เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส.ส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยประเด็นการปฏิบัติการด้านข้อมูลในโลกออนไลน์ที่เรียกว่า IO (Information Operation) โดยอ้างว่ากองทัพเป็นผู้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ สั่งการให้ผู้ปฏิบัติการโพสต์คอมเมนต์ด้อยค่าฝ่ายตรงข้ามและอวยฝั่งตนเอง พร้อมทั้ง ‘เปิดวาร์ป’ ด้วย QR Code กลางสภาให้ประชาชนที่จองกฐินฝ่ายทหารไว้ได้กรูกันเข้าไปยลและถล่มกลุ่มไลน์ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มที่ผู้ปฏิบัติงานใช้รายงานผลงาน ส่งผลให้คำว่า IO กลับมาสู่ความสนใจของผู้คนอีกครั้ง

แต่ทั้งนี้ หลายคนที่ได้ยินคำว่า ไอโอ อาจจะไม่ได้นึกถึงปฏิบัติการด้านข้อมูลเป็นอย่างแรก เพราะไอโอก็ยังเป็นชื่อที่ปรากฏในอีกหลายวงการ ตั้งแต่วงการเกมไปจนถึงดาราศาสตร์ รวมไปถึงในเทพปกรณัมกรีก-โรมันด้วย

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปทำความรู้จักกับ ไอโอ (Io) ในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน กัน และดูว่าชื่อตำนานของไอโอยังมีร่องรอยให้เห็นอยู่ในภาษาอังกฤษในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ไอโอเป็นใคร

ไอโอ (Io) เป็นลูกสาวของเทพแม่น้ำอินาคัส (Inachus) (แม่น้ำทางตอนใต้ของกรีซที่ไหลลงสู่ทะเลอีเจียน) อาศัยอยู่ในเมืองอาร์กอส (Argos) และเป็นนักบวชพรหมจรรย์ในวิหารของเทพีเฮรา (Hera) ผู้เป็นมเหสีของมหาเทพซุส (Zeus)

วิบากกรรมของไอโอ

ภาพ: John Hoppner / Public domain

ถ้าจะพูดว่าวิบากกรรมของไอโอทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเพราะความงามของนางก็ไม่ผิดนัก เพราะทันทีที่ซุสเห็นโฉมหน้าของไอโอก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ หมายปองจะต้องประกอบกิจกามด้วยให้ได้ ตามสไตล์เทพผู้นอกใจภรรยาเป็นอาจิณ จึงเดินทางลงจากภูเขาโอลิมปัส (Olympus) อันเป็นที่อยู่ของทวยเทพมายังเมืองอาร์กอส และปกปิดร่องรอยความเสเพลของตนด้วยการเสกเมฆปกคลุมเมืองไว้เพื่อไม่ให้เฮราเห็น

แต่เฮรารู้ทันสิ! ทำไมอยู่ๆ ถึงมีเมฆหนาผิดปกติเหนือเมืองอาร์กอส อันเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของตน กรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้บอกไว้เสียหน่อยว่าจะมีเมฆฝน นี่ต้องเป็นฝีมือของสามีผู้เป็นเทพแห่งท้องฟ้าเป็นแน่แท้

ภาพ: Pieter Lastman / Public domain

ทันใดนั้น เฮราจึงแหวกเมฆลงมาหาสามี แต่ซุสผู้เป็นมือวางอันดับหนึ่งเรื่องการหนีเมียเที่ยว ไหวตัวทัน จึงรีบเสกไอโอให้กลายเป็นวัวสาวหวังตบตาเฮรา

แต่เฮราเคยตามปราบบ้านเล็กบ้านน้อยของซุสมาแล้วนักต่อนัก ดังนั้น กลเม็ดแค่นี้ถือว่ากระจอกมาก เฮราจึงใช้แผนสูง คือแกล้งโง่ใส่สามีเสียเลย บอกว่าวัวสาวตัวนี้ช่างสวยเหลือเกิน ข้าขอนะ

