขามากที่สุด 175 สาขา ฉะนั้น ถ้ามองเชิงโครงสร้างและสถิติ จะมองว่าเป็นพรรคที่อ่อนแอและตกต่ำไม่ได้

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการวัดผล จึงเป็นความท้าทายว่า คุณจะพาพรรคไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร ถ้าเลือกคุณอภิสิทธิ์ คงไม่ต่างจาก 13 ปีกว่าที่ผ่านมา แต่ถ้าเลือกผม คุณจะได้หลักการเมืองสีขาว วิสัยทัศน์ใหม่ๆ นโยบายใหม่ และไม่แบ่งแยก ให้ความเคารพต่อครรลองประชาธิปไตย

ผมได้ประกาศจุดยืนทางนโยบายการเมือง หนึ่งจุดยืนต่อการเลือกตั้ง ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคจะไม่มีการบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะจากประวัติศาสตร์ประชาธิปัตย์ บอยคอตการเลือกตั้งสามครั้ง จบลงด้วยรัฐประหารทุกครั้ง สองคือ จุดยืนต่อการจัดตั้งรัฐบาล ผมเคารพเสียงของประชาชน พรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลจะไม่มีการกีดกันหรือรวมเสียงเพื่อสกัดกั้นอย่างแน่นอน นี่คือการเมืองสุภาพบุรุษ

สามคือ ผมจะไม่รับนายกฯ คนนอกอย่างแน่นอน จุดยืนนี้จะใช้ตลอดไป ไม่เกี่ยวด้วยตัวบุคคล ผมเห็นว่า นายกฯ คนนอกคือฉนวนวิกฤตของประเทศ และผมมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะไม่นำประเทศไปสู่จุดเสี่ยงอันตราย เพราะสิบกว่าปีเราเห็นมามากพอแล้ว

 

10 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เต็มไปด้วยข้อครหาต่างๆ คุณมองว่าแนวทางพรรคผิดพลาดตรงไหน อย่างไรบ้าง

วิจารณ์ลำบากมากเลยนะ (หัวเราะ)

สิ่งทีชัดเจนที่สุด คือการประกาศปฎิรูปพรรคในปี 56 ได้เอ่ยถึงปัญหาทั้งหมด ทั้งในเชิงโครงสร้างระบบ ปัญหาเรื่องความเป็นผู้นำ ปัญหาเรื่องทิศทาง วัฒนธรรมองค์กร เสนอตั้งแต่ปี 2556 แต่ยังไม่มีโอกาสปฎิรูป จนกระทั่งมีการรัฐประหาร จึงเข้าไปปฎิรูปประเทศก่อน

กลับมาจากเวทีปฎิรูป เราชาร์จแบตเต็ม มีมุมมองต่อโลกในมุมที่กว้างขึ้น และกลับมามองพรรคและประเทศไปพร้อมกัน จึงใช้คอนเซปต์ จุดเปลี่ยนประชาธิปัตย์ จุดเปลี่ยนการเมืองไทย จุดเปลี่ยนประเทศไทย

แสดงว่าข้อเสนอการปฎิรูปพรรคมีที่มาจากแนวทางที่เคยเสนอพรรคในปี 2556 เพียงแต่ลับให้มันชัดคมขึ้น?

มันถูกจุดประกายตอนนั้น ถ้าถามผมว่าพรรคได้รับการจุดประกายไหม ก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง แต่โอกาสจบลงด้วยการรัฐประหาร มันจึงเป็น 4 ปีของการแช่แข็ง แต่ช่วง 4 ปี มันก็ได้เข้าไปเติมเต็มข้อมูล วิสัยทัศน์ ความคิดและแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ จากบริบทของสังคมไทยและโลกที่เปลี่ยนแปลง จึงนำมาสู่แนวทางปฎิรูปที่เสนอไปครั้งนี้

