โอโช (Osho) คือนามแปลกหูที่เราได้ยินผ่านหูเมื่อเกือบสิบปีก่อน หลังจากมีการแปลหนังสือเกี่ยวกับเขาเป็นภาษาไทยหลายต่อหลายเล่ม และเท่าที่จำได้ เราเองก็ไม่ได้ยินแง่ลบของเขาและเหล่าผู้ติดตามเท่าไหร่นัก จะมีก็แต่คำพูดปากต่อปากว่าให้ลองศึกษาคำสอนของเขาดูเพราะมันจะดีต่อเรา โดยมีหนังสือแปลเหล่านั้นบนชั้นเบสต์เซลเลอร์ในร้านหนังสือเป็นข้อยืนยันกลายๆ

เราเข้าใจมาตลอดว่าเขาเป็นเพียงผู้เผยแพร่คำสอนทางเลือกคนหนึ่งในอินเดียที่ไม่ได้มีความน่ากังขา และคำสอนของเขาก็ไม่ได้น่าสงสัย แต่เมื่อไม่นานมานี้ Wild Wild Country สารคดี 6 ตอนที่ฉายทาง Netflix ก็ได้เล่าเรื่องราวสุดเดือดที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลกในช่วงปี 1981-1990 ให้เราฟัง

—ไม่ใช่เพื่อเปิดเผยแง่ลบของโอโชผู้ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในนาม ภควัน ชรี ราชณีช (Bhagwan Shree Rajneesh) กับเหล่าผู้ติดตามที่เรียกตัวเองว่า ‘สันยาสิน’ และไม่ใช่เพื่อดิสเครดิตคำสอนของเขา เพราะสารคดีเรื่องนี้แทบไม่ได้แตะต้องคำสอนและวิถีปฏิบัติเหล่านั้น แต่เพื่อสาดแสงไฟเข้าไปยังมุมมืดของฉากละครขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘ราชณีชปุราม’ และเปิดโอกาสให้ตัวละครสำคัญที่ซ่อนอยู่หลังม่านได้ออกมาปรากฏตัว พร้อมกับท้าทายความเข้าใจที่ว่า สิ่งที่เห็นเท่านั้นคือความจริง (หรือไม่)

เพราะหากจะเปรียบสารคดีเรื่องนี้เป็นงานศิลปะสองมิติชิ้นหนึ่ง เราจะเห็นเทคนิคการตัดปะที่ไม่เนียนเรียบ ขอบของวัตถุที่ฉีกขาดจนไม่เป็นรูปร่าง และสีโทนร้อนอย่างแดง ส้มอิฐ ชมพู และม่วงเข้มนั้น ยังมีวัตถุตัดปะอีกหลายชิ้นซ่อนตัวอยู่ด้านล่าง และไม่ว่าเราจะฉีก จะแคะ จะกรีดพื้นผิวของงานชิ้นนั้นเท่าไหร่ สิ่งที่ซ่อนอยู่ก็ไม่เผยออกมาให้เห็นสักที

ในตอนต้นเรื่อง สารคดีเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เราทุกคนต่างอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง อยากมีที่ที่สามารถสูดหายใจได้เต็มปอด มองไปทางไหนก็รู้สึกพอใจกับชีวิต และรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลก นั่นคือสิ่งที่ทำให้เหล่าสันยาสินหรือผู้ติดตามของโอโชได้มารวมตัวกันที่เมืองพูนา ประเทศอินเดีย อันเป็นที่ตั้งของอาศรมราชณีช ที่เปิดให้ผู้ที่เชื่อในคำสอนของโอโชได้เข้ามาฟังเขากล่าวปาฐกถา ร่วมกันบำเพ็ญสมาธิตามวิธีของเขา และใช้ชีวิตร่วมกันกับสมาชิกคนอื่นอย่างสงบสุขราวกับเป็นครอบครัวเดียวกันในชุดสีส้มแดง โดยมีตัวโอโชเป็นดั่งศาสดาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเพียงอย่างเดียวของพวกเขา

ไม่ใช่เพียงชาวอินเดียเท่านั้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ แต่ยังรวมถึงและขยายวงไปยังคนจากพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโลกตะวันตก ซึ่งถูกเล่าผ่านตัวละครอย่าง ‘นิเรน’ อดีตนักกฎหมายชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างยิ่ง แต่รู้สึกชีวิตวนเวียนอยู่แต่กับงานและขาดความหมายที่แท้จริง และ ‘เจน’ หญิงสาวชาวออสเตรเลียที่รู้สึกล้มเหลวกับการใช้ชีวิตคู่และการมีลูกจนรู้สึกเคว้งคว้าง

