หนึ่งในหนังที่กระแสแผ่วและถูกพูดถึงน้อยจนน่าเสียดาย ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนประกาศผลรางวัลออสการ์ปีนี้คือ Phantom Thread ผลงานล่าสุดของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Boogie Nights (1997), Punch-Drunk Love (2002)) แม้หนังจะได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงหกสาขาเลยก็ตาม (ได้แก่ สาขาภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักแสดงนำชาย นักแสดงสมทบหญิง ดนตรีประกอบ และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม)
Phantom Thread คือหนังที่น่าประทับใจเป็นอันดับต้นๆ ของฤดูล่ารางวัลนี้ หากเปรียบเป็นเสื้อผ้า ก็คงเป็นชุดที่ถูกตัดเย็บโดยฝีมือของช่างที่รักความสมบูรณ์แบบไม่แพ้ตัวละครของเขา และเนื้อผ้าของมันก็แฝงเลเยอร์อันซับซ้อนเอาไว้มากมาย ชวนให้ตะลึง มึนงง และตกหลุมรัก
แอนเดอร์สันถักทอหนังของเขาอย่างละเมียดละไมในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่บทภาพยนตร์ งานกำกับภาพที่เจ้าตัวรับหน้าที่เอง ไปจนดนตรีประกอบแสนยั่วเย้าของ จอนนี กรีนวูด มือกีตาร์วง Radiohead ผู้กลับมาร่วมงานกับแอนเดอร์สันเป็นหนที่ 4
หนังอัดแน่นไปด้วยการแสดงทรงพลังของ แดเนียล เดย์-ลิวอิส ที่กลับมาร่วมงานกับแอนเดอร์สันอีกครั้งในบท เรย์โนลด์ วูดค็อก ดีไซเนอร์เจ้าของแฟชั่นเฮาส์ชั้นหรูแห่งหนึ่งในลอนดอนยุค ’50s นี่ถือเป็นบทบาททิ้งทวนของเดย์-ลิวอิส หลังเพิ่งประกาศเกษียณอายุการแสดงไปเมื่อปีที่แล้ว และการแสดงของเขาในเรื่องนี้ก็ถือเป็นการบอกลาที่น่าประทับใจไม่น้อย
นอกจากนี้ นักแสดงน้องใหม่อย่าง วิกกี้ ครีพส์ ก็สวมบทบาทต่อกรนักแสดงชั้นครูอย่างเดย์-ลิวอิสได้สบาย ในบทของอัลม่า สาวเสิร์ฟจากยุโรปตะวันออกผู้กลายมาเป็นหญิงคู่กายและคู่ใจของเขา
ชีวิตของวูดค็อกถูกวางไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ มื้อเช้าคือเวลาของการครุ่นคิดอย่างเงียบงัน ซึ่งหากถูกรบกวนจะทำเขารวนไปทั้งวัน งานตัดเย็บในชื่อของเขาจะต้องออกมาเป๊ะทุกรายละเอียด เขาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้หญิงไปเรื่อยๆ เพราะไม่เชื่อว่าตนเหมาะกับชีวิตแต่งงาน จึงมักชิงปลดตัวเองให้เป็นอิสระจากข้อผูกมัดของความสัมพันธ์ด้วยการให้ซีริล พี่สาวของเขา (เลสลีย์ แมนวิลล์ ที่ทรงพลังและขโมยซีนได้อย่างร้ายกาจ) เป็นผู้ตัดความสัมพันธ์ให้เสมอ จนกระทั่งอัลม่าเข้ามาเติมเต็มความปรารถนาของเขาไปพร้อมๆ กับทำให้โลกของเส้นด้ายที่เคยอยู่ในระเบียบแบบแผนต้องปั่นป่วนยุ่งเหยิง
ความสัมพันธ์ในช่วงแรกเริ่มของวูดค็อกกับอัลม่านั้นเป็นไปอย่างราบเรียบและหวานชื่น สำหรับเขา เธอมีสัดส่วนที่สวมใส่เสื้อผ้าของเขาออกมาได้สมบูรณ์แบบ ทั้งยังเข้ามาเกื้อหนุนวิสัยทัศน์การสร้างผลงานของเขา ไม่ว่าจะยืนเป็นหุ่นลองชุดให้เขาได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท้วงติงเมื่อลูกค้าไม่คู่ควรกับผลงานล้ำค่าของเขา และชื่นชมกลเม็ดที่เขาซุกซ่อนข้อความกับวัสดุลับเข้าไปใต้เนื้อผ้าของแต่ละชุด สำหรับเธอ การได้ห่อหุ้มเรือนร่างอยู่ใต้ผลงานของเขาคือทุกอย่างที่เธอฝัน เธอพร้อมที่จะมอบ ‘ทุกชิ้นส่วนของตัวเธอ’ ให้เป็นของเขาตราบเท่าที่เขามอบความรักให้เธอและยินยอมให้เธอได้รักเขา
