ถ้าใครมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่มาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ หรือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สิ่งที่น่าจะต้องเห็นในหน้าฟีดช่วงนี้เห็นจะหนีไม่พ้นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นทุกสองปี เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนชายล้วนทั้งสี่แห่งนี้

แม้ทั้งสี่โรงเรียนนี้จะเป็นเพื่อนกันตามชื่องานจตุรมิตร แต่ก็เป็นคู่แข่งห้ำหั่นชิงชัยกันอย่างไม่มีใครยอมใครด้วยในเวลาเดียวกัน ในฐานะที่วันนี้เป็นที่วันแข่งนัดตัดสินการแข่งขันจตุรมิตรสามัคคี เราไปดูคำศัพท์ที่ใช้เรียกเพื่อนประเภทต่างๆ และคำศัพท์ที่เกี่ยวกับมิตรภาพซึ่งมีที่มาที่ไปน่าสนใจกันดีกว่า

 

Friends: นี่เพื่อนเอง

ในภาษาอังกฤษ คำพื้นฐานที่สุดที่หมายถึงเพื่อน ก็คือคำว่า friend แต่มิตรสหายก็มีตั้งหลายประเภท คำว่า friend คำเดียวโดดๆ คงบรรยายเพื่อนไม่ได้ครบทุกประเภท ดังนั้น คำว่า friend จึงปรากฏกับคำอื่นๆ หลายคำเพื่อใช้อธิบายเพื่อนแบบต่างๆ

เพื่อนแบบแรกที่เราอาจพบพานในชีวิตก็คือ fair-weather friend แปลตรงตัวคือ เพื่อนในยามที่อากาศดี คำนี้หมายถึง คนที่เป็นเพื่อนกับเราตอนที่ทุกสิ่งทุกอย่างราบรื่นดี วิ่งเล่นด้วยกันในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่พอท้องฟ้ามืดหม่น ต้องฝ่าลมฝน ชีวิตตกระกำลำบาก กลับหายหัวไปไหนไม่รู้ ถ้าเรียกแบบไทยๆ ก็คือเพื่อนกินนั่นเอง ตัวอย่างเช่น He only comes around when I offer to buy him a meal. He is nothing but a fair-weather friend ก็จะหมายถึง มันก็โผล่หัวมาก็ตอนจะเลี้ยงข้าวนี่แหละ เพื่อนกินดีๆ นี่เอง

ฟังเสียง fair-weather friend >>>

 

ส่วนอีกพวกคือ fast friends อันนี้ไม่ได้แปลว่ามีเพื่อนที่ว่องไวเป็น Usain Bolt หรือ The Flash แต่อย่างใด เพราะ fast ตัวนี้แปลว่า เหนียวแน่น เหมือนในคำว่า steadfast ที่แปลว่า แน่วแน่ หรือ fasten ที่แปลว่า รัดให้แน่น คำว่า fast friends จึงหมายถึงเพื่อนแท้ คบหากันมานาน เป็นสหายที่มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน ให้กลิ่นอายลิเกเล็กน้อย เช่น They have been fast friends since high school. ก็จะหมายถึง เป็นเพื่อนยากกันมาตั้งแต่เรียนมัธยม

เพื่อนอีกประเภทที่หลายคนอยากมีไว้ก็คือ friend with benefits อันนี้หมายถึง เพื่อนที่เรามีเซ็กซ์ด้วย แต่ไม่ได้คบหาเป็นแฟนหรือมีพันธะผูกพัน คืนไหนเตียงหนาวเป็นพิเศษก็ชวนกันไปทำให้เตียงอุ่น เป็นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนเฉยๆ เรียกอีกอย่างก็คือ sex buddy นั่นเอง เช่น Having friends with benefits is fine as long as you don’t catch feelings for them. ก็จะหมายถึง จะมีเพื่อนร่วมเตียงก็ไม่เป็นไรหรอก ตราบใดที่ไม่ไปเริ่มรู้สึกเกินเพื่อนเข้า

ส่วนเพื่อนประเภทที่ตรงกันข้ามกันก็คือ platonic friend คำนี้หมายถึง เพื่อนที่เป็นแค่เพื่อนกันจริงๆ ไม่ได้คิดอะไรเกินเลย คำว่า platonic นี้มาจากชื่อของ Plato นักปรัชญาชาวกรีกที่เคยเขียนเรื่องความรักแบบต่างๆ ในงานชื่อ Symposium และพูดถึงความรักแบบที่ไม่มีความรู้สึกเชิงชู้สาวไว้ด้วย ชื่อของ Plato ก็เลยถูกเอามาใช้อธิบายความสัมพันธ์แบบนี้ ดังนั้น หากคนสองคนเป็นเพื่อนกันโดยไม่ได้คิดกับอีกฝั่งมากกว่าเพื่อน ไม่มีความเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ เราก็อาจจะพูดว่า They are platonic friends. หรือจะพูดว่า Their relationship is completely platonic. ก็ได้

