ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีชื่อเสียงสำคัญใน 2 เรื่อง คือเรื่องการฟื้นฟูอัตลักษณ์ล้านนา และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการ ‘กระจายอำนาจ’ ทั่วประเทศ รื้อถอนระบบรวมศูนย์อำนาจ เปิดโอกาสให้แต่ละเมืองใหญ่ แต่ละจังหวัด เติบโต และเฉิดฉายได้ด้วยตัวเอง

แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่ธเนศวร์คาดหวัง… ปัญหาสำคัญก็คือนอกจากการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว ประเทศไทยแทบไม่เคยสนใจการกระจายอำนาจในรูปแบบที่ใหญ่กว่า ความคืบหน้าของการกระจายอำนาจที่ไปไกลกว่านั้นอย่าง ‘จังหวัดจัดการตัวเอง’ แทบจะเป็นศูนย์ 

ในทางกลับกัน หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ระบบรัฐราชการรวมศูนย์กลับใหญ่โตขึ้น กว้างขวาง สยายปีกกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นอำนาจเดียวที่ ‘ส่วนกลาง’ อันมีรัฐบาลเผด็จการเป็นผู้กุมบังเหียน สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้เต็มปากเต็มคำ

ส่วนความฝันว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศก็ค่อยๆ ถูกพับเก็บไป และน่าจะเงียบงันไปโดยตลอด หากไม่มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา เมื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายกว่า 1.3 ล้านคะแนน ทำให้หลายจังหวัดต้องการตัดสินอนาคตด้วยตัวเองบ้าง

ในโอกาสที่ The Momentum เลือกเชียงใหม่เป็นเมืองที่เราสำรวจ CityScape และเลือก Decentralize เป็นคำที่อธิบายซีรีส์นี้ เราจึงสนทนากับ ธเนศวร์ เจริญเมือง ถึงมิติประวัติศาสตร์ที่ทำให้ดินแดนล้านนาแห่งนี้ยังจมปลักอยู่กับการรวมศูนย์อำนาจ และความหวังของเขาในการ ‘ทุบ’ รัฐราชการให้แตกสลาย เพื่อที่วันหนึ่งการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนจะเกิดขึ้นจริง

อยากให้คุณช่วยขยายคำว่า Decentralize ในมุมมองของคุณก่อนว่า คืออะไร สำคัญอย่างไร และเหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้กระจายอำนาจเกิดขึ้น

ภายใต้ระบบบริหารประเทศมีอยู่ 3 อย่าง ประกอบด้วย

1. รวมศูนย์อำนาจ สั่งการจากส่วนกลางลงมาหมดเลย ท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วม 

2. กระจายอำนาจให้แต่ละท้องถิ่นดูแลกันไป

3. แบ่งสรรอำนาจ เช่น รัฐมนตรีมหาดไทยแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ไปดูแลจังหวัดนั้น หากมีเรื่องก็ส่งขึ้นมา เดี๋ยวกระทรวงมหาดไทยตอบให้

ในอดีต คนอังกฤษที่เรียกหาเสรีภาพหลบหนีจากอังกฤษ เพราะกษัตริย์อังกฤษกดขี่ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ทางการเมือง ห้ามพูดห้ามเถียง อำนาจอยู่กับกษัตริย์เพียงคนเดียว อำนาจศาสนาต้องเคารพคาทอลิกเท่านั้น ห้ามถามเรื่องพระเจ้า ห้ามสงสัยเรื่องบาทหลวง

ตอนนั้นศาสนาคริสต์คาทอลิกมีปัญหาขาดเงิน ก็ต้องใช้วิธีเรี่ยไรเงิน ประกาศว่าหากจ่ายเงินเข้าศาสนาเยอะก็คือการทำบุญใหญ่ ทีนี้โปรเตสแตนท์ไม่พอใจ จึงต้านและโดนคุมขัง คนส่วนใหญ่ในอังกฤษที่รับไม่ได้ก็เลยหนี ช่วงแรกไปอยู่เนเธอร์แลนด์ เอาลูกไปด้วย ไม่ถึงปีลูกหลานที่เติบโตจะพูดภาษาดัตช์หมดเลย

ทันใดนั้น ก็ได้ยินว่าดินแดนอเมริกากำลังเติบโต มีแต่อินเดียนแดงชนเผ่า อีกอย่างคืออาหารผลไม้อุดมสมบูรณ์มาก เลยคิดว่าอพยพไปดีกว่า ไปอยู่โลกใหม่ ได้ทั้งดินแดนใหม่ และยังสามารถอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมของตนเองได้ จึงกลายเป็นว่าไปปกครองตนเองกันที่นั่น เป็น Decentralize ตอนนั้น เนื่องจากเขาเป็นคนมีคุณภาพ

6 ปีหลังที่เขาสถาปนา ก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีปัญหาย้ายไปอยู่อเมริกา พร้อมขนหนังสือใส่เรือมา 600 กว่าเล่ม เมื่อแกเสียชีวิตจึงมอบให้องค์กรประชาชน จึงเกิดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดขึ้นมา เขาตื่นตัวทางความรู้ ทางสังคมมาก อเมริกาเป็นประเทศแรกที่กระจายอำนาจตั้งแต่ต้น และเป็นรากฐานของเขา จึงทำให้อเมริกาไม่รู้จักกับคำว่ากระจายอำนาจ อำนาจเป็นของพวกเขา เป็นของท้องถิ่นมาตั้งแต่แรก

ดังนั้น เขาจึงมาพูดคุยกันว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจแค่ไหน เพราะฉะนั้นรัฐบาลกลางขึ้นกับพวกเขาหมดเลย ฟังเสียงท้องถิ่นทุกอย่าง

อันดับสอง เป็นโมเดลของฝรั่งเศส เมื่อปี 1789 ประชาชนฝรั่งเศสเดินขบวนเรียกร้องเอาอำนาจขึ้นมา จึงมีการรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจ จึงมีการล้มสถาบันกษัตริย์ นี่เป็นอีกโมเดลหนึ่ง

โมเดลถัดไป เนื่องจากญี่ปุ่นและเยอรมนีเป็นผู้ก่อสงครามครั้งที่ 2 อเมริกาโมโหมาก บอกโตโจกับฮิตเลอร์โหดมาก เมื่อปราบเสร็จแล้วทำการผ่าแยกประเทศเลย จากเยอรมันเคยเป็นรัฐเดี่ยว ให้กลายเป็นปกครองโดย 16 รัฐ เพื่อที่ว่าหากประเทศนี้จะประกาศสงคราม ทั้ง 16 รัฐก็ต้องคุยกัน อีกเรื่องคือยกเลิกกระทรวงกลาโหม กลายเป็นว่าเยอรมันไม่มีทหาร 

