การเลือกตั้งเป็นหนึ่งในมหกรรมทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงกว่า 970 ล้านคนในประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน คูหาเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 1 ล้านหน่วย ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กว่า 15 ล้านคน และการเลือกตั้งกินระยะเวลากว่า 6 สัปดาห์

แม้เส้นทางจะดูยาวไกล กว่าวันปิดหีบเลือกตั้งใบสุดท้ายจะมาถึง แต่ผลการคาดการณ์จากสำนักโพลต่างๆ กลับออกมาในทิศทางเดียวกันอย่างไม่น่าแปลกใจ

“นเรนทรา โมดี กลายเป็นนายกฯ ที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองหลังประกาศเอกราชแทนที่นายกรัฐมนตรีคนแรกอย่างบัณฑิตเนห์รู” 

คะแนนนิยมมหาศาลในตัวโมดีมีที่มาจากนโยบายภายในประเทศที่ดุดัน ทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนพื้นฐาน การแจกจ่ายถุงยังชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย นโยบายต่างประเทศที่แข็งแกร่ง การสร้างสัมพันธ์อันดีกับตะวันออกกลาง รัสเซีย และสหภาพยุโรป รวมถึงความสำเร็จของการประชุม G20 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2023 สิ่งเหล่านี้หนุนดันเป็นลมใต้ปีกให้กับ ‘ลัทธิบูชาตัวบุคคล’ ของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย จนติดลมบนเกิดเป็นรูปที่เห็นทั่วทุกหัวถนน ทุกตึก และทุกสถานที่ในอินเดีย

พลังขับเคลื่อนที่สำคัญอันเป็นเสมือนไอพ่นของโมดีและพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) ในสมรภูมิการเมืองอันเด็ดดวงของอินเดีย คือนโยบายศาสนาแบบ Hindu Nationalist ซึ่งก่อร่างสร้างตัวขึ้นตามกรอบแนวคิดของกลุ่มนักคิด และนักต่อสู้ทางการเมืองขวาจัดในสมัยก่อนได้รับเอกราช ด้วยระเบียบวิธีคิดแบบ ‘ฮินดูทวา’ (Hindutva)

ป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 2024 ของนเรนทรา โมดี ในประเทศอินเดีย

(ที่มา: AFP)

ฮินดูทวา

ฮินดูทวา เป็นคำประดิษฐ์ใหม่ตามหนังสือ Hindutva: Who Is a Hindu? ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1922 ของ วินายัก ดาโมดาร์ สาวาร์การ์ (Vinayak Damodar Savarkar) หรือผู้ที่เชื่อในตัวสาวาร์การ์นิยมเรียกเขาด้วยสมญานาม ‘วีร์ สาวาร์การ์’ หรือสาวาร์การ์ผู้กล้าหาญ พร้อมนิยามคำว่า ฮินดูทวา หรือมีความหมายว่า ความเป็นฮินดูแท้ (The Hinduness) ฉะนั้น คนที่จะเป็นฮินดูทวาจะต้องมีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ เชื่อว่าอินเดียคือแผ่นดินแม่ (มาตุภูมิ), อินเดียคือแผ่นดินแห่งบรรพชน (ปิตุภูมิ) และอินเดียคือแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (บุญภูมิ)

หนังสือ Hindutva: Who Is a Hindu? เขียนโดย วินายัก ดาโมดาร์ สาวาร์การ์

(ที่มา: Amazon)

สาวาร์การ์ยังกล่าวต่อว่า คุณลักษณะเช่นนี้ถ่ายทอดกันอยู่ในกลุ่มชนชาติฮินดู (The Hindu Race) โดยไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะต้องนับถือศาสนาฮินดู เพราะว่าศาสนาพุทธ เชน และซิกข์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นฮินดูทวาทั้งนั้น เนื่องจากฮินดูทวาคืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เชิดชูวิธีคิดแบบชนชาติเดี่ยว คล้ายกับวิธีคิดความเป็นชาติอารยันแบบนาซีเยอรมัน

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างสำคัญคือความเป็นชนชาติของสาวาร์การ์จำกัดด้วยหมุดหมายทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ เพราะชนชาติฮินดูของเขาคือคนที่เกิดและมีบรรพชนเป็นคนที่นี่ (ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำสินธุไปจนถึงสุดอ่าวเบงกอล หรือเรียกว่าภารตวรรษ) 

