ในตอนที่แล้วเราพูดถึงมหกรรมศิลปะอย่าง ‘เวนิสเบียนนาเล่’ ในยุคเผด็จการฟาสซิสต์ไปแล้ว เพื่อความต่อเนื่อง ในตอนนี้เราเลยขอพูดถึงงานศิลปะที่เรียกได้ว่าร่วมเรียงเคียงหมอนมากับลัทธิฟาสซิสต์เลยก็ว่าได้ งานศิลปะแนวทางนั้นมีชื่อเรียกว่า ‘ฟิวเจอร์ริสม์’ (Futurism หรือ Futurismo ในภาษาอิตาเลียน)

ฟิวเจอร์ริสม์เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะและสังคมแบบหัวก้าวหน้าหรืออาวอง-การ์ด (avant-garde) ที่เกิดขึ้นในอิตาลีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แม้ส่วนใหญ่กระแสนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในอิตาลี แต่ก็มีขบวนการแบบเดียวกันนี้ในประเทศอื่นๆ อย่างรัสเซีย อังกฤษ เบลเยียม ฯลฯ อีกด้วย

กวีชาวอิตาเลียนฟิลิปโป โตมาโซ มาริเน็ตติ (Filippo Tommaso Marinetti) ริเริ่มกระแสนี้ในปี 1909 ที่มิลาน ด้วยการออกแถลงการณ์ฟิวเจอร์ริสม์ (Futurist Manifesto) ตีพิมพ์เป็นบทความครั้งแรกในหนังสือพิมพ์Gazzetta di Modena ของอิตาลี และตีพิมพ์ซ้ำใน Le Figaro หนังสือพิมพ์รายวันของฝรั่งเศส มีเนื้อหาที่แสดงออกถึงความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อความเก่าแก่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเก่าแก่ล้าสมัยที่ปรากฏในขนบธรรมเนียมทางการเมืองและศิลปะ ด้วยภาษาที่ฉะฉานเผ็ดร้อนรุนแรง เขากล่าวว่า“เราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอดีต เราคือเหล่าฟิวเจอร์ริสต์หนุ่มสาวผู้เแข็งแกร่ง”

บทความ ‘Manifesto de Futuismo’ ที่ตีพิมพ์ซ้ำลงหนังสือพิมพ์รายวันของฝรั่งเศส Le Figaro และภาพของฟิลิปโป โตมาโซ มาริเน็ตติ (Filippo Tommaso Marinetti)

ฟิวเจอร์ริสม์ให้ความสำคัญกับความเร็ว เทคโนโลยี ความเป็นหนุ่มสาว วัตถุ และเครื่องจักรกล อย่างรถยนต์ เครื่องบิน และเมืองอุตสาหกรรม มองตัวเองว่าเป็นตัวแทนของชัยชนะทางเทคโนโลยีเหนือธรรมชาติของมวลมนุษยชาติ รวมถึงปฏิเสธแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมในอดีต รังเกียจการลอกเลียนแบบของเก่า และยกย่องความความคิดริเริ่มอันแปลกใหม่ เบื่อหน่ายความภาคภูมิใจในมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งมาริเน็ตติเปรียบเปรยว่าเป็น ‘รอยเปรอะเปื้อนของความบ้าคลั่ง’

ฟิวเจอร์ริสต์ไม่แยแสนักวิจารณ์ศิลปะ มองว่าเป็นพวกไร้ประโยชน์ รวมถึงต่อต้านสุนทรียะอันกลมกล่อมและรสนิยมอันดี กวาดทิ้งหัวข้อและเนื้อหาสาระของศิลปวิทยาการในยุคก่อนหน้าทั้งหมดลงถังขยะ โดยหันไปสรรเสริญความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความทันสมัยแทน

The City Rises (La città che sale) (1910) ของ อุมแบร์โต โบชชิโอนี (Umberto Boccioni), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://goo.gl/CpfLes