ทุกคนทุกระดับต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้พร้อมกับการทำงาน เราต้องสร้างความเป็นนักบริหารที่ดี สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็น มันจึงต่างจากคุณทักษิณ ที่เข้ามาแล้วทำทันที ก็เลยเกิดความเชื่อมั่น นี่คือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเรา เราเขียน 3 แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด เขาเขียนกองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค ขับรถผ่านเป็น 100 เมตรก็ยังเห็น เรานี่ต้องจอดอ่านถึงจะเห็นนโยบาย ทุกอย่างมันอนาล็อกมาก เราต้องเลิกโทษว่าเราแพ้เพราะคนอื่น เราต้องวิพากษ์ตัวเองว่าเรามีจุดอ่อนอะไร และต้องเริ่มแก้จากจุดนั้น เสนอยังงี้ตอนปฎิรูปเลยถูกหาว่าไม่ค่อยอยู่ในกรอบของพรรค

เรื่องสำคัญอีกประการ คือ การก้าวข้ามคุณทักษิณ นี่เป็นประเด็นใหญ่ ผมประกาศเลยผมก้าวข้ามเขาแล้ว เวลาผมไปเลคเชอร์ที่ไหน ผมก็จะให้เครดิตทุกคน นายกฯ ชวน นายกฯ บรรหาร นายกฯ ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ประยุทธ นายกฯ อภิสิทธิ์ การเมืองต้องรู้จักให้เกียรติให้เครดิตกัน เป็นการเมืองของสุภาพบุรุษ ลองคิดดูว่า ถนนตั้งแต่กรุงเทพ-เชียงใหม่สร้างวันเดียวหรือปล่าว สร้างรัฐบาลเดียวไหม

การเมืองต้องเริ่มมอง 2 ด้าน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน รัฐบาลทำงานมา 3 ปี ฝ่ายค้านบอกรัฐบาลล้มเหลวอย่างเดียว ไม่มีผลงาน แล้วพอคุณเป็นฝ่ายบริหาร คุณก็โดนว่าแบบเดียวกัน มันไม่มีอะไรดีเลย เป็นประชาธิปไตยที่กินไม่ได้ ล้มเหลว มันต้องให้เครดิตกัน

เราต้องสร้างความเป็นนักบริหารที่ดี สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็น มันจึงต่างจากคุณทักษิณที่เข้ามาแล้วทำทันที ก็เลยเกิดความเชื่อมั่น นี่คือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเรา

พรรคประชาธิปัตย์มองว่าคนรุ่นใหม่มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ต่อแนวทางของพรรค ?

ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่เกือบ 30 คนที่เข้ามา แต่แนวคิดผมอาจจะแตกต่างบ้าง กลุ่มคนรุ่นใหม่ของผมจะขอแค่ให้เป็นไปตามเสปค 3 ข้อเท่านั้น ไม่ต้องจบฮาร์วาร์ด ออกซ์ฟอร์ด เอ็มไอที คนรุ่นใหม่ของผมเป็นลูกชาวนา คนขับแท็กซี่ก็ได้ ขอเพียงมี จิตอาสา – มีความศรัทธาพรรค – ใฝ่ดี พอแล้ว แค่นี้ทำงานร่วมกันได้ เพราะเมื่อไรที่คุณมาแข่งแบบวัตถุนิยม คุณกำลังแยกชนชั้นให้เกิดขึ้น และทุกคนก็ทำแบบนั้นหมด มันไม่ได้หมายความว่าจบต่างประเทศแล้วคุณต้องได้รับการยอมรับ มันจะมีความหมายอะไร คุณตามหาความหมายด้วยใบปริญญาใบเดียวหรอ เราติดโลกวัตถุนิยม โลกแฟชันมากเกิน เราขาดการมองที่แก่น ผมถึงบอก คนรุ่นใหม่ต้องมี 3 สเปคแค่นั้น

เวลาเลือก ต้องเลือกความดีเป็นหลัก เดี๋ยวความเก่งก็ตามมา ทุกคนพัฒนาได้ คนสมัครส.ส.ครั้งแรก เอาคนจบฮาร์วาร์ดมาหรือมหาวิทยาลัยไทยเท่ากัน แทบจะไม่เคยอ่านกฎหมาย มันห่างกันไม่มากหรอก คุณไม่เคยรู้หรอกงบประมาณ 3 ล้านล้าน ไปลงที่ตรงไหนบ้าง กระทรวงหนึ่งมีกี่กรม

