เวลาที่เราได้ยินคำศัพท์หรือสำนวนที่ประกอบขึ้นมาจากคำหลายๆ คำ เราก็มักจะลองวิเคราะห์ส่วนประกอบภายในเพื่อทำความเข้าใจคำศัพท์หรือสำนวนนั้นๆ เช่น พอเห็นคำว่า pencil box เราก็จะแยกได้ว่า เป็น box หรือกล่อง ที่ไว้ใช้ใส่ pencil หรือดินสอ เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นกล่องดินสอ
แต่กับคำศัพท์บางคำหรือสำนวนบางสำนวน พอใช้วิธีนี้แล้วกลับชวนงง เช่น สำนวน the quick and the dead ที่อ่านยังไงก็ยังไม่เข้าใจว่าความเร็วมาเกี่ยวอะไรกับคนตาย)
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคำที่เราเห็นเผินๆ และคิดว่าต้องมีความหมายอย่างที่เรารู้ อันที่จริงแล้วอาจมีหน้าตาลวงหลอก อันที่จริงแล้วคำที่เรารู้จักแต่ใช้ในความหมายอื่นหรือไม่ก็เป็นคำอื่นไปเลย เช่นที่เคยเขียนไปแล้วก่อนหน้านี้
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันอีกว่า มีศัพท์และสำนวนอะไรอีกที่มีหน้าตาชวนให้คิดว่ามาจากคำหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้วดันเป็นคนละคำกัน
Hard-and-fast
ปกติแล้วคำนี้ใช้เพื่อบรรยายกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับต่างๆ หมายถึง ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น There are no hard-and-fast rules when it comes to bedroom decoration. หมายถึง การตกแต่งห้องนอนไม่มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว
คำนี้อาจชวนให้ฉงนสงสัย เพราะพลิกซ้ายตะแคงขวายังไงก็ยังไม่เห็นว่าความเร็วจะมาเกี่ยวโยงกับความตายตัวแก้ไขไม่ได้ได้อย่างไร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะก่อนที่ fast จะมาแปลว่า เร็ว เดิมทีเคยแปลว่า ยึดแน่น ตรึงแน่น อยู่กับที่ มาก่อน ความหมายนี้อันที่จริงยังมีให้เห็นในสำนวนอื่นๆ เช่น hold fast ที่แปลว่า ยึดเหนี่ยว fast friends ที่หมายถึง เพื่อนยาก อยู่ด้วยกันเหนียวแน่น พร้อมล่มหัวจมท้ายด้วยกัน หรือ steadfast ที่แปลว่า แน่วแน่ ยึดมั่น อันที่จริงแล้ว กริยา fasten ที่แปลว่า รัดให้แน่น (เช่น เวลาที่พนักงานบนเครื่องบินพูดว่า Fasten your seatbelts.) ก็มาจาก fast ที่แปลว่า ยึดหรือตรึงให้แน่น เช่นกัน
ทั้งนี้ hard and fast มีที่มาจากการเดินเรือ เดิมทีใช้เรียกเรือเกยตื้นหรือถูกลากขึ้นมาบนฝั่ง เรือในสภาพนี้ย่อมแน่นิ่งอยู่กับที่ ลอยเท้งเต้งไปไหนไม่ได้ จึงเรียกว่า hard and fast ภายหลังจึงค่อยนำมาใช้อธิบายกฎระเบียบต่างๆ หมายถึง ขยับเขยื้อนหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นเอง
Beyond the pale
สำนวนนี้ส่วนใหญ่ใช้อธิบายพฤติกรรมหรือการกระทำของคน หมายถึง เกินขอบเขตที่เป็นที่ยอมรับได้ พูดแบบไทยๆ ก็คือ ล้ำเส้น เช่น Her conduct was beyond the pale. หมายถึง เธอประพฤติตัวนอกลู่นอกทางเกินกว่าที่จะยอมได้
คำว่า pale ในสำนวนนี้อาจสะกดเหมือน pale ที่หมายถึง ซีดจาง แต่อันที่จริงแล้วเป็นคนละคำกัน pale ในที่นี้หมายถึง แท่งไม้ที่ไว้ปักกั้นเป็นรั้ว มาจากคำว่า palus ในภาษาละติน เป็นญาติกับคำว่า impale ที่แปลว่า ทิ่มทะลุ และ travel ที่แปลว่า เดินทาง ด้วย
คำว่า pale ที่แปลว่า แท่งไม้ปักเขต นี้ ต่อมาใช้เรียกเขตที่กั้นขึ้นในประเทศหนึ่ง แต่อยู่ภายใต้อำนาจกำกับหรือการปกครองของอีกประเทศหนึ่ง ด้วย ตัวอย่างเช่น แต่ก่อนในประเทศไอร์แลนด์มีเขตที่เรียกว่า the English Pale นับว่าอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษและใช้กฎหมายของประเทศอังกฤษ แน่นอนว่า อะไรที่ไม่ใช่ของชาติตัวเอง หลายคนก็มักมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น อะไรที่เลยโพ้นจากเขตที่กั้นขึ้นมาไว้ ก็จะถือว่าเป็นสิ่งไม่เจริญ ป่าเถื่อน อนารยะ ด้วยเหตุนี้ beyond the pale จึงนำมาใช้บรรยายพฤติกรรมที่ถือว่าไม่ดีไม่งาม เกินกว่าขอบเขตที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
Point-blank
