เพลงรำวงวันสงกรานต์ดังมาจากลำโพงของคนข้างบ้าน ปะปนไปกับเสียงจอแจของเด็กๆ ที่กำลังเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ไม่นานเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น แม่และพ่อชวนคุณออกไปทำบุญในวันนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล คุณตอบกลับแบบปัดๆ ก่อนวางสายด้วยน้ำเสียงอิดโรย พอๆ กับที่ปฏิเสธกลุ่มเพื่อนที่ชวนคุณออกไปโยกย้ายส่ายสะโพกในค่ำคืนนี้ สิ่งแวดล้อมภายนอกกระตุ้นให้คุณมุดตัวลงในผ้าห่ม แทนที่จะออกมาสูดอากาศต้อนรับเทศกาลวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทย
คุณนึกย้อนกลับไปในช่วงวัยรุ่นที่รู้สึกตื่นเต้นกับทุกเทศกาล หรือวันพิเศษที่เกิดขึ้น รู้สึกมีความสุขกับอะไรง่ายกว่านี้ รู้สึกมีพลังเปี่ยมล้นอยู่ตลอดเวลา ทว่าเมื่ออายุก้าวเข้าสู่วัยเลขสาม ความทะเยอทะยานง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องยาก รู้สึกตกหลุมรักอะไรได้น้อยลง ขณะที่ความเกลียดชังเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ คือคุณในตอนนี้มองโลกต่างออกไปจากเมื่อก่อน แล้วทำไมยิ่งอายุมากขึ้นเรายิ่งอินกับเทศกาลน้อยลง
ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งตื่นเต้นกับอะไรได้น้อยลง
ในงานวิจัย Age-related changes in midbrain dopaminergic regulation of the human reward system ที่เผยแพร่ในปี 2008 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างอายุกับการตอบสนองของสมองเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า พบว่า ยิ่งเราอายุมากขึ้นสมองจะตอบสนองต่อระบบการได้รับรางวัล (Reward System) หรือการตอบสนองต่อความพึงพอใจเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นได้น้อยลง ซึ่งเชื่อมโยงกับระดับการตอบสนองของสมองต่อโดปามีน (Dopamine) หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ สร้างแรงจูงใจ และสร้างความสุข พูดง่ายๆ คือ ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นยิ่งรู้สึกตื่นเต้นหรือกระตือรือร้นน้อย
นอกจากระดับการหลั่งของโดปามีนที่เปลี่ยนแปลงแล้ว นักวิจัยยังพบอีกว่า สมองของวัยรุ่นตอบสนองต่อสถานการณ์และความคาดหวังได้ดีกว่าผู้สูงอายุ โดยสมองจำนวนสามส่วนของวัยรุ่นจะทำงานเมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจจากอะไรบางอย่าง ขณะที่สมองของคนที่มีอายุมากกว่าจะทำงานได้เพียงส่วนเดียวเมื่อถูกกระตุ้นในลักษณะเดียวกัน นี่จึงเป็นหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า ไม่ใช่แค่ประสบการณ์หรือความเคยชินเท่านั้น ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นกับอะไรได้น้อยลง
เพราะความจนก็มีส่วนที่ทำให้ไม่อยากออกไปไหน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราอินกับอะไรได้ยากขึ้น คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ความจน’ เพราะเมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีอารมณ์ไปเอนจอยกับอะไรทั้งนั้น ลองตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเองดูว่า ถ้าวันนี้เราเงินน้อย เราจะกล้าออกไปเที่ยวที่ไหนหรือเปล่า ซึ่งเดาว่าหลายคนก็ต้องตอบว่า “ไม่ไป” เป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว ทีนี้ความจนมันไม่ได้เรียกร้องแค่เงิน แต่ยังเรียกร้องเวลา การทำงานหนัก ศักยภาพของร่างกาย ความคิด และจิตใจ ซึ่งส่งผลให้ทุกครั้งที่มีวันหยุดเทศกาล เรามักจะเลือกพักผ่อนอยู่บ้านเพื่อประหยัดทั้งเงิน เวลา และร่างกาย มากกว่าที่จะออกไปเที่ยวหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม
จากการสำรวจสถิติการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมในประเทศแถบยุโรป เปรียบเทียบระหว่างปี 2015 กับ 2022 พบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้สูงเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึง 2 เท่า ซึ่งบ่งชี้ว่าการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม หรือประเพณี ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและเงินในกระเป๋าของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย ถึงแม้ประเทศในแถบยุโรปมีความต่างระหว่างกลุ่มคนรายได้น้อยกับรายได้สูงในระดับที่ไม่มาก แต่หากเทียบกับประเทศบัลแกเรียที่มีอัตราส่วนคนจนและคนรวยที่ค่อนข้างแตกต่างกัน จะพบว่า แนวโน้มการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของพวกเขาต่างกันถึง 6.5 เท่า
นอกจากนี้ ผลการสำรวจข้างต้นยังระบุอีกว่า เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีอายุระหว่าง 16-29 ปีนั้นสูงกว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 2 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุมีความสนใจหรือกระตือรือร้นกับการเข้าร่วมเทศกาลหรือกิจกรรมทางสังคมน้อยลง ซึ่งเชื่อมโยงกับผลการวิจัยเรื่องการตอบสนองต่อสิ่งเร้าในผู้สูงอายุดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ถึงอย่างนั้นความเคยชิน ความเพิกเฉย หรือจุดอิ่มตัวของผู้คนในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมด้วย
บริบททางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ก็มีส่วน
ในงานวิจัย Culture, Aging, Self-Continuity, and Life Satisfaction ที่เผยแพร่ในปี 2022 เกี่ยวกับความแก่ชราและความพึงพอใจในชีวิตระหว่างชาวจีนกับชาวแคนาดา พบว่า ผู้สูงอายุมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุชาวจีนมีระดับความพึงพอใจมากกว่าผู้สูงอายุชาวแคนาดา โดยผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า รูปแบบทางวัฒนธรรมมีผลต่อความคิดในเชิงจิตวิทยาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คนเอเชียอาจรู้สึกกระตือรือร้นน้อยกว่าคนตะวันตก สืบเนื่องจากศาสนา ค่านิยมทางสังคม และวัฒนธรรม
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกไม่อินกับเทศกาลอะไรเลย มันไม่สำคัญเท่าคุณรู้สึกสบายใจหรือไม่ที่จะยืนอยู่ตรงนั้น เพราะไม่ใช่เรื่องผิดที่คุณจะรู้สึกดีกับการใช้เวลาอยู่บ้าน เพื่อดูซีรีส์ อ่านหนังสือ หรือทำอาหารกินกันในครอบครัวเล็กๆ โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกไปร่วมกิจกรรมทางสังคม เพราะแก่นของเทศกาลคือ การที่ทุกคนมีความสุข ดังนั้นเลือกทำในแบบที่ตัวเองมีความสุขจะดีกว่า
ที่มา
https://www.pnas.org/doi/abs/10.1073/pnas.0802127105
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC9514170/
Tags: Reward System, สมอง, Dopamine, เทศกาล, สารโดปามีน, สงกรานต์, สารสื่อประสาท, Knowledge, Wisdom, Excitement, Motivation, Age, Cultural Festival