ความอ่อนแอ เปราะบาง และความผิดหวังในชีวิต นำพาให้ทั้งสองเดินทางไปยังอาศรมที่เมืองพูนา ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอันอบอุ่นที่มีสภาพคล้ายคลึงกับคอมมูน เงินไหลเข้ามายังชุมชนและมูลนิธิราชณีย์จากการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังในทุกแผนกของสมาชิก และจากคนภายนอกที่เดินทางเข้ามาสมทบอย่างไม่ขาดสาย เพื่อจะได้พบกับตัวจริงของโอโชและได้สัมผัสออร่าของเขา จนในที่สุดชุมชนและก็เติบโตทั้งด้านความเชื่อและการเงินจนดูเหมือนจะเกิดการปะทะกันระหว่างโอโชและรัฐบาลอินเดียในตอนนั้น

นี่เองคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ มา อนันด์ ชีลา (Ma Anand Sheela) เลขาส่วนตัวของโอโช ประธานมูลนิธิฯ คนถืออำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดในคอมมูน ผู้ซึ่งโหดเหี้ยม เด็ดขาด บ้าอำนาจ มีความเป็นผู้นำสูง ไม่ยอมใคร และเป็นมนุษย์สุดซับซ้อนที่เป็นตัวเดินเรื่องทั้งหมดนี้ เข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงการขนาดมหึมา นั่นคือการสร้างเมืองใหม่ให้เป็นดั่งสวนสวรรค์ของโอโชและเหล่าสันยาสิน และเปิดให้เหล่าสันยาสินจากทั่วโลกเยี่ยมเยือนปีละครั้งดั่งเทศกาลรื่นเริง และนั่นจะอาจไม่นำไปสู่ฉากละครที่ยืดยาวเพียงนี้ หากที่ตั้งของเมืองใหม่นั้นไม่ใช่สหรัฐอเมริกา

ชีลา ขณะเข้าพบโอโช

หลังจากนั้น สารคดีเรื่องนี้ก็มาถึงจุดเดือดนับครั้งไม่ถ้วนอย่างที่เราแทบจะกดดูตอนต่อไปจนจบได้ในรวดเดียว นิเรน เจน และเหล่าสันยาสินติดตามโอโชไปยังเมืองเอนเทโลป (Antelope) รัฐโอเรกอน โดยการนำของชีลา และใช้ความสามารถของตนในการสร้างคอมมูนของตัวเอง ทั้งนักผังเมือง วิศวกร นักกฏหมาย แพทย์ พยาบาล และนักบัญชี ได้ร่วมกันลงมือก่อสร้างตึกนับสิบ ทะเลสาบ และแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วยน้ำแรงของพวกเขา รวมทั้งสร้างระบบการเงินและการปกครองที่แข็งแรง ที่นั่นเอง โอโชมีรถโรลสรอยส์กว่ายี่สิบคัน มีนาฬิกาและเครื่องประดับเพชรมากมาย มีเครื่องบินเลียร์เจ็ตเป็นของตัวเอง และอาศัยอยู่ในบ้านหรู ส่วนชีลาเองก็อาศัยอยู่ในบ้านหรูอีกหลังหนึ่งพร้อมกับเหล่าคนสนิทของเธอ

เหล่าผู้ศรัทธาในโอเรกอนที่มารอต้อนรับโอโช

เมื่อผู้ติดตามของโอโชเริ่มไหลหลากเข้ามาจากทั่วโลกและเริ่มใช้ชีวิตในแบบของพวกเขา (ทั้งการทำสมาธิแบบโอโชและการมีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงานอย่างเปิดเผยซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของชาวคาทอลิค) ชาวเมืองแอนเทโลปก็เริ่มตื่นกลัวจนเอาปืนออกมาแกว่งไกวด้วยหวังว่าจะทำให้เหล่าสันยาสินถอยหนีและกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบและพอเพียงอย่างที่พวกเขาให้คำสัญญาไว้ แต่มันกลับทำให้ชีลาสั่งซื้อปืนเป็นสิบๆ กระบอกเพื่อให้เหล่าสันยาสินมาฝึกซ้อม พร้อมรับมือกับชาวแอนเทโลป จนชาวเมืองและคนในพื้นที่ตื่นกลัวและรู้สึกว่าการขยายตัวของชุมชนนี้เป็นภัยแก่ตนและสังคมอเมริกาที่น่ายกย่อง