เมื่อเฮราเอ่ยปากขอ ซุสก็ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไรให้ฟังขึ้น เพราะถ้าเป็นวัวธรรมดาๆ ตัวหนึ่ง ทำไมจะให้เมียไม่ได้ จึงต้องจำใจปล่อยให้เฮราเอาตัวไอโอไป

ไอโอกับยักษ์ร้อยตา

ภาพ: Nicolaes Pietersz. Berchem the Younger (1649-1672, Dutch) / Public domain

เฮราตามประสาเมียหลวงขี้หึงก็เลยเอาไอโอไปล่ามไว้กับต้นมะกอกแล้วมอบหมายให้ข้ารับใช้คนสนิทของตนนามว่า อาร์กัส แพนออปทีส (Argus Panoptes) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อาร์กัส (Argus) เป็นผู้เฝ้าวัวตัวนี้ไว้ เหตุที่มอบหมายหน้าที่ให้อาร์กัสก็เพราะอาร์กัสเป็นยักษ์ร้อยตา เวลาที่หลับพักผ่อน ดวงตาก็จะปิดแค่บางดวง ส่วนตาดวงอื่นๆ ยังเปิดอยู่ ทำให้เฝ้าสังเกตการณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงราวกับกล้องวงจรปิด

ยักษ์อาร์กัสนี้เป็นที่มาของคำว่า Argus-eyed ในภาษาอังกฤษ เป็นคุณศัพท์แปลว่า ที่ระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา ด้วย เช่น Nothing could escape the sight of the Argus-eyed referee. ก็คือ ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตาของกรรมการผู้เป็นตาเป็นสับปะรดไปได้

ภาพ: Wilhelm Heinrich Roscher / Public domain

มาถึงตอนนี้ คนที่น่าสงสารที่สุดในเรื่องก็คือ ไอโอ เพราะตนเองครองพรหมจรรย์มาตลอด ไม่ได้หวังอยากมีความสัมพันธ์กับเทพแต่อย่างใด แต่ดันซวยโดนเทพข่มขืน เท่านั้นไม่พอ ยังโดนเสกให้กลายเป็นวัว ร้องขอความช่วยเหลือใครก็ไม่ได้ พยายามบอกพ่อที่เป็นเทพแห่งแม่น้ำด้วยว่านี่คือลูกสาวไง แต่เปล่งเสียงออกมากลับกลายเป็นเสียงวัว จนท้ายที่สุดต้องใช้กีบเท้าขีดบนพื้น พ่อถึงจำได้ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้อยู่

แล้วตอนนี้แถมยังมียักษ์ร้อยตาเฝ้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความหวังที่จะมีคนมาช่วยช่างริบหรี่เหลือเกิน

ภาพ: Mercury and Argus/ Public domain

ด้วยความสงสาร ซุสจึงส่งเทพเฮอร์มีส (Hermes) ซึ่งเป็นเทพที่มีความเจ้าเล่ห์เพทุบาย ให้ไปช่วยปล่อยตัวไอโอ เฮอร์มีสจึงแปลงกายเป็นเด็กเลี้ยงแพะแล้วไปนั่งเป่าขลุ่ย เล่าเรื่องของนางซีริงซ์และแพนให้อาร์กัสฟัง จนท้ายที่สุดตาของอาร์กัสก็ปิดลงครบทั้ง 100 ดวง (บ้างก็บอกว่าเอาคฑาเคาะเสกให้อาร์กัสหลับ) จึงลงมือฆ่าอาร์กัสและปล่อยไอโอให้เป็นอิสระ (ด้วยเหตุนี้ เฮอร์มีสจึงได้สมญานามว่า Argeiphontes หมายถึง ผู้สังหารอาร์กัส ด้วย)

เพื่อเป็นการให้เกียรติข้ารับใช้คนสนิทของตน เฮราจึงนำดวงตาของอาร์กัสไปใส่ไว้ในหางของนกยูง เป็นที่มาว่าทำไมหางของนกยูงจึงมีลายคล้ายดวงตา!