การวางตำแหน่งทิศทางของกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องยึดสเปคตรงนี้ ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน 30 คน เป็นคลื่นลูกใหม่ ผมกำลังหาลูกชาวนาเข้ามาด้วย ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ให้เป็นแบบแผน คนก็จะเข้าใจผิด และจะกลายเป็นนักการเมืองแคทวอร์ค ซึ่งผมไม่ต้องการ ทุกกลุ่มต้องเข้ากันได้ และทุกกลุ่มต้องมีค่านิยมเหมือนกัน เพราะประชาธิปไตยคือความหลากหลายของสถานะความคิดที่ต้องมีความเสมอภาค

คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน 30 คน เป็นคลื่นลูกใหม่ ผมกำลังหาลูกชาวนาเข้ามาด้วย ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ให้เป็นแบบแผน คนก็จะเข้าใจผิด และจะกลายเป็นนักการเมืองแคทวอร์ค

คุณสุเทพยังมีอิทธิพลภายในพรรคอยู่ไหม ?

ไม่รู้เหมือนกัน เขาก็มีพรรคที่ตั้งขึ้นมา ส่วนเรื่องความผูกพันในอดีต มีแน่นอน เพราะว่าเป็นเลขาธิการพรรคมาสิบกว่าปี แต่ว่าการเปลี่ยนความผูกพันเป็นอิทธิพลทางการเมือง ผมว่าคนในพรรคไม่ได้ยอมรับในเรื่องของอิทธิพลภายนอก ผมเคยประกาศว่าผมจะปกป้องพรรค ถ้าหากว่ามีอิทธิพลภายนอก อำนาจที่ไม่ถูกต้องเข้ามาจะยึดพรรค ผมไม่ยอม ผมพร้อมจะปกป้องพรรค

สมมติผลการเลือกไพรมารีออกมาแล้ว คุณอลงกรณ์ไม่ชนะ จะยังอยู่กับพรรคเพื่อสานต่อสิ่งที่ตั้งใจไว้ไหม ?

สานต่อแน่นอน เลือกมาเดินเส้นทางที่ยากที่สุดแล้ว ผมไม่ถอยอยู่แล้ว ถ้าผมเลือกจะทิ้ง ผมไปเป็นวุฒิสภา ไปอยู่ในพรรคการเมืองซีกรัฐบาล แต่ผมเชื่อว่าการเมืองเก่าสร้างการเมืองใหม่ไม่ได้ ผมกลับมาเพื่อสร้างการเมืองใหม่ และผมยังชื่นชมพรรคอนาคตใหม่ว่านำเสนอแนวทางการเมืองใหม่เช่นเดียวกัน

ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วนผสม จะมีผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรบ้าง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

มันกระทบทั้งทางบวกและทางลบ หลายคนบอกว่า มันจะมีการกระจายของคะแนนภายใต้ระบบนี้ ซึ่งก็เป็นไปได้ในทางหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า พรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรคจะสามารถสร้างแรงดึงดูดได้ขนาดไหนด้วย

แต่การตัดสินใจเลือกก็มีอยู่แค่ 3-4 กลุ่มเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งหลัก หนึ่งคือกลุ่มเพื่อไทย สองคือประชาธิปัตย์ สามคือกลุ่มอนาคตใหม่ อาจรวมถึงกลุ่มของเสรีพิสุทธิ์ด้วย อันที่สี่คือกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐ ผมคิดว่านี่จะเป็นสี่พรรคที่อยู่ในการพิจารณาของผู้ใช้สิทธิ์ ลดตามขนาดของพรรคลงมา

