ตอนนี้คนเริ่มเห็นว่าเพศนั้นมีหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ
แต่กระนั้นเราก็ยังพยายาม ‘จัดแบ่ง’ คนออกตาม
‘ความทรงจำ’ เดิมของเราอยู่ดี นั่นคือ เราถูกปลูกฝัง ให้ ‘จำ’
มาแต่อ้อนแต่ออกแต่บรรพกาลในแทบทุกวัฒนธรรมว่า
มนุษย์มีสองเพศ

เรื่องเพศนั้นแปลก เพราะนอกเหนือจากชื่อและนามสกุลที่เอาไว้ใช้ ‘บ่งชี้’ ว่าคุณเป็นใครแล้ว คำถามถัดมาที่ต้องบ่งบอกให้ได้ก็คือคุณเป็นคน ‘เพศอะไร’

พูดง่ายๆ ก็คือต้องมีการ ‘แบ่งแยก’ เพศให้ได้ (จะเรียกว่า เพศเภท-อ่านว่า เพด-สะ-เพด, หรือการทำให้เพศแตกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ-ก็เห็นจะได้) เพื่อจะได้จับยัดคนเอาไว้ในเขตแดนใดเขตแดนหนึ่ง

แต่อย่างที่ชวนคุยไปใน Genderless ตอนที่แล้วนะครับ ว่าตอนนี้คนเริ่มเห็นว่าเพศนั้นมีหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ แต่กระนั้นเราก็ยังพยายาม ‘จัดแบ่ง’ คนออกตาม ‘ความทรงจำ’ เดิมของเราอยู่ดี นั่นคือ เราถูกปลูกฝัง ให้ ‘จำ’ มาแต่อ้อนแต่ออกแต่บรรพกาลในแทบทุกวัฒนธรรมว่า มนุษย์มีสองเพศ และเพราะดังนั้นต่อให้ตอนนี้ตระหนักว่ามีมากกว่าสองเพศ เราก็ยังพยายามจัดแบ่งคนออกเป็นกลุ่มต่างๆ โดยใช้หลักการ Binary หรือแบ่งเป็นสองเพศอยู่นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคใหม่ที่ล้ำขึ้นไปอีกขั้น เริ่มมีคำว่า Non-Binary Genders หรือเพศที่ไม่ได้ถูก ‘จัดกรุ๊ป’ ให้เป็นขั้วสองขั้วกันมากขึ้นนะครับ จูเลีย ซีราโน (Julia Serano) นักเขียนและนักกิจกรรมชาวอเมริกันในเรื่องเพศ (เธอเขียนหนังสือชื่อเก๋ไก๋มากว่า Whipping Girl : A Transsexual Woman on Sexism and the Scapegoating of Femininity) เคยบอกไว้ว่า อาการ ‘เหยียดเพศ’ นั้น มี ‘ราก’ สองแบบใหญ่ๆ

อย่างแรกไม่น่าประหลาดใจเท่าไรครับ เพราะคือรากของผู้ชายเป็นใหญ่ที่มีอยู่เหนือผู้หญิง อันนี้ต่อมาก็เกิดดอกออกผลเป็น Feminism ที่สร้างองค์ความรู้โดยใช้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางต่อกรกับลัทธิชายเป็นใหญ่

แต่รากที่สองที่น่าสนใจมากๆ ก็คือรากที่เรียกว่า Non-Binary Oppression นั่นคือเกิดการ ‘กด’ คนที่ไม่ยอม ‘สังกัด’ ฟากใดฟากหนึ่งของสเปกตรัมเรื่องเพศ

ตัวอย่างแบบพื้นๆ ก็เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง แล้วแปลงเพศเป็นหญิง อยู่กินกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง สายตาของสังคมแบบ Binarism จะมองว่าโอเค อย่างน้อยก็โอเคกว่าแปลงเพศแล้วเป็นแฟนกับกะเทยแปลงเพศด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ว่านี้เป็นแค่สิ่งที่เห็นอยู่ภายนอกเท่านั้นนะครับ เพราะจริงๆ แล้ว พูดให้ถึงที่สุด Non-Binary Genders เป็นเรื่องของวิธีคิดที่อยู่ภายในมากกว่าพฤติกรรมภายนอก เช่น คนที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ชายทั้งแท่ง’ (คือชอบสิ่งมีชีวิตที่เป็น ‘ผู้หญิง’) ก็อาจมีวิธีคิดแบบ Non-Binary ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น พฤติกรรมทางเพศกับความคิดทางเพศจึงไม่ได้ผูกโยงกันตายตัวเหมือนที่เราเคยคิดกันมา

และอาจเป็นเหตุผลนี้ก็ได้นะครับ ที่ทำให้เกิดการ ‘กด’ วิธีคิดแบบ Non-Binary Genders ไม่น้อย เนื่องจากวิธีคิดแบบนี้มันจะสร้างความพร่าเลือนให้กับการจัดแบ่งประเภทของคนจนไม่สามารถ ‘ติ๊ก’ ในช่อง ‘เพศ’ ได้ว่าคนคนนี้เป็นเพศไหน ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามอีกนั่นแหละครับ-ว่านี่เป็นเรื่องจำเป็นหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี ‘ทรงจำ’ เรื่องเพศที่แบ่งเป็นสองข้างนั้น มันยังคงฝังลึกอยู่ในความรู้สึกของสังคมโดยทั่วไป แม้ปัจจุบันนี้จะเริ่มเกิดภาวะ ‘เพศเภทอัสดง’ คือการแบ่งแยกทางเพศเริ่มเลือนๆ ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมี ‘ร่องรอย’ อันเป็นทรงจำของทรงจำ แฝงฝังอยู่ในมายาคติทางเพศอีกหลายที่ ก่อให้เกิดอาการ Non-Binary Oppression

ตัวอย่างเช่น เวลาเราเห็นคนไม่ได้มีพฤติกรรม (หรือวิธีคิด) ในแบบ Binary เราอาจจะบอกว่า โอ๊ย! ฉันยอมรับได้ล่ะน่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรสักหน่อย แต่ถ้าเหตุผลในการยอมรับได้ของคุณคือ-เพราะภาวะไม่หญิงไม่ชายนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว เช่นที่ชอบคิดว่าเด็กหญิงทอมบอยโตขึ้นมาก็หาย ก็แปลว่าคุณอาจยังไม่เข้าใจเรื่อง Non-Binary Genders จริงๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว Non-Binary Genders นั้น ไม่มีขอบเขต คนแต่ละคนสามารถให้นิยาม ‘เพศ’ ของตัวเองได้ และเพศนั้นอาจเปลี่ยนไปเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นการ ‘แบ่ง’ คนเป็นเพศต่างๆ เพื่อจับเขาเข้าสังกัด จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย

อย่างไรก็ตาม ทรงจำของทรงจำเรื่อง ‘เพศเภท’ ก็ยังพยายามแบ่งคนออกเป็นกลุ่มต่างๆ อยู่ดี ดังนั้นในที่นี้เลยอยากลองหยิบคน ‘เพศต่างๆ’ มาแนะนำเพียงบางส่วน แล้วคุณจะรู้ว่าความเป็นเพศนั้นมันหลากหลายเกินกว่าการนิยาม

บางคนบอกว่าตัวเองเป็น Agender คือไม่มีเพศ บางคนเป็น Allagender คือนิยามว่าตัวเองเป็นเพศเฉพาะที่ไม่เหมือนกับคนอื่นเลย บางคนก็เป็น Bigender (ไม่ใช่ Bisexual นะครับ) คือเห็นว่าตัวเองมีเพศสภาวะทั้งหญิงและชาย ซึ่งก็มีทั้งเป็นสองเพศพร้อมกันหรือสลับกันไปสลับกันมาก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีบางคนนิยามตัวเองว่าเป็น Demiboy หรือ Demigirl คือในตัวนั้นมีส่วนหนึ่งที่เป็นชายหรือหญิงแน่ๆ แต่ส่วนอื่นๆ (ซึ่งไม่รู้กี่เปอร์เซ็นต์เหมือนกันนะครับ) จะเป็นอะไรอื่นๆ ได้ทั้งสิ้นทั้งปวง

หรือคนที่บอกว่าตัวเองเป็น Intergender ก็จะเป็นกลุ่ม Non-Binary ที่เชื่อใน Binary (งงไหมครับ) แล้วเห็นว่าตัวเองสามารถกระโดดข้ามไปข้ามมาระหว่างสองเพศสภาวะได้ (โดยไม่จำเป็นนะครับว่าต้องเป็นหญิงกับชายเท่านั้น) ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับ Polygender เพียงแต่ Polygender จะมีหลายๆ หลักเพศ (คือมากกว่าสอง) แล้วกระโดดข้ามไปข้ามมาได้ นอกจากนี้ยังมีที่เริ่มคุ้นกันก็คือ Pangender หรือคนที่บอกว่าตัวเองเป็นทุกเพศ

เรื่องของ Gender นั้น มีความข้องเกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรม’ ในระดับล้ำลึกยิ่งนะครับ เพราะทรงจำของทรงจำบอกเราว่า ถ้าคุณเป็นคนที่มีเพศสภาวะแบบนี้ คุณก็ควรจะมีวิถีชีวิตแบบนี้ และคบหาสมาคมกับเพื่อนแบบนี้ ซึ่งก็จะไปทำให้ ‘ความเป็นเพศ’ นั้นๆ แข็งแกร่งแข็งตัวขึ้น การเป็น ‘เพศต่างๆ’ ในแบบ Non-Binary ในอีกด้านหนึ่งจึงคือการ ‘ทิ้ง’ สังกัดทางวัฒนธรรมของตัวเองไปด้วย ซ้ำจริงๆ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยมักจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ในชีวิตของเรา

นอกจากนี้ เวลาเรามองโลก วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการมองโดยแยกเป็นขั้วตรงข้าม เช่น มืดกับสว่าง รักกับเกลียด สวยกับอัปลักษณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้นนะครับ แต่รวมไปถึงเรื่องการเมือง ศีลธรรม ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ศิลปะ และอื่นๆในชีวิตด้วย ดังนั้นมันจึงก่อรูปเป็น ‘ทรงจำของทรงจำ’ อันผนึกแน่นแต่รางเลือนมองไม่ค่อยจะเห็น และทำให้การกระโดดออกจากกรอบแบบ Binarism เป็นเรื่องยากมาก

แม้ดูเหมือน ‘เพศเภท’ (แบบ Binarism) จะเริ่มอัสดงไปบ้างแล้ว แต่ทรงจำของทรงจำเรื่องเพศ ก็ยังฝังแน่นลึกอยู่ข้างในวิธีคิดของเราอยู่ดี    ทรงจำเฉยๆ นั้นล้างออกไม่ยาก แต่ทรงจำของทรงจำของทรงจำของทรงจำหลายๆ ชั้นนั้น แม้แหว่งวิ่นไม่ครบถ้วนและเลอะเลือนมองไม่ค่อยเห็น แต่มักฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้เคลื่อนไปไหนเสมอ

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,