“คุณรู้มั้ยว่าอะไรที่ทำให้ผมหงุดหงิดที่สุด?”

“เมื่อผมนั่งลงให้สัมภาษณ์ แล้วคำถามแรกคือ ทำไมคุณต้องสวมแว่นกันแดด?”

ถ้าให้เอ่ยชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเอเชียที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกชื่อของหว่องกาไว (Wong Kar Wai) เจ้าของลายเซ็นความโรแมนติกบนเส้นทางเปลี่ยวเหงาคงไม่ตกหล่นไปจากความคิดของคนส่วนใหญ่ ตลอดเวลากว่าสามทศวรรษที่หว่องกาไวโลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของเขาได้เปลี่ยนทิศทางเก่าและสร้างทิศทางใหม่ให้แก่ผู้คนจากหลากหลายวงการ จนแทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยมีใครไม่ตกอยู่ภายใต้มนตราสะกดใจของเขา ชายผู้สวมแว่นกันแดดแม้ในเวลาค่ำคืน

WKW: The Cinema of Wong Kar Wai เป็นหนังสือที่เกิดจากความคิดของหว่องกาไวที่ต้องการรวบรวมความคิดและผลงานย้อนหลังตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขากับสำนักพิมพ์ริซซอลิ (Rizzoli) ในนิวยอร์ก เขาเริ่มต้นด้วยการขอคำปรึกษาจากคนที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ว่าควรติดต่อใครที่เหมาะสมเพื่อมาช่วยเขียนหนังสือเล่มนี้

วันหนึ่ง หว่องกาไวโทรศัพท์ไปหาจอห์น พาวเวอร์ส (John Powers) คอลัมนิสต์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ของนิตยสารโว้ก เพื่อขอคำแนะนำ พาวเวอร์สซึ่งรู้จักดีถึงความอ้อมค้อมของหว่องกาไวจึงสงสัยว่านี่อาจเป็นการเชิญให้เขาร่วมงานด้วยจึงเสนอตัวเข้าร่วมงาน หว่องกาไวตอบตกลงแทบจะทันทีโดยให้เหตุผลว่าทั้งสองรู้จักกันและกันมาตั้งนานแล้ว

และนี่เองคือจุดกำเนิดของหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วยผลงานย้อนหลังของหว่องกาไว

โครงสร้างของ WKW: The Cinema of Wong Kar Wai แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นความเห็นของพาวเวอร์สที่มีต่อหว่องกาไว และส่วนที่สองเป็นบทสัมภาษณ์หว่องกาไวจำนวนหกครั้งเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเขา แต่ละส่วนมีเรื่องราวคร่าวๆ ที่น่าสนใจดังนี้

Perhaps, Perhaps, Perhaps: 37 Views of Wong Kar Wai

เปิดตัวเนื้อหาหนังสือด้วยชื่อในภาษาอังกฤษของเพลง Quizas, Quizas, Quizas ของแนท คิง โคล (Nat King Cole) ที่เป็นหนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love พาวเวอร์สได้สรุปมุมมองที่เขามีต่อหว่องกาไวจากการรู้จักตัวตนก่อนร่วมงานกัน ผสมผสานเข้ากับประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกันในหนังสือเล่มนี้ออกมา 37 ข้อ แต่ละข้อเปรียบเสมือนป้ายบอกทางว่าเส้นทางการเดินทางไปในความคิดและชีวิตผลงานของหว่องกาไวที่เราต้องพบเจอนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง

เขาเลือกแง่มุมที่น่าสนใจในระหว่างการทำงานมาประกอบเป็นภาพร่างของหว่องกาไว เช่น เขาเล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่มวางแผนพูดคุยตั้งคำถามกันครั้งแรกว่า “โครงสร้างหนังสือเล่มนี้ควรออกมาแบบใดเพื่อที่จะเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดในใจของหว่องกาไว?” และหว่องกาไวตอบเขากลับมาว่า “นี่เป็นการตั้งคำถามที่ผิด สิ่งที่คุณควรถามตัวเองคือ หนังสือเล่มนี้ควรมีลักษณะเหมือนเมนู, จีพีเอส, หรือตู้เพลง?” หรือการพูดถึงเอสเธอร์ (Esther) ภรรยาของหว่องกาไวเพื่อนำเสนอด้านของชีวิตส่วนตัวที่คนภายนอกไม่ค่อยรับรู้

