เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ชายผิวดำคนหนึ่งนามว่า จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ได้เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจรัฐมินนีแอโพลิสเข้าจับกุมเนื่องจากนายตำรวจที่ชื่อ เดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) ใช้หัวเข่ากดทับลงบนลำคอของฟลอยด์ที่นอนคว่ำหน้าอยู่บนพื้นถนน แม้ชายผู้ถูกจับกุมจะส่งเสียงร้องว่าตนหายใจไม่ออก

เหตุการณ์นี้นับได้ว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับชาวอเมริกันจำนวนมากต่อระบบที่ทำให้คนผิวดำมักต้องตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรม การเหยียดสีผิว และการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจ และจุดชนวนให้ชาวอเมริกันพากันฝ่าโคโรน่าไวรัสออกมาประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

ความโกรธและอัดอั้นต่อระบบนี้ได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงจนนำไปสู่การทำลายทรัพย์สินและการปล้นข้าวของในบางรัฐ ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขู่ว่าจะใช้กำลังเด็ดขาดเข้าปราบปรามผู้ประท้วงที่เริ่มทำลายข้าวของ แต่ถึงกระนั้น ผู้คนจำนวนมาก รวมไปถึงดารานักร้องและบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการ ก็ยังต่างพาออกมาสนับสนุน รวมถึงยังมีการใช้แฮชแท็ก #blacklivesmatter เพื่อให้คนผิวดำได้บอกเล่าและบันทึกความอยุติธรรมและความรุนแรงต่างๆ ที่เคยเผชิญมา

ในขณะที่หัวข้อเรื่องการเหยียดคนผิวดำกำลังเป็นประเด็นนี้ หลายคนคงประหลาดใจไม่น้อยหากมีใครบอกว่า คำว่า black นี้ แท้จริงแล้วมีที่มาจากความขาวสว่างและเป็นญาติกับคำอีกหลายๆ คำที่เกี่ยวข้องกับความขาว

ดังนั้นในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า คำว่า black มีที่มาจากความขาวเจิดจ้าได้อย่างไร และไปดองกับสารฟอกขาว แผลอักเสบ เสมหะ และผ้าห่ม ได้อย่างไร

สีดำมาจากความขาวสว่าง?

คำว่า black นี้ปรากฏในภาษาอังกฤษตั้งแต่สมัยภาษาอังกฤษเก่าแล้ว นักวิชาการเชื่อว่าคำนี้มีที่มาจากรากเยอรมนิกดั้งเดิม *blakaz (* หมายถึง รูปสืบสร้าง ไม่ใช่รูปที่พบในเอกสารจริง) ซึ่งใช้บรรยายของที่ผ่านกระบวนการเผาไหม้แล้ว ได้ความหมายทำนองว่า ไหม้จนดำ ตอตะโก 

แต่หากเราลองคิดถึงกระบวนการที่จะทำให้สิ่งสิ่งหนึ่งดำเป็นตอตะโกได้แล้ว ภาพที่มาคู่กันก็คือเปลวไฟที่ลุกโชติช่วง สว่างไสวเจิดจ้า จนบางครั้งแทบเป็นสีขาวเลยทีเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ราก *blakaz จะสืบสาวกลับไปได้ถึงรากอินโดยูโรเปียนดั้งเดิม *bhleg- ซึ่งแปลว่า เผาไหม้ ส่องสว่าง เจิดจ้า ขาวสว่าง ดังนั้น หากเราจะพูดว่าที่มาของสีดำมาจากความขาวสว่างก็คงไม่ผิดนัก

ญาติของสีดำในภาษาอังกฤษ

คำว่า black นับได้ว่าผ่าเหล่าพอสมควร เพราะหากเราลองดูคำอื่นๆ ที่เป็นเครือญาติอยู่ในตระกูลเดียวกันแล้ว จะเห็นว่าคำอื่นมักจะไปโยงกับสีขาวและแสงสว่างและทั้งสิ้น