แล้วสงครามที่ยืดยาวก็เริ่มต้นขึ้น เริ่มจากการปะทะกันเพียงแค่ในพื้นที่ระหว่างชาวแอนเทโลปกับคอมมูนของภควัน นำไปสู่การกว้านซื้อที่ดินรกร้างของชาวแอนเทโลปเพื่อยื่นขอเปลี่ยนคอมมูนให้เป็นเมืองอย่างเป็นทางการ การพยายามเอาสันยาสินเข้าไปเป็นสมาชิกของเคาน์ตีเพื่อปกป้องเมืองไม่ให้ถูกยุบ และความไม่สงบล้านแปด ทั้งระเบิด วางเพลิง วางยา วางแผนฆาตกรรม ฯลฯ ที่คืบคลานเข้าไปถึงเมืองหลวงของรัฐโอเรกอนอย่างพอร์ตแลนด์ ทำให้สถานการณ์ลุกลามใหญ่โต จากระดับชุมชน กลายเป็นระดับเมือง ระดับรัฐ ไปถึงระดับประเทศ ผู้มีส่วนร่วมมีทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล และเอฟบีไอ และประเด็นก็แตกแยกย่อยจากเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลทั้งเรื่องศาสนาและเรื่องเพศ ไปสู่การลักลอบพาคนเข้าเมือง การสร้างสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง และการ ‘โหน’ รัฐธรรมนูญของอเมริกาของทุกฝ่ายที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเรื่อง

จนมาถึงตอนกลางเรื่อง เราจึงเห็นว่านอกจากจะมีการเก็บฟุตเตจในช่วงเกือบสิบปีนั้นไว้จำนวนมหาศาล จุดเด่นและจุดแข็งของสารคดีเรื่องนี้คือการที่ผู้สร้างไปตามเอาตัวละครหลักของเรื่องนี้มานั่งให้สัมภาษณ์ได้ครบทุกคน (ยกเว้นโอโชที่เสียชีวิตไปแล้ว) ตั้งแต่ผู้กุมบังเหียนอย่างชีลา, เจน หญิงสาวจิตใจดีที่มาอยู่ในกลุ่มปฏิบัติการที่ถูกเรียกว่า Sheela’s Lieutenants จนกลายเป็นมือขวาที่ชีลาไว้วางใจให้ทำเรื่องคอขาดบาดตาย, นิเรน สมาชิกตัวเป้งที่กลายมาเป็นทนายและคนสนิทคนหนึ่งของโอโชในช่วงท้าย, ซันไชน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคอมมูน, ชาวแอนเทโลปสี่คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านและขับไล่เหล่าสันยาสิน, เหล่าอัยการที่ทำคดีนี้, นักข่าวสายสืบสวน และนักผังเมืองที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ในคอมมูน

ในขณะที่ผู้สร้างสารคดีตัดปะคำพูดเหล่านั้นกับเพลงคันทรี่จังหวะดีความหมายแสบสันต์เข้าด้วยกันอย่างสนุกมือ จนผู้ชมไม่มีเวลาได้หายใจจนนาทีสุดท้าย สิ่งที่เรากลับตื่นตาตื่นใจมากกว่าคือผู้สร้างได้ปล่อยให้ชีลา นิเรน และเจน รวมถึงตัวละครหลักอีกเกือบสิบตัวนั้นได้พูดอย่างที่พวกเขาอยากจะพูด ได้เล่าอย่างที่พวกเขาอยากจะเล่า ได้แสดงออกซึ่งตัวตนที่พวกเขาอยากจะเป็น และได้รังสรรค์และต่อเติมเรื่องเล่าเหล่านั้นด้วยคำพูดของพวกเขาเองอย่างเต็มที่ และนี่เองที่นำมาซึ่ง ‘อำนาจ’ ในการกำหนดความเป็นไปของเรื่องเล่า อย่างที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ในสารคดีเรื่องอื่นไม่เคยทำได้มาก่อน

โดยเฉพาะชีลาที่เป็นดั่งแกนกลางของทุกคู่ความขัดแย้ง นั่นคือหากไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งของคู่ขัดแย้งนั้น ก็เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้สองคู่ความขัดแย้งหัวหมุน และไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือไม่ ชีลาได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงตัวตนนั้นเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นใช้ท่าทีและคำพูดที่สวยงามเพื่อแสดงความศรัทธาอันแรงกล้าที่ตนมีต่อโอโช พูดถึงความสามารถในการนำชุมชนไปสู่เป้าหมายที่เธอคาดหวัง และล้างบาปที่ตนก่อ โดยที่ผู้สร้างเองก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือพยายามหาคำตอบให้กับข้อสงสัยที่ลอยอยู่บนหัวผู้ชม ทั้งนี้เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขา

ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า โอโชรับรู้ถึงสิ่งที่ชีลาทำหรือไม่? เขามีส่วนต้องรับผิดชอบแค่ไหนกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้? ตอนวางแผนจะสร้างเมกาโปรเจคเขาเป็นต้นคิดหรือเปล่า? แล้วเขาจะไม่รู้เชียวหรือ ว่ามันต้องใช้เงินมากขนาดไหนแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น? คนที่วางแผนวันตายของตัวเองเพื่อเป็นสัญลักษณ์จะไม่รู้อะไรเลยจริงหรือ? และคำถามอื่นอีกมากมายที่จะต้องผุดพรายขึ้นมาตลอด 6 ชั่วโมงกว่าของสารคดี เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ถึงคำตอบของคำถามเหล่านี้ เพราะการหาว่าใครเลวใครดีไม่ได้นำไปสู่อะไรที่สำคัญ

