ความร้าวรานจากความรักที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึง รักไม่ได้ และรักที่ร่วงโรย คือธีมสำคัญในหนังสั้น 4 เรื่องที่ถูกรวบรวมมาฉายภายใต้ชื่อ ‘We Won’t Grow Old Together แก่เฒ่าไปจากกัน’ อันเป็นโปรแกรมที่ Filmvirus ร่วมจัดฉายกับ Documentary Club เป็นลำดับที่ 2 หลังจากเพิ่งฉายรวมหนังสั้นวัยรุ่นขบถในชื่อโปรแกรม ‘Rebel Without A Cause’ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หากสัญญาแสนหวานของความรักและความผูกพันคือการอยู่ด้วยกันตลอดไป หนังสั้นเหล่านี้ก็ชี้ว่าในความเป็นจริง มันไม่เคยง่ายดายเหมือนฝัน เพราะการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอและไม่อาจหักห้าม จนในหลายครั้งคราว หนทางเดียวที่สามารถก้าวเดินไปต่อได้คือการแยกย้ายไปคนละทาง นั่นทำให้พอๆ กับที่ความรักสามารถเกิดขึ้นกับหัวใจเราได้โดยไม่ทันตั้งตัว การหมดรักและการจากลาก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่ต่างกัน

ความน่าสนใจอยู่ที่หนังสั้นทั้ง 4 เรื่องนี้ล้วนว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเพศเดียวกัน ทว่ามันกลับไม่ได้สำรวจลึกลงไปในการเมืองเรื่องเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศมากนัก หากเพียงสำรวจความจริงของความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ใช่เพราะมันเป็นความสัมพันธ์ของโฮโมหรือไบเซ็กชวล แต่เพราะความสัมพันธ์ใดๆ มันก็เป็นเช่นนี้ นอกจากนี้ ผู้กำกับของหนังทั้ง 4 เรื่องยังจับจ้องความเป็นไปด้วยความอ่อนโยน และเล่าเรื่องได้อย่างเก่งกาจหนักแน่น ผ่านการเก็บงำ การบอกผ่านการไม่บอก และการเว้นช่องว่างระหว่างบรรทัดไว้ให้คนดูได้ตีความหรือสัมผัสอย่างหลากหลาย

และนี่คือหนังทั้ง 4 เรื่องนั้น

เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (2012, จิรัศยา วงษ์สุทิน)

เด็กสาวสองคนกลับมาถึงแฟลตที่พักในตอนเย็นหลังเลิกเรียน และมุ่งตรงไปยังสนามแบดมินตัน มองอย่างผาดเผิน การตีแบดของพวกเธอก็เป็นเพียงกิจกรรมธรรมดาๆ ที่ไม่น่าจะมีเรื่องราวควรค่าแก่การบอกเล่า แต่ท่ามกลางการหวดไม้และลูกขนไก่ที่ลอยข้ามตาข่ายไปมา (ซึ่งในบางช่วงตอนก็ติดตาข่ายและไม่อาจข้ามไปถึงอีกฝั่ง) นี้เอง หนังค่อยๆ คลี่คลายให้เห็นปมปัญหาที่คั่งค้างอยู่ระหว่างความสัมพันธ์ของเด็กสาวทั้งสอง เพราะแม้ว่าคนที่ตีแบดเก่งกว่าได้ให้คำมั่นหมายไว้ดิบดีแล้วว่าจะฝึกฝนอีกคนจนเก่งเท่า แต่ดูเหมือนว่าการเล่นแบดด้วยกันในสนามที่ดำเนินเรื่อยมาจนเป็นกิจวัตร-รวมไปถึงความสัมพันธ์-ของพวกเธอกำลังใกล้จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า

หนังสั้นเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นอารัมภบทว่าด้วยการ ‘แก่เฒ่าไปจากกัน’ ได้อย่างกระชับ เรียบง่าย และลุ่มลึก หนังจับจ้องการตีแบดของสองตัวละครได้อย่างสมจริง ฉวัดเฉวียน และเป็นธรรมชาติ โดยเมื่อถึงจุดเผยให้เห็นปมปัญหาก็คลี่คลายได้อย่างประณีต การทิ้งช่องว่างให้ตัวละครได้พูดผ่านการไม่พูด ชวนให้คนดูคาดคะเนความรู้สึกรวมถึงสงสัยในสถานะความสัมพันธ์ของพวกเธอ ซึ่งนักแสดงผู้รับบทเป็นเด็กสาวทั้งสองก็มอบการแสดงที่ซับซ้อนทางอารมณ์ได้อย่างน่าชื่นชม (หนึ่งในนั้นคือ ก้อย-อรัชพร โภคินภากร ที่ภายหลังเป็นที่รู้จักจากซีรีส์ ฮอร์โมน และ O-Negative)

เมื่อเดินมาถึงจุดสิ้นสุด หนังทิ้งคนดูไว้ด้วยความปวดร้าวที่ล่องลอยอ้อยอิ่งอยู่ในบรรยากาศ อันเป็นความเจ็บปวดที่เราต่างคุ้นเคยดีถ้าชีวิตนี้เคยได้ปล่อยมือไปจากใครซักคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือคนที่แอบรักก็ตาม โมงยามอันแสนธรรมดาของเด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตันจึงดูเหมือนจะเป็นโมงยามธรรมดาๆ ของการสิ้นสุดที่ไม่อาจหักห้าม อันนำมาซึ่งความรวดร้าวที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

เบอร์มิวด้า (2016, ภาวิณี ศตวรรษสกุล)

หากสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้าคือพื้นที่ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วไม่อาจหวนกลับ มันก็คงเป็นจุดหมายที่เด็กสาวในเรื่อง (พลอยยุคล โรจนกตัญญู จากหนัง #BKKY) อยากไปให้ถึง เธอไม่ต่างจากวัยรุ่นหลายคนในปัจจุบันที่ไม่มีความสุขนักกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่และพยายามผลักดันตัวเองออกไปให้ได้ เธออยู่กับพ่อและพี่สาวที่ไม่แยแสเธอนัก ส่วนแฟนหนุ่มก็มักมอบคำพูดสั่งสอนแทนที่จะให้กำลังใจ ในขณะที่เสียงรายงานข่าวจากโทรทัศน์ที่พ่อเปิด (ที่กลบเสียงของเธอ) ก็ดูจะเน้นย้ำความไม่น่าอยู่ของสังคมนี้อยู่เรื่อยๆ

จะมีก็เพียงครูสอนภาษาอังกฤษที่พอจะเข้าอกเข้าใจและช่วยติวให้เธอไปสอบชิงทุน กระนั้นตัวครูเองก็ดูเหมือนจะมีปัญหากับแฟนหนุ่มอยู่เสมอ หนังจึงไม่เพียงชี้ให้เห็นว่าวัยรุ่นไทยถูกคาดหวังให้อยู่ในกรอบ แต่การเป็นผู้หญิงไทยนั้นก็จำต้องอยู่ภายใต้อำนาจการจัดระเบียบของสังคมและสถาบันครอบครัวชายเป็นใหญ่ ความเดือดดาลอันเงียบงันของเด็กสาวจึงมาจากการดิ้นรนที่จะเป็นตัวของตัวเองในสังคมไม่ให้ค่าในสิ่งนี้ ครูสอนภาษาอังกฤษจึงกลายมาเป็นทางออกเดียวที่เธอฉวยคว้าไว้ได้ในความมืดมน

เบอร์มิวด้า ฉายให้เห็นการจากลาในหลายระดับ ในระดับแรกคือการเติบโตขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่หาทางออกไปจากโลกอันน่าอึดอัดคับแคบของคนรุ่นพ่อแม่ และในอีกระดับคือการจากกันของคนสองคนที่เส้นทางชีวิตได้ผันผ่านมาบรรจบกันในช่วงเวลาหนึ่ง กลายมาเป็นทางออกและที่พักพิงทางใจให้แก่กันชั่วครู่ชั่วคราว ก่อนจะจากกันไปตามเส้นทางของตน แน่นอนว่าหนังไม่มอบความหวังใดให้กับคนดู เพราะหลังจากที่ตัวละครได้มาเติมความหวังให้แก่กันจนจำต้องจากกันไป พวกเธอก็ต้องกลับเข้าสู่สภาพชีวิตเดิมของพวกเธอ ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากความสิ้นหวัง

Upside, Down (2017, ณัฐชนน วะนา และ สุวรรณชาติ สุวรรณเจริญ)

คู่รักหนุ่มสายอาร์ต – คนหนึ่งดีไซน์เสื้อผ้า อีกคนทำงานแสดง – ตัดสินใจทำร้านเหล้าในฝันด้วยกัน และก็เป็นอย่างที่บางคนเตือนเอาไว้ว่าอย่าทำธุรกิจกับคนรัก ทั้งสองหนุ่มต้องพบปัญหามากมายจนทะเลาะกันบ้านแทบแตกหลายต่อหลายหน แต่ก็ยังกลับมาปรับความเข้าใจ แสดงความรักใคร่ จูบกอดอย่างชื่นหวาน และมีเซ็กซ์เร่าร้อนได้อยู่เสมอ จนกระทั่งร้านเหล้าไปได้ดีกว่าที่หวัง สิ่งที่พรากพวกเขาจากกันจริงๆ กลับไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกเสียจากการหมดรักลงไปเฉยๆ มันจึงเป็นเรื่องราวของคู่รักที่แม้จะเหมาะสมกันทุกอย่างและยังคงเหลือเยื่อใยให้กันหลังเลิกรา แต่ทางเดียวที่ต่างคนต่างจะไปกันต่อได้ คือไปจากกัน

Upside, Down พาคนดูเข้าไปในมรสุมและช่วงสงบของความรักของพวกเขา ลัดเลาะไปตามจังหวะขึ้น-ลงบนทางรักของคนสองคนอย่างแนบชิด และปล่อยให้เราได้สังเกตการณ์ต่อหลังความสัมพันธ์ของพวกเขาพังทลายลง หนังโดดเด่นด้วยงานภาพที่จัดจ้าน สดสวย ซึ่งไม่เพียงฉายความเป็นศิลป์ที่รายล้อมโลกของตัวละครได้อย่างสมศักดิ์ศรี หากยังสื่ออารมณ์ของหนังได้อย่างงดงาม

แม้ว่าหนังสั้นเรื่องนี้จะดูเป็นหนังที่พลุ่งพล่านที่สุดในโปรแกรม ก็ไม่ได้แปลว่าหนังจะพร่องขาดความลุ่มลึกแต่อย่างใด นักแสดงทั้งคู่ ​(หนึ่งในนั้นคือ ปัถวี เทพไกรวัล หรือ Amadiva แห่ง Drag Race Thailand) มอบการแสดงที่ทรงพลัง ซับซ้อน และมีเลือดเนื้อจิตใจเสียจนทำให้ฉากธรรมดาๆ อย่างบทสนทนาในยามฟ้าสางชวนให้เราตกหลุมรักได้อย่างง่ายดาย พอๆ กับที่สายตาที่พวกเขามีให้กันในตอนท้ายนั้นชวนให้หัวใจเราเต้นตุบในจังหวะของความเจ็บปวด

ภาพติดตา (2015, พัฒนะ จิระวงศ์)

หนังเรื่องท้ายสุดของโปรแกรมคือเรื่องเดียวที่พาเราไปสำรวจตัวละครตอนชรา ‘พร้อม’ และ ‘ถนอม’ อดีตเพื่อนสมัยเรียนที่ผ่านชีวิตมหาวิทยาลัยในช่วงปี 2516 มาด้วยกัน มีความรักปรารถนาดีต่อกันอต่ไม่อาจครองคู่ร่วมกันได้ การแก่เฒ่าไปจากกันได้ผันผ่านไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังจึงเป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งก่อนจากกันตลอดกาล พร้อมกลับมาทวงสัญญาที่ถนอมเคยให้ไว้ว่าจะกลับมาพบกันอีกในวัย 70

ถนอมทำงานขุดค้นซากไดโนเสาร์ในชนบท จึงชักชวนพร้อมไปถ่ายภาพ timelapse ดวงดาวด้วยกันบนเขาในยามราตรี ถนอมอธิบายให้พร้อมฟังว่า ที่เราเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ก็เพราะภาพใหม่โผล่ขึ้นมาทั้งที่ภาพเก่ายังติดตาไม่ทันได้เหือดหาย หนังจึงใคร่ครวญถึงภาพติดตาที่ถูกฝังฝากไว้ในความทรงจำขณะที่สังขารเคลื่อนคล้อยไปตามกาลเวลา

สำหรับพร้อม ถนอมคือภาพติดตาที่ไม่อาจลบเลือน คือคนที่ผันผ่านเข้ามาเพื่อได้ดำรงอยู่กับเขาไปชั่วชีวิต แม้จะเป็นได้แค่เพียงในความคำนึงถึงหรือความทรงจำก็ตาม ภาพติดตาสำหรับเขาจึงอาจไม่ต่างไปจากซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่หลับใหลอยู่ใต้พื้นพิภพและหวนกลับมาหลอกหลอนขุนเขาในยามค่ำคืน หรือภัยพิบัติที่ฝังฝากบาดแผลรวดร้าวไว้ชั่วกาล จนกว่าจะถึงวันสูญสลาย

ภาพติดตาเป็นหนังสั้นที่ใคร่ครวญถึงความเปราะบางของสังขาร ความทรงจำ และกาลเวลาได้อย่างนุ่มนวล ลุ่มลึก หนังเล่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยสายตาของความเข้าอกเข้าใจ ในฐานะที่มันก็ไม่ต่างจากสิ่งอื่นบนโลกใบนี้ที่ล้วนไม่จีรัง มีพบ มีพราก มีการหวนคืน และมีจากอย่างไม่มีหวนกลับ ซึ่งทำให้หนังไม่ฟูมฟายจนเกินพอดี และปราศจากน้ำเสียงของการสั่งสอน (ว่า ‘ชีวิตก็เป็นเช่นนี้แหละ’) แต่ทิ้งคนดูไว้ด้วยความปวดร้าวอันแสนหนักหน่วงหัวใจ จนกล่าวได้ว่าหนังเข้าใจในความเป็นไปของโลก โดยไม่ลืมว่าความเป็นไปที่ว่านั้นแฝงเร้นไว้ด้วยความร้าวรานมหาศาล

Fact Box

โปรแกรมรวมหนังสั้น ‘We Won’t Grow Old Together แก่เฒ่าไปจากกัน’ จัดฉายเปิดตัวพร้อมพูดคุยหลังฉายกับผู้กำกับหนังทั้ง 4 ไปเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา โดยยังมีรอบฉายปกติที่ Doc Club Theater Warehouse 30 เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 25 เมษายนเป็นต้นไป สามารถติดตามรายละเอียดรอบฉายเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือเพจเฟซบุ๊กของ Doc Club Theater

Tags: , , , ,