‘อยากไปนั่งโง่ๆ ริมทะเล’

‘อยากเอาความรู้สึกแย่ๆ ไปทิ้งลงทะเล’

‘อยากไปนั่งจิบเบียร์ริมทะเล เผื่อจะสบายใจขึ้น’

ประโยคคลาสสิกสุดคุ้นหูคุ้นตา ที่เชื่อว่าใครหลายคงเคยได้ยิน หรือเคยได้ลองไปทำมาแล้ว

 

เมื่อไรก็ตามที่มวลความรู้สึกอันหนักอึ้ง กำลังซัดกระหน่ำเข้ามาในจิตใจ เหตุใดมนุษย์จึงรู้สึกโหยหา ‘ทะเล’

 

หากให้คิดคำตอบแบบเร็วๆ คงเพราะการอยู่ใกล้ทะเลทำให้สมองและประสาทสัมผัสของเราได้พักผ่อนจากถูกการกระตุ้นมากเกินไป เสียงต่างๆ รอบตัวไม่ได้ซับซ้อนและวุ่นวายเหมือนในชีวิตประจำวันปกติ กล่าวคือ ทะเลนั้นไม่ได้เงียบ แต่เสียงของคลื่นน้ำกระทบชายฝั่งกลับฟังง่ายกว่าเสียงพูดคุย เสียงเพลง หรือเสียงของการใช้ชีวิตในสังคมเมือง อธิบายอย่างเข้าใจง่ายๆ ให้ลองนึกภาพขณะที่ยืนอยู่บนชายหาด เมื่อทอดสายตามองออกไปยังท้องฟ้ารับกับท้องทะเล จะพบว่าการมองเห็นนั้นกว้างไกลและสบายตาขึ้นเมื่อเทียบกับห้องที่กำลังนั่งอยู่ตอนนี้ หรือตึกรามบ้านช่องในเมืองที่กำลังเดินผ่าน ซึ่งสถานที่ดังกล่าวอาจกระตุ้นให้สมองของเราได้รับข้อมูลจำนวนมากในทุกๆ วินาที

ทว่าเมื่ออยู่ใกล้ธรรมชาติในรูปแบบทะเล อย่างน้อยที่สุดเราจะมีโอกาสได้หยุดพักความรู้สึกนึกคิด เนื่องจากมีข้อมูลเข้ามากระทบโสตประสาทจำนวนน้อย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสมองของเราหยุดทำงาน สมองยังคงทำงานอยู่ แต่ในลักษณะที่ต่างออกไปด้วยความสงบ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะรู้สึกดีที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับทะเลและมองออกไปยังผืนน้ำ เพียงเพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของน้ำหรือแม้แต่แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนผิวน้ำเป็นเวลานานๆ

‘ความรู้สึกดีเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับทะเล’ ที่กล่าวในข้างต้น สอดคล้องกับงานวิจัยจากการวิเคราะห์และสำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรของอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสารเฮลท์เพลส (Health Place) พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีกว่ามีผู้ที่ไม่ค่อยได้อยู่ใกล้ชิดทะเล

นอกจากงานวิจัยดังกล่าว ริชาร์ด ชูสเตอร์ (Richard Shuster) นักจิตวิทยาคลินิก ก็ได้เคยอธิบายถึงประเด็นนี้ว่า “สีฟ้าของน้ำทะเลมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสงบและสบายใจ การจ้องมองไปที่น้ำทะเลสามารถเปลี่ยนแปลงความถี่ของคลื่นสมองมนุษย์ได้ ส่งผลให้เราอยู่ในสภาวะที่มีสมาธิเพิ่มขึ้น อีกทั้งการได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งที่ดังอย่างต่อเนื่องในขณะนอนหลับจะช่วยลดการกระตุ้นสมองลงได้อีกด้วย

“ทั้งภาพและเสียงของทะเลสามารถเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) ได้เป็นอย่างดี ทำให้สมองส่วนที่รับผิดชอบอารมณ์เครียดหดตัวและทำงานช้าลง ในขณะที่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจ การใช้เหตุผล และความจำขยายตัวมากขึ้น” ชูสเตอร์กล่าวต่อ

ระบบประสาทพาราซิมพาเทติกที่ว่านั้น มีหน้าที่ในการทำให้ร่างกายผ่อนคลายหลังผ่านจากความเครียด เมื่อระบบประสาทดังกล่าวถูกกระตุ้น จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง กล้ามเนื้อหูรูดในระบบทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะผ่อนคลายลง เพิ่มการทำงานของลำไส้และต่อมต่างๆ และผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้คือการประหยัดพลังงานและควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกายได้อย่างสมดุล

ชูสเตอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลิ่นของลมทะเลช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับไอออนลบในอากาศที่คนเราสูดหายใจเข้าไป” โดยอะตอมของออกซิเจนเหล่านี้มีอิเล็กตรอนพิเศษที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ เช่น น้ำตก มหาสมุทร และทะเล ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Journal of Alternative Complementary Medicine ชี้ให้เห็นว่า ไอออนลบสามารถใช้บำบัดและรักษาอาการจากโรคอารมณ์แปรปรวนได้

ความดีความชอบของทะเลที่มีต่อมนุษย์เรายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ดร.แมธิว ไวท์ (Mathew White) นักจิตวิทยาสังคมที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สุขภาพกายและสุขภาพจิต ระบุว่า พื้นที่สีน้ำเงินหรือสีฟ้าของน้ำทะเลและมหาสมุทรถือว่าได้เปรียบกว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ เนื่องจากน้ำมีผลในการฟื้นฟูสภาพจิตใจ กล่าวคือ การใช้เวลาอยู่ในสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยน้ำจะสามารถกระตุ้นอารมณ์เชิงบวก ลดอารมณ์เชิงลบและความเครียดได้มากกว่าพื้นที่สีเขียว

เช่นเดียวกันกับงานวิจัยทางภาพถ่ายสมองที่แสดงให้เห็นว่าการอยู่ใกล้ชิดกับน้ำทะเลมีความสัมพันธ์กับการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) และอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรู้สึกดีในสมองของมนุษย์ นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ฮาวายได้รับการจัดอันดับให้เป็นรัฐที่มีความสุขที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

วอลเลซ เจ นิโคลส์ (Wallace J. Nichols) นักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาทางทะเล อธิบายว่า ทะเลเป็นตัวกระตุ้นที่คอยบอกกับสมองของเราว่า ‘เราพาตัวเองมาอยู่ถูกที่แล้ว’ อีกทั้งสมองของคนเราชอบสีฟ้ามากกว่าสีอื่นๆ น้ำและสีของน้ำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจ่อ รวมถึงกระตุ้นความจำได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่าการตอบสนองของมนุษย์เราต่อน้ำทะเลและมหาสมุทรนั้นมีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้วสมองของเราจะตอบสนองต่อน้ำในเชิงบวก การอยู่ใกล้ชิดกับน้ำสามารถทำให้สงบสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม โดยทะเลและมหาสมุทรจะค่อยๆ ล่อลวงเราให้เข้าสู่สภาวะของการมีสมาธิและสติได้อย่างอ่อนโยน ซึ่งนิโคลส์เรียกว่า ‘สมองจะผ่อนคลายแต่มีสมาธิ’ สภาวะเช่นนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ด้วยกันหลายประการ ตั้งแต่การลดระดับความเครียด การบรรเทาความวิตกกังวล ความเจ็บปวด ภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงการปรับปรุงความชัดเจนภายในจิตใจและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ

เราต่างใช้ชีวิตกันอย่างวุ่ยวาย เร่งรีบ ทั้งยังผูกติดอยู่กับหน้าจอตลอดทั้งวันโดยไม่ค่อยเปิดโอกาสให้จิตใจและร่างกายของตัวเองได้พักผ่อนอย่างอิสระมากนัก การลองหอบความรู้สึกอันหนักอึ้งและร่างอันเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานไปสัมผัสกับบรรยากาศเงียบสงบบนชายหาด ด้วยการปล่อยให้เท้านาบไปกับพื้นทรายหยาบๆ ปล่อยให้น้ำซัดสาดกระทบผิว หรือแม้แต่วางสายตาไปยังพื้นที่สีฟ้าอันกว้างใหญ่ ท้องทะเลที่อยู่ตรงหน้าก็อาจเปรียบเสมือนยาบรรเทาความทุกข์ทางสุขภาพจิตชั้นดีให้กับเราได้

อย่างไรก็ตาม ‘การไปทะเลไม่อาจช่วยเยียวยาสภาวะทางใจได้ทั้งหมด’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รู้สึกสบายใจหรือสนุกสนานไปกับบรรยากาศเหล่านั้น ยังมีสถานที่ สิ่งแวดล้อม และวิธีการอื่นๆ อีกมากที่จะสามารถเยียวยาจิตใจของเราให้กลับมารู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน

Tags: , , , ,