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรัฐโอเรกอนและในแผ่นดินอเมริการะหว่างช่วงเวลาเกือบสิบปีนั้นอาจเป็นเพียงเกม และการมองมันในฐานะเกม และการดำเนินไปของเกมเกมนี้อย่างผู้สังเกตการณ์ อาจสนุกสนานและนำพาไปสู่ประเด็นใหม่ๆ ได้มากกว่าการพยายามค้นหาความจริงที่ถูกปกปิดไว้อย่างแน่นหนาด้วย ‘คำพูด’ หรือ ‘ความเชื่อ’ ของตัวละครจนนาทีสุดท้ายของเรื่องเสียอีก

สุดท้ายแล้ว เราคิดว่านี่คือสารคดีที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคนใช้อำนาจของการเป็นคนพูดได้อย่างมีชั้นเชิง ฉลาดหลักแหลม และมีน้ำหนักอย่างยิ่ง แต่ในขณะที่ผู้พูดได้ใช้สารคดีเรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณบางอย่างสู่ศัตรูและมวลชนของพวกเขา ผู้สร้างก็ได้ใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณกับผู้ชมเช่นกันว่า “ยอมรับซะ …ว่าทุกอย่างคือการเมือง”

ความจริงมีอยู่ แต่คนที่เล่นการเมืองมักจะไม่พูดมันออกมา และหากคุณหวังจะได้เห็นความจริง เราขอเตือนว่า Wild Wild Country จะไม่มอบสิ่งนั้นให้คุณ

Fact Box

• โอโช (1931–1990) เป็นคุรุทางจิตวิญญาณที่มีคำสอนและวิถีปฏิบัติที่ค่อนข้างผิดแผกแตกต่างจากศาสดาของศาสนาหลักในโลกอย่างฮินดู เต๋า พุทธ และคริสต์ ทำให้เขาถูกเรียกว่าเป็นนักคิดคนสำคัญที่กล้ารื้อถอนโครงสร้างของศาสนา และให้ความสำคัญกับการเปิดจิตเพื่อรับรู้ถึงสิ่งที่ถูกกดทับอยู่ภายใน โอโชแนะนำให้มนุษย์เลิกกดข่มอดีต ความเจ็บปวด และความรู้สึกต่างๆ ไว้ในใจ แล้วปลดปล่อยมันออกมาผ่านเซ็กส์และการทำสมาธิในรูปแบบต่างๆ โดยเขาได้เสนอวิธีทำสมาธิไว้กว่าร้อยวิธี

• วิธีทำสมาธิที่โด่งดังที่สุดวิธีหนึ่งของโอโช ซึ่งถูกเล่าถึงอย่างสั้นๆ ในช่วงต้นของซีรีส์นี้คือ Dynamic Meditation ที่แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน เริ่มที่การหายใจเข้าออกอย่างรวดเร็วจนเหนื่อยอ่อนเป็นเวลา 10 นาที ต่อด้วยการปลดปล่อยร่างกายให้แสดงออกอย่างที่เราต้องการอีก 10 นาที ไม่ว่าจะเป็นการตะโกน กระโดด หรือกรีดร้อง ตามด้วยการกระโดดขึ้นลงพร้อมชูมือขึ้นแล้วร้อง “ฮู่!” อีก 10 นาที หลังจากนั้นผู้ทำสมาธิจะเข้าสู่สภาวะสงบเงียบเป็นเวลา 15 นาที ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเต้นรำและเฉลิมฉลองอีก 15 นาที ถือเป็นอันจบกระบวนการ

• แดน และจอร์ช บรอน รวมทั้งเจย์ และมาร์ค ดูพลาสส์ 4 ใน 8 Executive Producers ของ Wild Wild Country ได้ร่วมกันโปรดิวซ์ซีรีส์ Netflix อีกเรื่องหนึ่งคือมินิซีรีส์สารคดี 4 ตอนจบเรื่อง Evil Genius: The True Story of America’s Most Diabolical Bank Heist ว่าด้วยการปล้นธนาคารครั้งลื่อเลื่องในปี 2003 ที่เริ่มขึ้นอย่างแปลกประหลาด เมื่อคนส่งพิซซาเข้าไปปล้นธนาคารพร้อมระเบิดที่พ่วงอยู่กับคอของเขา โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นตัวประกันที่ถูกบังคับให้ทำการอุจฉกรรจ์นี้หรือไม่ และแปลกประหลาดยิ่งขึ้นเมื่อเรื่องราวไม่จบแค่การตายของเขา แต่ขยายใหญ่ออกไปราวกับบทได้ถูกเขียนขึ้นมา

Tags: , , ,