ฟังเสียง platonic >>>

 

คนเราจะมีแต่เพื่อนได้ไง

ทั้งนี้ ในชีวิตเราก็คงไม่ได้มีแต่คนหยิบยื่นมิตรภาพให้ ย่อมต้องมีคนที่พร้อมต่อสู้แย่งชิงของสิ่งเดียวกับเรา เช่นในงานจตุรมิตร ที่ไม่มีโรงเรียนไหนลุกขึ้นไปหยิบถ้วยรางวัลยื่นให้โรงเรียนอื่น แต่ต่างแข่งขันกันเพื่อหวังได้รางวัลชนะเลิศมาครอบครอง

ในภาษาอังกฤษ คำหลักๆ ที่ใช้เรียกคู่แข่งก็คือ rival คำนี้มาจาก rivalis หมายถึง ใช้ลำน้ำเดียวกัน (รากเดียวกับ rivulet ที่แปลว่า ลำน้ำ) สาเหตุที่ ‘ความเป็นคู่ปรับ’ กับ ‘แม่น้ำ’ มาเกี่ยวโยงกัน ก็เพราะคนที่เป็นเพื่อนบ้านใช้ลำน้ำร่วมกันก็ย่อมต้องมีปากเสียงกระทบกระทั่งกัน หรือแก่งแย่งทรัพยากรเป็นธรรมดา ทำให้เพื่อนบ้านร่วมลำน้ำกลายเป็นคู่แข่งนั่นเอง คำนี้จะใช้อธิบายคนที่แก่งแย่งของสิ่งเดียวกับเรา เช่นถ้าเป็นคนที่มาจีบคนคนเดียวกับเรา เราก็อาจจะบอกว่าคนคนนั้นเป็น love rival

 

ฟังเสียง rival >>>

 ส่วนอีกคำซึ่งใช้เรียกคนที่ไม่ใช่เพื่อน แต่แรงกว่าอีกหน่อยก็คือ enemy แปลว่า ศัตรู คำนี้มาจาก มาจาก in- ที่แปลว่า ‘ไม่’ มารวมกับ amicus ในภาษาละตินที่แปลว่า ‘เพื่อน’ รวมกันได้ความหมายว่า คนที่ไม่ใช่เพื่อน นั่นเอง (รากศัพท์จะเห็นได้ชัดกว่าใน inimical แปลว่า เป็นปฏิปักษ์ ที่เป็นคำคุณศัพท์) แต่ถ้าเป็นถึงศัตรูคู่อาฆาต เราก็อาจพูดว่าเป็น archenemy เช่นหากเราจะบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างกับ Batman และ Joker เราก็อาจพูดได้ว่า They are mortal enemies. หรือจะพูดว่า Joker is Batman’s archenemy. ก็ได้

ฟังเสียง enemy >>>

ฟังเสียง amicus >>>

ฟังเสียง archenemy >>>

 

เพื่อนก็ไม่ใช่ ศัตรูก็ไม่เชิง

แต่บางครั้ง ในชีวิตเราอาจมีคนที่เป็นเพื่อนโดยสมบูรณ์ก็ไม่ใช่ เป็นศัตรูอย่างเต็มข้อก็ไม่เชิง เป็นมิตรกันแต่ก็ชิงดีชิงเด่นกันด้วย คนประเภทนี้เราเรียกว่า frenemy เป็นคำผสม (portmanteau) ระหว่าง friend ที่หมายถึงเพื่อน มาผสมกับ enemy ที่แปลว่า ศัตรู ตัวอย่างเช่น ดาราสาวสองคนที่ดูสนิทสนมกันมาก ออกงานด้วยกันตลอดเวลา แต่ทุกงานก็จะเลือกชุดมาฟาดฟันให้เด่นกว่าเพื่อน หวังเชือดเพื่อนให้ตายคาพรมแดง เราก็อาจพูดว่า They are frenemies.

 

ฟังเสียง frenemy >>>

 

ส่วนที่โรงเรียนในการแข่งขันจตุรมิตรที่แม้จะเป็นมิตรที่ดีต่อกันแต่ก็ขับเคี่ยวหวังให้โรงเรียนตัวเองชนะนี้ จะเรียกว่าเป็น frenemies ก็คงได้เช่นกัน

 

 

ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี

 

 

บรรณานุกรม:
http://www.etymonline.com/
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

FACT BOX:

ภาษาอังกฤษมีสำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเพื่อนที่น่าสนใจ คือ Keep your friends close, but keep your enemies closer. หมายถึง เก็บเพื่อนไว้ใกล้ตัว แต่ศัตรูต้องเก็บไว้ใกล้ตัวยิ่งกว่า นั่นก็เพราะเราจะได้จับตาดูได้ง่ายขึ้นว่าจะคิดแผนการอะไรมาทำร้ายเราหรือเปล่า หากปล่อยให้คลาดสายตาอาจลอบทำร้ายเราโดยที่เราไม่ทันตั้งตัวได้

Tags: , , , , , ,