เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 แหล่งข่าวหลายแหล่งรายงานว่า วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่พำนักอยู่ในประเทศกัมพูชา ถูกลักพาตัวหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญที่ตนอาศัยอยู่ขณะลงมาซื้ออาหาร

เหตุการณ์อุกอาจที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครก็ตามในครั้งนี้ เนื่องจากมีเชื้อไฟเดิมคือกระแสการต่อต้านการเหยียดสีผิวและอยุติธรรมจากกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์อยู่แล้ว จึงได้ก่อให้เกิดกระแส #saveวันเฉลิม หรือ #savewanchalerm ขึ้นในโซเชียลมีเดีย นำไปสู่การเรียกร้องให้ทางการเร่งตามหาความจริงและกดดันผู้มีชื่อเสียงให้ออกมาช่วยกันเป็นกระบอกเสียง

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัวในภาษาอังกฤษและดูกันว่าการลักพาตัวไปเกี่ยวข้องกับญาติผู้เสียชีวิต การข่มขืน และการคัดลอกผลงานได้อย่างไร

Kidnap

เมื่อพูดถึงการลักพาตัว คำแรกสุดที่หลายคนน่าจะนึกถึงก็คือ kidnap และเมื่อเห็นคำนี้แล้ว หลายคนก็สงสัยต่อว่าการลักพาตัวไปเกี่ยวอะไรกับการงีบ เพราะในคำนี้มี nap อยู่ด้วย (ส่วน kid ที่แปลว่า เด็ก ยังพอเข้าใจได้ เพราะเด็กก็เป็นเป้าการลักพาตัวบ่อยๆ ตัวขนาดกะทัดรัดขนขึ้นรถง่าย) แต่แท้จริงแล้ว nap นี้เป็นคำเก่าที่หมายถึง ฉวย จับ ขโมย บ้างก็บอกว่าคำว่า nap นี้เพี้ยนมาจาก nab ที่เรายังใช้ในปัจจุบันในความหมายคล้ายๆ กัน (เช่น She was nabbed by the police for drug trafficking. ถูกตำรวจรวบข้อหาค้ายา)

คำนี้เพิ่งเริ่มใช้กันในยุคศตวรรษที่ 17 ในสหรัฐอเมริกา แต่เดิมใช้หมายถึงการลักพาตัวเด็กไปใช้แรงงานในไร่ต่างๆ แต่ในภายหลังความหมายกว้างขึ้น คือจะใช้กับผู้ใหญ่ก็ได้และจะลักพาตัวไปจุดประสงค์อื่น เช่น เรียกค่าไถ่ ก็ได้

Abduct

อีกคำที่ใช้หมายถึง ลักพาตัว ได้เช่นเดียวกันก็คือ abduct มาจากคำกริยาในภาษาละติน abducere หมายถึง นำตัวไป จับกุม มาจาก ส่วนเติมหน้า ad- ที่แปลว่า ไปยัง รวมกับกริยา ducere ที่แปลว่า นำ (แบบที่เจอในคำว่า educate, reduce, และ duct)

คำนี้เป็นคำที่เริ่มปรากฏในยุคไล่เรี่ยกับ kidnap แต่ด้วยความที่มาจากภาษาละติน จึงฟังดูเป็นทางการกว่า และแม้ความหมายจะคล้าย kidnap มากในการใช้ปกติทั่วไป แต่ abduct จะเน้นขั้นตอนการพาตัวไปมากกว่าการใช้ความรุนแรงหรือการกักขังหน่วงเหนี่ยว และในบางกรณีก็จะใช้แต่คำว่า abduct เท่านั้น เช่น alien abduction (การถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว)

Bereaved

คำนี้เป็นคำที่ใช้บรรยายคนที่เพิ่งสูญเสียคนรัก โดยเฉพาะญาติหรือเพื่อนสนิทของผู้ตาย เช่น the bereaved mother ก็คือ แม่ที่เพิ่งสูญเสียลูก หรือ the bereaved เฉยๆ ก็จะหมายถึง ญาติและเพื่อนๆ ของผู้ตาย มาจากคำว่า bereave ที่แปลว่า พรากไป

คำนี้อันที่จริงแล้วมีคู่แฝดหน้าตาเกือบเหมือนกันอยู่ในภาษาอังกฤษด้วย นั่นก็คือ bereft ซึ่งเป็นรูป past participle ของ bereave เช่นเดียวกับ bereaved เพียงแต่เป็นรูป irregular เท่านั้นเอง แต่กระนั้น คำว่า bereft นี้ก็ใช้ต่างจาก bereaved ตรงที่นอกจากจะใช้พูดถึงผู้ที่เพิ่งสูญเสียคนรักไปแล้ว ยังใช้ในความหมายว่า ไม่มี ขาด ได้อีกด้วย เช่น His writing was bereft of any originality. ก็คือ งานเขียนนี่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่แหวกแนวเลย

คำว่า bereave นี้มาจากส่วนเติมหน้า be- ในที่นี้มีความหมายว่า นำออกไป รวมกับ reave ที่เป็นกริยา หมายถึง ปล้น พราก (ปัจจุบันแทบไม่พบใช้แล้ว) ได้ความหมายทำนองว่า พรากไป ส่วนที่คำนี้มาเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวได้ก็เพราะว่า reave ที่อยู่ใน bereave นั้น เคยเป็นกริยาที่ใช้หมายถึง ลักพาตัวหรืออุ้มตัวไป ด้วย ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า reave นี้นับได้ว่าเป็นกริยาที่หมายถึง ลักพาตัว ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในเอกสาร คือใช้มาตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 12 เลยทีเดียว

Rape

คำว่า rape ในปัจจุบันมักใช้ในความหมายว่า ข่มขืน (พจนานุกรมหัวโบราณหน่อยก็จะระบุว่าเพศที่ถูกขืนใจให้มีเพศสัมพันธ์ต้องเป็นเพศหญิง) คำนี้มาจากกริยา rapere ในภาษาละติน แปลว่า ฉก คว้า ฉวย เอาไปด้วยกำลัง (เจอในภาษาอังกฤษหลายคำเช่น rapacious, rapture, ravish) 

ที่น่าสนใจก็คือ เดิมทีคำนี้มีอีกความหมายหนึ่งด้วย นั่นคือ การลักพาตัว (โดยส่วนใหญ่หมายถึงการลักพาตัวไปโดยมีจุดประสงค์เพื่อหวังข่มขืนในภายหลัง) ตัวอย่างเช่น ในเทพปกรณัมกรีก ตอนที่เฮดีส เทพผู้ครองยมโลกเห็นนางเพอร์ซิโฟนีเก็บดอกไม้อยู่ในทุ่งแล้วเกิดจิตปฏิพัทธ์ จึงบันดาลให้พื้นดินแยกแล้วเทียมรถม้าขึ้นมาลักพาตัวนางไป อันนี้ก็เรียก the Rape of Persephone ทั้งที่ในฉากนี้ไม่ได้มีการปั่มปั๊มแต่อย่างใด (อ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/words-from-mythology/ และ https://themomentum.co/elements-named-after-greek-and-roman-mythology/) หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่นางเฮเลนแห่งเมืองทรอยถูกเจ้าชายปารีสมาลักพาตัว ก็เรียกว่า the Rape of Helen of Troy ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือกลอน The Rape of the Lock ของ Alexander Pope ที่หลอกหลอนนิสิตเอกภาษาอังกฤษกันมานักต่อนักแล้ว นั่นก็ไม่ได้มีการกระทำชำเราปอยผมทางเพศแบบ literally แต่อย่างใด แต่หมายถึงการฉวยตัดผมแล้วขโมยไป

Plagiarism

คำนี้หมายถึง การคัดลอกผลงานผู้อื่นมาเป็นของตนเอง โดยเฉพาะผลงานวิชาการ แม้ว่าดูเผินๆ แล้วการก๊อปงานคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้อ้างอิงให้ถูกต้องไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวได้ แต่หากดูที่มาของคำแล้วก็จะเห็นความเชื่อมโยงอยู่ เพราะคำนี้มาจากคำว่า plagiarius ในภาษาละตินที่หมายถึง โจรลักพา นั่นเอง ดังนั้น ก็อาจจะพูดได้ว่าการคัดลอกงานแบบนี้ก็เหมือนไปขโมยหรือลักพาตัวไอเดียของคนอื่นมาเป็นของตนนั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือ ในสมัยศตวรรษที่ 17 เคยมีการใช้คำว่า plagiary หมายถึง โจรลักพาตัว หรือ การลักพาตัวจริงๆ ด้วย ไม่ใช่แค่การคัดลอกผลงานวิชาการเท่านั้น

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Fact Box

  • อีกคำที่ใช้หมายถึงลักพาตัวได้คือคำว่า shanghai มาจากชื่อเมืองเซี่ยงไฮ้ สามารถอ่านได้ทาง https://themomentum.co/chinese-words-in-english-word-odyssey/
  • ่นอกจากนี้ยังมีสำนวน take someone for a ride ที่เป็นสแลงหมายถึง ลักพาตัวไปฆ่าด้วย สามารถอ่านได้ทาง https://themomentum.co/idiom-about-lies/
Tags: , , , , ,