ถ้าคุณเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง คุณมีสิทธิ์ตัดสินใจแค่ช็อตเดียว บัตรใบนี้จะลงให้ใคร มันไม่เหมือนแต่ก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่าภายใน 4 พรรคนี้จะสามารถสร้างจุดเด่นที่ทำให้รู้สึกว่าต้องเป็นพรรคนี้ สำหรับผู้เลือกที่กลางๆ ไม่ใช่ประเภทสานุศิษย์ หรือสาวก วันนี้ถ้าดูตามโพลที่ผ่านมาเกิน 60 เปอร์เซนต์ ยังไม่ตัดสินใจที่จะเลือกพรรคไหน ตรงนี้คือ สิ่งที่ท้าทาย

ดังนั้นถ้ามีโปรดักต์ 4 ชิ้นให้เลือก ประชาธิปัตย์ต้องสร้างความโดดเด่นและแตกต่าง ผมเลือกใช้ยุทธศาสตร์สีขาว-ดำ คุณต้องแยกตัวเองออกจากทุกกลุ่ม ถ้าคุณต้องการการเมืองสีขาวเลือกเรา แต่ถ้าเลือกอีกฝั่งหนึ่งมันก็จะเหมือนเดิม อาจจะมีพรรคอนาคตใหม่ที่ดูแตกต่าง เพราะไม่เคยลงเลือกตั้ง และมีความสดใหม่ แต่ก็ยังเป็นพรรคเล็กเกินไปที่จะเป็นพรรคแกนนำ

ถ้าผมมีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ผมดูจากฐานอุดมการณ์ มีแนวคิดพรรคการเมืองสีขาวที่คล้ายกัน จึงมีแนวโน้มสูงที่จะร่วมมือกันได้ ลำดับแรกที่ต้องดูคือ แนวทางหลัก ต่อมาคือนโยบาย แต่ในประเทศไทย เวลาพูดถึงนโยยบาย คล้ายกันหมด ยังไม่มีพรรคไหนที่มีนโยบายแตกต่างไปสิ้นเชิงเหมือนพรรคต่างๆ ในยุโรป

ผมเลือกใช้ยุทธศาสตร์สีขาว-ดำ คุณต้องแยกตัวเองออกจากทุกกลุ่ม ถ้าคุณต้องการการเมืองสีขาวเลือกเรา แต่ถ้าเลือกอีกฝั่งหนึ่งมันก็จะเหมือนเดิม

ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ต้องถูกบังคับจับคู่กับพรรคอื่น เราจะเห็นภาพประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคอื่นไหม

ประเทศไทยตลอด 76 ปี เป็นรัฐบาลผสมมาโดยตลอด แม้แต่รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเด็ดขาดมีเพียงรัฐบาลคุณทักษิณปี 48 ก็ยังเป็นรัฐบาลผสม สมัยรัฐบาลคุณคึกฤทธิ์ที่พรรคแกนนำมีเพียง 18 เสียงก็เป็นรัฐบาลผสม

ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน ผมเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคเดียวที่มีโอกาสจะเกิดการแลนด์ไสลด์ หรือได้คะแนนเสียงแบบถล่มทลายถ้าทำตามแนวทางที่ผมวางไว้ เพราะมันคือความแตกต่างจากทุกพรรค เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นด้วยถ้าใครบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีโอกาสเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียว

หลักการเมืองสีขาวบอกอยู่แล้วว่าพรรคไหนที่ชนะเลือกตั้ง เราก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน ผมคุยได้ทุกพรรค แต่จุดยืนอยู่ที่เรา จะร่วมไม่ร่วมอยู่ที่เรา แต่ว่า การเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเคารพเสียงประชาชน และต้องคุยได้กับทุกคน ในการเมือง จะเป็นไปได้ไง ที่ปิดประตูที่จะคุยกับคนนั้นคนนี้ ท่าทีอย่างนี้ก็คือท่าทีของความเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง คือท่าทีที่ไม่เคารพต่อสิทธิของกันและกันและไม่ให้เกียรติกันและกัน มีแต่ความแตกแยกที่จะเกิดขึ้นต่อไป