เสร็จแล้วก็ไปจัดการญี่ปุ่นต่อ ช่วงแรกอเมริกาจะล้มระบอบกษัตริย์ จะประหารจักรพรรรดิ แต่ประชาชนรู้ข่าว เตรียมทำฮาราคีรีตายเป็นหมื่น อเมริกาเลยถอย ไม่กล้า แต่ทำด้วยการลดอำนาจของกษัตริย์ ไม่ให้กษัตริย์ฮิโระฮิโตะออกจากพระราชวัง

สรุป อเมริกาจัดการญี่ปุ่นด้วย 4 วิธี

1. ลดอำนาจสถาบันกษัตริย์

2. ยกเลิกกระทรวงกลาโหม

3. ปฏิรูปการศึกษา

4. เลือกตั้งผู้ว่าฯ กระจายอำนาจทั่วทุกหนแห่ง และทุกจังหวัดในญี่ปุ่น

สหรัฐฯ เลือกวิธีนี้ เพราะรู้ว่าประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าและจะเป็นกลไกสำคัญในการสู้กับคอมมิวนิสต์และจีนในอนาคต เพราะฉะนั้น จีนจะมาอย่างไรก็ไม่กลัว เพราะญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยแล้ว

โมเดลสุดท้ายคือเกาหลี เนื่องจากเกาหลีใต้ติดเกาหลีเหนือ ขืนปล่อยไปก็ลำบาก เกาหลีใต้จึงต้องให้กระทรวงกลาโหมเข้มแข็ง และในอีกด้าน เกาหลีใต้ไม่ได้สมบูรณ์เหมือนกับไทย แต่โดดเด่นในเรื่องอุตสาหกรรม มีคนเต็มโรงงาน ในที่สุด ก็รู้ว่าที่รัฐบาลเกาหลีไม่ดีเพราะมาจากรัฐบาลทหารที่อเมริกาจัดตั้ง จึงเกิดการเดินขบวนล้มรัฐบาล ชุน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) หลังจากจัดการเสร็จแล้ว ได้รัฐบาลจากประชาชนก็ทำการปฏิวัติประเทศ จัดการประชาธิปไตย ปฏิรูปการศึกษาการกระจายอำนาจ  และเริ่มต้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทันที

ตกลงญี่ปุ่น 2490 เลือกตั้งทั้งประเทศ เกาหลีปฏิรูปกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 2535 ตอนนี้ 2565 เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

เมื่อ 60 ปีที่แล้วเกาหลีกับไทยเคยเสมอกัน แต่ตอนนี้เขาแซงไปไกลจนมองไม่เห็นเราเลย

จริงๆ แล้ว การกระจายอำนาจเป็นระบบหนึ่งที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลกลางดูแลนโยบายใหญ่ๆ ส่วนท้องถิ่นให้กระจายอำนาจจัดการกันเอง จะปลูกต้นไม้ จัดการสาธารณะ จัดการกันเอง เรื่องของคุณที่ไม่ต้องทำ 3 เรื่อง คือ

1. ไม่ยุ่งเรื่องกองทัพ

2. ไม่เกี่ยวเรื่องการต่างประเทศ

3. อำนาจจัดการการเงินการคลัง และการผลิตธนบัตร เป็นของรัฐบาลกลาง

แต่ขณะนี้โลกติดต่อกันหมดเลย ฉะนั้น เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าหากผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ เชียงรายจะไปจับมือกับผู้ว่าฯ ของลาวได้ เพราะวันนี้ เรื่องต่างประเทศก็เริ่มอ่อนลงแล้ว ท้องถิ่นก็สามารถคุยได้ ไม่ต้องเคร่งครัดเหมือนในอดีต

ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวมาโดยตลอด พอมีการพูดว่าจะกระจายอำนาจ มักกลายเป็นเหมือนการแบ่งแยกประเทศ คุณคิดว่าถึงขั้นนั้นไหม

เป็นความน่าสงสารของประเทศเรา เพราะว่าเราจัดระบบการศึกษาที่แย่มากมาโดยตลอด ยกตัวอย่างปัตตานี สมัยก่อน ‘ปาตานี’ เป็นรัฐของเขา เขาดูแลกันเองตลอดมา ต้องพูดให้ชัดวันนี้เลย เขาเรียกปาตานี ไม่ใช่ปัตตานี ปัตตานีมาคิดทีหลังให้ต่างจากเดิม

ส่วนล้านนาก็เป็นตัวของตัวเองมาตลอด มีภาษาพูด มีภาษาเขียน มีศาสนาพุทธแบบของตัวเอง มีศิลปวัฒนธรรมหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับภาคกลาง เป็นรัฐ อิสระ 262 ปีจากยุคพ่อขุนมังรายมาถึงยุค พ.ศ. 2101

ทีนี้เปลี่ยนแปลงตอนสัญญาเบาว์ริ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 4 ท่านเป็นลูกของรัชกาลที่ 2 แม่ของท่านเป็นเจ้าหญิงชั้นสำคัญ เมื่อเกิดมาจึงเรียกเจ้าฟ้ามงกุฎ ก่อนหน้านั้นรัชกาลที่ 2 ท่านมีลูกชื่อกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ แต่แม่เป็นนางสนมในวัง ลูกจึงได้ชื่อว่ากรมหมื่น ผมเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 3 ท่านก็เก็บความน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ว่าฉันก็ลูกพ่อ

ในขณะที่รัชกาลที่ 4 บวชอยู่ พ่อก็จากไปกะทันหัน ทำให้พี่ชายอายุ 32 กรมหมื่นเจษฏาคิดว่า — ฉันก็ลูกพ่อ ก็ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3 เลย รัชกาลที่ 4 จะสึกออกมาก็ไม่ทันแล้ว และอาจจะมีปัญหา เลยบวชต่อ แน่นอนพี่ชายอายุยังน้อย ก็ไม่รู้เมื่อไรจะไป

รัชกาลที่ 4 เก่งมาก ท่านก็ฝึกเรียนภาษาทั้งบาลี สันสกฤต ไทย อังกฤษ เมื่อท่านเดินทางไปเห็นพระไทยขาดวินัยจึงต้องมีธรรมยุติเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ให้สังคม แต่เมื่อทางเลือกเก่ามีมหานิกายกันมาตลอด เลยสู้กันมาแบบนี้ 

อย่างที่เรารู้ ธรรมยุติกนิกายแข็งแกร่งและโตเร็วเพราะอยู่กับในหลวง รัชกาลที่ 4 ท่านไปติดต่อบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ (พระสังฆราชฌ็อง บาป์ติสต์ ปาลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส ผู้ทำหน้าที่มิชชันนารีในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4) ซึ่งช่ำชองในภาษาต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ละติน ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปเยี่ยม ถามว่าทำไมเกิดลัทธิล่าอาณานิคมทั่วโลก บุกไปยึดครองทั่วโลก ก็เพราะว่ารัฐล่าอาณานิคมต้องการทรัพยากรราคาถูก แรงงานราคาถูก