Conversation One: Amarcord

ชื่อบทจากภาพยนตร์ของเฟเดริโค เฟลลินี (Federico Fellini) ที่พ้องกับคำว่า “a m’arcord” ซึ่งมีความหมายว่า “ฉันจำได้” คล้ายจะบอกใบ้ให้เรารู้ว่าบทสนทนาครั้งนี้มีประเด็นหลักเป็นเรื่องอะไร พาวเวอร์สเริ่มต้นด้วยการถามให้หว่องกาไวพูดถึงชีวิตส่วนตัวในวัยเด็กเมื่อเขาย้ายจากเซี่ยงไฮ้มาอยู่ที่ฮ่องกง ให้เขาเล่าถึงภาพชีวิตของพ่อและแม่ที่มีส่วนในการหล่อหลอมตัวตนในวัยเยาว์ ไปจนถึงตอนที่พบรักกับเอสเทอร์ ในบทสนทนาครั้งนี้ เราจะได้เห็นภาพของฮ่องกงในอดีตจากความทรงจำ รู้ว่าภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาดูคือเรื่องอะไร หนังสือที่พ่อของเขาแนะนำให้อ่านคือเรื่องอะไร เขาจีบเอสเทอร์อย่างไร และตัวละครหญิงในผลงานของเขามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเอสเทอร์

Conversation Two: Not Hitchcock

บทสนทนาครั้งนี้ครอบคลุมช่วงเวลาการเริ่มเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของหว่องกาไวจากเรื่อง As Tears Go By ไปจนถึง Days of Being Wild เราจะได้รู้ถึงบรรยากาศของอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงในยุคเฟื่องฟูและจุดเปลี่ยนที่ทำให้หว่องกาไวเริ่มงานผู้กำกับ วิธีที่เขาจัดการกับการกำกับจางม่านอวี้ (Maggie Cheung) ในการร่วมงานกันครั้งแรก ไปจนถึงเบื้องหลังของความคิดในการสร้าง Days of Being Wild ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง มีวิธีเลือกจัดการกับแรงบันดาลใจเหล่านั้นอย่างไร และเขารับมืออย่างไรกับปฏิกิริยาตอบรับด้านลบของผู้ชมเมื่อฉาย Days of Being Wild เป็นครั้งแรก

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ เราจะได้เห็นมุมมองที่เขามีต่อดาราที่ร่วมงานกับเขาอย่างเลสลี่ จาง (Leslie Cheung) หลิวเต๋อหัว (Andy Lau)  และเหลียงเฉาเหว่ย (Tony Leung Chiu-wai) รวมไปถึงการที่เขาจะบอกให้รู้ว่าเหตุใดเขาจึงไม่ใช่ฮิทช์ค็อก (Alfred Hitchcock)

Conversation Three: Hong Kong Nocturne

Hong Kong Nocturne คือชื่อของภาพยนตร์เพลงของค่ายชอว์บราเดอร์ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับวงทริโอผู้หญิงสามคนที่ร้องเพลงและเต้นรำในยามราตรีของฮ่องกง ถ้าใครรู้จักหว่องกาไวมาบ้างคงจะรู้ว่าช่วงทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่มีอิทธิพลมากต่อจักรวาลของหว่องกาไว บทสนทนาในครั้งนี้จะพาเราไปสู่เส้นทางของภาพยนตร์ที่อาจจะเรียกได้ว่าทำให้ชื่อเสียงโด่งดังไปถึงฮอลลีวูดอย่าง Chungking Express ที่พัฒนามาจากการเก็บรวบรวมไอเดียของเรื่องสั้นที่หว่องกาไวให้ชื่อว่า “the days and nights of Hong Kong”  ในส่วนนี้เปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังของเทคนิคการถ่ายทำและไอเดียต่างๆ ที่โด่งดังจากฝีมือของหว่องกาไวและตากล้องคู่บุญ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) และเราจะได้รู้ถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ Fallen Angel ว่าหว่องกาไวและทีมงาน จัดการอย่างไรบ้างเพื่อหลีกหนีจากร่องรอยของความสำเร็จจาก Chungking Express ที่เนื้อเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหลวมๆ กับ Fallen Angel

