ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าเฮอร์คิวลีส วีรบุรุษชื่อก้องโลก มีที่มาที่ไปอย่างไร และครึ่งแรกของภารกิจ 12 ประการที่เฮราคลีสต้องไปทำมีอะไรบ้าง รวมไปถึงศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษที่มาจากตำนานของเฮอร์คิวลีส
ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันต่อว่าเฮอร์คิวลีสต้องไปทำอะไรอีกบ้างในอีกหกภารกิจที่เหลือ และภารกิจเหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับป่าฝนแอมะซอน แผนที่โลก และค่าแป๊ะเจี๊ยะ
ภารกิจที่เหลือของเฮราคลีส
แม้หกภารกิจแรกของเฮราคลีสจะนับว่ายากเข็ญเกินมนุษย์แล้ว แต่ก็เรียกได้ว่าไม่โหดหินเท่าหกภารกิจในครึ่งหลัง เนื่องจากคราวนี้กษัตริย์ยูริสธีอุสส่งเฮราคลีสออกไปนอกกรีซแผ่นดินใหญ่ทุกภารกิจ แถมแต่ละภารกิจยังอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับภารกิจที่เจ็ด เฮราคลีสถูกสั่งให้ไปเอาวัวของ กษัตริย์ไมนอส (Minos) บนเกาะครีต (อยู่ถัดลงมาจากกรีซแผ่นดินใหญ่ทางตอนใต้) กลับมาให้ยลโฉมตัวเป็นๆ แน่นอนว่าวัวตัวนี้ไม่ใช่วัวธรรมดาสามัญแบบที่ไปจูงมาจากฟาร์มไหนก็ได้ แต่ว่ากันว่าเป็นวัวที่เทพโพไซดอนให้กษัตริย์ไมนอสไว้ และเป็นวัวที่เป็นพ่อของสัตว์ประหลาดมิโนทอร์ (Minotaur) ซึ่งมีหัวเป็นวัวและลำตัวเป็นคน เนื่องจากวัวตัวนี้มีโพไซดอนบันดาลไว้ให้มีนิสัยดุร้าย ไม่เชื่องเหมือนวัวทั่วไป เฮราคลีสจึงต้องออกแรงปล้ำ จนท้ายที่สุดวัวก็หมดแรงยอมแพ้ ยอมให้เฮราคลีสขี่หลังและพากลับมายังเมืองไมซีนีเพื่อโชว์ตัวให้กษัตริย์ยูริสธีอุสดู
ส่วนภารกิจที่แปด คราวนี้กษัตริย์ยูริสธีอุสใช้เฮราคลีสให้ไปไกลถึงเมืองเธรซ (Thrace) ซึ่งอยู่ถัดจากกรีซขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือและขึ้นชื่อเรื่องความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เพื่อไปเอาม้าสาวสี่ตัวของ กษัตริย์ไดโอมีดีส (Diomedes) กลับมาให้ตนดู อีกเช่นเคย ม้าเหล่านี้ก็ไม่ใช่ม้าธรรมดา เพราะกษัตริย์ไดโอมีดีสเลี้ยงด้วยเนื้อคน ทำให้ม้าเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีนิสัยดุร้าย แต่ยังติดใจรสชาติเนื้อคนอีกต่างหาก แต่เฮราคลีสก็ทำให้ม้าพวกนี้เชื่องได้สำเร็จด้วยการโยนไดโอมีดีสเข้าไปในคอกให้เป็นอาหาร ทันทีที่ม้าเหล่านี้ได้ลิ้มรสเนื้อเจ้านายตัวเอง ความโหยกระหายเนื้อคนก็หายเป็นปลิดทิ้ง กลับกลายเป็นม้าเชื่องๆ ให้เฮราคลีสพากลับไปยังเมืองไมซีนีได้โดยสะดวกโยธิน
ในภารกิจที่เก้า กษัตริย์ยูริสธีอุสสั่งให้เฮราคลีสออกเดินทางไปเอาเข็มขัดวิเศษของ ราชินีฮิปโปลิตา (Hippolyta) แห่งเผ่าแอมะซอน (Amazons) ซึ่งว่ากันว่าอยู่ออกไปไกลถึงชายฝั่งทะเลดำ เพื่อนำมาเป็นของขวัญให้ลูกสาวของตนนามว่า แอดมีที (Admete) แม้ว่าเผ่าแอมะซอนจะเป็นเผ่านักรบหญิงล้วนที่ดุร้ายและขึ้นชื่อเรื่องความรังเกียจผู้ชาย แต่ทันทีที่เฮราคลีสไปถึง ราชินีฮิปโปลิตากลับต้อนรับขับสู้อย่างดีเพราะถูกชะตา ทั้งยังสัญญาว่าจะยกเข็มขัดให้ พอเฮราเห็นว่าเฮราคลีสจะทำภารกิจนี้สำเร็จง่ายเกินไป ยังไม่มีเลือดตกยางออกเลย จึงลงทุนแปลงร่างเป็นชาวอะเมซอนไปปล่อยข่าวลือว่าเฮราคลีสจะมาลักพาตัวราชินีฮิปโปลิตา ชาวแอมะซอนเลยควบม้าแห่กันมาที่เรือของเฮราคลีส ฝั่งเฮราคลีสเห็นแบบนี้ก็เข้าใจว่าราชินีฮิปโปลิตาปลิ้นปล้อนตลบตะแลง สัญญาว่าจะให้เข็มขัดแต่ให้ตนเองตายใจจะได้ลอบทำร้ายเฮราคลีสได้ จึงเกิดการต่อสู้กัน ในที่สุด เฮราคลีสก็สังหารฮิปโปลิตาและชิงเข็มขัดวิเศษกลับมาให้กษัตริย์ยูริสธีอุสได้
ทั้งนี้ ชื่อของเผ่าแอมะซอนที่ว่านี้ยังถูกนำไปตั้งชื่อป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเว็บไซต์ขายของออนไลน์ยักษ์ใหญ่อีกด้วย
ถึงแม้เฮราคลีสจะไปนำสิงสาราสัตว์ต่างๆ ทั้ง สิงโต กวาง หมูป่า วัว และม้า จากทั่วทุกสารทิศมาให้ได้ดูแล้ว แต่ยูริสธีอุสก็ยังดูไม่มีวี่แววจะเบื่อสัตว์ เพราะในภารกิจที่ 10 ยูริสธีอุสก็ยังใช้ไปเฮราคลีสไปนำสัตว์กลับมาอีก โดยให้ไปพาฝูงวัวแดงของเจรีออน (Geryon) ที่เกาะอีริเธีย (Erytheia) กลับมาที่เมืองไมซีนีให้ตัวเองดู
ความโหดของภารกิจนี้อย่างแรกเลยก็คือ เกาะนี้ว่ากันว่าตั้งอยู่เลยโพ้นขอบโลกทางทิศตะวันตกออกไปอีก (ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าโลกแบน กรีซตั้งอยู่กลางของโลก และเชื่อว่าจุดที่แม่น้ำเมดิเตอเรเนียนไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติกตรงช่องแคบยิบรอลตาร์ (Strait of Gibraltar) ระหว่างสเปนกับโมร็อกโก คือสุดขอบโลกทางทิศตะวันตกแล้ว ถ้าเลยช่องแคบนี้ออกไปก็จะเป็นแม่น้ำชื่อ โอชิแอนัส (Oceanus) ที่ไหลวนรอบโลก และถ้าล่องเรือออกไปในแม่น้ำโอชิแอนัสแล้วก็อาจจะกลับเข้ามาในทะเลเมดิเตอเรเนียนไม่ได้อีก)
ความโหดประการต่อมาก็คือ เจรีออนที่เป็นเจ้าของวัวฝูงนี้ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นยักษ์ที่มีท่อนบนเป็นคนสามคน แถมยังเลี้ยงหมาสองหัวชื่อ ออร์ธัส (Orthus) ไว้เฝ้าฝูงวัวด้วย
เฮราคลีสออกเดินทางลัดเลาะไปตามชายฝั่งตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเรื่อยๆ จนถึงตรงช่องแคบที่เชื่อกันว่าเป็นดินแดนสุดขอบโลกตะวันตก แล้วก็นำหินก้อนใหญ่สองก้อนมาตั้งไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานว่าตัวเองได้มาถึงสุดขอบโลกแล้ว ด้วยเหตุนี้ คนโบราณจึงเรียกช่องแคบยิบรอลตาร์ว่า เสาเฮอร์คิวลีส (Pillars of Hercules)
ตำนานเล่าไว้ว่า ระหว่างที่เดินทางอยู่นี้ อากาศร้อนมาก (แอฟริกาอะเนอะ) เฮราคลีสไม่ถูกใจก็เลยหยิบธนูคู่ใจขึ้นมาขู่ยิงพระอาทิตย์ ทำนองว่าถ้าไม่หยุดส่องแสงแผดเผา จะยิงให้ดับเสียเลย ปรากฏว่า สุริยเทพเฮลิโอส (Helios) ชอบใจในความกล้าบ้าบิ่น เลยให้ยืมถ้วยทองคำยักษ์ที่ตัวเองใช้ล่องกลับวังหลังจากขี่รถม้าพาดวงอาทิตย์ข้ามขอบฟ้าในแต่ละวัน เพื่อให้เฮราคลีสล่องไปยังเกาะที่เจรีออนอยู่และใช้ถ้วยนี้พาวัวของเจรีออนกลับมาที่กรีซ
เมื่อมาถึงเกาะ เฮราคลีสก็จัดการฆ่าทั้งเจรีออนและหมาสองหัวออร์ธัส ก่อนจะลำเลียงวัวแดงลงถ้วยยักษ์แล้วล่องกลับไปยังไมซีนี เป็นอันสิ้นสุดภารกิจที่ 10
พอมาถึงภารกิจที่ 11 ยูริสธีอุสก็อัปเกรดความยากอีก คือให้ไปนำแอปเปิลทองคำในสวนของสามนางไม้เฮสเปรีดีส (Hesperedes) กลับมาให้ตัวเอง ซึ่งว่ากันว่าก็ตั้งอยู่ในดินแดนที่มนุษย์มนาปกติไปกันไม่ได้อีกตามเคย (บางตำนานบอกว่าอยู่สุดขอบโลกด้านตะวันตก บางตำนานก็บอกว่าอยู่สุดขอบโลกทางตอนเหนือ)
ระหว่างเดินทางผ่านเทือกเขาคอเคซัส (Causasus) อยู่นั้น เฮราคลีสได้พบกับ โพรมีธีอุส (Prometheus) เทพไททันที่ถูกล่ามไว้ให้นกอินทรียักษ์ลงมาจิกตับทุกวันเป็นการลงโทษที่ขโมยไฟลงมาให้มวลมนุษย์ด้วย เฮราคลีสจึงใช้ธนูนกอินทรีและปลดพันธนาการให้โพรมีธีอุส ฝ่ายเทพไททันซึ่งมีญาณหยั่งรู้อนาคตซาบซึ้งในน้ำใจ จึงแนะนำเฮราคลีสว่า พอไปถึงสวนต้นแอปเปิลทองคำแล้ว อย่าเก็บแอปเปิลเอง แต่ให้เทพไททันชื่อ แอตลัส (Atlas) ที่จะไปเจอเป็นคนไปเก็บแอปเปิลมาให้แทน
พอไปถึงที่หมาย เฮราคลีสก็เจอเทพไททันแอตลาสจริงตามที่โพรมีธีอุสบอกไว้ แต่ว่าแอตลัสถูกลงโทษให้ยืนแบกท้องฟ้าอยู่ (ในโทษฐานที่เคยนำทัพไททันก่อกบฏต่อเทพโอลิมปัส) คงไปเอาแอปเปิลมาให้ไม่ได้ เฮราคลีสจึงเสนอตัวว่าจะช่วยแบกท้องฟ้าไว้ให้ชั่วคราว แลกกับให้แอตลัสไปนำแอปเปิลทองคำมาให้
แน่นอนว่าแอตลัสก็ไม่อยากจะแบกท้องฟ้าต่อ พอเอาแอปเปิลทองคำมาได้สำเร็จก็เลยเสนอตัวกับเฮราคลีสว่าเดี๋ยวตัวเองจะเป็นคนเอาแอปเปิลไปให้กษัตริย์ยูริสธีอุสแทน เฮราคลีสเห็นท่าไม่ดีเลยแกล้งตกลงไปก่อน แต่ก็บอกแอตลัสว่า ก่อนที่แอตลัสจะออกเดินทาง ช่วยแบกท้องฟ้าแทนให้แปบนึงได้ไหม ตัวเองจะได้เอาผ้ามารองตรงไหล่เพื่อไม่ให้เจ็บมาก แอตลัสไม่รู้ว่านึกสงสารเพราะตัวเองเข้าใจความทรมานนี้ดีกว่าใครหรืออย่างไร ก็เลยยอมรับท้องฟ้ากลับมาแบกไว้ เฮราคลีสได้ทีจึงรีบคว้าแอปเปิลและหนีไป ทำให้แอตลัสต้องกลับไปยืนแบกท้องฟ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน
ทั้งนี้ แอตลัสและบทลงทัณฑ์ให้แบกท้องฟ้าไว้นี้ก็เป็นที่มาของคำว่า ‘atlas’ ที่เราใช้เรียก แผนที่โลก ด้วย
แต่ทั้งนี้ บางเวอร์ชันก็จะเล่าว่า เฮราคลีสเป็นคนที่ไปฆ่ามังกรลาดอน (Ladon) ที่นอนเฝ้าสวนอยู่ได้สำเร็จและเก็บแอปเปิลทองคำมาเอง ไม่ได้ให้แอตลัสช่วยแต่อย่างใด
ส่วนภารกิจสุดท้าย กษัตริย์ยูริสธีอุสเล่นใหญ่ทิ้งท้ายด้วยการสั่งให้เฮราคลีสไปนำ เซอร์เบอรัส (Cerberus) หมาสามหัวที่เฝ้าประตูยมโลกมาให้ตัวเองดู (หมาสามหัวตัวนี้แหละที่เป็นต้นแบบของเจ้าปุกปุย หรือ Fluffy ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์)
แม้เฮราคลีสจะเป็นวีรบุรุษ แต่งานนี้ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสจริงๆ ลำพังแค่หาทางไปยมโลกให้ถูกก็ดูแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว เทพเฮอร์มีส (Hermes) ผู้เป็นเทพแห่งการเดินทางและส่งสาส์นเห็นเข้าแล้วสงสาร จึงมานำทางเฮราคลีสลงไปยังยมโลกและพาไปให้ได้พบกับเทพเฮดีส (Hades) ผู้ครองยมโลก