แน่นอนว่าในความเป็นจริงของความรักโดยทั่วไปนั้น ความหวานชื่นเหมือนฝันคงอยู่ได้เพียงช่วงสั้นๆ ในระยะแรก เพราะเมื่อคู่รักสร่างจากมนตร์ปรารถนาแล้ว พวกเขาต่างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันในชีวิตจริง ศึกษานิสัยใจคอ สิ่งที่ชอบและไม่ชอบในกันและกัน เพื่อขยับขยายความหวานชื่นจากการได้รักให้ยืนยาวต่อไปในความสัมพันธ์
การดู Phantom Thread ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังออสการ์ปีนี้อีกเรื่องคือ Call Me by Your Name (2017) วิธีที่หนังทั้งสองเรื่องนี้จดจ้องและสำรวจเนื้อแท้ของความรักทำให้มันคล้ายกับเป็นแฝดคนละฝา ความรักของเอลิโอและโอลิเวอร์นั้นเต็มไปด้วยการหยั่งเชิง ยื้อยุด สลับไปมาระหว่างความหลงใหลกับเคืองโกรธก่อนจะ ‘ต่อกันติด’ ได้ในที่สุด ขณะที่วูดค็อกกับอัลม่าเองก็ต้องเผชิญกับความผันผวนระหว่างความปรารถนาและความไม่พอใจกันตลอดขั้นตอนของการเรียนรู้ดูใจ
พวกเขาต่างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันในชีวิตจริง ศึกษานิสัยใจคอ สิ่งที่ชอบและไม่ชอบในกันและกัน เพื่อขยับขยายความหวานชื่นจากการได้รักให้ยืนยาวต่อไปในความสัมพันธ์
ความเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสต์และนิสัยเจ้ากี้เจ้าการของวูดค็อกทำให้เขาต้องการครอบงำและควบคุมทุกสิ่ง แต่อัลม่าก็ใช่จะเป็นหญิงสาวหัวอ่อนที่ยอมให้ควบคุมได้ง่ายๆ เธอเองก็ต้องการจะเป็นผู้ควบคุมดูแลเขา ตลอดทั้งเรื่องเราเห็นพลวัตความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ ที่แม้รักกันแต่ก็เรียกร้องสิ่งที่ไม่อาจมอบให้กันได้ วูดค็อกต้องการให้โลกของเขาดำเนินไปตามวงโคจรเดิมของมัน โดยมีผู้อื่นมาโคจรรายล้อมเป็นบริวาร อัลม่าต้องการให้ตัวเธอกลายมาเป็นโลกทั้งใบของเขา
ด้วยท่าทีประณีตชดช้อยและน่าฉงนฉงาย หนังถามคำถามง่ายดายซึ่งไม่ง่ายที่จะตอบ ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตคู่อยู่รอด หากคนทั้งสองต่างกันคนละขั้ว
และคำตอบที่หนังมอบให้ก็ช่างเป็นคำตอบที่ลุ่มลึก แปลกประหลาด และชวนให้ตื่นตะลึงเอามากๆ
(ต่อจากนี้มีสปอยล์)
หากความรักที่ถูกฉายไว้ใน Call Me by Your Name คือความรักที่ผสานตัวตน ทำให้เรารู้สึกแนบชิดกับอีกฝ่ายจนราวกับชิ้นส่วนความคิด ความรู้สึก และตัวตนสามารถถ่ายโอนถึงกันได้ คือความรักที่ทำให้ฉันกลายไปเป็นเธอ และเธอกลายมาเป็นฉัน (“เรียกฉันด้วยชื่อของนาย แล้วฉันจะเรียกนายด้วยชื่อของฉัน”)