ฟิวเจอร์ริสม์มีจุดมุ่งหมายในการปลดแอกอิตาลีจากสัมภาระแห่งอดีตอันหนักอึ้ง และประการสำคัญที่สุด ฟิวเจอร์ริสต์ลุ่มหลงในความเป็นชาตินิยมอย่างสุดโต่ง รวมถึงนิยมความรุนแรงและสงคราม แถลงการณ์ของฟิวเจอร์ริสม์กล่าวยกย่องสรรเสริญสงคราม ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าทำให้โลกสะอาดปลอดโรคภัย พวกเขาเชิดชูลัทธิทหารและหลงใหลอุดมการณ์แห่งการทำลายล้าง อันจะนำมาซึ่งเสรีภาพและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

มาริเน็ตติกล่าวว่า “ผลงานศิลปะใดที่ปราศจากความรุนแรงไม่มีคุณสมบัติในการเป็นผลงานชั้นเลิศ” เขาเชิดชูการขบถ ดิ้นรนและต่อสู้กับจารีตเก่าๆ ทางศิลปะ และยกย่องความทุกข์ยาก แม้แต่ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นจากสงครามและความรุนแรง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการทำงานศิลปะในกระแสนี้อย่างมาก

Abstract speed + sound (1913–1914) ของ จาโคโม บัลลา (Giacomo Balla), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://goo.gl/qceXWd

หลังจากบทความตีพิมพ์ได้ไม่นาน ศิลปินรุ่นใหม่ของอิตาลีที่หลงใหลได้ปลื้มในแนวคิดนี้ก็เข้ามาร่วมขบวนการ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรอย่าง อุมแบร์โต โบชชิโอนี (Umberto Boccioni) คาร์โล คาร์รา (Carlo Carrà) จาโคโม บัลลา (Giacomo Balla) จิโน เซอร์เวอร์รินี (Gino Severini) รวมถึงนักประพันธ์เพลงอย่างลุยจิ รุสโซโล (Luigi Russolo) ฯลฯ ซึ่งศิลปินเหล่านี้ก็สมาทานแนวคิดของมาริเน็ตติไปใช้กันอย่างเอิกเกริก ทั้งในงานทัศนศิลป์อย่างจิตรกรรม ประติมากรรม ไปจนถึงงานดนตรี รวมถึงแพร่หลายไปยังศิลปะและการออกแบบในแขนงอื่นๆ อย่างงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบอุตสาหกรรม งานเซรามิก งานกราฟิกดีไซน์ งานออกแบบตกแต่งภายใน การละคร ภาพยนตร์ แฟชัน และสิ่งทอ วรรณกรรม หรือแม้แต่การทำอาหารก็ยังมี

ประติมากรรมบรอนซ์ Unique Forms of Continuity in Space (1913) ของอุมแบร์โต โบชชิโอนี (Umberto Boccioni) ภาพจาก https://goo.gl/9BgkcZ

ตัวอย่างของงานออกแบบสถาปัตยกรรมแบบฟิวเจอริสม์ ผลงานของอันโตนิโอ แซนท์เอเลีย (Antonio Sant’Elia) ภาพจาก https://goo.gl/9L3ZU4

จิตรกรรมแบบฟิวเจอร์ริสม์ค่อยๆ พัฒนาสไตล์อันโดดเด่นและเนื้อหาอันแปลกแหวกแนวขึ้นมา ในปี 1910 และ 1911 พวกเขาใช้เทคนิค Divisionism* รวมถึงรับเอาแนวคิดของลัทธิคิวบิสม์** ที่แสดงถึงหนทางในการวิเคราะห์พลังงานและการแสดงออกถึงพลังความเคลื่อนไหวในงานจิตรกรรม (อ้าว! ไหนว่ารังเกียจการได้แรงบันดาลใจจากของเก่าไง?)