อย่างที่บอก ผมไม่รับนายกฯ คนนอก แต่ผมก็แนะนำคุณประยุทธ์ให้เข้ามาผ่านการเลือกตั้ง มันจะชอบธรรมและสง่างาม มาเสนอชื่อเป็นนายกฯ อยู่ในสามบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ถ้าผ่านตรงนั้นมา ผมก็คุยกับคุณประยุทธ์ได้ ผมมีสิทธิอะไรที่จะไม่คุยกับคุณสุดารัตน์หรือคุณจาตุรนต์ ผมมีสิทธิอะไรที่ผมจะปฏิเสธ ถ้าผมปฏิเสธเขา เขาก็มีสิทธิจะปฏิเสธผม แล้วประชาธิปไตยมันจะเดินหน้าได้ไง

แต่การที่ผมบอกว่าผมคุยกับทุกพรรค ไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องร่วมกับทุกคน ดังนั้นผมคิดว่าหลักการเหล่านี้มันเป็นเรื่องครรลองของประชาธิปไตย เป็นมาตรฐานของประชาธิปไตย ไม่ใช่เงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น การเป็นพรรคการเมืองคุณต้องคุยได้กับทุกพรรคที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา

ถ้าผมมีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่ ผมดูจากฐานอุดมการณ์ มีแนวคิดพรรคการเมืองสีขาวที่คล้ายกัน จึงมีแนวโน้มสูงที่จะร่วมมือกันได้

คุณพูดถึงเรื่องการปฏิรูป แต่ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังถูกล็อคด้วยประกาศ คำสั่ง กฎหมายสนช. อีกทั้งยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ คุณคิดว่าจะรับมืออย่างไร

ผมขับรถได้ทุกถนน เพราะมันเป็นถนนที่ผมมีส่วนสร้าง ผมรู้ว่าโค้งมันอยู่ตรงไหน ผมไม่กลัวสิ่งเหล่านั้น แต่ผมจะเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ เลือกใช้ไม่ว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนปฏิรูป ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด  ไม่ได้มองว่าเป็นข้อจำกัดในการทำนโยบาย

ประชาชนยังมีความเข้าใจผิดในยุทธศาสตร์ชาติอย่างมาก เพราะเรายังมีอคติ มองว่านี่คือผลไม้พิษ แต่จริงๆ แล้วมาเลเซียมียุทธศาสตร์ชาติเมื่อ 28 ปีที่แล้ว กรุงเทพมหานครมียุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี ถ้าเรามองในเชิงการบริหารประเทศ เราจะต้องไม่มีอคติ

เรื่องยุทธศาสตร์ชาติมีคนเข้าใจผิดกันมาก เพราะว่าเราใช้มิติทางการเมืองมองมากเกินไป มิติของการมองเผด็จการมากเกินไป ถ้าเรามองโดยแท้แล้ว จุดอ่อนของประเทศไทยคือการไม่มียุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้เกิดจากรัฐบาล แต่เกิดจากสภาปฏิรูป ผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นมา 800 กว่าครั้ง มันก่อตัวขึ้นจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แล้วก็ภาคของราชการที่ส่วนใหญ่เกษียณ

เราพยายามหาคำตอบว่าจุดอ่อนของประเทศคืออะไร หนึ่งไม่มียุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีเป้าหมายระยะยาว สอง บริบทของการเมืองที่ไม่ให้เกียรติกัน ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย ไม่ได้เลือกว่านโยบายที่ดีเท่ากับกลัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะได้เปรียบเสียเปรียบ

เราควรแยกการเมืองออกจากการปฏิรูป องค์ความรู้ต่างๆ มันไม่มีเอียงซ้ายเอียงขวาหรอก คุณสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เหล่านี้ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณมองว่าองค์ความรู้นี้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็เหมือนคุณปฏิเสธโอกาสของตัวเอง

 

สัมภาษณ์โดย สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล และ ณัชปกร นามเมือง
เรียบเรียงโดย สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล
ภาพถ่ายโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

Tags: , , , ,