When Philo Met Sophia (06)

This is not a discourse: มันเป็นวาทกรรม

 

“พื้นที่ของวาทกรรมถูกสร้างขึ้น เป็นทั้งพื้นที่ที่เชิดชูมันแต่ก็ปลดอาวุธมัน และหากว่าวาทกรรมจะมีอำนาจบางอย่าง

ก็คงจะเป็นพวกเราและพวกเราเท่านั้น ที่เป็นผู้มอบอำนาจแก่วาทกรรม”[1]

มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault)

 

เวลาที่ใครสักคนพูดว่า “มันเป็นวาทกรรม” เขา/เธอ/พวกเขา/มันหมายความถึงอะไรกันแน่?

1. นี่ไม่ใช่เรื่องจริง นี่เป็นเรื่องที่ถูกปั้นแต่งขึ้นให้ดูราวกับว่าเป็นเรื่องจริง ‘วาทกรรม’ จึงไม่ต่างจากนวนิยายหรือเรื่องโกหกที่แนบเนียน ‘วาทกรรม’ ในแบบแรกจึงเทียบเท่าได้กับภาพลวงตา หรือ ‘โวหาร’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงหรือทำให้เราเชื่อ ซึ่งพบว่ามีการใช้กันมากขึ้นในกลุ่มนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

2. เป็นความจริงที่ถูกผลิตซ้ำจนเราเลิกเชื่อเลิกสงสัย ไม่ต้องการพิสูจน์ทราบด้วยซ้ำว่า มันเป็นจริงอย่างไร ‘วาทกรรม’ ในแง่นี้มีความเกี่ยวโยงกับวิชาการด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์[2] หรือเป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายเฉพาะ โดยในแวดวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่พบว่า มีวิทยานิพนธ์ หรือผลงานวิชาการนำเสนอในประเด็นของ ‘วาทกรรม’ ต่างๆ มากมายในช่วงปลายของทศวรรษ 1990-2010 

3. เป็นเรื่องซึ่งมีความสลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกับ ‘ความจริง’ และการรับรู้เกี่ยวกับความจริง หรือโดยเฉพาะในเรื่องของความรู้/อำนาจ (Knowledge/Power) ‘วาทกรรม’ ในความหมายนี้ถือได้ว่าสัมพันธ์กับ Le Discours/Discourse ของมิแช็ล ฟูโกต์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้ชี้เตือนและแสดงให้เห็นการทำงานของระเบียบวาทกรรมที่มีลักษณะกีดกัน แบ่งแยกความจริง-ความเท็จ เป็นระบบปฏิบัติการที่สืบย้อนกลับไปยังอำนาจและความปรารถนาในตัวของมนุษย์ ซึ่ง ‘วาทกรรม’ ในฐานะของความรู้/อำนาจทำงานภายในร่างกาย/ตัวตนของเรา กำกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ และกำหนดการรับรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เช่นการพูดว่า “ที่นี่เราไม่ทำกันแบบนี้” หรือ “ที่นี่เราทำแบบนี้กันเป็นเรื่องปกติ”

ความรู้ที่เรารู้และกลายเป็น ‘ปทัสถาน’ มักไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่มักมาจาก ‘ความรู้/อำนาจ’ ที่ชักนำโยงใยเป็นโครงข่ายที่หลายครั้งมีความสลับซับซับซ้อน ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือความรู้เรื่องสุขอนามัย การปฏิบัติตนในช่วงระหว่างโรคระบาด เราจะสามารถแลเห็นความรู้/อำนาจและชีวการเมือง (Biopolitics) ทำงานผ่านวิถีชีวิตของเรา เช่น การใช้ชีวิตภายใต้กรอบเกณฑ์ที่เราเรียกว่า New Normal ซึ่งอาจเป็นเหตุผลทั้งทางตรงทางอ้อมให้ จอร์จิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาชาวอิตาเลียน ออกมาวิพากษ์อำนาจและการเมืองที่กำกับชีวิตตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเกิดโรคระบาดในปี 2020 จนกลายเป็นวิวาทะโด่งดังระหว่างเขากับ ฌ็อง-ลุก น็องซี (Jean-Luc Nancy) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้ล่วงลับ หรืออีกหลายคู่ในห้วงเวลาไล่ๆ กัน

มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส

ดังนั้นแล้ว ‘วาทกรรม’ ในแบบสุดท้าย น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวายมากที่สุด ไม่ใช่เพราะมันผูกโยงกับประวัติศาสตร์ความรู้/อำนาจ แต่เพราะ ‘วาทกรรม’ มีความเกี่ยวพันมากกว่าสิ่งที่มันบ่งชี้ว่าคือ ‘วาทกรรม’ ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่เคยเรียบง่าย ตรงไปตรงมา จนทำให้เราพูดว่า “มันเป็นวาทกรรม” โดยไม่อธิบายถึงสิ่งที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์เบื้องหลังมิได้เลยด้วยซ้ำ

วาทกรรมกำเนิด 

แม้คำว่า Discourse หรือ ‘วาทกรรม’ ในทุกวันนี้เป็นศัพท์เฉพาะทางทฤษฎีที่ได้รับการยินยอมให้ใช้ในโลกของการสื่อสารมวลชน แต่ Discourse ถูกบันทึกว่ามีการใช้กันครั้งแรกๆ จริงๆ ก็เมื่อปลายของศตวรรษที่ 14 ในความหมายของกระบวนการทำความเข้าใจ การให้เหตุผล หรือใช้ความคิด โดยคำนี้มีรากศัพท์มาจากคำฝรั่งเศส Discours หรือ Discursus ในภาษาลาติน ที่ประกอบขึ้นจากคำว่า Dis (แยกออกไป) + Curere (การวิ่ง) ซึ่งหมายความถึงเคลื่อนไปอย่างไร้ทิศทาง วนไปเวียนมา การสร้างบทสนทนา หรือการบรรยายความสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างยืดยาว

ดังนั้นแล้ว ผลงาน Discorsi sopra la prima deca di Tito Livio (1531) ที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า The Discourses ของ นิกโกเลาะ มาเกียเวลลี (Niccolò Machiavelli) หรือแม้แต่ Discours de la Méthode Pour bien conduire sa raison, et chercher la vérité dans les sciences (1637) ของ เรอเน เดส์การ์ตส์ (René Descartes) หมายความถึง ‘คำอธิบาย’ หรือ ‘การแสดงข้อคิดเห็น’ ในประเด็นเฉพาะต่างๆ ซึ่งกล่าวได้ว่า นี่เป็นความหมายโดยทั่วไปของคำว่า Le Discours/Discourse นับจากช่วงปลายของศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา

จนกระทั่งช่วงต้นถึงกลางของศตวรรษที่ 20 โลกวิชาการด้านภาษาศาสตร์พัฒนาการศึกษารูปแบบและการสื่อความหมาย การแบ่งแยกลงไปในระดับหน่วยย่อยที่สุดของไวยากรณ์ โดยถือกันว่า Discourse หรือ ‘ปริเฉท’ เป็นหน่วยทางไวยกรณ์ในระดับสูงสุด ซึ่งเริ่มตั้งแต่หน่วยเสียง หน่วยคำ วลี ประโยค (จนมาถึง ‘ปริเฉท’) สิ่งที่จะกำหนดหรือบ่งชี้ว่ามีปริเฉทอยู่ในตัวบทหรือถ้อยคำต่างๆ ก็คือ ดัชนีปริเฉท (Discourse Marker) อย่างไรก็ตาม นักภาษาศาสตร์บางคนกลับเห็นว่า ปริเฉทไม่ใช่หน่วยทางไวยากรณ์ หรือถ้ามีอยู่ก็เป็นหน่วยทางการสื่อสาร หรือเป็นหน่วยทางความหมาย (Semantic Unit) ซึ่งดำรงอยู่คนละระนาบกับหน่วยทางไวยากรณ์