เพราะฉะนั้น สิ่งรัชกาลที่ 4 ตะลึงก็คือ ไม่ว่าอังกฤษจะบุกไปที่ไหน ประเทศนั้นล้วนแพ้หมด ไม่ว่าจะอินเดีย พม่า มลายู ต่อไปก็ไทย แต่บังเอิญประเทศไทยพิเศษคือมีทำเลที่ตั้งหลบเข้ามาในดินแดนทวีปเอเชีย เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้ามาต้องมาทางอ่าวไทย เดินทางเป็นหลายร้อยกิโลเมตร อังกฤษเลยไม่สน เป้าหมายใหญ่ของอังกฤษนั้นอยู่ที่จีน คนเยอะค้าขายทีกำไรเป็นหมื่นๆ ล้าน พริบตาเดียวอังกฤษได้ดินแดนแล้ว

เพราะฉะนั้น ในเมื่อเป้าหมายใหญ่คือจีน อังกฤษจึงไม่ได้สนใจไทย จึงเลือกค้าขายกับไทยแทน เพราะรู้ว่าไทยมีทรัพยากรทางอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และอังกฤษเองก็ต้องการฝ้ายมหาศาลเพื่อไปป้อนโรงงานอุตสาหกรรม

พอรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ อังกฤษมาพอดีเลย เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง มาขอทำสนธิสัญญา ท่านก็รู้ว่าถ้าสู้อย่างไรก็แพ้ เลยยอมเซ็น ยอมเสียเปรียบไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การคลัง การต่างประเทศ กฏหมาย แพ้เขาหมดเลย จึงตกอยู่ในฐานะกึ่งเมืองขึ้น อยู่อย่างไม่มั่นใจว่าเมื่อไรอังกฤษจะยึดเรามากกว่านี้

วิธีการเดียวของท่านคือจัดการปฏิรูปให้ลูกชาย คือในหลวงรัชกาล 5 ปฏิรูปการปกครอง 2435 รวมศูนย์อำนาจหมดเลย สั่งได้ทุกจุด ทางเหนือมีเจ้า เจ้าดินแดนนู่นนี่ต้องฟังฉัน รวมถึงปฏิรูประบบราชการให้อำนาจอยู่ที่กษัตริย์

รัชกาลที่ 5 ท่านเอาโมเดลของอังกฤษมา อังกฤษตอนนู้นมีสภาผู้แทน ท่านประยุกต์ให้ท่านเป็นนายกฯ เอง มีคณะรัฐมนตรี ตั้งขึ้นด้วยตัวเอง สภาไม่มี แต่เอาโมเดลนี้มาใช้แล้ว หลักการก็คือต้อง

1. ปฏิรูประบบราชการ อำนาจในระบบราชการต้องมีมาก

2. สามารถจัดการกับเจ้าผู้ครองนครอื่นๆ ด้วย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามมา

3. ถ้าปัตตานีปกครองตนเองได้ ล้านนาก็จะดูแลตัวเองเหมือนกัน ฉะนั้น ต้องไม่ให้มี ต้องลดอำนาจลงทีละขั้น

ด้วยเหตุนี้ วิธีการลดจึงมีหลายแบบ แต่ที่เห็นชัดเจนคือ

1. ลดด้านศาสนา – เจ้าอาวาสวัดในภาคเหนือ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด มาจากการประชุมปรึกษาหารือโดยพระรูปต่างๆ และผู้มีอาวุโสในแต่ละท้องถิ่น เป็นประชาธิปไตยมากเลย การศึกษาก็เข้าวัดหมด ดังนั้นแล้วเห็นว่าไม่ได้ จึงต้องจัดการ ครูต้องมาจากส่วนกลางทั้งหมด แต่งตั้งไปทั้งหมด

2. เจ้าอาวาสทุกวัดต้องแต่งตั้งโดยส่วนกลาง ตัวอักษรไม่ให้เรียนแล้ว เลิกตัวอักษรล้านนา เวลาเทศน์ห้ามเทศน์เป็นคำเมือง ให้เทศน์เป็นภาคกลาง ในโรงเรียนครูต้องพูดภาษาไทย ห้ามภาษาเมือง ตัวอักษรก็เป็นภาษาไทยเท่านั้น

3. เนื้อหาประวัติศาสตร์ พูดแต่เรื่องสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ธนบุรี ไม่ให้พูดเรื่องล้านนา ไม่ให้พูดเรื่องปัตตานี ทีนี้ ตอนนั้นฝรั่งเศสมายึดลาวกับเขมร รัชกาลที่ 5 เครียดเลย รัชกาลที่ 5 ย่อมต้องเร่งจัดการล้านนาและปัตตานีให้ได้

เจ้าดารารัศมีก็ชัดเจนมากเลย พออายุ 13 ปีก็ต้องทำพิธีสยมพร เอาไปแต่งงานตั้งแต่ 13 ขวบ ถ้าเชียงใหม่คิดร้ายต่อสยามตอนนั้น ลูกคุณอยู่กับเรานะ พิธีสยมพรไม่ใช่พิธีของความรัก เพราะทั้งคู่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเลย

ข่าวลือที่ว่าอังกฤษเคยขอเจ้าดารารัศมีเป็นลูกบุญธรรมนี่จริงไหม

ไม่จริง เป็นเพียงข่าวลือว่า พระราชินีวิกตอเรียอยากได้เจ้าได้ดารารัศมีเป็นบุตรบุญธรรม ผมถามว่าเขาจะเอาไปทำไม มีประโยชน์อะไร ทั้งแผ่นดินในภูมิภาคนี้ใกล้จะเป็นของเขาหมดแล้ว

อีกอันหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ ตอนนั้นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี บุกไปทั่วโลกด้วยเรือสำเภาขนาดใหญ่ในการยกพลไปโจมตีทั่วโลก ประเทศเหล่านี้ใช้ไม้โอ๊กมากขนาดที่ไม้โอ๊กโตไม่ทัน ประเทศเหล่านี้จึงส่งคนไปดูทั่วโลกว่าไม้ที่ไหนดี

นักวิทยาศาสตร์อังกฤษมาเจอว่าไม้สักบ้านเรานี่สุดยอด เพราะน้ำหนักเบา ลวดลายสวยงาม ไม่มีมอดปลวกมากัดกิน และที่ยอดกว่า เอกสารประวัติศาสตร์เผยว่าไม้สักติดไฟช้ากว่าไม้อื่น แปลว่าถ้ารบกันเรือก็จมช้ากว่าเพื่อน โดนไฟไหม้ช้ากว่าเพื่อน ถ้ารบกันก็มีโอกาสชนะ เรืออื่นจมหมดแล้ว แต่เรือไม้สักยังลอยท่ามกลางแม่น้ำ เขาจึงมาขอซื้อไม้สักของเรา เพราะแถบแม่สะเรียง จอมทอง ดอยสะเก็ด แม่ริม สันทราย เชียงดาว เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง เต็มไปด้วยไม้สัก