Conversation Four: Perfidia

ถ้าใครคุ้นหูรู้จักกับเพลง Perfidia และติดตามผลงานของหว่องกาไว คงรู้ได้ในทันทีเมื่อเห็นชื่อบทว่าเรื่องราวในบทนี้คงหนีไม่พ้น In the Mood for Love และ 2046 แต่ไม่เพียงเท่านั้น บทสนทนายังพาเราไปไกลถึง The Hand หนึ่งในภาพยนตร์สั้นที่รวมอยู่ใน Eros อีกด้วย

การพูดคุยครั้งนี้ชี้ให้เห็นเบื้องหลังต่างๆ ของภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรักและการทรยศหักหลัง เหมือนต้นกำเนิดของชื่อเพลง Perfidia และความจริงที่ช็อกแฟนคลับ เมื่อหว่องกาไวเปิดเผยว่าแท้จริงแล้ว เขาตั้งใจให้การคบหากันของโจวมู่หวัน (Chow Mo-wan) กับโซ่วไหล่เจิน (Su Li-zhen) เป็นเพียงปรารถนาที่จะล้างแค้น เพียงเพื่อให้เขาได้หลับนอนกับเธอและบอกเธอว่า “ผมทำแบบนี้เพื่อล้างแค้น ผมเพียงต้องการพิสูจน์ว่าคุณเองก็ไม่ต่างจากภรรยาของผม คุณก็เป็นนังสารเลวเหมือนกัน” อันจะนำพาไปสู่จุดจบที่ปวดร้าวที่สุดของทั้งสองคน

Conversation Five: Pan-American Highway

Pan-American Highway คือชื่อถนนที่มีความยาวเกือบ 48,000 กิโลเมตร เส้นทางที่เริ่มต้นจากอลาสกาถึงอาร์เจนตินาเป็นจุดหมายการเดินทางของเหอเป่าหวัง (Ho Po-wing) และไหลเยิ่วฟา (Lai Yiu-fai)

ในบทสนทนานี้ หว่องกาไวพูดถึงภาพยนตร์โรดทริปสองเรื่องของเขาคือ Happy Together และ My Blueberry Night เราจะได้รู้ถึงเหตุผลว่าทำไมเขาจึงไปกำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด และได้รู้ว่าแท้จริงแล้วความรักแบบชายรักชายใน Happy Together นั้นคือภาพแทนความหวั่นไหวของฮ่องกงในปี 1997 ที่มีต่อการกลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่

Conversation Six: North, South, East, and West

ทิศทั้งสี่คือชื่อแทนของตัวละครสำคัญในนิยายกำลังภายในเรื่อง มังกรหยก ที่หว่องกาไวนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Ashes of Time การสนทนาครั้งนี้จึงหนีไม่พ้นการพูดคุยถึงภาพยนตร์ที่มีพื้นฐานอยู่บนศิลปะการต่อสู้ของของเขา

ประเด็นที่น่าสนใจในการพูดคุยครั้งนี้คือความแตกต่างของมโนทัศน์ระหว่างมวยจีนและกังฟู มโนทัศน์ของความรักและการพลัดพรากที่อยู่บนปรัชญาการต่อสู้สองแบบของชาวจีน และเรื่องราวเบื้องหลังที่ว่ากิมย้งไม่ประทับใจนักกับการนำบทประพันธ์ของเขาไปดัดแปลงและตีความอย่างกลับหัวกลับหางในรูปแบบของหว่องกาไว

 

หลังจากอ่านเนื้อหาของบทสัมภาษณ์ทั้งหมดจากหนังสือคอฟฟีเทเบิลเล่มโต ผมนึกย้อนอดีตไปถึงสิบห้าปีก่อน ภาพของอดีตนักศึกษาปริญญาโทสองคนที่หลงใหลผลงานของหว่องกาไว ภาพที่นักศึกษาสองคนตกลงกันว่าใครจะเป็นตำรวจหมายเลข 223 ใครจะเป็นตำรวจหมายเลข 663 ในการเรียกหากันและกันเพื่อแสดงความชื่นชมถึงความประทับใจที่ Chungking Express มอบให้ ภาพของนักศึกษาสองคนที่สวมแว่นสายตาเดินคู่กันไปเช่าหนังสือการ์ตูนจากร้านหลังสือหลังมหาวิทยาลัย ภาพความคิดเมื่อครั้งนั้นว่าเราพูดจาต่อกันอย่างไรเมื่อพยายามเลียนแบบผู้กำกับภาพยนตร์ที่เราชื่นชอบ