ลีโอ สปิตเซอร์ (Leo Spitzer) นักนิรุกติศาสตร์ชาวออสเตรีย

แล้วทำไมฟูโกต์ถึงเลือกใช้คำว่า Le Discours/Discourse ในการนำเสนอปรัชญาความคิดของเขา? บ้างก็ว่าในช่วงกลางของทศวรรษ 1960 นอกเหนือจากฟูโกต์จะให้ความสนใจกับการศึกษาประวัติความคิดที่เกี่ยวข้องกับเหตุผล/ความบ้า เขายังสนใจ ‘โครงสร้าง’ ทาง ‘ภาษา’ รวมไปถึง ‘ลีลา’ ในวรรณกรรมต่างๆ และนั่นทำให้ฟูโกต์ค้นพบจักรวาลความคิดของ เรย์มงด์ รุสแซ็ล (Raymond Roussel) นักเขียนผู้แปลกประหลาดชาวฝรั่งเศส ผู้เขียน Impressions d’Afrique (1910) กระทั่งแปลงาน Essays in Stylistics ของ ลีโอ สปิตเซอร์ (Leo Spitzer) นักนิรุกติศาสตร์ชาวออสเตรีย ซึ่งสปิตเซอร์ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดวิชา Discourse Analysis หรือปริเฉท/วาทกรรม/สัมพันธสารวิเคราะห์

เพื่อจะตอบคำถามข้อที่ว่า ทำไมฟูโกต์ถึงเลือกใช้คำว่า Le Discours/Discourse ให้ถี่ถ้วน เราอาจต้องย้อนกลับไปพิจารณาโครงการความคิดของในช่วงทศวรรษ 1950-70

ระบบอำนาจ/ความรู้

คงไม่เกินเลยไปจากความจริงนัก หากจะกล่าวว่า วาทกรรมหรือ Le Discours/Discourse เป็นผลพวงจากการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ความคิด ตั้งแต่เรื่องการแบ่งแยกความเป็นเหตุผลออกจากความไม่เป็นเหตุผล นับจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา (ที่เขียนขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1950) L’Histoire de la folie[3] หรือ History of Madness ที่เป็นการตั้งคำถามต่อที่เราเรียกว่า ‘ความบ้า’ ผ่านประวัติศาสตร์จนไปถึง Naissance de la clinic (1963) หรือ The Birth of the Clinic ที่ทำให้ฟูโกต์เล็งเห็นว่า ‘ความบ้า’ หรือ ‘คนบ้า’ กลายมาเป็นวัตถุแห่งความรู้ก็ด้วย อำนาจ/ความรู้ ทางการแพทย์ที่สถาปนาขึ้นเป็นสถาบัน หรือผลงานเช่น Les mots et les choses (1965) หรือ The Order of Things ที่ฟูโกต์ลงไปศึกษา ‘วาทกรรมความรู้’ ในศตวรรษที่ 17-18

สำหรับฟูโกต์แล้ว ความรู้ในอดีตก็เหมือนโบราณวัตถุหรือสิ่งปลูกสร้างที่ฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งมีการจัดแบ่งลำดับชั้นด้วยกรอบความรู้ (Épistémè) การศึกษาความรู้ในอดีตจึงไม่ต่างจากการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งทำให้เขาเรียกวิธีศึกษาระบบความรู้ว่า โบราณคดี (Archéologie) หรือ โบราณคดีแห่งความรู้ (L’archéologie du savoir ) ซึ่งการค้นพบของฟูโกต์ในช่วงทศวรรษ 1960 ทำให้เขาเชื่อว่า องค์ความรู้ทั้งหลายไม่ได้เป็นองค์รวม หรือดำเนินไปเป็นเส้นตรง หากแตกหักในบางช่วงบางตอนและไม่เคยคงอยู่สืบเนื่อง โดยแต่ละห้วงเวลาต่างก็มี ‘วาทกรรม’ ที่กำกับและทำงานในรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