เพราะเหตุผลนี้กษัตริย์อังกฤษจึงส่งพ่อค้ามาซื้อไม้สัก กษัตริย์ล้านนาก็ขายให้หมดเลย เพราะมีเยอะมาก ขนาดเขาเสนอราคาไม่สูงก็ขาย ถ้าหากตอนนั้นกษัติรย์ล้านนาอนุรักษนิยมไม่ยอมขาย กลายเป็นเมืองขึ้นแน่ๆ สยามได้แต่ยืนมองดู

ตั้งแต่มีการรวมศูนย์ (Centralize) ในล้านนา ความเป็นล้านนากับตัวอักษรและวัฒนธรรมหายไปได้อย่างไร

มันค่อยๆ กลืนกิน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อคนจีนและคนส่วนกลางอพยพเข้าสู่เชียงใหม่เยอะๆ

1. การกินอาหารจืดลง เพราะคนจีนมาแต่งงานกับผู้หญิงเหนือ เขามีวัฒนธรรมอาหารที่ไม่เผ็ดมาก อาหารในเชียงใหม่จืดลงไปเยอะ

2. มีอาหารจากส่วนกลางเข้ามา แต่อาหารท้องถิ่นขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบแบบไหน ยกตัวอย่างแกงฮังเล เป็นอาหารเอกสำหรับการทำบุญวันสำคัญ เพราะฉะนั้น ฮังเลไม่หาย แกงโฮะก็เช่นกัน

ส่วนตัวอักษร อย่างที่กล่าวไป เมื่อก่อนการเรียนรู้ในล้านนาอยู่กับวัดหมด เรียนคำเมือง ใช้ตัวอักษรล้านนา พอเริ่มมีการเปลี่ยนนิกายหลักต้องเป็นเหมือนศูนย์กลาง การเรียนตัวอักษรก็ค่อยๆ หายไป ต้องไปเรียนบาลี สันสกฤต ส่วนหนึ่งที่หายไปเพราะว่าด้านหนึ่งถูกสั่งให้ยุติ อย่างเช่นสมัยครูบาศรีวิชัยถูกจับ มีการเผาคัมภีร์ใบลานเยอะมาก เพราะหากใครมีในครอบครอง โดนจับ บางคนเอาไปฝัง บางชิ้นก็สูญหาย

ขณะที่เรื่องภาษา พอไม่ได้พูด พ่อแม่ก็ถูก Shape โดยศูนย์กลางว่าต้องพูดภาษาไทยให้ชัดจึงจะเป็นคนไทย จึงไม่ได้ฝึกให้เด็กในยุคถัดมาพูดภาษาเหนือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าพ่อแม่อาจจะกลัวลูกอาย หากมีสำเนียงเหน่อๆ ติดออกไป จึงหันมาพูดไทยไปเลย

คุณกำลังบอกว่าในกระบวนการ Centralize ทำให้ท้องถิ่นหลงลืมรากเหง้าของตัวเองใช่ไหม

แน่นอน ออกกฏหมายห้ามยังไม่พอ ยังไปบีบกดโอกาสต่างๆ อีก ลูกหลานไม่มีโอกาสได้เรียนรู้แล้ว และอีกอย่างคือมาจากศูนย์กลางที่ใหญ่กว่า จำเป็นต้องเอาใจเขา ต้องลดวัฒนธรรมของเราเพื่อรองรับคนใหญ่กว่า

ผมยกตัวอย่าง เจ้าขุนมาจากภาคกลางใส่กางเกงสีสดใสเข้ามา กลายเป็นว่าเสื้อผ้าแบบล้านนาสีธรรมชาติ เสื้อม่อฮ่อม ก็กลายเป็นเชยไปในที่สุด เรียกว่าฐานะที่แข็งแกร่งกว่าของเงินและวัฒนธรรมรวมกับอำนาจ ไปกดทับฐานะที่อ่อนแอกว่า จึงละเลยสิ่งเหล่านี้ไปหมดเลย และค่อยๆ เปลี่ยนไปๆ ทีละขั้น

ทำไมสยามต้องรวมศูนย์อำนาจ เหตุผลเพื่อความอยู่รอดใช่ไหม

ที่ต้องรวมศูนย์อำนาจเพื่อให้ชั้นปกครองสยามอยู่รอดได้ ถ้าสยามอยู่รอดได้คือ รัฐต้องเข้มแข็ง ประกอบกับความสามารถทางการจัดการยอดมาก อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นนักล่าอาณานิคมระดับชาติ ยึดไปหมด สยามก็เอาด้วย เป็นนักล่าอาณานิคมระดับภูมิภาค (region colonized) 

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าในแผนที่เราเสียดินแดน 8 หรือ 13 ครั้ง อะไรที่กล่าวขาน เสียดายลาว เวียดนาม กัมพูชา ยังอาลัยอาวรณ์กันอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็โชคดีที่ยังได้ล้านนา ปัตตานี 

วิธีคิดเขาเก่งมากเลย ขณะสู้ไปก็สร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองด้วย ขณะที่อีสานยกทัพไปตีเวียงจันทน์ คนที่เป็นเจ้าขุลมูลนายก็หนีเข้าป่ากัน ไม่ยอมแพ้ แต่เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ลาว โดนจับและมาเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ นอกนั้นเป็นไพร่พล ตอนเอาไพร่พลมาก็เต็มแผ่นดินอีสาน และดินแดนอีสานในตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคน เพราะเป็นดินแดนที่น้ำมีปัญหา ก็ไปอยู่ทางริมโขงฝั่งพี่น้องลาวกันเยอะ ทางนี้ไม่มี

พอมาอยู่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ตั้งชื่อเพื่อเชื้อเชิญให้คนมาอยู่ ดูชื่อหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัดของอีสาน ชื่อไพเราะทั้งนั้น วารินชำราบ เกษตรสมบูรณ์ โพนพิสัย นครพนม แต่ละคำสุดยอด เพราะไม่มีคน แล้วใครเป็นคนตั้ง ก็บรรดาเจ้าขุนมูลนายที่ทางราชการส่งไป

กลับมาดูล้านนา แม่ตื้น แม่ต้อย หางดง อมก๋อย สบตุ๋ย ชื่อแนวนี้ทั้งนั้นเลย เพราะเป็นคำชาวบ้านที่มีชาวบ้านอยู่กันมาโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่ดินแดนที่เจ้านายจากทางการส่งมา เป็นอย่างนี้มาตลอด เพราะฉะนั้น แผ่นดินล้านนาเป็นแผ่นดินที่มีคนอยู่อาศัยมาตลอด

