“อยากกลับไปทำงานที่บ้าน ไม่ต้องมาวุ่นวายในเมือง”

“อยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่เงินเดือนอยู่ไม่ได้จริง..”

หากลองหันมองไปรอบๆ ออฟฟิศ จะพบพนักงานหลายคนที่มีภูมิลำเนาจากหลากหลายจังหวัด หลากหลายภูมิภาคทั่วประเทศไทยที่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ บางคนมาจากเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ภูเก็ต ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเมืองใหญ่ คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยมีฝีมือดีมากพอที่จะเลือกอยู่บ้าน ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องย้ายเข้ามาอยู่

ด้วยคำตอบง่ายๆ คือจังหวัดเหล่านี้ ‘ไม่มีอะไรให้ทำ’ 

กล่าวสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 5,000-6,000 บาท ในการหาที่พักอาศัย ค่าเดินทาง จนเหลือเงินเก็บไม่มากนัก กลายเป็นจุดร่วมที่ทำให้หลายคนต้องหา ‘งานเสริม’ ตามสมัยนิยม คำกล่าวของไลฟ์โค้ชยุคนี้มักจะบอกว่าคนเรามีอาชีพเดียวไม่ได้ ทำให้ต้องกินเวลา Work-Life Balance เข้าไปอีก กระทั่งเป็น Pain Point ร่วมกันของคนรุ่นใหม่ที่หลายคน ‘ไม่มีเวลา’ แม้แต่จะหาแฟนหรือหา ‘คนคุย’ ด้วย เพราะต้องยากลำบากในการหาเงินให้มากพอในการเลี้ยงชีพ ใช้ชีวิตประจำวัน และต้องมีเงินเก็บ

ข้อมูลเมื่อปี 2563 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากรุงเทพฯ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีคน ‘ย้ายเข้า’ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 8.4 หมื่นคน ตามด้วยปทุมธานี แต่นั่นคือการสำรวจในช่วงเวลาการ ‘ล็อกดาวน์’ และการระบาดของโรคโควิด-19 การปิดสถานบริการย่อมทำให้คนกลับถิ่นฐานไปอยู่ในภาคเกษตร หรือทำงานใกล้บ้าน และวันนี้ ตัวเลขคนย้ายเข้ากรุงเทพฯ ก็น่าจะยังคงเป็นปกติ

คำถามก็คือทำไมต้องกรุงเทพฯ และทำไมถึงมีแต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ ‘หัวเมือง’ ตามแต่ละภูมิภาค?

คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ กรุงเทพฯ มีงานให้เลือกมากกว่า หลากหลายกว่า ธุรกิจหลายอย่างเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ สะท้อนผ่านมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของกรุงเทพฯ ที่สูงที่สุดในประเทศ คิดเป็นกว่า 5 ล้านล้านบาท มากกว่าอันดับ 2 อย่างจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรีกว่า 5 เท่า 

ในเวลาเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐาน บรรดารถไฟฟ้าหลากสี ทางด่วน ถนนหนทาง ก็ลงทุนกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ แผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ยังมุ่งมาลงที่กรุงเทพฯ จนหลายคนมองว่ากรุงเทพฯ นั้น เป็นเมือง ‘โตเดี่ยว’ ตลอดกาล ไม่มีที่ไหนจะโตได้เท่าในระยะเวลาอันใกล้

การโตเดี่ยวของกรุงเทพฯ ยังแผ่ขยายไปยังปริมณฑล สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่เลือกอยู่อาศัยแถบนี้เพื่อเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ในแต่ละวัน นับล้านๆ คนเดินทางจากปริมณฑลเข้ากรุงเทพฯ และด้วยเหตุ–ปัจจัยเหล่านี้ประกอบรวมกัน ทำให้ประชากรทั่วประเทศกว่า 16 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ 

แล้วจังหวัดอื่นๆ เป็นอย่างไร… เชียงใหม่นั้นมีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมนั้นอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท ขณะที่ขอนแก่นก็อยู่ที่ 2 แสนล้านบาทใกล้เคียงกัน หากใช้ตัวเลขเหล่านี้วัด ‘ความเจริญ’ ก็จะพบว่า กรุงเทพฯ นั้นเจริญกว่าจังหวัดหัวเมืองใหญ่พวกนี้ถึง 25 เท่า 