เฮดีสรู้ว่าเฮราคลีสกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ จึงยอมให้ยืมเซอร์เบอรัสไปได้ แต่มีข้อแม้คือต้องปราบเซอร์เบอรัสให้ยอมได้ด้วยมือเปล่า แน่นอนว่าเฮราคลีสก็ใช้ไม้ตายเดิม คืออาศัยพละกำลัง ปลุกปล้ำฉุดลากเซอร์เบอรัสขึ้นมาจากยมโลกและนำมาโชว์ให้กับยูริสธีอุสในที่สุด (ซึ่งยูริสธีอุสผู้แสนขี้ขลาดตาขาวก็กลัวหัวหดจนต้องลงไปซ่อนในไหทองเหลืองที่ฝังดินไว้เล่นเดิม) ถือว่าเฮราคลีสทำภารกิจครบทั้ง 12 ประการแล้ว และไม่ต้องเป็นทาสรับใช้กษัตริย์ยูริสธีอุสอีกต่อไป
ทั้งนี้ เซอร์เบอรัสนอกจากจะมีหน้าที่เฝ้าไม่ให้วิญญาณหลุดรอดออกมาจากยมโลกแล้ว ยังคอยป้องกันไม่ให้คนเข้าไปในยมโลกด้วย ดังนั้น ใครก็ตามที่จะต้องลงไปในยมโลกก็จะต้องมีวิธีสยบเซอร์เบอรัส ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือ การนำเค้กชุบน้ำผึ้งติดตัวไปให้เป็นส่วยแก่เซอร์เบอรัส ทำให้เกิดสำนวนในภาษาอังกฤษว่า ‘a sop to Cerberus’ หมายถึง ส่วย ค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินใต้โต๊ะ (sop หมายถึง อาหารที่ใช้ชุบหรือซับของเหลว)
ชีวิตหลังภารกิจ 12 ประการ
หลังจากปฏิบัติภารกิจ 12 ประการครบแล้ว เฮราคลีสก็ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่มีนามว่า ไดอาเนรา (Deïanira) ผู้เป็นลูกสาวของกษัตริย์อีนีอุส (Oeneus) แห่งเมืองคาลีดอน (Calydon) และมีลูกด้วยกันหลายคน แต่ชีวิตครอบครัวอันแสนสงบก็ต้องพังครืนลงเพราะเฮราคลีสพลั้งมือฆ่าคนโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เฮราคลีสกับไดอาเนราต้องย้ายออกจากคาลีดอนไปอยู่เมืองอื่น
ระหว่างเดินทาง ทั้งสองผัวเมียก็ต้องข้ามแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่า เอเวนัส (Evenus) ปรากฏว่ามีเซนทอร์ตัวหนึ่งนามว่า เนสซัส (Nessus) รับจ้างพาคนขึ้นนั่งบนหลังแล้วพาข้ามแม่น้ำพอดี เฮราคลีสจึงจ่ายเงินจ้างเนสซัสให้พาไดอาเนราข้ามแม่น้ำ ส่วนตัวเองเดินลุยน้ำไปเอง แต่ปรากฏว่าเนสซัสคิดไม่ซื่อ พยายามลักพาตัวไดอาเนรา เฮราคลีสจึงยิงธนูอาบเลือดไฮดราใส่
แต่ที่เฮราคลีสไม่รู้ก็คือเนสซัสคือเซนทอร์ที่หนีรอดจากการอาละวาดของเฮราคลีสระหว่างปฏิบัติภารกิจที่สี่มาได้ และหวังแก้แค้นเฮราคลีส ดังนั้น ตอนที่กำลังจะสิ้นใจ เนสซัสจึงบอกกับไดอาเนราว่าให้เก็บเลือดจากแผลของตนไว้ เพราะเลือดของเซนทอร์เป็นยาเสน่ห์อย่างดี ถ้าวันไหนเฮราคลีสเสื่อมรัก ก็ให้เอาเลือดไปใช้กับเฮราคลีส ทั้งที่จริงๆ แล้วเลือดของเนสซัสตอนนี้มีพิษของไฮดราผสมอยู่ แต่ไดอาเนราก็หลงเชื่อโดยไม่ได้เอะใจ เก็บเลือดของเนสซัสไว้เป็นสมบัติ
เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป ไดอาเนรารู้สึกว่าตัวเองก็แก่ลงทุกวันๆ พอเห็นทาสรับใช้ของเฮราคลีสมีแต่เด็กสาววัยเอ๊าะก็เริ่มกลัวว่าเฮราคลีสจะคลายรัก ก็เลยไปเอาเลือดของเนสซัสมาทาลงบนเสื้อคลุมให้เฮราคลีสใส่ ปรากฏว่าพอเฮราคลีสใส่เท่านั้น เสื้อก็เริ่มเผาและกัดกินเนื้อของเฮราคลีสเหมือนกรด พยายามจะถอดเสื้อคลุมก็ไม่สำเร็จ สร้างความทรมานให้เฮราคลีสอย่างมาก จนท้ายที่สุดเฮราคลีสก็ตัดสินใจก่อกองเพลิงและเผาตัวเองตาย