สรุป ลัทธิล่าอาณานิคมทำให้ชนชั้นปกครองต่อสู้และจัดระบบราชการแบบรวมศูนย์ สถาปนาระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเข้าไปเขมือบดินแดนรอบๆ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง และผนวกดินแดนเป็นรัฐเดี่ยว และเนื่องจากกลัวคนรู้ จึงกดดันให้นักประวัติศาสตร์ห้ามพูดเรื่องนี้ เราจึงได้เรียนแต่เรื่องวัดอรุณฯ วัดโพธิ์ วัดพระแก้ว หรือประวัติศาสตร์สายหลักไปในที่สุด

อีกเรื่องคือเรื่องศาสนา วัดในเชียงใหม่ตั้งชื่อตามแต่ละท้องที่ เช่น วัดป่าตึงคือต้นตึงเยอะ วัดป่าป้องคือต้นป้องเยอะ วัดหนองบัวคือมีหนองบัว มาถึงเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโดยใช้สันสกฤตทั้งหมด เปลี่ยนชื่อทุกวัด วัดป่าป้องกลายเป็นวัดชยาลังการ์ วัดป่าตึงกลายเป็นวัดทองเจริญ วัดลวงใต้เป็นวัดรังษีสุทธาวาศ ทุกวัดเลย เพื่อให้มีความเป็นเจ้าขุนมูลนายให้กลายเป็นเหมือนกัน และลืมท้องถิ่นไปให้หมด

คุณคิดว่าทำไมตอนนี้มีคนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งชาวเชียงใหม่ เริ่มเรียกร้องและพูดถึงความจำเป็นของการเร่งกระจายอำนาจ

ปี 2442 เกิดการผนวกดินแดนล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม 2445 รวมปัตตานี ตั้งแต่นั้นมา ก็เป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ศาสนา ด้วยเหตุนี้ เมื่อครูบาศรีวิชัยยืนยันจะขอแต่งกายแบบพระล้านนา ทำสมาธิแบบล้านนาไม่ขึ้นแบบส่วนกลาง จึงโดนเล่นงาน ติดคุกก็หลายครั้ง หลังจากนั้นทุกอย่างก็ซาลงไป

จนกระทั่งปี 2490 เศรษฐกิจเริ่มเติบโต มีรถไฟมีพ่อค้าเดินทางเข้ามา มีการค้ากับต่างประเทศ ปัญญาชนคนหนึ่งของไทย คุณไกรศรี นิมมานเหมินท์ ลูกเศรษฐีเชียงใหม่ตระกูลใหญ่ ซึ่งพ่อส่งไปเรียนต่างประเทศ พวกนี้ไปแล้วกลับมาบอกว่า ทำไมเมืองนอกท้องถิ่นเขาเข้มแข็ง ดูแลเองทุกอย่าง นายกเทศมนตรี ผู้ว่าฯ เลือกเองหมดเลย ทำไมเรากลับเป็นแบบนี้ 

ไกรศรีกลับมาเรียกร้อง ตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับแรกขึ้นมาชื่อ ‘คนเมือง’ เพราะคนท้องถิ่นเรียกตัวเองว่าคนเมือง ทีนี้ยังไม่พอ ก็มีการเชิญคนมาฟ้อน จัดการเลี้ยงส่งผู้ว่าฯ นายอำเภอ เอานางสาวเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางมาฟื้น เรียกว่า เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเชียงใหม่ล้านนาให้กลับมาอีกครั้ง

การตื่นตัวเรื่องความเป็นท้องถิ่น มาพร้อมกับความตื่นตัวแบบชนชั้นกลางมีการศึกษา บ้านเราก็เป็นแบบนี้ เราคนเมืองกินลาบควาย ทำไมต้องกินลาบแบบอื่น ทำไมต้องไปกินผัดไทย ผัดกะเพรา

เซนส์แบบนี้มันตามมา และขยายตัวขึ้น คนตื่นตัวมากขึ้น เพราะได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น รวมถึงเริ่มถามตัวเอง พอได้ไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็ตื่นตัวทางวิชาการ

อีกคนที่ทำให้วัฒนธรรมเชียงใหม่ตื่นตัวคือ จรัล มโนเพ็ชร คนร้องเพลงโฟล์คซองคำเมือง ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ไล่กันมา ที่ทำให้คนเชียงใหม่จึงรู้สึกว่าเรามีความเป็นเราอยู่

นอกจากนี้ ยังรู้สึกว่างบประมาณทั้งหมดไม่มาถึงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเชียงใหม่ แต่กระจุกตัวอยู่เพียงแต่ในเมืองหลวง

คิดว่าเพราะอะไรกระบวนการกระจายอำนาจถึงไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี 2518 ส.ส.เชียงใหม่ ชื่อว่า ไกรสร ตันติพงศ์ เรียกร้องการเลือกตั้งในสภาผู้แทนฯ แต่เรื่องก็เงียบไป ปี 2534 นักวิชาการ มช. (มหาวิยาลัยเชียงใหม่) เรียกร้องเลือกตั้งของตัวเอง ก็เงียบไปอีก ถามว่าทำไม เพราะการศึกษาของเราเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะการศึกษาไม่พูดเรื่องการเมือง การศึกษาไทยมี 2 ปัญหา ประกอบด้วย

1. การมุ่งหวังเข้ามหาวิทยาลัยที่ในขณะนั้นยังมีไม่กี่แห่ง เพราะคนไทยเห็นว่าการรับปริญญาเป็นพิธีกรรมใหญ่โต ในหลวงลงมาพระราชทาน พ่อแม่ก็อยากให้ลูกมีรูปติดฝาบ้าน

อาจเรียกได้ว่าเป็นการมุ่งแต่การสอบเข้า ทำให้การศึกษาพื้นฐานลดคุณค่าลง ต่อมาปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การเกิดขึ้นของติวเตอร์ทั่วประเทศ ทำเงินกันไม่รู้กี่ล้าน

2. การให้ความสนใจกับสายวิชาชีพ จนทำให้แพทย์ได้รับการยกย่องเป็นอาชีพที่สูงส่ง เด็กหลายคนจึงอยากสอบเป็นหมอ โดยที่ไม่ได้เป็นความอยากได้ของตัวเอง ไปเน้นวิชาชีพจนทำให้ละเลยการเรียนเรื่องการเมือง การปกครองท้องถิ่น ไม่เข้าใจการกระจายอำนาจ ไม่รู้เรื่องการกระจายทรัพยากร

ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือแม้แต่ประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เรียน เพราะในช่วงที่เรียนสังคม ก็เรียนแบบท่องจำ ไม่ก็จำแต่ปี พ.ศ. ไม่ว่าจะเป็นพระนเรศวรชนไก่ ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง สั่นกระดิ่งเข้าเฝ้า พอเรื่องสนธิสัญญาเบาว์ริ่งไม่มีใครรู้

ทั้งหมดจึงทำให้มีแต่บัณฑิต ไม่ใช่พลเมือง ไม่รู้เรื่องการเมือง การศึกษาเรายกย่องให้คนเก่งด้านวิชาชีพ แต่กลับไม่ส่งเสริมการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการจงใจที่รัฐในขณะนั้นอยากให้เป็นแบบนี้ การเติบโตและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยจึงเคลื่อนตัวได้ช้ามากๆ

ถามว่าทำไมตะวันตกไม่เป็นเช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเมืองขึ้น อยู่ใต้อาณานิคม แรงกระแทกของอาณานิคมทำให้รู้ว่าใครเป็นเจ้านายคุณ มาถึงก็สั่งๆ ว่าจะเอาแบบไหน และประเทศที่เป็นเมืองขึ้นส่วนใหญ่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นการปะทะกันระหว่างนักล่าอาณานิคมกับประชาชน มันเหมือนค้อนที่กระแทกใส่เมืองอาณานิคมในทุกวัน ทำให้การเรียนรู้บ้านเขาจึงไปเร็ว สิ่งหนึ่งที่รัฐเมืองขึ้นมี แต่ไทยไม่มี คือความตื่นตัวทางการเมือง

แปลว่าบ้านเราแทบจะไม่มีแรงกดดันต่างๆ เลยใช่ไหม

ไม่มีเลย ตั้งแต่ปฏิรูประบบราชการมา ไม่มีเลย บ้านเมืองเราอยู่ในระบบสมยอมต่ออำนาจของศูนย์กลางหรือกษัตริย์มาโดยตลอด แล้วเมื่อมาถึงการปฏิวัติ 2475 ก็มีปัญหาอีก เพราะห้ามวิจารณ์ระบอบการปกครองเก่า ห้ามคุยกันเรื่องเปลี่ยนแปลงประเทศ ทำให้ผู้มีการศึกษาที่มีขนาดไม่มากนักทำการซุบซิบกัน การจัดการยึดอำนาจ 2475 ประชาชนก็ไม่รู้เรื่อง รัฐธรรมนูญคืออะไร ได้แต่ตามน้ำ

จำได้ไหมครับมีคำกล่าวที่บอกว่า ‘รัฐธรรมนูญเป็นพี่ของพระยาพหลฯ’ เพราะอะไร เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจ การศึกษาไม่มี ทีนี้เมื่อกองกำลังฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนและมีไม่มากพอ พอเข้ามาเจออำนาจเก่าที่มีอำนาจมาก ไม่เคยมีการล้มเลย เลยเกิดปัญหาขึ้น

จากนั้นไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็มีปัญหากันอีก ซ้ำร้ายยังเจอสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนก็เป็นสังคมนิยม อินโดจีนก็ลุกขึ้นสู้ สู้เพื่อเป็นสังคมนิยม โฮจิมินห์ก็จะเป็นสังคมนิยมด้วย อเมริกาตกใจ มาเลยจัดการฟื้นอำนาจเดิม ชูกองทัพเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาเต็มที่โดยใช้ไทยเป็นฐานสู้กับอินโดจีน หวังสู้กับคอมมิวนิสต์

เข้าใจว่าเมืองพิเศษอย่างพัทยาที่มีการเลือกตั้งเป็นของตัวเอง ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ใช่ไหม

ใช่ ปี 2504 อเมริกามาอยู่ในไทยเพื่อรบเวียดนาม รบไปเงินเดือนเป็นแสน แต่เครียด ทำอย่างไร มาที่ไทย อยากได้ชายหาดพักผ่อน เขาก็รบ 10 เดือน เบรกอีก 2 เดือน เลยได้หมู่บ้านพัทยาซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านท่าเรือเก่า ชาวประมงไม่กี่คน

ไม่นานจากนั้น พัทยาก็กลายเป็นแดนสวรรค์สวยขึ้นในพริบตา จากหมู่บ้านที่มีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง กลายเป็นหญิงสาวเนืองแน่น ร้านค้าร้านอาหารตามมา เพื่อรับอาคันตุกะจากต่างแดน 

จากปี 2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยร่ำรวยด้วยเงินมหาศาลจากอเมริกา ภายใต้ระบอบเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เมื่อเศรษฐกิจตื่นตัวมาก ก็ขาดกำลังคนที่เข้ามาควบคุมเศรษฐกิจที่เติบโตตรงนั้น  

สุดท้าย เลยเกิดสถานศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตป้อนเข้าสู่ภาคการควบคุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดปี 2507 มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกิดในปี 2508 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เกิดในปี 2509

ทั้งหมดนี้เติบโตขึ้นเพื่อรับใช้เศรษฐกิจใหม่ เพื่อการค้าขาย ดังนั้น จึงกลับมาเป็นประเด็นเดิมว่า มหาวิทยาลัยกลับไปเน้นวิชาชีพแทน ซึ่งที่จริงควรจะมีความเป็นคนรอบด้าน ควรรับรู้ปัญหาทุกด้าน แต่เรากลายเป็นนักเทคนิคแบบวิชาชีพใครวิชาชีพมัน ทั้งหมดนี้ผนวกรวมจนกลายเป็นตำแหน่งนายกเมืองพัทยาในปี 2521

ในความคิดคุณ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ถือเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จไหม

เมื่อกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นเพราะเป็นศูนย์รวมอำนาจทุกอย่าง คนกระจุกตัวเข้าไปหมดเลย โดยเฉพาะพี่น้องอีสาน เมืองกรุงเทพฯ จึงเกิดการขยายตัว เราเรียกลักษณะนี้ว่า เมืองโตเดี่ยว หรือภาษาวิชาการเรียกว่า เอกนคร 

คิดดูสิ กทม. มีคนเป็นสิบล้าน แต่หัวเมืองอย่างสงขลา ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี มีประชากรราว 3-4 แสนคน ห่างกันราวฟ้ากับดิน

คุณลองดู นิวยอร์กมี 10 ล้านคน ฟิลาเดลเฟียมี 8 ล้านคน บอสตัน 7 ล้านคน ของเราต่างกันฟ้ากับเหวเลย ทุกจังหวัดเป็นแบบนี้หมด