แต่ด้วยเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของดินแดนอนุทวีปคือ ‘ความซับซ้อนทางความเชื่อ’ และ ‘ความหลากหลายทางชาติพันธุ์’ สาวาร์การ์ก็ยอมรับว่า ฮินดูทวาซับซ้อนและรุ่มรวย พิเศษและชัดเจน ทรงพลังแต่ละเอียดอ่อน ทว่ากลุ่มชนทั้งหลาย (ตามความคิดของสาวาร์การ์) ยึดโยงกันด้วยมุมมองที่มีร่วมกันกับแผ่นดินอินเดีย โดยเฉพาะการเกิดในครอบครัวชนชาติฮินดู 

ทั้งนี้ เมื่อถึงคราวจะต้องอธิบายความสัมพันธ์ของความเป็นฮินดูกับคนคริสเตียนและมุสลิม สาวาร์การ์กลับใช้ภาษาที่เชือดเฉือน เขาอธิบายว่า แม้คนกลุ่มนี้เกิดในอินเดียก็ไม่มีทางเป็นชนชาติฮินดูได้ เพราะพวกเขาเชื่อในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกอินเดีย บรรพชนของพวกเขามาจากที่อื่น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งตามกรอบแนวคิดเชิงภูมิศาสตร์ของสาวาร์การ์ อินเดียจึงไม่ใช่แผ่นดินแม่ของพวกเขา และพวกเขาเหล่านั้นเป็นเพียง ‘ผู้มาอาศัย’ และ ‘พลเมืองชั้นสอง’ รองจากชาวฮินดู

จากฮินดูทวาของสาวาร์การ์สู่ ‘ฮินดูชาตินิยม’ โดย RSS และโคลวัลการ์

ความคิดของสาวาร์การ์เรื่องความเป็นฮินดูเคยถูกพูดถึงมาก่อนบ้างแล้ว ในลักษณะของอัตลักษณ์สำคัญของอนุทวีป โดยองค์กรจัดตั้งเพื่อสนับสนุนและเชิดชูศาสนาฮินดูอย่างฮินดูมหาสภา (Hindu Mahasabha) แต่หมุดหมายที่สำคัญคือปี 1925 เกเชฟ บาลิราม เฮดจีวาร์ (Keshav Baliram Hedgewar) แพทย์จากเมืองนาคปูร์ จัดตั้งกลุ่มของตนที่มีชื่อว่า ราษฏรียะสวยัมเสวกสังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh: RSS) โดยมีแรงบันดาลใจจากแนวคิดของสาวาร์การ์

จุดมุ่งหมายสำคัญของ RSS คือเพื่อฝึกฝนและถ่ายทอด ‘วินัย’ แบบฮินดูและอุดมการณ์ฮินดูทวาเพื่อรวมคนฮินดูทั้งหลายให้เป็นหนึ่ง และเป็นชาติฮินดูหรือฮินดูราษฎระ (Hindu Nation) อันยิ่งใหญ่เหมือนราชวงศ์โมริยะ (ราชวงศ์เก่าแก่ของอินเดียในช่วง 322-184 ปีก่อนคริสตกาล) แม้บทบาทของกลุ่ม RSS ไม่ชัดเจนในช่วงต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนอย่างมากคือการพยายามสร้างกลุ่มฮินดูชาตินิยมขึ้นอย่างเข้มแข็ง เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านกับวิธีการแบบอหิงสาของ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) และพรรค Congress ซึ่งเป็นกระแสขับเคลื่อนใหญ่ในตอนนั้น

ในข้อเขียนหลายข้อของ มาธวะ สทาศิวเรา โคลวัลการ์ (Madhav Sadashivrao Golwalkar) หัวหน้ากลุ่ม RSS ในช่วงปี 1940-1973 ระบุชัดว่า

“แผ่นดินที่เรียกว่าฮินดูสถานนั้นเป็นแผ่นดินของชาวฮินดู และมีเพียงชนชาติฮินดูเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้ แต่เป็นที่น่าเศร้า เพราะแผ่นดินของเรา (ชาวฮินดู) ถูกพวกคนนอกรุกรานทำให้เหี่ยวเฉาลง เราต้องรื้อฟื้นชาติฮินดูของเรา โดยต้องปลุกให้ผู้คนตื่นจากคำหลอกลวง ปลุกให้พวกเขาเป็นถึงความเป็นฮินดูที่แท้จริง”

