“ถ้าเราเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า อย่างน้อยก็ไม่ต้องพบเจอคน…” ครั้งหนึ่งในความคิดของคนเมือง หรือแม้แต่ไม่ใช่คนเมืองก็ตาม คงมีบางอารมณ์และจังหวะของชีวิตที่เราอยากหนีเข้าป่า นั่นก็เพื่อพักผ่อน ฟื้นฟู และชุบคืนชีวิตจิตใจที่อ่อนล้าให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

ในป่ามีอะไรให้เราค้นหา นอกจากธรรมชาติแล้วอาจมีเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่หลับใหลซ่อนตัวอยู่ ดังนั้น ตอนเดินเข้าไปกับตอนเดินกลับออกมา เราจึงคล้ายเป็นคนละกัน ไม่ต่างจากหลากหลายตัวละครในภาพยนตร์ 5 เรื่องนี้

Stand by Me (1986)

Stand by Me ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง The Body ของสตีเฟน คิง กำกับโดย ร็อบ ไรเนอร์ เป็นภาพยนตร์แนว coming-of-age ที่ควรดูสักครั้ง ถึงแม้คิงจะเคยกล่าวไว้ว่า มันดีได้ไม่เท่านิยายของเขาก็ตาม

เมื่อได้ทราบข่าวการตายของเพื่อนในวัยเด็ก กอร์ดี้ ลาแชนซ์ ก็หวนนึกถึงเรื่องราวครั้งเยาว์วัย ความทรงจำเก่าๆ ผุดผาดขึ้นมา เป็นการผจญภัยที่ไม่มีวันลืมของกลุ่มเพื่อนสี่คน การออกเดินทางที่เปลี่ยนแปลงพวกเขาไปตลอดกาล ย้อนกลับไปในฤดูร้อนปี 1959 กลุ่มเด็กชายซึ่งเป็นเพื่อนกัน กอร์ดี้ คริส เท็ดดี้ และเวิร์น พวกเขาทราบข่าวการหายตัวไปของเด็กชายคนหนึ่ง และศพของเด็กคนนั้นก็อยู่ที่ไหนสักแห่งในป่า

ด้วยความอยากมีชื่อเสียงและต้องการจะพิสูจน์ตัวเอง ทุกคนจึงตกลงใจออกตามหาศพโดยที่ไม่รู้เลยว่า โลกใบนี้กว้างใหญ่กว่าที่คิด และยังเต็มไปด้วยสิ่งเลวร้ายที่ตัวเองยังไม่เคยเจอ ระหว่างทางไม่ได้ปูไว้ด้วยพรมแดงให้พวกเขาเดินเข้าไป

ช่วงเวลาทั้งหมดจะทำให้เราเห็นว่า ความไร้เดียงสาถูกแทนที่ด้วยประสบการณ์ มิตรภาพอันเหนียวแน่นจะทำให้ก้าวต่อไปข้างหน้า ความตายหาใช่เรื่องล้อเล่น เพราะทุกการสูญเสียไม่เพียงพรากลมหายใจของผู้ตาย แต่กลับส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยที่เราไม่รู้ตัว และการถูกมองข้ามไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมองไม่เห็นเราอย่างนั้นเรื่อยไป จงค่อยๆ เรียนรู้และเติบโต

 

Moonrise Kingdom (2012)

สิ่งที่มองเห็นได้เสมอจากภาพยนตร์ของผู้กำกับสุดคูล เวส แอนเดอร์สัน คือ หนึ่ง ความสมมาตร สอง ชุดสีอันมีเอกลักษณ์ สาม ตลกร้ายหน้าตาย และสี่ คอสตูมที่เด่นไม่แพ้ฉาก เขาจึงกลายเป็นผู้กำกับที่ใครๆ ต่างพร้อมใจจะหลงรัก ทั้งผลงานและสไตล์

ภาพยนตร์ของเวสที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงได้แก่ The Darjeeling Limited (2007) Fantastic Mr. Fox (2009) The Grand Budapest Hotel (2014) และสำหรับ Moonrise Kingdom (2012) ก็เช่นกัน

ฤดูร้อนปี 1965 ณ เกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งนิวอิงแลนด์ เกาะอันสงบสุขที่ห่างไกลผู้คนนี้มีเหตุวุ่นวายขึ้น เมื่อ แซม หนุ่มน้อยวัย 12 ขวบหนีออกจากค่ายลูกเสือ เขาไม่ได้หนีไปตัวคนเดียว แต่ยังพารักแรกหนีตามกันไปด้วย นั่นก็คือซูซี่ เด็กผู้หญิงบนเกาะที่ออกจะเบื่อหน่ายบ้านของตัวเองเต็มทน ทั้งคู่จับมือพากันหนีหายเข้าไปในป่า ออกจากกรอบและกฎอันเข้มงวดที่ผู้ใหญ่วางไว้ แต่ยิ่งถอยห่างมากเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าการไล่ล่าของผู้ใหญ่จะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ มากเท่านั้น