ขณะที่หากวัดกันตรงๆ ว่าด้วยเรื่อง ‘รายได้’ ข้อมูลเมื่อปี 2564 พบว่ารายได้ต่อครัวเรือนในกรุงเทพฯ นั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 40,200 บาท จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 22,963 บาท จังหวัดขอนแก่นอยู่ที่ 18,028 บาท จังหวัดเชียงรายมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพียง 15,618 บาท

รายงานเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย’ จากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ประเทศนี้มี ‘ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เชิงพื้นที่’ ชัดเจน โดยการเติบโตกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ทั้งยังยอมรับการเป็น ‘เอกนคร’ ที่ส่งผลให้การเติบโตผิดที่ผิดทาง ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่สามารถแก้ปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ได้ดี

ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการพัฒนาอย่างผิดฝาผิดตัว เมื่อหลายทศวรรษก่อนมีความพยายามดึง ‘มหาวิทยาลัย’ ลงไปในหัวเมืองใหญ่ หากแต่ไม่ได้มีการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเหล่านี้ บางจังหวัดมีโรงงานใหญ่ มีนิคมอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้วางแผนว่าจะโตต่ออย่างไร ขณะที่บางจังหวัดก็ ‘ทิ้งขว้าง’ ไว้อย่างนั้น ปล่อยให้ภาคเอกชน ปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่มองหาเอาเองว่าจะไปต่ออย่างไร

ด้วยเหตุนี้ คนที่อยาก ‘กลับบ้าน’ จึงมีทางเลือกไม่มากนัก เพราะเมืองไม่ได้โตพอจะสร้างรายได้ให้คนได้ ยกตัวอย่างเชียงใหม่อีกที คนทำงานสายสร้างสรรค์ งานศิลปะ อาจมีรายได้ราว 1.2-1.5 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งค่าครองชีพในเชียงใหม่ แม้จะเป็นเมือง ‘ชิล’ แต่ก็ไม่ได้เป็นเมืองที่ทุกอย่างราคาถูก เรื่องน่าเศร้าก็คือเชียงใหม่เป็นเมืองในฝันสำหรับบรรดา Digital Nomad ชาวต่างชาติที่ตั้งใจหาพื้นที่ทำงานตาม Co-Working Space หรือตามร้านกาแฟ แต่คนเชียงใหม่เองต้องไปหางานทำที่อื่น

ขณะที่ขอนแก่นเองยิ่งแล้วใหญ่ อันที่จริงด้วยศักยภาพของเมือง การเป็นประตูสู่อีสาน มีสนามบินที่เพิ่งขยายใหญ่ และมีรถไฟวิ่งผ่านกลางเมืองมาหลายสิบปีควรจะเป็นเมืองชั้นนำ มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทว่าในแต่ละปีมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวนมากต้องเดินทางเข้าเมือง เพราะขอนแก่นไม่ได้โตพอที่จะมีงานรองรับคนทุกคนมากขนาดนั้น และเงินเดือนมาตรฐานอาจแย่กว่าเชียงใหม่ด้วยซ้ำ คืออยู่ที่ราว 9,000-1.2 หมื่นบาท

อันที่จริง ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่หลายคนมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ในฝัน อาจต้องมองไปถึงการที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ถูกเปลี่ยนจากเมือง ‘เหมืองแร่’ ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ในรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ยุคโชติช่วงชัชวาล ทั้งหมดมีแผนไว้ชัดเจนว่าจะดึงอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และมีท่าเรือน้ำลึก ซึ่งทำให้จังหวัดเหล่านี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีงานเงินเดือนดีๆ รองรับ ทั้งยังจะก้าวข้ามไปอีกขั้นด้วยการเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่คำถามก็คือทำไมถึงมีแค่ภาคตะวันออกที่มีโอกาสเจริญเติบโต? 

