เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่สุดประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 มา (ท่ามกลางความผิดหวังของคนจำนวนไม่น้อย) หลังจากที่การต่อรองขอครองกระทรวงต่างๆ ระหว่างพรรคขนาดกลางและพรรคพลังประชารัฐดูโงนเงนชวนลุ้นมาตลอดช่วงก่อนเปิดประชุมสภาเมื่อวันพุธ

แต่หลังได้นายกฯ ใหม่ (ที่ไม่ใหม่) เพียงวันเดียว ก็มีข่าวแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐจะล้มดีลที่อุตส่าห์ตกลงกันมาและยึดกระทรวงสำคัญที่พรรคขนาดกลางหมายปองอย่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ มารวมกันที่กองกลางให้นายกฯ เป็นคนเกลี่ยใหม่เอง

หากเป็นเช่นนี้จริง จะพูดว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเสียรู้พรรคพลังประชารัฐก็คงจะไม่ผิดเสียทีเดียวนัก

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีสำนวนอะไรในภาษาอังกฤษบ้างที่ใช้สื่อความหมายว่าหลอกลวงหรือเสียรู้ได้บ้าง

Fall for something hook, line, and sinker

 คำว่า hook, line และ sinker ในสำนวนนี้ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกปลาทั้งสิ้น หมายถึง เบ็ด สายเอ็น และตะกั่วที่ไว้ใช้ถ่วงน้ำหนัก ดังนั้น สำนวนนี้จึงเป็นการเปรียบเทียบคนที่หลงเชื่ออุบายหรือเรื่องโกหกว่าเป็นเหมือนน้องปลาหิวโหยที่พร้อมกินทุกอย่าง ไม่ได้งับแค่เบ็ด แต่แม้แต่เส้นเอ็นและตะกั่วถ่วงน้ำหนักก็ฮุบเข้าปากไปหมด ทำให้เป็นปลาที่ตกง่ายนั่นเอง

สำนวนมีความหมายว่า หลงเชื่อเข้าเต็มเปา เชื่อสุดใจ ปกติใช้พูดถึงคนที่หลงกลอุบายหรือหลงเชื่อเรื่องไม่จริงอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ตัวอย่างเช่น The party said that they would not endorse Gen. Prayuth Chan-ocha, and many fell for it hook, line, and sinker. ก็คือ พรรคการเมืองนี้บอกว่าจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ หลายคนก็หลงเชื่อเข้าไปเต็มๆ

Pull the wool over someone’s eyes

สำนวนนี้มีคำว่า wool อยู่ ปกติแล้วหมายถึง ขนแกะ แต่ในที่นี้ว่ากันว่าหมายถึง วิกผม แบบที่ผู้ชายยุโรปสมัยศตวรรษที่ 17-18 และผู้พิพากษาอังกฤษในปัจจุบันสวมใส่กัน เพราะแต่ก่อนวิกเหล่านี้มักทำจากขนแกะ สำนวนนี้เชื่อกันว่ามีที่มาจากที่หัวขโมยแต่ก่อนจะใช้วิธีการดึงวิกให้ลงมาบังตาเหยื่อให้มองไม่เห็นก่อนตกทรัพย์และชิ่งหนีไป บ้างก็ว่าเป็นการเปรียบเปรยว่าหลอกผู้พิพากษาได้ เหมือนกับดึงวิกลงมาบังตาของผู้พิพากษาได้สำเร็จ

ในปัจจุบัน สำนวนนี้ใช้ในความหมายว่า หลอกลวง หลอกให้เชื่อสิ่งที่เป็นความเท็จ เช่น He tried to pull the wool over my eyes, but I knew exactly what he was up to. ก็คือ เขาพยายามจะต้มฉัน แต่ฉันรู้ทัน แต่หากอยากใช้สำนวนนี้พูดถึงฝั่งที่พลาดท่าเสียทีหลงเชื่อเรื่องไม่จริง ก็อาจจะทำให้เป็น passive voice แทน เช่น I’ve had the wool pulled over your eyes enough times to know that that is a fake designer bag. ก็จะหมายถึง โดนต้มมาหลายครั้งจนดูออกแล้วว่ากระเป๋าแบรนด์เนมใบนี้เป็นของปลอม