การได้อยู่ตามลำพังสองคนนับเป็นช่วงเวลาของความสนุกสนานและปลดปล่อยซึ่งกันและกัน เป็นการมีชีวิตที่ได้ใช้ชีวิตจริงๆ อิสระในช่วงเวลาสั้นๆ จึงมีค่ามากกว่าสิ่งใด

วัยเด็กคือวัยแห่งการเรียนรู้ การกดให้อยู่ในกรอบบางอย่างจึงไม่น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากนัก การใช้อิสระและให้ชีวิตเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ให้พวกเขาได้รู้จักโลกในทุกแง่ทุกมุม ให้เขาได้ใช้สิทธิ์และเสียงของตัวเอง

 

The Kings of Summer (2013)

The Kings of summer ผลงานการกำกับของ จอร์ดอน โว้ค-โรเบิร์ต ที่หลายคนคงบอกว่าชื่อไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไร แต่หากเอ่ยถึงภาพยนตร์เรื่อง Kong: Skull Island (2017) คอง มหาภัยเกาะกะโหลก ที่เข้าฉายไปเมื่อปีที่ผ่านมาก็อาจจะร้องอ๋อขึ้นมาได้บ้าง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนของเด็กผู้ชาย ฤดูร้อน อิสรภาพ มิตรภาพ แบบครบถ้วนเรื่องหนึ่ง เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความคาดหวัง และความเร่งรีบในการจะเป็นผู้ใหญ่ บรรยายกาศชวนให้คิดถึงช่วงปิดเทอมฤดูร้อนสมัยเรียนมัธยม เพลงประกอบเข้ากับแต่ละช่วงเวลาได้ดี คล้ายกับว่ามีทั้งความสดใสและความเศร้าปะปนกันอยู่ อาทิ เพลง 17 – Youth Lagoon, The Youth – MGMT

เรื่องราวของเด็กผู้ชาย 3 คนที่เบื่อครอบครัวของตัวเองในแบบที่แตกต่างกันออกไป โจเบื่อพ่อของตัวเองที่เจ้ากี้เจ้าการและชอบบังคับให้เขาทำสิ่งต่างๆ แพทริกมีพ่อแม่เลี้ยงลูกแบบไข่ในหินจู้จี้จุกจิกราวเขาเป็นเด็ก และคนสุดท้าย บิอาจิโอ เด็กที่ไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน

และเมื่อฤดูร้อนมาถึง พวกเขาจึงหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ในป่า ทั้งสามช่วยกันสร้างบ้านเพื่อเป็นที่กันแดดกันฝนและซุกหัวนอน ในป่านั้นทั้งอิสระ อยากทำอะไรก็ได้ทำ ไว้หนวดไว้เคราก็ไม่มีใครว่า เล่นสนุกได้ทุกเมื่อ ไม่มีคนคอยมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช

แต่อุดมคติไม่มีจริง เมื่อเริ่มหมดสนุกและกิจกรรมวนเวียนซ้ำซาก รวมถึงการหาอาหารก็ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ แล้วก็ดันมีเรื่องผู้หญิงเข้ามาเป็นประเด็นให้บาดหมาง แก๊งเพื่อนที่ดูจะเข้ากันได้ดีในตอนแรกก็พังลง ฤดูร้อนที่สดใสค่อยๆ มัวหม่น การรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์และครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องใช้หัวใจ แต่พวกเขารีบร้อนเกินไปที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ ในบางเรื่องจึงรับมือได้ไม่ดีพอ เมื่อทุกอย่างกลายเป็นความผิดพลาด ก็จงยอมรับเพื่อเรียนรู้

ความแก่และความตายไม่เคยหนีไปไหน ไม่ต้องเร่งร้อนเข้าใกล้มันมากนัก ชีวิตจะพาเราไปข้างหน้าเอง

 

Wild (2014)

การเดินทางมีความหมาย เพราะเราหาความหมายจากการเดินทาง ภาพยนตร์เรื่อง Wild นี้ ทั้งชื่อเรื่องและคอนเซ็ปต์อาจทำให้เรานึกไปถึงภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสร้างมาจากเรื่องจริงคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างกัน นั่นก็คือเรื่อง Into the Wild ชะตาชีวิตของคริสโตเฟอร์ แม็คแคนด์เลสส์ ที่จบลงด้วยความตาย