แม้โคลวัลการ์พูดถึงแผ่นดินฮินดูสถานอยู่เนืองๆ กระนั้นเขากลับให้ความสำคัญกับระเบียบวิธีการทางอุดมการณ์แบบ ‘ชาตินิยมทางวัฒนธรรม’ โดยเขาอธิบายว่า ชาติฮินดูของเราจะกลับมาเข้มแข็งได้ หากหวนย้อนกลับไปมองฐานรากของวัฒนธรรมที่สร้างมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต คือพระเวท ระบบวรรณะ และคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สร้างคนฮินดูให้ยิ่งใหญ่กว่าคนกลุ่มอื่นและแยกเราออกจากชนกลุ่มอื่น แต่พวกเราถูกปนเปื้อนด้วยวัฒนธรรมภายนอกที่มาพร้อมพวกผู้บุกรุก ทำให้ลูกหลานของบรรพชนฮินดูผู้หลั่งเลือดเนื้อละทิ้งรากเหง้าของตน เชื่อในความเชื่อนอกอนุทวีป (มุสลิม คริสเตียน และยิว) เชื่อในหนังสือศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากคนภายนอก และเชื่อในวัฒนธรรมแบบอื่นที่ต่างไปจากบรรพชน

นอกจากงานเขียนของสาวาร์การ์แล้ว โคลวัลการ์ยังได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก สาวิตรี เดวี (Savitri Devi) ชื่อเดิม แม็กซิไมนี โพร์ตัส (Maximiani Portas) นักคิดลูกครึ่งฝรั่งเศส-กรีก ผู้เชื่อในชนชาติอารยัน และเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลทางความคิดอารยันนิยมให้กับนาซีเยอรมัน

เธอเดินทางมาอินเดียในช่วงต้นทศวรรษ 1930 และพบเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างชาวอารยันในยุโรปกับชาวอินเดีย ในงานเขียนชื่อว่า A Warning to The Hindu ซึ่งมีเนื้อหายืนยันหนักแน่นว่า ชาวฮินดูอารยันเป็น Master Race ส่วนคนนอกอย่างคนคริสเตียนและมุสลิมซึ่งเป็นคนนอกนั้นด้อยกว่า โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าเธอน่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดบางประการจาก อสิต กฤษณะ มุขเขอร์จีร์ (Asit Krishna Mukherji) สามีชาวอินเดียของเธอ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของสาวาร์การ์และพรรคนาซีเยอรมัน

อย่างไรก็ดี ผลของวิธีคิดแบบชาติพันธุ์นิยมในอินเดียนั้นต่างออกไปจากที่เยอรมนี ไม่มีพลวัตทางวิทยาศาสตร์ที่ผลักดันให้เกิดการศึกษาเรื่องกายวิภาคเพื่อจำแนกอารยันแท้ออกจากยิวแบบในยุโรป อาจเนื่องด้วยบริบทสังคมอินเดียในขณะนั้นที่เริ่มมีการศึกษาแบบตะวันตกแล้วแต่ยังน้อย อีกปัจจัยที่มองเห็นคือ วิธีคิดของทั้งสาวาร์การ์และโคลวัลการ์ผูกกับวัฒนธรรมมากกว่า และการยอมรับในความคิดเรื่องกายวิภาคแบบนาซีอาจส่งผลให้อังกฤษใช้เป็นข้ออ้างในการยังคงปกครองได้ 

มาธวะ สทาศิวเรา โคลวัลการ์

(ที่มา: Wikipedia)

สุดท้าย โคลวัลการ์เสนอว่า เพื่อขจัดวัฒนธรรมประหลาดอันเป็นขวากหนามบังเส้นทางของพวกเราไปสู่ชาติอันยิ่งใหญ่อย่างในอดีต คนเหล่านี้ต้องถูกหลอมใหม่ให้กลายเป็นฮินดูอีกครั้ง พวกเขาต้องเป็นชนชาติฮินดู ยอมจำนนต่อพวกเราเท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขอื่นที่พวกเขาจะไม่เป็นฮินดูบนแผ่นดินของเราชนชาติฮินดู รื้อฟื้นระบบวรรณะ รื้อฟื้นกฎหมายพระธรรมศาสตร์ เพื่อควบคุมวิถีชีวิตของเรา (ชาวฮินดู) ให้บริสุทธิ์อีกครั้ง และเหล่าคนนอกต้องปฏิบัติตาม เพื่อกลายเป็นฮินดู-คริสเตียน หรือฮินดู-มุสลิม ชนชั้นสองที่พอจะยอมรับได้ 