โดยปกติผมไม่ชอบอ่านหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ของคนที่ผมชื่นชอบผลงานมากนัก เพราะได้รับบทเรียนมาแล้วหลายครั้งว่า บางทีการอยู่ห่างๆ กับตัวตนที่แท้จริงและชื่นชมเพียงผลงานที่เขานำเสนอจะทำให้ชีวิตดีความสุขมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบเรื่องนี้กับความรัก ก็อาจจะเรียกได้ว่าอกหักจนมีประสบการณ์ป้องกันตัว แต่เมื่อเป็นบทสัมภาษณ์ของหว่องกาไว ความลุ่มหลงก็เอาชนะทุกสิ่ง

WKW: The Cinema of Wong Kar Wai เป็นหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ที่ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เนื้อหาในเล่มผ่านการเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ แรกเริ่มเลยผมรู้สึกหงุดหงิดพอควรกับบทเปิดที่แสดงมุมมองด้านต่างๆ ของหว่องกาไว เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองถูกสปอยล์ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จะพบว่าประเด็นที่เห็นว่าสำคัญต่างๆ ซึ่งถูกเปิดเผยก่อนหน้านั้น เป็นเพียงเครื่องเคียงอันขาดไม่ได้ของรสโอชาที่ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเปิดเผยตัวตนของหว่องกาไว

จุดเด่นที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้อีกอย่างคือนอกจากการสัมภาษณ์หว่องกาไวแล้ว พาวเวอร์สยังได้มีโอกาสพูดคุยกับคนใกล้ชิดรอบกายของหว่องกาไว ไม่ว่าจะเป็นเอสเทอร์ภรรยาของเขา หรือเหล่าเพื่อนร่วมรบในสมรภูมิภาพยนตร์อย่างคริสโตเฟอร์ ดอยล์ วิลเลี่ยม จาง (William Chang Suk Ping) แจ็คกี้ แปง (Jacky Pang) หรือแม้กระทั่งดาราคู่บุญอย่างเหลียงเฉาเหว่ย และจางซิยี่ (Zhang Ziyi) ข้อมูลและมุมมองของคนเหล่านี้ช่วยให้เห็นมิติอื่นของหว่องกาไวที่ไม่ได้เปิดเผยออกมาในบทสัมภาษณ์

ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ผมคิดว่าทำให้การเปิดเผยตัวตนของหว่องกาไวเป็นไปอย่างเยี่ยมยอดคือ ช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับช่วงที่เขาต้องการเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองและสิ่งที่ตัวเองทำ ให้ชิง (Qing) ลูกชายของเขาที่กำลังจะอายุ 21 ปีใน ได้รับรู้ว่าความเป็นหว่องกาไว และสาเหตุที่ทำให้เขาต้องหายไปจากครอบครัวในบางเวลาช่วงที่ชิงเป็นเด็ก และอธิบายความหมายของสิ่งเหล่านั้น

ช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับช่วงที่เขาต้องการเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองและสิ่งที่ตัวเองทำ ให้ชิง (Qing) ลูกชายที่กำลังจะอายุ 21 ปีใน ได้รับรู้ว่าความเป็นหว่องกาไวและสาเหตุที่ทำให้เขาต้องหายไปจากครอบครัวในบางเวลา

พาวเวอร์สเองก็มีประสบการณ์และความชำนาญพอที่จะดึงตัวตนของหว่องกาไวออกมาได้อย่างดี มีลูกล่อลูกชนในการตั้งคำถามและต่อบทสนทนา ความรอบรู้ในด้านศิลปะภาพยนตร์และวรรณกรรมของเขานั้นแพรวพราวมาก สามารถเอ่ยถึงไอเดียของนักเขียน ผู้กำกับ และนักปรัชญาเพื่อมาเติมเต็มบทสนทนาให้เอื้อแก่การทำความเข้าใจบริบทของผู้อ่านได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่อ่าน ผมคิดถึงภาพสวยงามของการตอบโต้กันของทั้งคู่ในบรรยากาศการประลองมวยจีนภายใต้หิมะโปรยปรายของ The Grandmaster

