หากสังเกตความคิดของตัวเองดูให้ดี จะพบว่าเรามักยึดติดอยู่กับสิ่งที่เริ่มต้นไว้แต่ยังสานต่อไม่สำเร็จไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ที่ยังดูไม่จบซีซัน, สไลด์พรีเซนต์การประชุมครั้งต่อไปที่ทำไปได้ครึ่งเดียว หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่เคยดูใจกัน แต่ไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์สักที เหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้มักวนเวียนกลับมากวนใจคุณอยู่เสมอ และดูเหมือนว่าคุณจะจดจำมันได้ดีกว่าสิ่งที่เคยทำสำเร็จด้วยซ้ำไป

 

ปรากฎการณ์ดังกล่าวในทางทฤษฎีจิตวิทยาเรียกว่า ‘Zeigarnik Effect’ โดยอธิบายว่าผู้คนมีแนวโน้มว่าจะจดจำสิ่งที่ตนเองเคยทำค้างคาไว้ ได้ดีกว่าสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้วอย่างลุล่วง และสิ่งเหล่านั้นจะยังคงวนเวียนอยู่ในหัวแม้ว่าคุณจะเปลี่ยนกิจกรรมไปทำสิ่งอื่นก็ตาม หนทางเดียวที่จะทำให้ความคิดเหล่านั้นหายไปจากหัวได้ คือการกลับไปลงมือทำสิ่งที่ค้างคาให้เสร็จสิ้น

 

นักจิตวิทยาชาวลิทัวเนีย บลูมา เซย์การ์นิค (Bluma Zeigarnik) ได้ค้นพบทฤษฎีดังกล่าวระหว่างที่เธอกำลังรับประทานอาหารอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ณ ประเทศเวียนนา โดยเธอได้สังเกตว่าพนักงานในร้านสามารถจดจำรายการอาหารของโต๊ะที่ยังไม่ได้ชำระเงินได้ดีกว่า โต๊ะที่ชำระเงินไปแล้ว

 

ด้วยข้อสังเกตตรงนี้ เซย์การ์นิคจึงได้ลองทำการทดลอง ผ่านการให้คน 2 กลุ่มมาลองทำแบบทดสอบง่ายๆ  เช่น ตัวต่อพัซเซิลและโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์เบื้องต้น โดยเธอจะปล่อยให้ผู้ทดลองกลุ่มแรกทำแบบทดสอบอย่างปกติ แต่สำหรับกลุ่มที่สองเธอจะคอยขัดจังหวะผู้เข้าทดลองอยู่เป็นระยะ ผลการทดลองออกมาว่า 90% ของผู้ทดลองในกลุ่มที่สองนั้น สามารถจดจำรายละเอียดของแบบทดสอบได้เป็นอย่างดี เธอจึงสรุปว่า ‘เมื่อมนุษย์ทำสิ่งใดแล้วไม่สำเร็จ จนเขารู้สึกค้างคาใจ มนุษย์จะเก็บสิ่งนั้นไว้ในใจอยู่ตลอดเวลา’

 

ถึงแม้ว่าจะขัดกับสามัญสำนึก แต่จากทฤษฎีของเซย์กานิคกำลังบอกว่าหากต้องการจะจดจำสิ่งใดให้ดี และจดจำได้ยาวนาน ควรสร้างสถานการณ์ที่มาช่วยรบกวนกระบวนการจดจำของคุณ หรือไม่ต้องทำให้สำเร็จในทันที ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวมักจะถูกประยุกต์ใช้กับการสร้าง User Experience แก่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง

 

ยกตัวอย่างเช่นการกรอกข้อมูลส่วนตัวใน Linkedin,Facebook และ Instagram ที่หากเราเริ่มกรอกข้อมูลไป แต่ยังไม่ครบตามที่แพลตฟอร์มกำหนด จะมีหน้าต่างขึ้นมาบอกว่าคุณต้องกรอกข้อมูลเพิ่มอีกกี่ขั้นตอนถึงจะเสร็จสิ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มกลับมากรอกข้อมูลให้ครบ หรือแม้กระทั่งการที่ Youtube ฝังโฆษณาเอาไว้ระหว่างคลิปวิดีโอก็เพื่อจะช่วยให้ผู้ใช้งานมีความจดจ่อกับวิดีโอและดึงความสนใจให้อยู่บนแพลตฟอร์มได้นานที่สุด

 

ทฤษฎีของเซย์กานิค จึงมีอิทธิพลอย่างมากในยุคที่ดิจิทัลกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ในการใช้ชีวิต และเทคโนโลยีเมตาเวิร์สที่กำลังจะมาถึง ยิ่งน่าสนใจว่าจะมีการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยากับการออกแบบโลกเมตาเวิร์สให้เราเพลิดเพลินไปกับโลกจำลองใบนั้นได้อย่างไรบ้าง

 

ภาพ: Reuters

 

ที่มา: 

https://www.verywellmind.com/zeigarnik-effect-memory-overview-4175150 

https://creativetalklive.com/zeigarnik-effect/ 

https://creativetalklive.com/zeigarnik-effect/ 

 

 

Tags: , , , , ,