ภาพวาดแบบฟิวเจอร์ริสม์เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของคน สัตว์ (ตัวอย่างเช่น ขาของคนหรือสัตว์ในภาพวาดจะทวีจำนวนนับไม่ถ้วนจนดูเหมือนกำลังวิ่งอยู่จริงๆ) หรือสิ่งของอย่างเครื่องจักร ยานพาหนะที่กำลังพุ่งไปข้างหน้า แสงสีที่พุ่งตัดฉวัดเฉวียน หรือแม้แต่งานสามมิติอย่างประติมากรรม และสถาปัตยกรรมก็มีลักษณะของพลังแห่งความเคลื่อนไหวและแนวคิดแห่งความเป็นสมัยใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจอย่างเห็นได้ชัด

Dinamismo di un Cane al Guinzaglio (Dynamism of a Dog on a Leash) (1912) ของ จัลโคโม บัลลา (Giacomo Balla), สีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพจาก https://goo.gl/xkhCV5

ในแง่มุมทางการเมือง ขบวนการเคลื่อนไหวฟิวเจอร์ริสม์หลายคนสนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์อย่างออกนอกหน้า ด้วยความหวังที่ว่ามันจะพัฒนาอิตาลีไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ เช่นเดียวกับฟาสซิสต์ พวกฟิวเจอร์ริสม์ล้วนแล้วแต่มีความเป็นชาตินิยมสุดโต่ง หัวรุนแรง นิยมความรุนแรง และต่อต้านประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

มาริเน็ตติก่อตั้งพรรคการเมืองฟิวเจอร์ริสม์ (Partito Politico Futurista) ขึ้นในช่วงต้นปี 1918 ซึ่งต่อมาถูกหลอมรวมเข้ากับลัทธิฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินี ในปีถัดมาและทำให้มาริเน็ตติกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกคนแรกๆ ของพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ (National Fascist Party) ในปี 1919

แต่ในภายหลัง มาริเน็ตติเองก็กลับต่อต้านพรรคฟาสซิสต์เมื่อมันถูกยกระดับให้กลายเป็นสถาบัน เขาเรียกพรรคฟาสซิสต์ว่าเป็นพวกขวาจัด และลาออกจากพรรคในปี 1920 ด้วยความรังเกียจ รวมถึงถอนตัวจากแวดวงการเมืองเป็นเวลาสามปี แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังให้การสนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์อิตาเลียนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

(ซ้าย) Dynamic Hieroglyphic of the Bal Tabarin (1912) สีน้ำมันบนผ้าใบกับโลหะประดับ ภาพจาก https://goo.gl/AFyh4k และ (ขวา) La Modiste ของ จิโน เซอร์เวอร์รินี (Gino Severini)

ความสัมพันธ์ของขบวนการฟิวเจอร์ริสม์กับลัทธิฟาสซิสต์ผูกพันกันแนบแน่นหลังจากชัยชนะของฟาสซิสต์ในปี 1922 พวกเขาสร้างผลงานชิ้นสำคัญขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานด้านสถาปัตยกรรม

มาริเน็ตติมุ่งหวังจะทำให้ฟิวเจอร์ริสม์กลายเป็นศิลปะประจำรัฐฟาสซิสต์อิตาลีอย่างเป็นทางการ แต่ก็ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะโดยส่วนตัวมุสโสลินีเองไม่ได้สนใจศิลปะเท่าไรนัก เขาเลือกที่จะอุปถัมภ์สไตล์และความเคลื่อนไหวทางศิลปะจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อความนิยมและกว้านเอาเหล่าศิลปินทั้งหลายให้เข้ามาจงรักภักดีต่อระบอบของตน

มุสโสลินีกล่าวในงานเปิดนิทรรศการศิลปะของกลุ่ม โนเวเชนโต อิตาเลียโน (Novecento Italiano)*** ในปี 1923 ว่า “ข้าพเจ้าขอประกาศว่าข้าพเจ้าแทบไม่คิดถึงการสนับสนุนให้มีสิ่งที่เรียกว่าศิลปะประจำรัฐ เพราะศิลปะเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละบุคคล รัฐมีเพียงหน้าที่ในการไม่บ่อนทำลายศิลปะ รวมถึงเปิดโอกาสด้านมนุษยธรรมให้กับเหล่าศิลปิน เพื่อสนับสนุนพวกเขาจากมุมมองทางศิลปะและมุมมองแห่งความเป็นชาติ”

