ในหนังยาวจำนวน 12 เรื่อง กินเวลา 29 ปี ของ มิคาเอล ฮาเนเก (Michael Haneke) คนทำหนังชาวออสเตรีย ที่บ้านเราเป็นที่รู้จักกันดีจากหนังอย่าง Hidden (2005) และ Amour (2012) (ทั้งสองเรื่องเข้าฉายอย่างเป็นทางการและสร้างบทสนทนาในหมู่คนดูหนังอย่าน่าตื่นเต้นทั้งในทางบวกและลบ) ดูเหมือนว่าหนังทั้งหมดของเขาพูดอยู่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือสถานะของชนชั้นกลาง และความสามารถในการทำลายทุกอย่างเพื่อคงสถานะของตนไว้ ความตีสองหน้าต่อหลักการที่ตนเองยึดถือ ครั้งแล้วครั้งเล่า เขาทรมานเหล่าปัญญาชน เสรีนิยม กระฎุมพี พวกคนร่ำรวยที่แสร้งว่าตัวเองมีมารยาท มีหลักการในการดำเนินชีวิต ตอบรับต่อทุกสิ่งอย่างเอื้ออารี เป็นคนดีๆ คนหนึ่ง

ฮาเนเกโยนสถานการณ์กระอักกระอ่วนบ้าคลั่งเข้าใส่ผู้คน เปิดโปงความอ่อนแอ ความเห็นแก่ตัว ‘วิญญูชนจอมปลอม’ ประสบการณ์แบบที่ในหนังอเมริกันมีไว้เพื่อทำให้คนดูชั้นกลางของเขาอุ่นใจว่าสามารถแก้ไขได้และดำรงสถานะของตนเองต่อไปอย่างราบรื่นหลังเหตุการณ์จบลง

หนังของฮาเนเกเป็นเหมือนยาถอนพิษความลุ่มหลงเหล่านั้น มันมาเพื่อทำลายล้างและสำรวจตัวเอง (ซึ่งเขาแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเขาบอกว่า Funny Games ออกแบบมาเพื่ออเมริกันชน เขาจึงเอามันมารีเมคแบบชอตต่อชอตใน Funny Games U.S. เพื่อให้อเมริกันชนได้หฤหรรษ์อย่างกระอักกระอ่วนกับมันโดยแท้จริง)

หนังของเขาจึงมักเต็มไปด้วยอารมณ์ของความโกรธแค้น เกลียดชัง สมเพชเวทนา ซึ่งไม่ใช่ต่อคนอื่น แต่เป็นต่อตัวเขาเองที่เป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย

และใน Happy End หนังเรื่องล่าสุด ซึ่งเป็นทั้งงานรวมฮิตและบทสรุปของชีวิตชนชั้นกลางในยุโรปสำหรับเขา หนังคล้ายเป็นภาคต่อกลายๆ ของ Amour ซึ่งว่าด้วยคู่ผัวเมียปัญญาชนในวัยชราที่ต้องเผชิญกับความเสื่อมถอยทางร่างกายเมื่อภรรยาป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ความเป็นปัจเจกชนที่ปลีกตัวออกจากสังคมมอบทางเลือกไม่มากนักให้กับพวกเขา

ขณะที่ Amour เป็นเหมือนหนังเรื่องแรกๆ ที่ฮาเนเกออกจากความเคียดแค้นไปสู่ความซึมเศร้า ขยับเข้าไปครุ่นคิดถึงความตายในลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่เป็นเรื่องของเขาเอง Happy End เป็นเหมือนภาคต่อ เดินหน้าเข้าสู่ประเด็นนี้เต็มรูปแบบ มันคือหนังที่พูดถึงบั้นปลายของชนชั้นกลางรุ่นเขา ความซึมเศร้าและความตายที่ไม่อาจเลี่ยงหลบ