สำนวนนี้ปกติแล้วใช้กับการยิงอาวุธ หมายถึง ยิงในระยะใกล้มาก พูดแบบไทยๆ ก็คือ ระยะเผาขน เช่น He was shot point-blank. ก็คือ เขาถูกยิงในระยะเผาขน แต่หากไม่ใช้กับการยิงอาวุธ ก็อาจใช้กับคำพูดหรือคำถาม ในบริบทแบบนี้จะหมายถึง พูดหรือถามแบบตรงจนอีกฝ่ายตกใจ ออกแนวถามตรงๆ กับคุณจอมขวัญ เช่น She asked me point-blank if I was gay. ก็คือ โดนถามต่อหน้าตรงๆ เลยว่าเป็นเกย์หรือเปล่า
ที่เราดูยังไงก็ไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ระยะเผาขน และ ความว่างเปล่า ก็เพราะ blank ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ว่างเปล่า แต่แปลว่า ขาว ซึ่งเป็นความหมายดั้งเดิมของคำ (มาจากคำว่า blanc ที่แปลว่า ขาว ในภาษาฝรั่งเศส นั่นเอง) ด้วยความที่แต่เดิมตรงกลางเป้าธนูหรือส่วนที่เรียกว่า bull’s-eye จะทาด้วยสีขาว จุดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า point blank (จุดสีขาว) ด้วย แน่นอนว่า หากอยากยิงให้เข้าเป้าตรงกลางนี้ได้ง่ายๆ ไม่ให้ลูกธนูโดนลมพัดหรือโดนแรงโน้มถ่วงของโลกดึงลงจนพลาดเป้า ก็ต้องยืนในระยะที่ใกล้พอ คำว่า point blank จึงนำมาใช้หมายถึง ระยะประชิด หรือ ระยะเผาขน เนื่องจากคำถามก็มักถูกมองเป็นกระสุนที่ยิงออกไปได้ (เช่น fire questions at somebody หมายถึง ระดมรัวคำถาม หรือ fire away ที่ใช้พูดบอกให้คนถามคำถามตามที่อยากถามได้เลย) สำนวนนี้จึงนำมาใช้พูดถึงคำถามที่ตรงมากๆ แบบไม่อ้อมค้อมด้วย
Flash in the pan
สำนวนนี้หมายถึง ความสำเร็จวูบวาบ เริ่มต้นดูดีแต่ท้ายที่สุดก็เหลวเป๋ว เช่น ร้านอาหารที่มีคนเอาไปลงพันทิปแล้วดันขายดีเป็นเทน้ำเทท่าขึ้นมา แต่เป็นอยู่สัปดาห์เดียวก็กลับไปซบเซาแบบเดิม แบบนี้ก็อาจจะบอกว่าเป็น a flash in the pan ก็ได้
หลายคนเห็นสำนวนนี้แล้วอาจนึกถึงการผัดผักบุ้งไฟแดงหรือการทำอาหารที่ใช้เทคนิคการเทแอลกอฮอล์ลงในกระทะแล้วจุดให้ลุกเป็นไฟวาบขึ้นมา (เรียกว่า flambé) แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า pan ในสำนวนนี้ไม่ใช่กระทะ แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกแอ่งใส่ชนวนดินปืน มีชื่อเต็มว่า flash pan เรียกอีกอย่างว่า จานจุดประกาย พบได้ในปืนคาบศิลาในสมัยก่อน
แต่ก่อนเวลาจะยิงปืนประเภทนี้ จะต้องกรอกดินปืนลงในแอ่งนี้เสียก่อน เมื่อลั่นไกยิง ประกายไฟก็จะจุดดินปืนในแอ่งนี้ก่อน แล้วให้ประกายไฟจากดินปืนนี้ไปจุดประกายดินขับลูกปืนในกระบอกอีกที กระสุนจึงจะถูกยิงออกไปได้
แต่บางครั้งเวลาลั่นไกยิงแล้ว แม้จะมีเสียงดังโป้ง มีแสงวาบและควันลอยฉุยจากจานจุดประกายแล้วให้ดีใจเหมือนยิงสำเร็จแล้ว แต่ลูกกระสุนกลับไม่เคลื่อนตัวออกจากปืน นั่นก็เพราะดินในจานจุดประกายระเบิดแล้ว แต่ไม่ไปจุดประกายดินขับลูกปืนต่อ ในกรณีแบบนี้ก็จะเรียกว่า a flash in the pan ต่อมาคนจึงนำมาใช้อธิบายสิ่งที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ท้ายที่สุดก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า
Blackmail
คำนี้หมายถึงขู่กรรโชกหรือขู่เอาเงินเพื่อแลกกับการไม่เปิดเผยความลับ เช่น His ex-girlfriend blackmailed him with his nude photos. ก็คือ แฟนเก่าเอาภาพนู้ดของเขามาใช่ขู่
คำว่า mail ในที่นี้หลายคนอาจคิดว่าเป็นคำเดียวกันกับที่แปลว่า จดหมาย ไปรษณีย์ แต่อันที่จริงแล้ว mail ในที่นี้แปลว่า ค่าเช่า ภาษี มาจากคำว่า mal ในภาษานอร์สเก่า หมายถึง ข้อตกลง ที่มาของค่าเช่าหรือภาษีที่ว่านี้มีที่มาย้อนกลับไปสมัยศตวรรษที่ 16 ในสมัยนั้นเริ่มมีกลุ่มตั้งตัวเป็นเจ้าที่เที่ยวเก็บค่าคุ้มครองความปลอดภัยจากชาวบ้านชาวช่องแถบชนบทตรงพรมแดนระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ หากใครไม่จ่ายก็จะเข้าไปทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนให้เสียหาย เนื่องจากค่าคุ้มครองแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ชาวบ้านจึงเริ่มเรียกค่าคุ้มครองแบบนี้ว่า blackmail (ตรงกันข้ามกับ white money หรือเงินค่าเช่าที่จ่ายแบบถูกต้องตามกฎหมาย)
บรรณานุกรม
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: สำนวนภาษาอังกฤษ, ภาษาอังกฤษ