คุณพาแฟนไปฉลองในวันสำคัญที่ร้านอาหารบนตึกสูงชั้นที่ 82 ท่ามกลางบรรยายกาศยามค่ำคืน เคล้าคลอกับแสงไฟวอร์มไลท์จากโซนโต๊ะอาหารที่ประดับไปด้วยแจกันใส่ดอกไม้สีสด และขวดแชมเปญราคาแพงที่ถูกเปิดไว้แล้ว 

คุณรู้สึกพิเศษราวกับเป็นชนชั้นสูง เพราะ ณ ขณะนั้นคุณกำลังนั่งมองหน้าคนรักอยู่บนอาคารชั้นสูงอยู่จริงๆ นั่นล่ะ ถึงแม้บรรยากาศสุดลักซูรี (Luxury) ภายในร้านอาหารจะกล่อมเกลาจิตใจคุณทั้งคู่ แต่ก็ไม่อาจลดทอนความงามของแสงสีจากตึก และท้องถนนที่ส่องสว่างราวกับดวงดาวได้เลย 

คุณมองทอดออกไปไกล ดื่มด่ำกับมุมมองที่แสนวิจิตรตรงหน้า ทว่าไม่นานก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาในหัว 

“ลองมองดูข้างล่างสิ” 

สายตาของคุณเปลี่ยนโฟกัสช้าๆ มองต่ำลงเรื่อยๆ คุณรู้สึกเสียววาบที่ท้อง ลมแรงตีปะทะเข้าใบหน้า แล้วอีกเสียงหนึ่งก็ดังขึ้น 

“ถ้ากระโดดลงไปจะเป็นอย่างไรนะ”

จู่ๆ ก็มีความคิดนี้แล่นเข้ามาในสมอง และอีกนับพันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันเวลาที่คุณมองลงมาจากที่สูง แน่นอนว่าเหตุการณ์รูปแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตรายหากคุณมีสติมากพอที่จะไม่ก้าวเท้ากระโดดออกไปตามที่ใจนึก แต่กลับเป็นสัญญาณที่ดีว่า ‘คุณยังอยากมีชีวิตอยู่’

‘High Place Phenomenon’ หรือ ปรากฏการณ์ถูกระตุ้นจากที่สูง ใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เรามีความรู้สึกอยากกระโดดลงไปเมื่อมองจากพื้นที่สูง ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับความรู้สึกในแง่ลบที่อยากทำร้ายตัวเอง แต่เป็นความคิดหรือแรงกระตุ้นที่เกิดจากสมองสั่งการให้ตอบสนองตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด

เรื่องนี้กลุ่มนักจิตวิทยาจาก Florida State University ในปี 2012 ได้ทำการสำรวจนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 431 คน ที่เคยพบเจอปรากฏการณ์ดังกล่าว และได้ข้อสรุปว่าปรากฏการณ์ถูกกระตุ้นจากที่สูงเป็นเพียงสัญชาตญาณการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย

เจนนิเฟอร์ ฮาเมส (Jennifer Hames) หัวหน้าการวิจัย An urge to jump affirms the urge to live: An empirical examination of the high place phenomenon ในปี 2012 กล่าวว่า สมองของเราจะตอบสนองต่อสัญชาตญาณไวมากๆ และยิ่งตอบสนองไวก็ยิ่งมีสิทธิ์ผิดพลาดได้มาก โดยปกติเมื่อเราเห็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการผลัดตกลงไป เช่น หน้าผา บริเวณตึกสูง หรือสะพาน สมองจะประมวลผลว่าพื้นที่เหล่านี้อันตราย ควรหลีกเลี่ยงและก้าวถอยออกไป ทว่าการตอบสนองที่รวดเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม ปฏิกิริยาจากกลไกป้องกันตนเองจะสั่งให้เรากระโดดออกไปแทนที่จะถอยออกมา สะท้อนถึงความอ่อนไหวต่อสัญชาตญาณภายในและความตั้งใจที่อยากจะมีชีวิตอยู่ และเป็นเพียงความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวเพียงชั่วขณะเท่านั้น 

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ นอกจาก High Place Phenomenon จะไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการโฟเบีย (Phobia) ที่เกิดจากอาการกลัวที่ผิดปกติแล้ว ยังไม่เชื่อมโยงกับความเครียดและความคิดที่อยากจะทำร้ายตัวเองอีกด้วย จากรายงานการวิจัย High place phenomenon: prevalence and clinical correlates in two German samples ในปี 2020 ระบุว่า การสำรวจผู้เข้าร่วมกว่า 276 คน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีความวิตกกังวล และผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับการกลัวความสูงจำนวน 94 คน พบว่าผู้เข้าร่วม 60% เคยพบเจอกับปรากฏการณ์ถูกกระตุ้นจากที่สูง และ 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่รู้สึกถึงอันตรายหรือความรู้สึกที่อยากทำร้ายตัวเอง 

ถึงแม้ High Place Phenomenon จะไม่อันตรายและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทว่ายังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับกลุ่มคนที่มีอาการวิตกกังวล เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีความไวต่อปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อันตรายมากกว่าปกติ อาจส่งผลให้เกิดการตกใจอย่างรุนแรง ชีพจรเต้นเร็วและหายใจไม่ออก นอกจากนี้กลุ่มคนที่มีอาการวิตกกังวลยังมีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ถูกกระตุ้นจากที่สูงได้มากกว่าคนทั่วไป 

อีกทั้ง High Place Phenomenon ก็ยังคงอันตรายหากไม่มีสติมากพอ ดังนั้นในครั้งหน้าที่คุณเดินทางขึ้นไปยังจุดชมวิวแล้วต้องการมองลงไปข้างล่าง ให้ระลึกไว้เสมอว่า ร่างกายและสมองของคุณกำลังกลัวอยู่ทุกขณะ มนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นสัตว์ที่หากินบนพื้นที่สูง ความตั้งใจของคุณกำลังฝืนสัญชาตญาณภายใน คุณค่อยๆ ถอยออกมาสักก้าวสองก้าว มองตรงไปข้างหน้า กวาดสายตาเพื่อเก็บเกี่ยวทิวทัศน์อันสวยงาม คอยระวังไม่ให้ตัวเองเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงมากเกินไป และดื่มด่ำกับบรรยากาศบนพื้นที่สูง 

Tags: ,