Wild สร้างมาจากหนังสือขายดีที่เป็นบันทึกการเดินทาง 1,100 ไมล์ของ เชอรีล สเตรด์ หญิงสาวที่เดินทางเพียงลำพังเพื่อเยียวยาตัวเองจากการสูญเสีย

หลังจากหมดความหวังและสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง เชอรีล สเตรด์จึงเก็บข้าวของแล้วก้าวออกจากบ้าน เพื่อกอบกู้ตัวเองคืนมา ในทางหนึ่งมันคือการค้นหาตัวตน ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา และเรียกคืนจิตวิญญาณตนเอง ประสบการณ์อันเลวร้ายฉีกทึ้งเธอจนไม่มีชิ้นดี ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก การเป็นลูกไม่มีพ่อ ความรักของชายหญิง เซ็กซ์ การตั้งครรภ์ ยาเสพติด ทั้งหมดนั้นย่ำยีเธอ และก็เป็นเธอด้วยที่ย่ำยีตัวเอง เพราะฉะนั้นเธอจึงอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้ทุกอย่างมันเข้าร่องเข้ารอยและดีขึ้น ในระหว่างทาง เธอพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ละคนก็มีเรื่องเล่าและความทุกข์ในแบบต่างๆ กันไป ทางเดินของชีวิตอาจไม่ได้มีความสุขมากเท่ากับความเศร้า อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไร จะก้าวผ่านและข้ามพ้นมันได้ไหม สิ่งที่เสียไปแล้วย่อมไม่มีวันกลับคืน แต่อย่าปล่อยให้มันทำลายชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา

 

Captain Fantastic (2016)

Captain Fantastic กำกับโดยแมทท์ รอสส์ ผู้เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ปี 2016 แสดงนำโดยวิกโก มอร์เทนเซน ผู้โด่งดังจากบทอารากอร์น ในภาพยนตร์ The Lord of the Rings

ในป่าแห่งหนึ่งมีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ ผู้นำครอบครับเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว พร้อมกับลูกๆ อีก 6 คน เบนไม่เพียงไม่ศรัทธาทุนนิยม แต่ถึงขั้นรังเกียจและต่อต้าน ดังนั้นเขาจึงพาครอบครัวไปใช้ชีวิตในป่า สอนให้ลูกๆ อยู่กับธรรมชาติ ให้ทักษะการต่อสู้ ป้องกันตัว หาอาหาร พร้อมกันนั้นก็สอนปรัชญา การเมือง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงให้อ่านวรรณกรรมด้วย

เบนสอนลูกอย่างตรงไปตรงมา ทุกคำถามมีคำตอบและถกเถียงกันได้ แต่ชีวิตเช่นนี้ก็ต้องชะงักลง เมื่อทราบข่าวว่าภรรยาของตัวเองเสียชีวิต เขาจึงต้องพาลูกๆ ทั้ง 6 กลับไปร่วมงานศพ ยิ่งใกล้เมืองเข้าเท่าไร ความผิดแผกของพวกเขาก็ยิ่งเด่นชัด ทุกคนดูประหลาดและผิดที่ผิดทาง

การที่เบนให้อิสระกับการใช้ชีวิตในป่า ในทางกลับกันนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเขากำลังลิดรอนบางอย่างไปจากลูกตัวเอง พวกเขาเข้ากับคนไม่ได้ การอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้เขามีประสบการณ์ในทางปฏิบัติ แนวคิดบางสิ่งสุดโต่งเกินไป ชีวิตคือการประนีประนอมและอยู่ในจุดที่สมดุล แต่ที่ผ่านมาพวกเขามุ่งแต่จะไปในทิศทางหนึ่งมากเกินไป อาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อยึดมั่นถือมั่นในอะไรมากๆ สุดท้ายแล้วมันอาจกลับมาทำร้ายตัวเราเอง

แม้ว่าภาพยนตร์จะเสียดสีทุนนิยมและความสุดโต่งของตัวละครแบบฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่แท้จริงแล้วแกนหลักของเรื่องนี้อยู่ที่เรื่องครอบครัว หากเราเปิดใจให้กัน รอมชอมให้กัน ครอบครัวก็จะเป็นสิ่งที่คอยเป็นกำลังใจให้กันได้ตลอด นี่คือภาพยนตร์เรียกเสียงหัวเราะจนคุณมีน้ำตา

 

 

Tags: , , , , , , , , , ,