วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยให้ความเห็นว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่อีก 1 เสียงให้ความเห็นไว้ว่าต้องลดร้อยละ 0.25 เพราะเศรษฐกิจมีการขยายตัวต่ำจากปัญหาโครงสร้างและช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชน

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2567 และร้อยละ 3 ในปี 2568 เป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567

ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีการขยายตัวระดับต่ำ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง โดยสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น แต่ยานยนต์และโซลาร์เซลล์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความต้องการในประเทศที่ลดลง

ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล

นอกจากนั้นปิติยังเผยว่า คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่สูง และเห็นว่าควรให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt Deleveraging) เพื่อเสริมเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการกระจายการเข้าถึงสินเชื่อเป็นปัจจัยที่สำคัญ และควรผลักดันให้เดินหน้าไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม หาก กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% จะเป็นภาระของภาคการคลังที่จะทำงานหนักขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างเต็มที่แล้ว 

Tags: , ,