เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ย. ส.ส.แคนาดาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ด้วยการออกเสียงแบบไม่เปิดเผย ให้ถอดออง ซาน ซูจี ออกจากสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดา เพื่อแสดงออกต่อการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา

ออง ซาน ซูจี ได้รับสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดาเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมามีเพียง 6  คนที่ได้รับสถานะนี้จากรัฐบาลแคนาดา เช่น องค์ทะไลลามะ มาลาลา ยูซาฟไซ และเนลสัน แมนเดลา

ผู้เสนอให้ถอดสถานะพลเมืองของซูจีคือ กาเบรียล สเท มารี (Gabriel Ste Marie) ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน  หลังจากนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ 26 กันยายนว่า เขาเปิดกว้างในการถอดสถานะนี้ของซูจี แต่เขาคิดว่า ทำแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตโรฮิงญาในพม่าสิ้นสุด หลังทราบผลการโหวต สเท มารีบอกว่า “นี่เป็นสัญลักษณ์ที่ดี ถ้าคุณมีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คุณจะต้องไม่ได้สถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ของประเทศนี้”

ส่วนส.ส.จากพรรคเสรีนิยมอีกคนหนึ่งกล่าวว่า มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าออง ซาน ซูจีไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นเลย และเป็นสัญญาณที่ว่า สถานะพลเมืองที่เธอได้รับไม่สมควรกับสิ่งที่เธอได้ทำในประเทศตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ไม่มีผลทันที เนื่องจากการมอบสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา กระบวนการถอดออกก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการลงคะแนนแบบไม่เปิดเผย เรียกการฆ่าที่เกิดขึ้นในพม่าว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ คริสเทีย ฟรีแลนด์ (Chrystia Freeland) รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญ

“รัฐบาลของเราสนับสนุนความเคลื่อนไหวนึ้เพื่อตอบโต้เธอที่ล้มเหลวในการพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อาชญากรรมโดยกองทัพที่เธอแชร์อำนาจด้วย” อดัม ออสเต็น (Adam Austen) โฆษกของรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว และยังบอกด้วยว่า แคนาดาจะยังสนับสนุนชาวโรฮิงญาด้วยการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพลทหารพม่าและเรียกร้องให้พวกเขารับผิดชอบ

แอนดรูว์ เลสลี (Andrew Leslie) ส.ส. ซึ่งทำงานเป็นเลขารัฐสภาให้กับฟรีแลนด์บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “กลไกของรัฐบาลจะไตร่ตรองรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนว่าต้องดำเนินการอย่างไร”

ด้านรัฐบาลพม่ายังไม่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้

ฟรีแลนด์เป็นหนึ่งในนักการเมืองชาติตะวันตกที่ประณามการตัดสินของผู้พิพากษาพม่าที่ลงโทษนักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สองคนว่ากระทำความผิดฐานจารกรรมข้อมูลรัฐ

การสอบสวนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า ทหารพม่ามีการ “วางแผนและร่วมมือกันเป็นอย่างดี” ในการสังหารหมู่ ข่มขืนหมู่ และทำร้ายชาวโรฮิงญาด้วยวิธีการต่างๆ


ที่มา:

Tags: , , ,