 ในปาฐกถาของโคลวัลการ์หลังประกาศเอกราช โคลวัลการ์แสดงจุดยืนชัดเจนว่า “ไม่มีอำนาจใดช่วยให้มุสลิมอยู่บนแผ่นดินของเราได้ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันคนเหล่านี้ไปยังที่ของเขา (ปากีสถาน) หมดเวลาของคำพูดของมหาตมะ คานธีแล้ว” โดยปาฐกถาของเขาถูกถ่ายทอดเมื่อเดือนธันวาคม 1974 หลังจากนั้นภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน คานธีถูกยิงเสียชีวิตในย่ำรุ่งของวันที่ 30 มกราคม 1948 โดย นาถูราม โคทเส (Nathuram Godse) คนในสังกัดของกลุ่ม RSS 

ฮินดูทวา: ความเป็นฮินดูที่ ‘น่ากังขา’ แต่ ‘ขายได้’

การยิงสังหารคานธีในปี 1948 นำไปสู่คำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งอินเดียให้กลุ่ม RSS ยุติกิจกรรมทางการเมืองทุกประการในปีถัดมา เหลือไว้เพียงกิจกรรมทางวัฒนธรรมเท่านั้น

แม้หัวจะถูกบีบแต่ร่างกายยังคงขยับได้อย่างปกติ เพราะองค์กรต่างๆ ในกลุ่มก้อนที่เรียกว่า สังฆ์ปริวาร (Sangh Parivar) ครอบครัวของราษฏรียะสวยัมเสวกสังฆ์ อันมีพรรค BJP เป็นหนึ่งในนั้น ยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ แทนที่ RSS ในช่วงปีถัดมา

อุดมการณ์ของสาวาร์การ์และโคลวัลการ์จึงยังคงดำเนินต่อมาอย่างเข้มข้น การสืบสานและต่อยอดฮินดูทวาเห็นได้ชัดเจนจากทั้งโมดีและคณะรัฐมนตรีของเขา ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากเป็นสมาชิกของ RSS นโยบายกีดกันชาวมุสลิมอย่างออกหน้าออกตาถูกเอามาใช้ เช่น นโยบายแก้ไขการขึ้นทะเบียนพลเมือง (The Citizenship Amendment Act: CAA) ซึ่งรัฐบาล BJP บอกว่า จะช่วยให้กลุ่มคนที่มีศาสนาพุทธ ฮินดู ซิกข์ เชน คริสเตียน และปาซีร์ นอกอินเดียสามารถลงทะเบียนเพื่อรับการพิจารณาของสัญชาติเป็นชาวอินเดียได้เร็วกว่าปกติ

ทว่าผลกระทบที่ตามมาหลังการประกาศนโยบาย CAA เมื่อปลายปี 2014 คือมีการเรียกตรวจสอบเอกสารของผู้ลี้ภัย-อพยพใหม่ และกว่า 70% ของการเรียกตรวจในครั้งนั้นคือพี่น้องมุสลิม การกระทำอันชัดเจนของรัฐบาลโมดีสร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักในหมู่นักสิทธิมนุษยชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และพี่น้องมุสลิมจำนวนมากออกเดินขบวนประท้วง เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมีความพยายามกีดกันชาวมุสลิมให้ออกไปจากอินเดียอย่างชัดเจน

อีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลโมดีใช้เป็นธงชัยในการหาเสียงเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คือการสัญญาว่าจะสร้างวัดพระรามแห่งเมืองอโยธยาให้สำเร็จ และอย่างที่เคยได้เขียนไปบ้างแล้วในบทความเรื่องจากอโยธยาถึงกาศี: เมื่อ ‘โบราณคดี’ คือคำตอบของปัญหา ศาลสูงพิจารณาความถึงที่สุดในปี 2019 ปีเดียวกับการเริ่มต้นสมัยที่ 2 ในฐานะนายกฯ ของโมดี และก็คงไม่ต้องแปลกใจว่า วัดพระรามซึ่งสร้างทับมัสยิดอายุกว่า 600 ปีนั้นสร้างเสร็จในปี 2024 โดยมีโมดีเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และประดิษฐานลมปราณเข้าสู่องค์เทวรูป

บทสัมภาษณ์ของทั้งสำนักข่าวในและต่างประเทศ ถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อนายกฯ โมดีมุ่งไปในทิศทางเดียวกันว่า โมดีคือคนที่เป็นตัวแทนที่ดีของความเป็นฮินดู เขาเป็นเสมือนพระเป็นเจ้าอวตารลงมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับชาวฮินดูอีกครั้งหนึ่ง