ราก *bhleg- ที่เป็นที่มาของคำว่า black นี้ยังเป็นที่มาของรากเยอรมนิกดั้งเดิม *blaikjan ซึ่งหมายถึง ทำให้ขาว ทำให้ซีดลง และเป็นที่มาของคำว่า bleach ที่แปลว่า ฟอกขาว หรือสารฟอกขาว ในภาษาอังกฤษปัจจุบันนั่นเอง (เช่น coral bleaching ก็คือ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว) 

*bhleg- ที่ว่านี้ อันที่จริงแล้วเป็นเพียงรูปหนึ่งของรากอินโดยูโรเปียนดั้งเดิม -*bhel ซึ่งหมายถึง เจิดจ้า ส่องสว่าง เผาไหม้ และเป็นที่มาของคำจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเปลวไฟและสีขาวในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน

เริ่มต้นที่เปลวไฟกันก่อน -*bhel นอกจากจะเป็นที่มาของคำว่า blaze ที่แปลว่า เพลิงไหม้รุนแรง หรือ แสงเจิดจ้า แล้ว ยังพัฒนากลายไปเป็นคำว่า flagrare ในภาษาละติน หมายถึง เผาไหม้ และเป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษเช่น conflagration (ไฟไหม้ครั้งใหญ่) flagrant (ผิดตำตา ทนโท่ เปรียบเปรยว่าอุกอาจและเห็นได้ชัดเหมือนเปลวไฟ) รวมไปถึงสำนวน in flagrante delicto (ในขณะที่กำลังกระทำความผิด คล้ายๆ จับได้คาหนังคาเขา)

เท่านั้นยังไม่จบ เพราะ -*bhel ยังเป็นที่มาของ flamma ในภาษาละตินที่แปลว่า เปลวไฟ ด้วย ซึ่งมาออกลูกออกหลานไว้ในภาษาอังกฤษมากมาย เช่น flame (เปลวไฟ) flammable/inflammable (ติดไฟได้) inflammation (อาการอักเสบ) flambé (เทคนิคการทำอาหารแบบฝรั่งเศสที่ใส่แอลกอฮอล์ลงในอาหารแล้วจุดให้ติดไฟ) เป็นต้น

-*bhel นี้ยังเข้าไปในภาษากรีกและกลายเป็นคำว่า phlegm ที่แปลว่า เสมหะ (คนสมัยก่อนเชื่อว่าเสมหะเป็นธาตุไฟ และถ้าใครมีเสมหะเยอะๆ จะกลายเป็นคนขี้เกียจ: https://themomentum.co/english-words-disease/) รวมถึงชื่อแม่น้ำไฟ Phlegethon ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสายในยมโลกในปกรณัมกรีกด้วย

นอกจากนั้น -*bhel ที่เรียกได้ว่าเป็นต้นตระกูลของคำว่า black ยังเป็นที่ของคำที่เกี่ยวกับสีขาวในภาษาอังกฤษอีกหลายคำอีกด้วย ตัวอย่างเช่น คำว่า blank ที่แปลว่า ว่างเปล่า (แต่เดิมแปลว่า ขาว: https://themomentum.co/word-origin-word-odyssey-2/) blanch ที่หมายถึง หน้าซีด รวมไปถึงคำที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงอย่าง blanket ที่แปลว่า ผ้าห่ม (แต่เดิมหมายถึง ผ้าขนแกะสีขาวที่ใช้ทำเสื้อผ้าหรือคลุมเตียงเพื่อความอบอุ่น) ด้วย

สรุปก็คือ แม้ black จะแปลว่า ดำ แต่กลับมีจุดกำเนิดที่ขาวเจิดจ้าจนหลายคนน่าจะนึกไม่ถึง แถมยังเป็นญาติกับคำมากมายที่เกี่ยวข้องกับความขาวอีกด้วย

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://oed.com

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayers, Donald M. English Words from Latin and Greek Elements. 2nd ed. The University of Arizona Press: Tuscon, 1986. 

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Joyce, A. “Semantic Development of the Word Black: A History from Indo-European to the Present.” Journal of Black Studies, Vol. 11, No. 3 (Mar., 1981), pp. 307-312. JSTOR, https://www.jstor.org/stable/2784182

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Tags: