คุณลืมตาตื่นขึ้นขณะที่แสงแดดจากภายนอกลอดผ่านช่องว่างระหว่างผ้าม่านที่ปิดไม่สนิทเข้ามากระทบใบหน้า คุณค่อยๆ ควานหาโทรศัพท์ที่ทำตกไว้ข้างเตียงเมื่อคืน แล้วพบว่าขณะนี้เป็นเวลาบ่าย 3 โมง 15 นาที คุณรู้สึกตกใจจนต้องลุกขึ้นนั่งเพื่อตั้งสติ หน่วยความจำในสมองเริ่มประมวลเหตุการณ์ และความทรงจำสุดท้ายก่อนหลับ และจำได้ว่าตัวเองเข้านอนตอน 5 ทุ่มโดยปราศจากตัวแปรที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย 

กระทั่งในวันรุ่งขึ้นคุณรู้สึกง่วงตลอดทั้งวันขณะนั่งทำงานในออฟฟิศ เริ่มทำอะไรช้าลง โฟกัสกับงานได้ยากขึ้น คุณยอมเสียสละเวลารับประทานอาหารกลางวัน เพื่อหาที่ฟุบหลับบริเวณโต๊ะทำงานแทน คนรอบตัวต่างมองว่าคุณไม่ดูแลตัวเองและเกียจคร้าน ทว่าบางครั้งคุณอาจไม่ได้ขี้เกียจหรือขี้เซา แต่กำลังเผชิญกับ ไฮเปอร์ซอมเนีย (Hypersomnia) หรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ

ไฮเปอร์ซอมเนียหรือโรคนอนเท่าไรก็ไม่พอ เป็นอาการของคนที่มีพฤติกรรมการนอนนานกว่าคนปกติ ซึ่งในการนอนแต่ละครั้งของคนที่มีอาการไฮเปอร์ซอมเนียจะกินเวลานานถึง 10 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป โดยที่ตื่นมาก็ยังรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนอยู่ ส่งผลให้ผู้มีอาการดังกล่าวคิดช้า พูดช้า ไม่มีสมาธิ และมีปัญหาเรื่องความจำ ในบางรายอาจมีภาวะมองเห็นภาพหลอนและวิตกกังวลร่วมด้วย ซึ่งอาการนอนเท่าไรก็ไม่พอมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 17-24 ปี

ถึงแม้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดไฮเปอร์ซอมเนีย แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อาการนอนเท่าไรก็ไม่พอน่าจะเชื่อมโยงกับระดับไฮโปเครติน (Hypocretin) หรือสารสื่อประสาทที่สำคัญในการควบคุมการตื่น เมื่อไฮโปเครตินอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ จะส่งผลให้สมองเกิดความผิดปกติในการควบคุมการตื่นและการนอน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึมในตอนกลางวันมากกว่าปกติ และเผลอหลับได้ง่ายแม้ในสถานการณ์ที่วุ่นวายหรือเสียงดัง 

นอกจากนี้ ระดับไฮโปเครตินที่ต่ำกว่าปกติยังส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Cataplexy) ไม่สามารถขยับร่างกายได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างเฉียบพลัน เช่น รู้สึกตกใจ รู้สึกกลัว รู้สึกโกรธ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตเมื่ออยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ในบางรายอาจเห็นภาพหลอนร่วมด้วยคล้ายอาการผีอำ

อาการที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาในการนอนหลับที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากไฮเปอร์ซอมเนียมีลักษณะอาการคล้ายกับหลายโรค เช่น โรคลมบ้าหมู โรคไข้สมองอักเสบ โรคปลอกประสาทเสื่อม หรือการเผชิญกับภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้รู้สึกง่วงตลอดเวลาได้

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา แพทย์จำเป็นต้องซักถามประวัติอย่างละเอียด เพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญกับชุดข้อมูลที่มีอยู่ จากนั้นแพทย์อาจให้ทำแบบสอบถามเรื่องการนอนหลับเพื่อประเมินคุณภาพการนอนของผู้ป่วย และเลือกใช้วิธี Polysomnography หรือที่เรียกว่าการตรวจสอบทางสรีรวิทยาในการนอนหลับ หนึ่งในวิธีศึกษาการนอนหลับที่นิยมมากที่สุด โดยตรวจสอบจากการวัดคลื่นสมองขณะที่เรานอนหลับ ประกอบกับสังเกตรูปแบบการหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ รวมถึงการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อขณะนอนหลับ ซึ่งการทดสอบจะดำเนินไปตามระยะเวลาที่เราหลับตลอดทั้งคืน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับวิธีการนอนและปัญหาอย่างละเอียด 

หลังจากการตรวจร่างกายและการนอนหลับอย่างถี่ถ้วน แพทย์จะทำการวินิฉัยและเลือกวิธีการรักษา หากพบว่าสาเหตุเกิดจากสารเคมีในสมอง แพทย์จะเลือกใช้ตัวยาที่กระตุ้นการตื่นตัวของร่างกาย เช่น แอมเฟตามีน (Amphetamine) ที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวและอารมณ์ ทำให้เรารู้สึกไม่เหนื่อยและไม่ง่วง โดยการใช้ยาประเภทนี้ต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอมเฟตามีนหากใช้เกินขนาดอาจเกิดอันตรายได้ และยาตัวนี้ยังถูกใช้เป็นยาเสพติดอีกด้วย

นอกจากนี้ ไฮเปอร์ซอมเนียยังเป็นภาวะแทรกซ้อนของการบาดเจ็บที่ศีรษะมากถึง 27% เนื่องจากระดับไฮโปเครตินจากน้ำไขสันหลังลดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน รวมถึงพบได้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease) ถึง 16-50% และยังพบร่วมกับโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม และโรคกล้ามเนื้อเสื่อม

ถึงแม้การเกิดอาการไฮเปอร์ซอมเนียจะยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ และเป็นโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่เราสามารถลดทอนอาการไฮเปอร์ซอมเนียได้ด้วยการรักษาวินัยในการนอน เช่น กำหนดเวลานอนและตื่นของตัวเองให้ตรงเวลา จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เอื้ออำนวยต่อการพักผ่อน เปิดแอร์เย็นๆ ปิดไฟไม่ให้มีแสงสว่างรบกวน แล้วโยนตัวเองลงบนที่นอนและหมอนนุ่มๆ ใช้ความพยายามและความอดทนในการบังคับร่างกายให้ทำงานเป็นระบบ เพื่อไม่ให้อาการง่วงซึมตลอดทั้งวันนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน

อ้างอิง

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21591-hypersomnia

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6139790/

Tags: , ,