ความรักใน Phantom Thread นั้นคือความรักที่คนทั้งคู่หาทางเชื่อมถึงกันโดยยังคงตัวตนหรือความแตกต่างระหว่างกันเอาไว้ ในแง่หนึ่งอาจเป็นได้ว่าเพราะความรักในเรื่องนี้เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ตัวละครทั้งคู่ต่างก็มีชุดประสบการณ์บางอย่างที่สั่งสมเพิ่มพูนมาทั้งชีวิตจนตัวตนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยากจะเปลี่ยนแปลงหรือผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นนี้แล้วมันจึงเป็นความรักที่เปรียบตัวคนเป็นเสมือนชิ้นส่วนต่างรูปลักษณ์ ที่พลิกเจอมุมต่อเข้าคู่กันได้พอดี
วูดค็อกอาจมองว่าหัวใจของตนถูกสาปไม่ให้รัก ว่าโลกส่วนตัวอันแปลกประหลาดของตนนั้นยากที่จะใช้ร่วมกับคนอื่นได้ ความรักระหว่างเขากับอัลม่าจึงไม่ใช่ความรักที่เยียวยารักษาคำสาป ปีศาจในใจยังสิงสถิตอยู่กับเขาไม่ไปไหน (ไม่ต่างอะไรจาก ‘ผีของแม่’ ที่เขาเย็บซ่อนไว้ในเนื้อผ้าของสูทตัวโปรด) แต่ด้วยความแน่วแน่ดื้อดึงของอัลม่า เธอได้ค้นพบหนทางแหวกเข้าไปมีตัวตนอยู่ในโลกอันแหว่งวิ่นของเขา และทำให้เขามีที่ทางอยู่ในโลกของเธอได้ในแบบที่เธอต้องการ
การวางยาให้วูดค็อกป่วยไข้ทำให้เขาอ่อนแอสิ้นสภาพและเรียกร้องให้เธอเป็นผู้ดูแล ภาวะเช่นนี้ปลดวูดค็อกออกจากนิสัยขี้บงการของตน ลดอีโก้ลงเพียงพอที่จะทำให้เขายินยอมตกอยู่ใต้การครอบงำของอัลม่าได้ แม้จะพิสดารสุดกู่ แต่วิธีเช่นนี้กลับสร้างพื้นที่พิเศษที่ทำให้คนทั้งคู่วางความต่างของตนไว้ชั่วขณะ แล้วเชื่อมโยงถึงกันได้ในที่สุด พวกเขาอาจดูเหมือนวิปริตป่วยไข้ แต่มันก็คือไข้รักที่จำต้องเลี้ยงเอาไว้เพื่อจะได้อยู่ด้วยกัน
ความรักใน Phantom Thread จึงแฝงไว้ด้วยพลวัตของอำนาจ การอยู่ด้วยกันได้ในความสัมพันธ์เป็นเรื่องของการผลัดกันมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย และการใฝ่หาวิถีทางในการควบคุมหรือสยบยอมซึ่งกันและกัน เราอาจกล่าวได้เลยด้วยซ้ำว่า พลวัตของอำนาจในลักษณะนี้สามารถพบได้ในความสัมพันธ์มนุษย์ทั่วไป อำนาจปรากฏอยู่เสมอเมื่อมนุษย์ปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ว่ามันจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูก ครู-ศิษย์ เจ้านาย-ลูกน้อง กระทั่งระหว่างเพื่อนหรือระหว่างคนรักเอง ซึ่งล้วนมีความเข้มข้นและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
การมองความสัมพันธ์ของคนรักผ่านมุมมองของอำนาจ แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกรักที่คู่รักมีต่อกันนั้นอาจไม่เพียงพอให้อยู่ด้วยกันรอดเสมอไป มันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งพอๆ กับที่ผนึกคนทั้งสองเข้าหากัน คู่ของวูดค็อกกับอัลม่าจึงโชคดีอย่างประหลาด ไม่เพียงเพราะหากันและกันเจอ แต่ยังเพราะหาวิธีจัดการกับพลวัตของอำนาจในความสัมพันธ์ได้ (ในทางประหลาดๆ ของพวกเขาเอง)
Phantom Thread จึงเป็นหนังที่ผู้เขียนมองว่า ‘โรแมนติก’ เอาเสียมากๆ (ในทางประหลาดๆ ของมันเอง) เพราะหนังชี้ว่าสิ่งที่อาจวิเศษมากไปกว่าการได้พบพานความรักสักครั้งในชีวิต คือการได้เจอคนรักที่กลายมาเป็นความวิปลาสที่เราอยากเลี้ยงไข้ให้อยู่กับเราไปทั้งชีวิต
Tags: ความรัก, อำนาจ, ความสัมพันธ์, Phantom Thread, พอล โธมัส แอนเดอร์สัน