Rotis คบกันแค่ 4 ตอน แต่มีเคมีเยอะกว่า Motis รวมกัน 4 ซีซันอีกมั้ง

ถ้าพส.นักซูจะไม่เลือกนายน้อยซอยุล ก็ยกพี่เขาให้หนูเถอะ

มั่นใจคนไทยเกินล้านเคยดู Reply 1988 แล้วเผลอลงเรือจองฮวันเพราะนึกว่ามันเป็นพระเอก

เดาว่าผู้อ่านหลายคนที่ตัดสินใจหยุดไถหน้าจอเพื่ออ่านบทความนี้ อาจเคยประสบกับสถานการณ์คล้ายกันที่ทำให้ลึกๆ ก็รู้สึกสงสัยว่า ทำไมหัวใจของเราจึงชอบไม่รักดีไปเลือกปันใจให้บรรดาพระรองนางรองในหนังหรือซีรีส์ทั้งหลาย ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกตั้งแต่แวบแรกที่เห็นตำแหน่งการจัดวางบนโปสเตอร์แล้วว่า ตัวละครที่เราเชียร์คงไม่มีทางสมหวังแน่

มากไปกว่านั้น บางคนยังเสพติดเป็นนิสัย ชนิดที่ว่าต่อให้นักแสดงหน้าตาตรงสเป็กคนเดิมที่เล่นบทพระรองที่เราเคยเชียร์ จะมีโอกาสไต่ขึ้นไปแสดงเป็นพระเอกที่เด่นขึ้นในเรื่องถัดไป สุดท้ายเราก็อดไม่ได้ที่จะเปลี่ยนใจไปเชียร์พระรองคนใหม่ในเรื่องนั้นอยู่ดี

       อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Second Lead Syndrome’ หรือ ‘ซอบือพยอง’ ในภาษาเกาหลี หมายถึงโรคชอบเผลอใจเชียร์ตัวละคร ‘เบอร์สอง’ (Second Lead) มากกว่าตัวละครเอก (First Lead) และแน่นอนว่ามันไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป

เพราะเสน่ห์ที่ ‘ต่างขั้ว’ กับตัวเอก

       เมื่อพูดถึงตัวละครที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของตัวเอก เราอาจนึกถึงคำว่า Antagonist ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘ฝ่ายศัตรู’ ของตัวเอกในภาษาไทย ซึ่งมีความหมายห่างไกลจากบทพระรอง/นางรองพอสมควร แต่ในโลกวรรณกรรมวิจารณ์ ยังมีตัวละครอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ฟอยล์’

ฟอยล์ (Foil) หมายถึงตัวละครที่แตกต่างกับอีกตัวละครหนึ่งอย่างสุดขั้ว เช่นเดียวกับสีคู่ตรงข้ามที่มักดูสดใสเด่นชัดขึ้นเมื่อถูกวางในตำแหน่งเคียงข้างกัน เมื่อตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะต่างขั้วกันต้องมาร่วมชะตากรรมกัน ความแตกต่างของทั้งคู่ก็จะขับเน้นคาแรกเตอร์ของกันและกันให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ตัวละคร ‘คิม จองฮวัน’ และ ‘ชเว แท็ก’ จากเรื่อง Reply 1988 ที่ไม่ได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็น ‘Protagonist/Antagonist’ ของเรื่องเพราะไม่ได้มีปมขัดแย้งอะไรจนต้องกลายเป็นศัตรูกัน แต่ด้วยบุคลิก ลักษณะนิสัย และวิธีการเข้าหานางเอกที่แตกต่างกันของทั้งคู่ ทำให้ทั้งจองฮวันและแท็กต่างเป็นตัวละครที่โดดเด่นจนได้รับความนิยมทั้งคู่ กล่าวได้ว่าพวกเขาเป็นตัวละครฟอยล์ของกันและกัน

(* คำเตือน: เนื้อหาในย่อหน้าถัดไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Reply 1988)

ทีมเขียนบทใช้ประโยชน์จากความแตกต่างที่ลงตัวของทั้งคู่ สับขาหลอกเสียจนแฟนซีรีส์ส่วนหนึ่งเชื่อสนิทใจว่า พระเอกของเรื่องน่าจะเป็นจองฮวันแน่ๆ ในขณะที่แท็กเองก็ได้รับความรักและเสียงเชียร์จากคนดูอีกกลุ่มในฐานะพระรองมาโดยตลอด ก่อนที่เนื้อเรื่องจะค่อยๆ เฉลยในตอนท้ายว่า แท็กต่างหากที่ได้ลงเอยแต่งงานกับนางเอก

ภาพ: Reply 1988 (2015)