ดังเช่นศตวรรษที่ 16 ของยุโรป มนุษย์เราจะ ‘คิด’ หรือจัดระเบียบความรู้ผ่านความเหมือน-ความคล้ายคลึง (La ressemblance) ศตวรรษที่ 17-18 ความรู้จากความเหมือนนั้นไม่เพียงพอจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอย่าง ‘ถ้อยคำ’ กับ ‘สรรพสิ่ง’ สิ่งที่เป็นความรู้จึงต้องอาศัยการเป็นภาพตัวแทน (La répresentation) เมื่อถ้อยคำสามารถนิยามสิ่งต่างๆ ได้ สิ่งต่างๆ ทั้งหลายจึงไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันหรือแปรผันไปตามระบบความรู้ของเรา วิธีการจัดการกับความรู้ในห้วงเวลานี้จึงต้องอาศัยการจัดเรียงลำดับ หรือพึ่งพิงพีชคณิตในการวางระเบียบองค์ความรู้ จนเมื่อย่างสู่ปลายของศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ฟูโกต์เรียกว่า ‘ยุคสมัยใหม่’ การใช้ภาพตัวแทนเริ่มถูกแทนที่การให้ความสำคัญกับสาเหตุ (La Cause) หรือจากการจัดเรียงแนวระนาบผ่านอนุกรมหรือตาราง ความรู้ในยุคใหม่เริ่มจัดเรียงในแนวดิ่งผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ที่กลายเป็นกรอบความรู้ในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘สาเหตุ’ นั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่อง ‘วาทกรรม’ ของฟูโกต์ผูกสัมพันธ์กับ ‘ความรู้’ และความรู้ก็ไม่เคยแยกขาดจากสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ ด้วยเพราะอำนาจมีบทบาทในการกำหนดสิ่งที่เป็นความรู้และ ‘ความจริง’ และบทนำอันโด่งดังของ Les mots et les choses นี่เองที่ได้ก่อกำเนิดวาทะสำคัญที่ว่า “มนุษย์เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นไม่นานเกินสองศตวรรษมานี้” สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเองก็เป็นเพียงสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นใหม่

ระเบียบวาทกรรม

‘วาทกรรม’ หรือ Le Discours/Discourse สัมพันธ์กับสิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่า énoncé หรือ Announcement ที่หมายความถึง ‘ถ้อยแถลง’ ซึ่งถ้อยแถลงนี้ไม่เคยเป็นกลาง เป็นอิสระ แต่มีลักษณะเฉพาะ ขึ้นกับสถานการณ์ หรือไม่ได้ถูกกำหนดโดยผู้ที่เปล่งถ้อยแถลงออกมาเพียงเท่านั้น วาทกรรมของฟูโกต์จึงเป็นผลรวมจากถ้อยแถลงที่ถูกกล่าวซ้ำๆ แม้มาจากพื้นที่ที่แตกต่าง หากมีจุดเชื่อมโยงร่วมกัน ผ่านระเบียบและกฎเกณฑ์บางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงระเบียบทางภาษาหรือไวยากรณ์ แต่อาจเป็นระเบียบวิธีคิดหรือการแบ่งแยก เช่น การแบ่งแยกความมีเหตุผลออกจากความไร้เหตุผล ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันขึ้นกับเวลา หรือความเป็นประวัติศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ วาทกรรมจึงไม่เคยอยู่เหนือกาลเวลา มันไกลห่างจากความเป็นอุดมคติ หรือเป็นเพียงเสี้ยวส่วนของประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ทำให้ ‘วาทกรรม’ มีความซับซ้อนก็คือการที่มันชอบอำพรางตัวเอง ในหลายครั้ง วาทกรรมจึงเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ปรากฏ’ หรือไม่ได้แสดงตัวออกมา

