ภาษาอังกฤษนิยมสร้างคำด้วยการใส่ส่วนเติมหน้าเติมหลังต่างๆ หรือการนำคำสองคำมาประสมเป็นคำใหม่ ด้วยเหตุนี้ เราอาจเห็นคำคำหนึ่งไปปรากฏกับในคำอื่น เช่น เราอาจเห็น robe ที่แปลว่า เสื้อคลุม ปรากฏในคำว่า disrobe (ถอดเสื้อ) bathrobe (เสื้อคลุมอาบน้ำ) เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ภาษาอังกฤษสร้างคำแบบนี้เป็นปกติ จึงไม่น่าแปลกใจหากเราไปพบเห็นคำที่มี robe อยู่ด้านในแล้วจะคิดว่าคำคำนั้นจะต้องประกอบสร้างจาก robe ที่แปลว่า เสื้อคลุม แน่ๆ เลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นบางครั้งก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ในภาษาอังกฤษมีคำอยู่จำนวนไม่น้อยที่ดูจากรูปลักษณ์แล้วเหมือนจะประกอบขึ้นจากคำที่เรารู้จัก แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีที่มาอย่างที่เราเข้าใจ เช่น คำว่า female ซึ่งชวนให้เราคิดว่ามาจากคำว่า male ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีที่มาเช่นนั้น

ปรากฏการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นเพราะตัวสะกดดันไปคล้ายกับคำอีกคำในภาษาโดยบังเอิญ หรืออาจเกิดกับยืมคำจากภาษาอื่นที่มีคนหัวใสหยิบไปวิเคราะห์ทึกทักไปว่าน่าจะมีที่มาโยงกับคำที่มีในภาษาของตัวเอง จึงเปลี่ยนตัวสะกดให้ตรงกับคำที่มีในภาษาปลายทางจนสร้างความเข้าใจผิด (อย่างหลังนี้เรียกว่า folk etymology)

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูคำในภาษาอังกฤษที่มีรูปลักษณ์ชวนให้เราเข้าใจว่ามีที่มาแบบหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้วมีต้นกำเนิดอีกแบบหนึ่ง

Female

คำนี้แม้ดูเผินๆ แล้วหลายคนคงคิดว่ามาจากคำว่า male ที่แปลว่า เพศชาย แต่อันที่จริงแล้วคำนี้มาจากคำว่า femelle ในภาษาฝรั่งเศสเก่า มาจาก femella ในภาษาละติน หมายถึง เด็กผู้หญิง ซึ่งมาจากคำว่า femina ที่หมายถึง ผู้หญิง อีกทอดหนึ่งนั่นเอง (คำว่า femina เป็นที่มาของคำว่า feminine ที่หมายถึง มีลักษณะเป็นผู้หญิง และ effeminate ที่หมายถึง ตุ้งติ้ง ในภาษาอังกฤษด้วย)

แต่เนื่องจากความหมายของคำนี้สัมพันธ์กับคำว่า male ที่แปลว่าเพศชาย (ซึ่งมาจากคำว่า masculus ที่เป็นที่มาของคำว่า masculine) อีกทั้งคนจำนวนไม่น้อยยังเชื่อพระคัมภีร์ที่บอกว่าพระเจ้าสร้างผู้หญิงมาจากซี่โครงของผู้ชาย จึงมีคนเข้าใจว่า femella มาจาก male และแก้วิธีสะกดให้คล้ายคำว่า male จนกลายเป็น female อย่างในปัจจุบัน

Rosemary

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกสมุนไพรชนิดหนึ่งที่พบในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ใบเรียวเล็ก มีกลิ่นหอม นิยมนำมาใช้ทำอาหาร บางครั้งนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อผู้หญิงด้วย หากดูจากชื่อ หลายคนคงสงสัยว่าต้นสมุนไพรนี้เกี่ยวกับกุหลาบอย่างไร เพราะแลดูจากมุมไหนก็ไม่เห็นส่วนละม้ายคล้ายคลึง แถมยังมีชื่อ Mary โผล่มาให้งงอีกว่าหมายถึงแมรี่ไหน ที่ต้นนี้ดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับกุหลาบหรือชื่อแมรี่ก็เพราะคำนี้ไม่ได้มาจาก rose กับ mary แต่มาจาก ros ที่แปลว่า น้ำค้าง และ marinus ที่หมายถึง ทะเล (เป็นที่มาของคำว่า marine และ submarine ในภาษาอังกฤษด้วย) รวมกันได้ความหมายว่า น้ำค้างทะเล ซึ่งเหมาะสมกับสมุนไพรชนิดนี้มากเพราะมักโตริมทะเล