กระทรวงมหาดไทยจึงส่งคนไปดูงานเมืองนอก ว่าเมืองนอกเขาจัดการปัญหาเมืองอย่างไร เมืองนอกเขามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีการเลือกนายกเทศมนตรี ก็มาเลย สำหรับ กทม.ไม่มีใครเรียกร้อง แต่กระทรวงมหาดไทยจัดการเองในปี 2518 เพื่อให้ดูดี ขณะที่พัทยาเมื่อโตเร็วมาก ปี 2521กระทรวงมหาดไทยก็จัดบ้าง อยากให้เป็นเขตปกครองพิเศษแบบเมืองนอก

สรุปแล้วพัทยากับ กทม.เป็นการทดลอง หรือตั้งใจให้เกิดขึ้น

เท่าที่ผมเข้าใจ คิดว่าทั้งคู่ทดลองไปพร้อมๆ กับทำจริงๆ แต่มีปัญหาเนื่องจาก

1. การศึกษาอ่อนแอ ประชาชนไม่ค่อยรู้

2. กระทรวงมหาดไทยแข็งแกร่ง รัฐบาลแข็งแกร่งมาก

เพราะฉะนั้นพอเลือกตั้งแล้วกระทรวงครอบหมด นายอำเภอ  ผู้ว่าฯ คุมนายกเมืองพัทยาหมดเลย กรุงเทพฯ ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพิ่งมาเปลี่ยนตอนคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นี่เอง เป็นแบบนี้จึงไม่มีความหมายอะไร เป็นรูปแบบที่มีการปกครองพิเศษ แต่ไม่ได้พิเศษจริง ท่าทางยังเป็นเจ้าขุนมูลนายหมด

ช่วงแรกๆ ของการเลือกนายกเมืองพัทยา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยมาก สะท้อนว่านายกพัทยาทำอะไรไม่ได้ เพราะอำนาจจริงๆ อยู่กับนายอำเภอและผู้ว่าฯ ชลบุรี ทั้งหมด

ถ้าเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งผู้ว่าฯ เองทั้งประเทศ น่าจะมีความพร้อมมากแค่ไหน

ที่ผ่านมาเห็นเชียงใหม่โตผิดหูผิดตา แต่ทำไมการบริหารบ้านเมืองกลับมีปัญหา ผู้ว่าฯ มาแต่เดี๋ยวๆ ก็ย้าย กระทรวงมหาดไทยพูดดีมากว่าไม่อยากให้ใครอยู่นาน เดี๋ยวรากงอก เดี๋ยวจะมาสร้างครอบครัว เกิดผลประโยชน์ผูกพันกับท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องย้ายบ่อย และต้องสลับกันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

แต่ผมคิดว่าเนื่องจากผลประโยชน์ของการเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดใหญ่ๆ นั้น เป็นเพราะเป็นกรรมการหลายตำแหน่ง และมีรายรับอื่นๆ แทรกเข้ามาเยอะมาก เมื่อมีคนอยากขึ้นไปตำแหน่งสูงก็ต้องวิ่ง แรงเสียดทานจึงสูงมาก

ฉะนั้น ไม่มีทางที่กระทรวงจะให้คนอยู่นาน เพราะทุกคนดึงดันเรียกร้องหมดเลย คิดดูสิครับ มีใครไหมที่ไม่อยากมาเป็น ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เท่าที่ฟังมา คนเป็นรองผู้ว่าฯ ก็ต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อให้เป็นผู้ว่าฯ อย่างน้อย 6 เดือนสุดท้าย เพื่อเกษียณจะได้ติดคำว่าผู้ว่าฯ

พอเรารณรงค์ ก็รู้แล้วว่า ผู้ว่าฯ ควรต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะคนมาจากเลือกตั้งจำเป็นต้องมาจากการหาเสียง ลงไปหาประชาชน ให้การศึกษาประชาชน ประชาชนมีปัญหาเข้าหาได้เลย แล้วแก้ไขกัน หากแก้ไม่ได้ ประชาชนก็ไม่ต้องเลือกอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น 4 ปีก็เปลี่ยน แค่นั้นไม่พอ ต้องเสนอรายรับรายจ่าย ทรัพย์สินต้องแสดง ทุกอย่างโปร่งใส มีสภาฯ แต่ละจังหวัด ผู้แทนแต่ละอำเภอคอยตรวจสอบ เรียกว่า สจ. (สมาชิกสภาจังหวัด) นี่คือจุดแข็ง

ในช่วงที่นักวิชาการเชียงใหม่รณรงค์กัน คนเห็นด้วยน้อยเพราะช่วงนั้นคนในเมืองคิดอย่างเดียวว่าประชาชนไม่พร้อม แต่ตอนนี้เวลาผ่านไป คนมีการศึกษาเยอะขึ้น บ้านเมืองเจริญเติบโตขึ้น

ผมว่าปีหนึ่งๆ คนไทยไปญี่ปุ่นปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ไปแล้วตกตะลึง ทุกเมือง สวนสาธารณะเพียบ ระบบจัดการขยะยอดเยี่ยม มหาวิทยาลัยมีแทบทุกเมือง สุดยอดของการพัฒนาท้องถิ่น คนไทยได้รู้แล้วว่าการกระจายอำนาจดีอย่างไร

ก่อนหน้านี้เราพูดการกระจายอำนาจภายใต้ระบบราชการ แต่หากเป็นในระดับปัจเจก คุณคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ไหม มีความพร้อมขนาดไหน

สำหรับตัวคนพร้อมแล้ว คนมีความรู้เยอะขึ้น ถ้ารัฐบาลเฉลียวฉลาดพอและเห็นในทิศทางทางพัฒนาบ้านเมือง อาจจะมีวิธีการปรึกษาหารือ เช่น เริ่มลงมือกันทุก 2 ปี เลือกตั้งทีละ 5 จังหวัดได้ไหม เรียนรู้และปรับไป จังหวัดใหญ่ๆ ก่อนได้ไหม

ผมเห็นด้วยมากเลยที่จังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ต้องได้เลือกก่อน เพราะต้องเผชิญปัญหาร่วมกัน เรื่องน้ำท่วม เรื่องคนปริมณฑลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

ดังนั้นเอาเลย ตามด้วยนครราชสีมา สงขลา เชียงใหม่ เอาหัวเมืองก่อน เพราะเมืองเหล่านี้คนเยอะรองลงมา ปัญหาก็เยอะตามมาด้วย

แปลว่าแม้ดูเหมือนตอนนี้คนพร้อมแล้ว แต่ก็ขาดจุดเริ่มต้นใช่ไหม

ถูกต้องที่สุดเลยครับ ทั้งที่การกระจายอำนาจมีข้อดีหลายข้อมาก

อย่างแรกคือ กระตุ้นทางการเมือง ตั้งแต่การประกาศรับเลือกตั้ง การหาเสียง ไปจนถึงการลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะกระตุ้นให้คนตื่นตัวทางการเมืองว่าหากจะลงเลือกตั้งต้องมีความรู้อะไรบ้าง ต้องเข้าใจประชาชนอย่างไร เตรียมตัวอะไรบ้าง และประชาชนในเมืองก็รับรู้ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารเขา มีคุณสมบัติแค่ไหนก็ต้องศึกษา ทั้งหมดเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง

นักศึกษาถามผมว่าในเมื่อบางจังหวัดมีตระกูลใหญ่มาก จะเกิดการผูกขาดจังหวัด กินทั้งจังหวัดไปเลย ผมตอบว่าเป็นไปได้ เพราะเขาใหญ่ มีอิทธิพล ลูกน้องเยอะ

แต่ในกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ทั้งหมดผ่านกระบวนการคัดเลือก หาเสียงและเข้าไปทำงานพบประชาชนตลอดเวลา อีกทั้งยังต้องแสดงทรัพย์สินด้วย หากคุณจัดการเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ สมาชิกสภาจังหวัดก็จะจี้คุณ ประชาชนถาม สื่อมวลชนถาม ถ้าคุณยังใช้อำนาจข่มเหง ใครจะทนกับคุณได้ สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนมือในที่สุด ไม่เกินหนึ่งสมัยก็เรียบร้อย ไม่ว่าตระกูลไหนใหญ่แค่ไหน

ดังนั้น การเป็นเผด็จการไม่เปิดเผยเงิน ถามอะไรก็เดินหนี ถามอะไรตอบไม่รู้ เมื่อเทียบกับคนที่มาจากการเลือกตั้ง แบบไหนดีกว่ากัน 

นี่คือการเรียนรู้ประชาธิปไตยล้วนๆ เป็นการฝึกประชาชน และฝึกนักการเมืองด้วย พร้อมกับยกระดับทั่วทั้งสังคม

แล้วกลไกมหาดไทยเดิมจะอยู่ตรงไหน

เนื่องจากระบบภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อคุมท้องถิ่นโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ขยายเสียที ฝรั่งเศสเมื่อก่อนก็เป็นแบบนี้เช่นกัน มีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมาคุมท้องถิ่น แต่เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ผู้ว่าฯ ก็ลดฐานะไปเป็นผู้ตามควบคุมดูแล คอยดู เป็น inspector ของเราก็น่าจะเป็นแบบนั้นได้เช่นกัน เพราะประชาชนตื่นตัวแล้ว

เพราะฉะนั้น อนาคตของกลไกมหาดไทยในระบบภูมิภาค ผมคิดว่า

1. นายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) กับผู้ว่าฯ เป็นคนเดียวกันได้ คือมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีวาระ 4 ปี

2. เมื่อเป็นแล้วควรจะมีการเปิดโอกาส จังหวัดไหนอยากใช้คำว่าผู้ว่าฯ ก็ใช้ได้ หรือจะใช้นายก อบจ. ก็ไม่ติด แต่ 2 องค์กรนี่อยู่ด้วยกัน ภูมิภาคทำอย่างไรก็ถามข้าราชการภูมิภาคเลย ที่ผ่านมาอยู่แบบผู้ว่าฯ แต่งตั้ง ยังรักอยู่ไหม ถ้าคุณยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ก็ทำจดหมายขอกลับไปอยู่ส่วนกลางได้ เพราะไม่ชอบนายก  อบจ.

ทั้งหมดอาจจะต้องใช้เวลาสัก 5-8 ปี จึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วทุกจังหวัดของประเทศเราก็จะมาจากการเลือกตั้งผู้นำที่ฟังประชาชน คิดร่วมมือกับประชาชน และก็เปลี่ยนทุก 4 ปี และจะค่อยๆ ดีขึ้นๆ เป็นลำดับ

ทีนี้อีกประเด็นที่คนสงสัยที่ กทม.เป็นเขตเมืองล้วนๆ ประชาชนมีคุณภาพแบบหนึ่ง แต่ต่างจังหวัดไม่ใช่ ต่างจังหวัดมี อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) และมีเทศบาล อบจ.จะอยู่ส่วนบนดูแลทั้งจังหวัด เทศบาลดูแลเฉพาะเทศบาล แล้วจะทำอย่างไร 

ในความเห็นผม รูปแบบที่ควรทำคือ ให้นายก อบจ.หรือผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งดูแลพื้นที่ทั้งจังหวัด ดูแลกิจการใหญ่ๆ ของจังหวัด เช่น แม่น้ำ ขยะ  มหาวิทยาลัย อะไรที่เป็นของทุกคน อะไรใหญ่ ผู้ว่าฯ ดูแลทั้งหมด 

เพราะฉะนั้น ระบบปกครองท้องถิ่นการกระจายอำนาจของเรามี 2 ขั้น คือ 1. ระดับพื้นที่  2. ระดับจังหวัด ไปพร้อมกัน

ในอเมริกา พวกเราต้องรู้ เขามีรูปแบบจัดการบริหารท้องถิ่นถึง 6 รูปแบบ แล้วแต่แต่ละท้องถิ่นชอบแบบไหน ของเรามีแบบเดียวเลย คือ อบต. เทศบาล ซึ่งไม่ถูกต้องนะครับ ต้องให้ท้องถิ่นคุยกัน แลกเปลี่ยนกันและคิดขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะพัฒนาการทางการเมืองของประเทศเราช้ามาก เราเลยไม่ค่อยได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้

วันนี้ กระทรวงมหาดไทยไม่ยอมให้จังหวัดไหนเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะเขาเกรงว่าถ้ามีคนเรียกร้อง จะมีเรียกร้องตามมาไม่หยุด เพราะจังหวัดไหนก็อยากเลือก คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีข้อดีอย่างไร นี่คือการศึกษาที่ยอดเยี่ยมที่สุด ผมรณรงค์เรื่องนี้มา 30 ปี สู้คุณชัชชาติทำให้ดูไม่ได้เลย

Fact Box

  • ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นคนอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาจากโรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อนศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอยู่ร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนต้องเข้าป่า ร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
  • ศ.ดร.ธเนศวร์เป็นปูชนียบุคคลของคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้จะเกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปี 2554 แต่จนถึงวันนี้ เขายังสอนนักศึกษาในสาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่เป็นประจำ
  • ทุกเวทีการชุมนุมใหญ่ของ ‘คนเสื้อแดง’ มักจะเห็นธเนศวร์ปรากฏตัวอยู่หลังเวทีเสมอ นอกจากนี้ เมื่อปี 2556 ธเนศวร์ยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จาตุรนต์ ฉายแสง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
  • คลิปวิดีโอที่ธเนศวร์ อธิบายสังคมวิทยาและอัตลักษณ์ของ ‘ลาบควาย’ ใน The Momentum เป็นคลิปที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และมียอดผู้เข้าชมมากว่า 4 ล้านครั้ง สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/1OJ255ejTT4

Tags: , , , , ,