และถึงแม้ในช่วงแรกๆ รัฐบาลฟาสซิสต์อิตาลีจะสามารถยอมรับศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) อย่างเต็มอกเต็มใจได้ แต่อย่างไรก็ดีในช่วงสิ้นสุดของยุค 1930s พรรคฟาสซิสต์ฝ่ายขวาจัดก็รับเอาแนวคิดของ ‘ศิลปะอันเสื่อมทราม’ (Degenerate art) มาจากพรรคนาซีเยอรมัน เมื่อนั้น นอกจากศิลปะสมัยใหม่ที่ถูกไล่ล่ากำจัดแล้ว ศิลปะฟิวเจอร์ริสม์เองก็ไม่พ้นต้องตกเป็นเป้าของการประณามหยามเหยียดเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าขบวนการศิลปะฟิวเจอร์ริสม์จะถูกมองว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลัทธิชาตินิยมขวาจัดและฟาสซิสต์ แต่ในขบวนการก็ยังมีฟิวเจอร์ริสม์ฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านสมาชิกที่สนับสนุนลัทธิฟาสซิสต์อยู่ด้วย โดยสมาชิกที่ประกอบด้วยศิลปินที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และอนาธิปไตยเหล่านี้ มีแนวโน้มของการทำงานศิลปะและอุดมการณ์การเมืองที่ตรงกันข้ามกับมาริเน็ตติ และไม่ใช่ว่าจะไร้ปากเสียงในขบวนการเสียทีเดียว พวกเขาประท้วงด้วยการเดินออกจากสภาฟิวเจอร์ริสม์แห่งมิลานในปี 1924

ภาพ Rhythms of Objects ของ คาร์โล คาร์รา (Carlo Carrà)

ขบวนการฟิวเจอร์ริสม์ส่งอิทธิพลต่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอื่นๆ ในยุคศตวรรษที่ 20 อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาร์ต เดโค (Art Deco) คอนสตรัคติวิสม์ (Constructivism) ดาดา (Dada) เซอร์เรียลลิสม์ (ถึงแม้ว่าดาดาและเซอร์เรียลลิสม์จะมีความคล้ายคลึงกับฟิวเจอร์ริสม์ตรงความขบถต่อขนบธรรมเนียมและค่านิยมเก่าๆ ของศิลปะ และต่อต้านสุนทรียะแบบเดิมๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากก็คือ ดาดาและเซอร์เรียลลิสม์เป็นขบวนการศิลปะฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านความเป็นชาตินิยมและสังคมวัตถุนิยม ที่สำคัญ พวกเขาชิงชังสงครามและความรุนแรงเป็นที่สุด)

งานดนตรีที่ปฏิเสธรูปแบบประเพณีนิยมและนำเสนอเสียงทดลองที่ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องจักรกลของฟิวเจอร์ริสม์ ก็ส่งอิทธิพลต่อนักประพันธ์ดนตรีในศตวรรษที่ 20 หลายต่อหลายคน อาทิ สตราวินสกี (Stravinsky) อาเธอร์ ฮอนเนกเกอร์ (Arthur Honegger) สต็อกเฮาเซน (Stockhausen) หรือแม้แต่จอห์น เคจ (John Cage) เองก็ตาม

ถึงกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะฟิวเจอร์ริสม์ยุติบทบาทลงพร้อมกับการเสียชีวิตของผู้นำและผู้ก่อตั้งอย่างมาริเน็ตติในปี 1944 แต่อุดมคติของฟิวเจอร์ริสม์ยังคงเป็นองค์ประกอบอันสำคัญของศิลปวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ อาทิ งานออกแบบฉากในโลกอนาคตในหนัง Blade Runner (1982) ของริดลีย์ สก็อตต์ เองก็ได้รับแรงบันดาลใจมากจากงานสถาปัตยกรรมของฟิวเจอร์ริสม์อย่างชัดแจ้ง และตัวขบวนการเองก็ยังถือกำเนิดขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ในชื่อนีโอ-ฟิวเจอร์ริสม์ (Neo-futurism) นั่นเอง