Checkmate

คำนี้มาจากเกมหมากรุก ถ้าเทียบกับในหมากรุกไทยก็คือ รุกฆาต ปกติผู้เล่นจะพูดในกรณีไล่ต้อนตัวขุนอีกฝ่ายให้เข้าตาจนได้สำเร็จ เดินทางไหนก็โดนกิน ถือเป็นอันจบเกม หากไม่ใช้ในเกมหมากรุก็อาจใช้ในเชิงเปรียบเปรย คือปราบอีกฝ่ายได้ราบคาบ คำนี้ดูแล้วเหมือนจะมาจากคำว่า check และ mate รวมกัน แต่อันที่จริงแล้วที่มีมาจาก eschec mat ในภาษาฝรั่งเศสเก่า ซึ่งมาจากคำภาษาอารบิก shah mat อีกทอด หมายถึง กษัตริย์ตายแล้ว พอภาษาอังกฤษยืมมาแล้วก็นำมาเปลี่ยนตัวสะกดให้ใกล้เคียงกับคำที่มีอยู่ในภาษาอังกฤษ จึงกลายมาเป็น checkmate ในที่สุด

Loophole

คำนี้หมายถึง ช่องโหว่ ปกติมักใช้กับกฎระเบียบต่างๆ เช่น ช่องโหว่ทางกฎหมาย (legal loophole) แม้ความหมายของคำนี้จะดูสัมพันธ์กับคำว่า hole ที่แปลว่า ช่อง หรือ รู เพราะคนที่รอดตัวจากข้อกำหนดต่างๆ ก็ให้ภาพเหมือนเล็ดรอดผ่านรูทะลุสิ่งกีดขวางออกไปยังอีกฝั่งได้ แต่ส่วนที่อาจทำให้หลายคนงงก็คือคำว่า loop ที่ปกติแล้วหมายถึง สิ่งที่เป็นขดหรือวง เนื่องจากดูไม่ได้สัมพันธ์กับช่องโหว่แต่อย่างใด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอันที่จริงแล้ว loop ในคำว่า loophole ไม่ใช่ loop ที่แปลว่า วง ขด แต่เป็นอีกคำที่สะกดเหมือนกัน หมายถึง ช่องเปิดแคบๆ ตามกำแพงในปราสาทสมัยก่อน มีให้ใช้สังเกตการณ์และไว้ให้พลธนูยิงลูกศรลอดออกไปโจมตีฆ่าศึก แต่เดิมเรียก loop อย่างเดียว แต่ต่อมาเริ่มเรียก loophole และนำไปใช้ในความหมายเชิงเปรียบเปรยจนกลายมาเป็นช่องโหว่อย่างในปัจจุบัน

Cockroach

หากเรากลั้นใจสำรวจแมลงสาบให้ได้สักห้าวิ ก็จะเห็นว่าไม่มีส่วนไหนในร่างกายที่ชวนให้นึกถึงไก่เลยแม้ว่าในชื่อจะมีคำว่า cock ก็ตาม นั่นเป็นเพราะคำว่า cockroach ไม่ได้มาจาก cock ที่แปลว่าไก่แต่มาจากคำว่า cucaracha ในภาษาสเปนที่หมายถึง แมลงสาบ แต่เสียงคำนี้ไม่เข้าปากคนพูดภาษาอังกฤษ จึงเรียกเท่าที่พยายามเรียกได้ ในบันทึกของจอห์น สมิธ (คนเดียวกับในเรื่องโพคาฮอนทัสของดิสนีย์) มีการพูดถึงแมลงสาบไว้ด้วย โดยเรียกแมลงนี้มา cacarootch พอคนพูดไปพูดมาจึงเริ่มค่อยๆ ปรับเสียงให้เข้าใกล้คำที่มีในภาษาอังกฤษ คือคำว่า cock และ roach ที่เป็นชื่อปลาชนิดหนึ่ง จนกลายมาเป็นคำว่า cockroach อย่างในปัจจุบัน

Hiccough

คำนี้หมายถึงอาการสะอึก ในสมัยก่อนเขียนว่า hickop เชื่อว่าเป็นการเลียนเสียงคนสะอึก ต่อมาจึงสะกดว่า hiccup อย่างในปัจจุบัน อันที่จริงเรื่องควรจะจบตรงนี้และต่างคนต่างแยกย้าย แต่บังเอิญว่ามีคนสู่รู้วิเคราะห์ว่าอาการสะอึกเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ ดังนั้น -cup ตรงส่วนท้ายของคำน่าจะมาจาก cough ที่แปลว่าไอ อันเป็นอาการเกี่ยวกับระบบหายใจเช่นกัน แน่ๆ เลย ส่งผลให้เริ่มมีการสะกดคำว่า hiccup เป็น hiccough ด้วย จนในปัจจุบันจะสะกดคำนี้ว่า hiccough ก็ได้ แม้ที่มาของคำนี้จะไม่ได้เกี่ยวกับการไอเลยก็ตาม