นอกจากความน่าสนใจของบทสัมภาษณ์แล้ว หนังสือที่หนาหนักเล่มนี้ยังประกอบไปด้วยภาพมากมายราวกับนิทรรศการแสดงภาพถ่ายในหนังสือ ภาพในหนังสือมีตั้งแต่ภาพเหตุการณ์ส่วนตัวของหว่องกาไวและครอบครัว เบื้องหลังการถ่ายทำ ไปจนถึงภาพนิ่งจากภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจไปกับมุมมองและการเลือกจับภาพ จนบางครั้งการหยุดดูภาพนานๆ ทำให้ลืมไปว่าก่อนหน้านั้นเราอ่านถึงหัวข้ออะไร แต่บนความสวยงามนี้ก็มีจุดที่น่ารำคาญใจอยู่ คือการกำกับเลขหน้า ที่บางครั้งตัวเลขก็ประทับลงบนภาพที่สวยงามตราตรึง เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเลือกภาพมาใช้อย่างประณีถูกลดทอนความสวยงามลงด้วยสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่โด่งดังที่สุดในโลกเคยกล่าวถึงเหตุผลที่เขาเขียนหนังสือชื่อ Principles ว่า หลักการคือสิ่งที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ และเขาต้องการส่งผ่านความสำเร็จนั้นไปสู่คนรุ่นหลังเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและนำทางไปสู่ความสำเร็จเช่นกัน หนังสือ Principles ของดาลิโอคือการส่งผ่านหลักการที่มาจากประสบการณ์ และวิธีคิดในการจัดการกับปัญหาตามแบบฉบับของตัวเขา แน่นอนว่าแต่ละคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละวงการนั้นก็มีหลักในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป สำหรับผม WKW: The Cinema of Wong Kar Wai คืออีกหนึ่งหลักการที่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า กว่าจะเป็นหว่องกาไวที่โด่งดังนั้นเขาต้องประสบพบเจอกับอะไรมาบ้าง เขารับมือกับมันอย่างไร ทำงานกับมันอย่างไร เพื่อออกมาเป็นความประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในใจของผู้คนรอบโลกที่ชื่นชอบผลงานของเขา

 

“สำหรับผม แว่นกันแดดให้เวลากับผมในสิ่งที่ต้องตอบสนอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมต้องถ่ายทำ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมต้องจัดการ และผมต้องการเวลา ดังนั้น ผมมีเวลาหนึ่งวินาทีหรือสองวินาทีเพื่อที่จะตอบสนอง และแว่นดำก็ช่วย ท้ายที่สุดมันก็กลายเป็นนิสัยและเป็นวิธีที่ผมจะมีความเป็นส่วนตัว”

“นี่คือ WKW (เขาสวมแว่นกันแดด) และนี่ (เขาถอดแว่นกันแดดออก) คือหว่องกาไว ผมไม่เข้าใจว่าผู้คนจะสงสัยอะไรนักกับแว่นกันแดดของผม?”

Fact Box

  • WKW: The Cinema of Wong Kar Wai มีจำนวนหน้า 304 หน้า และมีน้ำหนักถึง 2.1992 กิโลกรัม ช่างไม่สะดวกต่อการอ่านเอาเสียเลย 
  • จอห์น พาวเวอร์สให้ฉายาความล่าช้า (อันเป็นเรื่องปกติ) ของหว่องกาไวว่า “Usain Bolt of Delay”
  • ความล่าช้าในการทำงานของหว่องกาไวเคยทำให้เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี ค.ศ. 2004 ต้องยอมเลื่อนกำหนดการเพื่อให้ได้ฉายเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง 2046
  • ใน 2046 มีฉากที่เหลียงเฉาเหว่ยต้องจูบกับกงลี่ (Gong Li) หลังจากจบการถ่ายทำฉากนั้น เหลียงเฉาเหว่ยพูดว่า “เธอคือนักจูบที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยเจอ”
Tags: , , , ,