Lead someone down the garden path

ในสมัยวิกตอเรียน คฤหาสน์ใหญ่ๆ ในชนบทประเทศอังกฤษหลายแห่งมีพื้นที่รายล้อมกว้างมาก ในพื้นที่เหล่านี้ก็จะมีทางเล็กทางน้อยพาวนเวียนลัดเลาะไปตามสวนหรือป่าย่อมๆ ด้วยความที่สมัยนั้นมีกฎเกณฑ์ทางสังคมเกี่ยวกับความประพฤติระหว่างชายหญิงมากมาย ผู้ชายที่อยากจะใช้เวลาสองต่อสองกับผู้หญิงในที่ห่างไกลจากสายตาของคนอื่นเพื่อทำความรู้จักฝ่ายหญิงหรือขอแต่งงานก็จะใช้วิธีการชวนผู้หญิงออกไปเดินเล่นตามสวนแบบนี้ แต่กระนั้นก็มีผู้ชายไม่น้อยที่ชวนฝ่ายหญิงออกไปเดินเล่นในสวนเพราะหวังล่อลวงไปลวนลาม ทำให้การพาไปเดินสวนเป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่ไม่ใช่น้อย

สำนวนนี้ในปัจจุบันหมายถึง หลอกลวง ลวงให้เข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น หากเราคุยกับผู้ชายคนหนึ่งมาตั้งนานแล้วเพิ่งมารู้ว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้โสด แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า That asshole led me down the garden path and had me believe that he was single. ก็จะหมายถึง ไอ้เฮงซวยนี่มันพูดให้เราเข้าใจผิดมาตลอดว่ามันโสด แต่หากเราอยากพูดเน้นว่าเราเป็นฝ่ายเสียรู้ ก็อาจจะพูดว่า I was led down the garden path. แทน

ทั้งนี้ สำนวนที่เขียนไปข้างต้นนี้เป็นแบบอเมริกัน หากเป็นทางฝั่งอังกฤษจะพูดว่า lead up the garden path แทน

นอกจากนี้ คำว่า garden path นี้ยังเป็นชื่อประเภทประโยคที่อ่านแล้วชวนงงงวยด้วย ขณะที่เราเริ่มอ่านประโยค garden-path sentence เราจะเข้าใจความหมายประโยคแบบหนึ่ง แต่พออ่านไปถึงจุดหนึ่ง เราถึงจะรู้ว่าที่ผ่านมาเราวิเคราะห์องค์ประกอบในประโยคไม่ถูกเพราะประโยคหลอกเรา ตัวอย่างเช่นประโยค The old man the boat. พอเราอ่านแว่บแรก เราอาจจะเข้าใจว่า The old man เป็นประธานของประโยค หมายถึง ชายชราหนึ่งคน แต่พออ่านจบประโยคไปถึงคำว่า the boat ถึงจะเข้าใจว่า man ในที่นี้ต้องตีความเป็นกริยา หมายถึง ควบคุมเรือ ส่วนประธานของประโยคไม่ใช่ The old man แต่เป็น The old ที่หมายถึง คนเฒ่าคนแก่ทั้งหลาย

Take someone for a ride

สำนวนนี้หากแปลตรงๆ ก็คือ พาไปนั่งรถเล่น ฟังดูเผินๆ แล้วก็ไม่น่าใช่เรื่องไม่ดี แต่ที่สำนวนนี้มีความหมายเชิงลบก็เพราะถูกพวกมาเฟียในอเมริกาเอาไปใช้เป็นสแลง หมายถึง จับใส่รถเพื่อลักพาตัวหรืออุ้มไปฆ่า (คล้ายๆ กับคำว่า อุ้ม ในภาษาไทย คือเอาคำนุ่มนวลมาใช้เรียกการกระทำโหดร้ายเพื่อให้ดูรุนแรงน้อยลง)

แต่ในปัจจุบันนี้ สำนวนนี้ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดฆ่าแกงกัน แต่ใช้หมายถึง หลอกลวง ต้มตุ๋น เช่น They were never really going to give me the promotion they’d promised me. I was taken for a ride. หมายถึง บริษัทไม่ได้ตั้งใจจะเลื่อนตำแหน่งให้อย่างที่สัญญาอยู่แล้ว ฉันโดนต้ม นั่นเอง

Pull a fast one on someone

สำนวนนี้ว่ากันว่าที่มาจากวงการมายากลที่ปกติต้องอาศัยความเร็วในการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งไพ่หรือวัตถุบางอย่างจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้ชมเห็นทันและหลอกให้ผู้ชมเชื่อกลนั้นจริงๆ

สำนวนนี้ใช้ หมายถึง หลอกลวง โกหก มีนัยว่าทำโดยเจตนา ตัวอย่างเช่น หากมีคนอ้างคุณสมบัติเกินจริงมาในเรซูเม่แต่เราดูออก เราก็อาจจะพูดว่า This dude is trying to pull a fast one on me, but it will take more to dupe me. ก็คือ ไอ้นี้มันพยายามหลอกเรา แต่ต้องพยายามกว่านี้หน่อยนะจ๊ะ

บรรณานุกรม

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Jack, Albert. Black Sheep and Lame Ducks: The Origins of Even More Phrases We Use Every Day. A Perigee Book: New York, 2005.

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Tags: , , , ,