เรื่องน่าเศร้าก็คือทุกคนที่อยาก ‘กลับบ้าน’ ตอนนี้ มีหนทางเดียวคือแย่งกันสอบเป็นข้าราชการ ตั้งแต่ระดับพนักงานราชการ ข้าราชการประจำ หรือข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะแม้อาชีพนี้จะมีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็มั่นคง มีสวัสดิการพอสมควร และเงินเดือนจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความอาวุโส ในเวลาเดียวกัน รายได้ที่ไม่สูงนักก็ยังถือว่าสูงมากกว่าการไปเสี่ยงไปทำงานเอกชน

แล้วจะมีทางออกอย่างไร เพื่อให้คนไม่ต้องแห่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ สามารถอยู่ในจังหวัดตัวเอง และสามารถ ‘กลับบ้าน’ ไปทำสิ่งที่ตัวเองรักได้ คำตอบมีอยู่ไม่กี่ข้อ เป็นต้นว่า…

– รัฐบาลกลางต้องเขียนยุทธศาสตร์จังหวัดให้ชัด มีแผนชัดเจนว่าจังหวัดนั้นๆ จะมีจุดเด่นในเรื่องไหน เป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก เป็นเมืองอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองพาณิชย์ เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน เป็นจังหวัดที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เป็นจังหวัดเกษตรสมัยใหม่ ฯลฯ และจูงใจให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ ให้นายทุน ย้ายจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไปเติมความเจริญให้จังหวัดเหล่านี้ให้ได้

– กระจายอำนาจให้แต่ละพื้นที่สามารถวางแผนพัฒนาจังหวัดของตัวเองได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคือไม่มีใครรู้ว่าแต่ละจังหวัดจะพัฒนาอะไรได้ดีเท่ากับคนในจังหวัดเอง ปัญหาก็คือในปัจจุบัน งบประมาณจากส่วนกลางที่ลงมายัง ‘ท้องถิ่น’ นั้นมีราว 35% เท่านั้น 

– พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ให้เกิดพื้นที่ใหม่ๆ เมืองใหม่ที่เจริญ มากกว่าที่จะพัฒนาเฉพาะ ‘ถนน’ แบบในปัจจุบัน

– ปรับทัศนคติ เลิกคิดถึงการเติบโตแบบ ‘เอกนคร’ หากแต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ หลายจังหวัด ที่มีศักยภาพในการเติบโตด้วยหนทางของตัวเอง 

ที่น่าหดหู่ก็คือทั้งหมดนี้อาจใช้เวลาสักระยะ และ ‘ไม่เร็ว’ ประเทศที่กระจายอำนาจสำเร็จต้องมีการเมืองที่ ‘นิ่ง’ ในระดับหนึ่ง ต้องมีเจตจำนงร่วมกันของประชาชนว่าการกระจายอำนาจ กระจายความเจริญคือคำตอบ กว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการกระจายความเจริญนั้นใช้เวลา 10-15 ปี ญี่ปุ่นก็ใช้เวลาในการกระจายอำนาจไม่น้อย โดยมีผลพวงสำคัญอย่างการ ‘แพ้’ สงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับประเทศไทย จนถึงวันนี้ รัฐบาลกลางยังไม่ ‘ตกผลึก’ ว่าการกระจายอำนาจคือคำตอบของทุกอย่าง รัฐบาลกลางยังคงมีความสุขกับการที่มีอำนาจและงบประมาณในมือล้นฟ้า กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจของ ‘คณะก้าวหน้า’ ถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภาปัดตกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน และยังคงเป็นเรื่อง ‘อันตราย’ ในสายตาชนชั้นนำ 

การกลับไปทำงานที่บ้านไม่ได้ จึงเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ และปัญหา ‘โครงสร้าง’ โดยแท้จริง และประเทศเรา ลูกหลานเราจะเจอปัญหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรจริงจังเข้าสักวัน

 

อ้างอิง

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/Inequality_3GiniCoefficient.PDF

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_25May2021-2.aspx

http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx

https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=gross_regional

Tags: , , , , ,