Happy End เล่าเรื่องของครอบครัวชนชั้นกลางเปี่ยมสุขครอบครัวหนึ่ง จอร์จ (ชื่อกลางที่ ฮาเนเกใช้กับตัวละครหลักฝ่ายชายของเขาเสมอ) เป็นตาแก่อดีตเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ตอนนี้เกษียณแล้ว เป็นคุณปู่ใจจืดน่ารังเกียจที่ภรรยาตายดับ ในบ้านใหญ่ เขาอยู่กับ แอนน์ (ชื่อกลางที่ฮาเนเกใช้กับตัวละครหลักฝ่ายหญิงของเขาเสมอ) ลูกสาวคนโตที่พยายามปลุกปั้นลูกชายไม่เอาไหนให้มารับช่วงแทนเธอ ขณะที่เธอกำลังกิ๊กอยู่กับหนุ่มอเมริกัน โทมัส ลูกชายอีกคนของจอร์จเพิ่งมีลูกเล็กกับภรรยาคนใหม่ เขาพบว่าภรรยาเก่าของเขากินยาตาย เขาจึงต้องรับอีฟลูกสาวอายุสิบสามจากภรรยาเก่ามาดูแล เขาไม่ได้สนิทกับเธอมาก เธอเองก็เป็นเด็กแปลกๆ ที่ชอบถ่ายคลิปจากมือถือไปเรื่อยๆ และโทมัสเองก็มีความลับที่บอกใครไม่ได้เกี่ยวกับการจินตนาการถึงเซ็กซ์อันบ้าระห่ำ

นี่คือหนังที่สำรวจชีวิตแสนสุขของครอบครัวนี้ ในช่วงเวลาที่จอร์จเริ่มไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แอนน์อยากจะแต่งงานใหม่ ปิแอร์ลูกชายของแอนน์ที่ไม่อาจต่อกรกับอุบัติเหตุในไซต์งานที่ทำให้มีคนตาย โทมัสกับเซ็กซ์ลับๆ ของเขา

ทั้งหมดอยู่ในสายตาของอีฟ เด็กสาวที่รู้สึกว่าทุกสิ่งอย่างล้วนน่าเวทนา เธอบันทึกทุกอย่างไว้ในมือถือของเธอ เศร้า และเฝ้ารอวันที่จะระเบิดออก

เราอาจบอกคร่าวๆ ได้ในทำนองว่า มันเป็นเหมือนหนังรวมฮิตหนังเก่าของเขาเอง อีฟหลุดมาจาก Benny’s Video หนังที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มที่ชอบถ่ายวีดีโอการฆ่า โทมัสไม่ต่างจากตัวละครหญิงคลั่งรักใน The Piano Teacher ขณะที่จอร์จกับแอนน์เหมือนเดินออกมาจาก Amour (หนังใช้นักแสดงคู่เดิมนั่นคือ Jean Louis Trintigant และ Isabelle Huppert มารับบทเดิมเป็นพ่อลูกกัน) ในขณะที่ลูกชายของแอนน์ ก็ราวกับเป็นเวอร์ชั่นที่เติบโตขึ้นของลูกชายจากบ้านใน Hidden

 

มันออกจะน่าเบื่อนิดหน่อยถ้าคิดว่านี่เป็นเพียงงานรวมมิตรยำหนังเก่าของเขาเอง และประเด็นของมันก็คล้ายเดิมๆ การเสียดสีความไม่มั่นคงในหลักการของคนชั้นกลางผ่านเรื่องของสองพี่น้องและลูกๆ ของพวกเขา การต้องเก็บซ่อนความปรารถนาทางเพศจากภรรยาผู้อ่อนหวานเรียบร้อยไปมอบให้กับคนแปลกหน้าทางช่องแชตหรืออีเมล หรือการพยายามรับผิดชอบปัญหาด้วยเงินเพื่อปัดเรื่องยุ่งยากให้พ้นตัว อย่างไรก็ตาม หนังมีสายตาสองแบบที่จ้องมองเรื่องนี้ ไม่ใช่สายตาเสียดเย้ยโกรธเกรี้ยวแบบเดิม แต่เป็นสายตาแบบซึมเศร้าของจอร์จรุ่นพ่อ และสายตาไร้ความรู้สึกในกล้องวีดีโอของอีฟรุ่นหลาน