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ศิลปินฟิวเจอร์ริสม์หลายต่อหลายคนต้องตกระกำลำบากและประสบความยากเข็ญในการทำมาหากินเพราะพวกเขาดันเลือกอยู่ฝ่ายเดียวกับระบอบการปกครองที่ล้มเหลวและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามเท่านั้นเอง เรียกได้ว่าเลือกข้างผิด ชีวิตเปลี่ยน จริงๆ

 

อ้างอิง:

 

 

FACT BOX:

* Divisionism เทคนิคการวาดภาพของจิตรกรนีโอ-อิมเพรสชันนิสม์ (Neo-Impressionism) ที่พัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎีแสงสีในวิทยาศาสตร์ ด้วยการแยกและลดทอนแสงสี จนกลายเป็นอาณาเขตของจุดและแถบสีที่รวมตัวกันกลายเป็นภาพ ซึ่งเป็นเทคนิคที่บุกเบิกโดยจิตรกรชาวอิตาเลียน จิโอวานนี เซกันตินี (Giovanni Segantini) และคนอื่นๆ ลักษณะของเทคนิคนี้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในผลงานของจิตรกรชาวฝรั่งเศส ฌอร์ช เซอราต์ (Georges Seurat)

** คิวบิสม์ (Cubism, 1909 -1919) แนวทางศิลปะที่ศิลปินชาวสเปน ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และศิลปินชาวฝรั่งเศส ฌอร์ช บราก (Georges Braque) ร่วมกันทดลองนำรูปทรงทางเรขาคณิตมาใช้ในการทำงานจิตรกรรมจนกลายเป็นแนวทางใหม่ขึ้นมา ด้วยการวาดภาพที่ไม่ยึดหลักทัศนียภาพโดยสิ้นเชิงและทำลายรูปทรง จนกลายเป็นชิ้นส่วนของพื้นผิวแบนราบรูปทรงเรขาคณิตชิ้นเล็กชิ้นน้อย มาประกอบขึ้นเป็นรูปทรงกึ่งนามธรรม ลักษณะเด่นอีกประการของมันก็คือ แทนที่จะนำเสนอภาพของสิ่งต่างๆ จากมุมมองเดียว มันกลับฉายภาพของสิ่งเหล่านั้นออกมาให้เห็นในหลากหลายมุมมองได้พร้อมๆ กันในคราวเดียว ราวกับสิ่งที่อยู่ในภาพถูกคลี่ให้กางออกมา นอกจากงานจิตรกรรม คิวบิสม์ยังมีงานประติมากรรมและงานศิลปะปะติด/สื่อผสม แนวคิดของมันส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวิวัฒนาการของวงการศิลปะและเป็นต้นธารของศิลปะสมัยใหม่อีกหลากแขนง อาทิ ศิลปะแอ็บสแตร็กต์(Abstract) ฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) สุพรีมทิสม์ (Suprematism) ดาดา (Dada) คอนสตรักทิวิสม์ (Constructivism) และเดอ สไตจ์ล (De Stijl) เป็นต้น

*** โนเวเชนโต อิตาเลียโน (Novecento Italiano อิตาเลียนแห่งศตวรรษที่ 20) ขบวนการทางศิลปะที่ก่อตั้งโดยมาร์เกอริตา ซาฟาร์ตติ (Margherita Sarfatti) หนึ่งในภรรยาน้อยของมุโสลินี ผู้เป็นนักเขียน นักวิจารณ์ นักสะสมงานศิลปะคนดัง และที่ปรึกษาด้านโฆษณาชวนเชื่อของพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติผู้มีบทบาททางวัฒนธรรมในรัฐบาลฟาสซิสต์อย่างสูง เธอประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ขบวนการศิลปะนี้มีบทบาทอันโดดเด่นไม่แพ้ฟิวเจอร์ริสม์ อีกทั้งเธอยังสามารถโน้มน้าวมาริเน็ตติให้มานั่งเป็นคณะกรรมการของกลุ่มนี้ได้อีกด้วย

Tags: , , , ,