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ฟูโกต์เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญา จุดสูงสุดในอาชีพทางวิชาการของเขา คือการเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำวิชาประวัติศาสตร์ของระบบความคิด (Chaire Histoire des système de pensée) ที่ Collège de France ในปี 1970 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ดังนั้น คำบรรยายเปิดในพิธีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1970[4] ที่ฟูโกต์อธิบายถึงการทำงานของ ‘ระเบียบวาทกรรม’ ไว้อย่างยืดยาว (ตามความหมายดั้งเดิมของ ของ Le Discours/Discourse) จึงถือได้ว่า เป็นตัวบทที่มีความสำคัญและอาจช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของสิ่งที่เรียกว่า Le Discours/Discourse ได้ดีที่สุด คำบรรยายเปิดนี้เผยให้เราเห็นกระบวนการทำงานของวาทกรรมที่โยงใยกับอำนาจ/ความรู้ และ ‘เจตจำนงสู่ความจริง’ ของเราที่แปรผันไปตามกาลเวลา

    หากความจริงด้วยเช่นกันว่า ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งที่ Collège de France ประเด็นเรื่องของวาทกรรมหรือ Le Discours/Discourse ได้แปรเปลี่ยนหรือโอนถ่ายไปสู่ความสนใจในประเด็นเรื่องของ ‘อำนาจ’ การเปลี่ยนผ่านจากการใช้กำลังในการควบคุมไปสู่การใช้กฎระเบียบและวินัย[5] คำบรรยายเข้ารับตำแหน่งของฟูโกต์ในแง่หนึ่งจึงเปรียบเหมือนบทกล่าวลามโนทัศน์ที่ว่าด้วยวาทกรรมของเขาได้ด้วยเช่นกัน

Leçon inaugurale faite le Mercredi 2 Décembre 1970 และ L’ordre du discours: Leçon inaugurale au Collège de France prononcé le 2 décembre 1970 ในปี 1971 โดยสำนักพิมพ์ Collège de France และ Éditions Gallimard ตามลำดับ

[1] มิเชล ฟูโกต์, ระเบียบวาทกรรม, ฐานิดา บุณวรรโน แปล (กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2565) 89.

[2] ชัดเจนว่า วาทกรรมเป็นคำบัญญัติใหม่ หรืออย่างน้อยก็ถูกผลิตขึ้นเพื่อแทนที่ความหมายของคำว่า discourse โดยผู้แรกที่ใช้คำนี้ก็คือ สมเกียรติ วันทนะ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในช่วงต้นของทศวรรษ 1990 เราจะพบว่ามีโลกวิชาการเท่านั้นที่จะใช้คำคำนี้ และแทบจะไม่ปรากฏในโลกสื่อสารมวลชน หรือถ้อยแถลงของบุคคลสาธารณะ และนักการเมืองคน ที่ปัจจุบันใช้คำคำนี้อย่างเป็นปกติ

[3] ผลงานชิ้นนี้ได้ถูกตัดตอนและตีพิมพ์ใหม่ในชื่อ Folie et Déraison: Histoire de la folie à l’âge classique (1961) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Madness and Civilization: A History of Insanity in the Age of Reason

[4] ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์และใช้ชื่อว่า Leçon inaugurale faite le Mercredi 2 Décembre 1970 และ L’ordre du discours: Leçon inaugurale au Collège de France prononcé le 2 décembre 1970 ในปี 1971 โดยสำนักพิมพ์ Collège de France และ Éditions Gallimard ตามลำดับ

[5] ผลงานที่นับว่ามีความสำคัญสูงสุดในห้วงเวลานี้ก็คือ Surveiller et punir (1975) หรือ Discipline and Punish ที่ฟูโกต์ได้ค้นพบสิ่งเรียกว่า จุลฟิสิกส์แห่งอำนาจ (la microphysique du pouvoir) ที่คอยเชิดชักเราแทนการบังคับด้วยอำนาจดิบๆ

Tags: , , , , ,