ทั้งนี้ เสื้อคลุมของเนสซัสนี้ทำให้เกิดสำนวนในภาษาอังกฤษที่ว่า ‘a shirt of Nessus’ หมายถึง สิ่งที่นำมาซึ่งความพินาศ ตัวอย่างเช่น บัตรเครดิตถ้าใช้ไม่ดีก็อาจสร้างหนี้หัวโต แบบนี้ก็เรียกว่าเป็น ‘a shirt of Nessus’ ได้
หลังจากเฮราคลีสตายแล้ว ทวยเทพได้พาเฮราคลีสขึ้นไปอยู่บนภูเขาโอลิมปัสกับพวกตน และบันดาลให้เฮราคลีสเป็นอมตะ ทั้งยังให้แต่งงานกับเทพีแห่งความเยาว์วัยนามว่า ฮีบี (Hebe) นับเป็นจุดจบแบบแฮปปี้สำหรับวีรบุรุษชื่อก้องโลกคนนี้
บรรณานุกรม
Buxton, Richard. The Complete World of Greek Mythology. Thames & Hudson: New York, 2004.
Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.
Grimal, Pierre. Dictionary of Classical Mythology. Penguin Books: London, 1991.
Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.
Hard, Robin. The Routledge Handbook of Greek Mythology. Routledge: New York, 2004
Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.
March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.
Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019
Stuttard, David. Greek Mythology: A Traveller’s Guide from Mount Olympus to Troy. Thames & Hudson: London, 2016.
Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.
ภาพ
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Herculean_effort.jpg
https://www.wikiart.org/en/gustave-moreau/diomedes-being-eaten-by-his-horses-1865
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Fragment_of_a_terracotta_volute-krater_MET_DP202056.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Heracles_and_the_Cattles_of_Geryon,_Munich_2620.JPG
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Frederic_Leighton_-_The_Garden_of_the_Hesperides.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hercules_Delivering_Prometheus_by_Nicolas_Bertin.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Olympia_Metopes._VIII._Herakles%E2%80%99_Eleventh_Labor._Atlas_and_the_Apples_of_Hesperides.jpg
https://en.wikipedia.org/wiki/Cerberus#/media/File:Herakles_Kerberos_Eurystheus_Louvre_E701.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Lagrenee,_Louis_Jean__The_Abduction_of_
Deianeira_by_the_Centaur_Nessus_-_1755.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Muerte_de_H%C3%A9rcules,_por_Zurbar%C3%A1n.jpg
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Wedding_of_Hercules_and_Ebe_by_Pietro_Benvenuti_(1769-1844)._Hall_of_Hercules_in_Palazzo_Pitti_(Florence).jpg
Tags: Hercules, Greek, roman