หากวัดพระรามคือภาพใหญ่ของเรื่องราว ลองมองมาที่วัดเล็กๆ ของ อโศก ศารมา (Ashok Sharma) ในเมืองเมรฐะ (Meerut) รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเขาสร้างอุทิศแด่โคทเส ชายผู้สังหารคานธี ศารมาบอกกับสำนักข่าวอินเดียนเอ็กเพรส (Indian Express) ว่า สิ่งที่โคทเสทำคือการนำชาวฮินดูกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ เขาคือผู้รักชาติ ผู้เสียสละเพื่อชาติ ในขณะที่คานธีคือชายผู้ขายชาติให้กับชาวมุสลิม

วัดเล็กๆ ของ อโศก ศารมา (Ashok Sharma) ในเมืองเมรฐะ (Meerut) รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งสร้างอุทิศแด่โคทเส ชายผู้สังหารคานธี

(ที่มา: AFP)

ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงขายได้ ทำไมความเป็นฮินดูถึงยังสำคัญนัก ศาสตราจารย์ตรีโลกี นาถ มาดัน (Triloki Nath Madan) อดีตอาจารย์ประจำ Institute of Economic Growth อธิบายไว้อย่างน่าสนใจในบทความ Secularism in its place ถึงเหตุแห่งการหวนคืนสู่อำนาจของพลังฝ่ายขวาในอินเดีย ศาสตราจารย์มาดันชี้ว่า เพราะเหล่านักต่อสู้ทั้งหลายรุ่นก่อน ไม่ว่าจะ คานธี, ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru), ภิมราว อัมเบดการ์ (Bhimrao Ambedkar) หรือแม้แต่สุภาษ จันทระ โบส (Subhas Chandra Bose) ให้ความสำคัญกับความเป็นรัฐฆราวาสวิถีอย่างจริงจัง และสิ่งนั้นคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะความเป็นรัฐฆราวาสพรากอัตลักษณ์บางอย่างไปจากคนกลุ่มหนึ่งของสังคม และด้วยวิธีคิดเช่นนี้ เมื่อศาสนาเกิดความวิปริตก็ไม่มีอำนาจใดเข้าขัดขวาง เพราะว่าเป็นเรื่องอันไม่พึงกระทำ นี่จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้ฮินดูทวายังคงขายได้และยังคงมีลมหายใจ

แม้การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้โมดีก็คงจะชนะอีกตามเคย ภาพลักษณ์ที่เขาสร้างไว้บนเวทีโลกก็ยังคงสวยหรู ในฐานะผู้นำโลกเสรีที่มีประชากรมากที่สุด หากแต่คนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งกำลังถูกบีบคอจนมิอาจหายใจได้ พวกเขากำลังถูกบีบด้วยคนหมู่มากซึ่งมองว่า พวกเขาคือความถูกต้อง พวกเขาคือประเทศ พวกเขาคือชาติ จนลืมไปว่า จริงๆ แล้ว คนกลุ่มน้อยและผู้เห็นต่างก็คือ ‘คน’ เกิด โต และรับใช้แผ่นดินอินเดียด้วยหยาดเหงื่อแรงกายเช่นเดียวกัน

นี่คือความน่ากลัวอย่างยิ่งของ ‘ลัทธินิยมเสียงข้างมาก’ (Majoritarianism) ซึ่งโมดีประสบความสำเร็จเกินจะบรรยาย ในการสร้างและหล่อเลี้ยงสิ่งนี้ผ่านความรู้สึกหิวโหยความเป็นฮินดู ผ่านการยึดเอานิยามความเป็นฮินดูแบบสมบูรณ์ ทั้งที่ความเป็นฮินดูนั้นกว้างใหญ่ประดุจมหาสมุทรที่สายน้ำต่างๆ ไหลไปรวมกัน

 

ที่มาข้อมูล

Bhatt, Chetan (2001). Hindu Nationalism: Origins, Ideologies and Modern Myths, Berg Publishers.

Jaffrelot, Christophe (1996), The Hindu Nationalist Movement and Indian Politics, C. Hurst & Co. Publishers

Madan, T. N. (1987) “Secularism in its place” in The Journal of Asian Studies, vol. 46, No. 4, November, pp. 747-759.

Savarkar, Vinayak Damodar (2023). Hindutva: Who is a Hindu?, Honest Book.

Tharoor, Shashi (2018). Why I am a Hindu, Scribe Publication.

Meet the custodian of temple dedicated to Nathuram Godse เข้าถึงจาก https://www.newindianexpress.com/nation/2023/Jan/27/meet-the-custodian-of-temple-dedicated-to-nathuram-godse-2541883.html

Hindu nationalism and India’s coming elections เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=DktoKYKHQLo&t=1319

 

Tags: , , , , , ,