Stepfather

เวลาเรียกคนในครอบครัวที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ภาษาอังกฤษจะใช้วิธีการเติม step- เข้าไปด้านหน้าคำบอกความสัมพันธ์นั้นๆ เช่น stepfather, stepmother, หรือ stepchild คล้ายๆ กับที่ภาษาไทยเติมคำว่า เลี้ยง ด้านหลังเป็น พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือลูกเลี้ยง ด้วยความที่คำว่า step- นี้พ้องรูปและเสียงกับคำว่า step ที่แปลว่า ขั้น จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่า step- ในคำอย่าง stepfather ก็คือพ่อที่ห่างไปอีกขั้นหนึ่ง

แต่อันที่จริงแล้ว step- ในที่นี้มาจาก steop- ในภาษาอังกฤษเก่า หมายถึง กำพร้าพ่อแม่ แต่ก่อนใช้ในกรณีที่สูญเสียพ่อแม่ไป ในสมัยนั้น stepchild (ในสมัยนั้นสะกดว่า steopcild) จึงหมายถึงเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ตายไป ส่วน stepfather ก็จะหมายถึง คนที่มาเป็นพ่อให้กับเด็กกำพร้า แต่ภายหลังความหมายของ step- เปลี่ยนแปลงไป คือนำมาใช้เรียกลูกที่ติดมาจากความสัมพันธ์ก่อนหน้าหรือคู่สมรสใหม่ของพ่อแม่แทน ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กกำพร้า

Chestnut

 คำนี้คือคำที่ใช้เรียก เกาลัด เมล็ดเกาลัดมีเปลือกแข็งคล้ายถั่ว ดังนั้นหากจะมีคำว่า nut ในชื่อก็ไม่ได้แปลกอะไร แต่ส่วนที่หลายคนอาจติดใจก็คือคำว่า chest ซึ่งโดยมากใช้เรียก หน้าอก หรือ หีบ เนื่องจากดูๆ ไปแล้วเมล็ดเกาลัดไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับทั้งสองอย่าง อันที่จริงแล้ว คำว่า chest ในคำว่า chestnut ไม่ใช่ chest ที่แปลว่า หน้าอก หรือ หีบ แต่มาจากคำว่า chesten แปลว่า เกาลัด คำนี้ถ้าสืบสาวกลับไปอีกจะพบว่ามาจากคำ kastanea ในภาษากรีก บ้างบอกว่าคำนี้หมายถึง มาจากเมือง Castanea ซึ่งอยู่ในตุรกีในปัจจุบัน แต่บางสายก็บอกว่าคำนี้หมายถึง มาจากเมือง Castana ในแคว้นเทสสาลีในกรีซ เชื่อกันว่าทั้งสองเมืองนี้มีต้นเกาลัดเยอะ จึงเอาคำที่ใช้เรียกต้นเกาลัดมาตั้งชื่อเมือง (คล้ายๆ ที่เรียกบางลำพูว่าบางลำพูเพราะแต่ก่อนมีต้นลำพูเยอะ) ไม่ได้เอาชื่อเมืองมาใช้เรียกเกาลัด

  คำว่า kastanea นี้ ยังถูกยืมผ่านทางภาษาละตินและภาษาสเปนมาเป็นคำว่า castanets ในภาษาอังกฤษ หมายถึง กรับสเปน แบบที่นักเต้นระบำฟลาเมงโก้ถือในมือ เนื่องจากเครื่องดนตรีนี้หน้าตาคล้ายลูกเกาลัด อีกทั้งแต่ก่อนยังมักทำจากไม้ต้นเกาลัดอีกด้วย

 

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986.

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Cherry, R. L. Instructor Manual for English Words from Latin and Greek Elements. The University of Arizona Press: Tuscon, 2003.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Liberman, Anatoly. Word Origins and How We Know Them. OUP: Oxford, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Stockwell, Robert, and Donka Minkova. English Words: History and Structure. Cambridge University Press: Cambridge, 2001.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

หมายเหตุ: แก้ไขล่าสุดเมื่อ 22.00 น. วันที่ 17 มี.ค. 2562

Tags: ,