ในกรณีนี้ หากตัวละครที่ตรงสเป็กของเรามากกว่าได้ลงเอยกับนางเอกและกลายเป็น ‘พระเอก’ ในตอนท้ายก็ถือว่าดีไป แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบผู้ชายบุคลิกนุ่มนิ่มแบบแท็ก หรือต่อให้ในตอนนั้น ตัวละครที่ได้ลงเอยเป็นพระเอกคือจองฮวัน ก็ย่อมไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบผู้ชายปากร้ายใจดีแบบเขา ทำให้พวกเราบางคนเผลอเอาใจช่วยตัวละครที่ต่างขั้วกันอย่างแท็กมากกว่าอีกจนได้

เพราะ ‘คนที่ดี’ ไม่เท่ากับ ‘คนที่ใช่’ เสมอไป (แต่ไอ้เราก็ดันชอบคนดีซะด้วย ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย)

       ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกสักกี่ปี เนื้อเรื่อง ‘คนที่ดี VS คนที่ใช่’ ก็จะยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ เนื่องจากข้อบกพร่อง ด้านที่เปราะบาง และความไม่เพอร์เฟกต์ของตัวละครเอกนี่แหละ คือวัตถุดิบชั้นดีที่จะนำไปสู่การผูกและสางปมให้เนื้อเรื่องมีพลวัตและมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น

(* คำเตือน: เนื้อหาในย่อหน้าถัดไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ Sex Education)

       โอทิส (Otis) และเมฟ (Maeve) จากซีรีส์ Netflix Original เรื่อง Sex Education ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของตัวละครคู่เอกที่ตกอยู่ในภาวะ ‘ยึกๆ ยักๆ’ แม้ต่างฝ่ายจะต่างรู้สึกดีต่อกันมาตั้งแต่ซีซันแรก แต่กลับมีเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจไม่เดินหน้าทำตามหัวใจของตัวเองเสียที อีกทั้งยังเผลอทำร้ายใจกันและกันโดยไม่รู้ตัวอยู่เรื่อยๆ กว่าพวกเขาจะได้รักกัน เรื่องราวก็ล่วงเลยผ่านมาแล้วถึง 3 ซีซัน

ภาพ: Sex Education (2019-2023)

ขณะเดียวกัน รูบี้ (Ruby) ตัวละครสมทบหญิงที่มีบทบาทรองลงมา กลับมีโอกาสได้สานสัมพันธ์และคบหากับโอทิสในระหว่างซีซัน 3 น่าแปลกที่ความสัมพันธ์ที่มีความยาวเพียง 4 ตอนสั้นๆ กลับแสดงให้เห็นเคมีที่เข้ากันอย่างประหลาด

แม้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะถูกตัดจบลงอย่างรวดเร็ว แต่อาจเพราะในระหว่างที่คบกับโอทิส รูบี้ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการตัวละครในระดับก้าวกระโดด ผ่านการเติบโตและความทุ่มเทที่เธอมีต่อความรัก ชาวด้อมส่วนหนึ่งที่มองเห็นพัฒนาการนี้ ย่อมอดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยให้เธอมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับโอทิสอีกครั้ง แม้จะรู้ว่าสุดท้ายแล้วโอทิสคงไม่เปลี่ยนใจจากเมฟง่ายๆ

เพราะเรื่องรักที่ ‘ไม่สมหวัง’ ก็สวยงามไม่แพ้กัน

       ถ้าคุณเคยได้ยินและเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า หนังรักจบเศร้าในตำนานอย่าง 500 Days of Summer หรือ La La Land คงไม่มีทางติดตรึงอยู่ในใจผู้คนได้นานขนาดนี้ หากพวกเขาเปลี่ยนตอนจบเป็นแบบแฮปปี้เอนดิ้ง คุณอาจเข้าใจสาเหตุที่คนบางคนรักที่จะอกหัก (ทิพย์) ไปพร้อมๆ กับตัวละครเบอร์สองได้ไม่ยาก

เพราะความรักที่ไม่สมหวัง เป็นความรักที่เราพบเจอในชีวิตจริงได้ง่ายกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย แน่นอนว่าคนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะหลีกหนีจากความเป็นจริงที่เจ็บปวดด้วยการเสพเรื่องรักแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้ง เรื่องราวความรักรสหวานอมขมผุๆ พังๆ คล้ายๆ กับความรักที่เราพบเจอในชีวิตจริงนั้น กลับสามารถทำงานกับความรู้สึกของเราได้อย่างทรงพลังมากกว่ารักที่สวยงามดังหวังทุกประการ

Tags: , , , , , , ,