ไอโอพลัดถิ่น

ภาพ: Astronaut photograph ISS008-E-21752 / Public domain

แม้ไอโอจะเป็นอิสระแล้ว แต่เฮราก็ไม่เลิกรังควาน ส่งตัวเหลือบดูดเลือดมาไล่ตามไม่ให้ไอโอได้หยุดพัก ทำให้ไอโอต้องระหกระเหินไปทั่ว ว่ากันว่าโซซัดโซเซไปไกลจนถึงบริเวณช่องแคบบอสพอรัสหรือบอสฟอรัส (Bosporus หรือ Bosphorus) ในประเทศตุรกีในปัจจุบัน ซึ่งชื่อของช่องแคบนี้มีความหมายว่า ช่องวัวข้ามและว่ากันว่าได้ชื่อนี้มาเพราะไอโอเคยไปข้ามช่องแคบนี้มาแล้วระหว่างที่วิ่งหนีตัวเหลือบของเฮรานั่นเอง

ภาพ: NormanEinstein, May 20, 2005. / CC BY-SA

นอกจากนั้น คนสมัยโบราณยังบอกด้วยว่า ไอโอในร่างวัวเคยต้องว่ายน้ำข้ามจากบริเวณที่เป็นประเทศกรีซในปัจจุบันไปยังบริเวณที่ปัจจุบันเป็นประเทศอิตาลี ทะเลตรงนั้นเลยได้ชื่อว่าทะเลไอโอเนียน (Ionian Sea)

ระหว่างที่ระหกระเหินอยู่นั้น ไอโอยังได้เดินทางไปไกลถึงเทือกเขาคอเคซัส (Causasus) ซึ่งเป็นที่ที่โพรมิเธียส (Prometheus) เทพไททัน ที่ถูกล่ามไว้ให้นกอินทรียักษ์ลงมาจิกตับทุกวันเป็นการลงโทษที่ขโมยไฟลงมาให้มวลมนุษย์ด้วย เทพไททันองค์นี้มีญาณหยั่งรู้อนาคตและได้บอกกับไอโอว่าลูกหลานของไอโอจะเป็นผู้ที่มาช่วยปลดพันธนาการให้ตน ซึ่งลูกหลานของไอโอคนนั้นก็คือเฮราคลีส (Heracles) หรือที่เราส่วนใหญ่รู้จักในชื่อโรมันว่า เฮอร์คิวลีส (Hercules) นั่นเอง

ไอโอร่อนเรไปไกลถึงอิยิปต์ เฮราจึงจะเริ่มคลายความโกรธ ปล่อยให้ไอโอได้กลับคืนร่างมนุษย์และคลอดลูกของตนกับซุสนามว่า เอพาฟัส (Epaphus) ซึ่งกลายมาเป็นบรรพบุรุษของวีรบุรุษชื่อดังหลายคนในเทพปกรณัมกรีกในเวลาต่อมา (ซึ่งจะเล่าถึงในโอกาสถัดไป)

ไอโอในอวกาศ

ภาพ: NASA / JPL / University of Arizona / Public domain

เนื่องจากไอโอเป็นหนึ่งในคนรักของซุส เมื่อมีการค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัส (ภาษาอังกฤษเรียกดาวพฤหัสว่าจูปิเตอร์ หรือ Jupiter อันเป็นชื่อโรมันของเทพซุส) นักดาราศาสตร์ไซมอน มาเรียส (Simon Marius) จึงได้นำชื่อไอโอมาใช้ตั้งชื่อดวงจันทร์ที่ตนค้นพบนั่นเอง

บรรณานุกรม

Buxton, Richard. The Complete World of Greek Mythology. Thames & Hudson: New York, 2004.

Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.

Grimal, Pierre. Dictionary of Classical Mythology. Penguin Books: London, 1991.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Hard, Robin. The Routledge Handbook of Greek Mythology. Routledge: New York, 2004

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019

Stuttard, David. Greek Mythology: A Traveller’s Guide from Mount Olympus to Troy. Thames & Hudson: London, 2016.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

 

Tags: , ,