กล่าวอย่างง่าย มันคือการสำรวจการสืบสายพันธุ์ของกระฎุมพี คนรุ่นพ่อค้นพบว่าทุกสิ่งที่เขาทำนั้นน่ารังเกียจไม่ต่างจากที่รุ่นลูกทำ แต่พอทุกอย่างผ่านไป ความอดสูที่หลงเหลือ ความหยิ่งผยองที่ตนยึดถือเอาไว้ ลงเอยด้วยการอยากตายให้พ้นจากโลกนี้ จอร์จขับรถชนต้นไม้ อาจเป็นความตั้งใจมากกว่าอุบัติเหตุแต่เขาไม่ได้ตายดับ หากติดอยู่ในเฝือกดามขา และความปรารถนาที่ไม่อาจเติมเต็ม

แต่ความตายของเด็กรุ่นหลานก็เช่นกัน อีฟก็ปรารถนาจะไปให้พ้นจากโลกเส็งเคร็งที่เธอมองเห็นผ่านคลิปมือถือของตัวเอง (คลิปที่ให้ความรู้สึกคุกคามแบบเดียวกับวีดีโอเทปนิรนามหน้าบ้านใน Hidden) เธอฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ชีวิตของเธออยู่ในระนาบเดียวกับปู่ คนอยากตายสองคนที่เกลียดชังกัน ติดอยู่กับคนที่อยากมีชีวิต แต่ความอยากมีชีิวิตที่ดีของพวกเขายืนอยู่บนการเบียดเบียนผู้อื่น

หากภัยคุกคามชนชั้นกลางใน Hidden คือคนอัลจีเรียที่เคยเติบโตใต้ชายคาเดียวกัน ภัยคุกคามของ Happy End ก็ยังคงเป็นคนอพยพที่อยู่ต่างชนชั้น แต่ในคราวนี้ คือภาพพหูพจน์ของคนอพยพไร้ใบหน้า

คนผิวสีอพยพปรากฏขึ้นสองครั้ง ครั้งแรก จอร์จ พยายามไถรถเข็นออกไปขอความช่วยเหลือจากพวกคนผิวสี หนังไม่ให้เราเห็นว่าเขาต้องการอะไร (อาจเป็นการถามซื้อปืน หรือยาเสพติด) แต่มันถูกขัดจังหวะโดยคนขาวชนชั้นกลางที่เข้าใจไปเองว่าจอร์จเป็นเหยื่อการถูกทำร้ายจากคนพวกนั้น ในเวลาต่อมา ลูกชายของแอนน์ พาคนผิวสีอพยพแปลกหน้า มาบุกงานแต่งของแม่ บรรยายชีวิตยากแค้นทีละคน เพื่อหวังทำลายความสวยงามสงบเงียบของชนชั้นกลางแสนสุข

ในทั้งสองกรณีนี้ ไม่ได้ชี้ให้เห็นความทุกข์ของคนอพยพ ที่หนังอยากบอกคือ คนอพยพตกเป็นเหยื่อของชนชั้นกลางผ่านทั้งความเห็นอกเห็นใจและรังเกียจ ไม่ว่าจะในทางใด ผู้คนชั้นล่างเป็นเพียงเครื่องมือทางอุดมการณ์ของคนชั้นกลางเท่านั้นเอง

ตอนจบแสนสุขของกระฎุมพีจึงเป็นได้ทั้งงานแต่งงาน (การสืบสายพันธุ์ต่อไป) และความตาย น่าเสียดายที่ความตายอันสัตย์ซื่อจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมันผิดหลักการที่จะต้องมีความสุข ตีสองหน้า และไม่สำนึกผิด ในฉากสุดท้ายที่กลายมาเป็นโปสเตอร์หนัง เราจึงเห็นภาพวีดีโอ (แน่นอนถ่ายโดยอีฟ) ที่เป็นทั้งภาพที่งดงาม (ชายฝั่งในวันอากาศกระจ่าง) และภาพที่สยองขวัญ (เมื่อมองผ่านเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่สามารถเล่าได้)

Happy End จึงเป็นคล้าย ‘ตอนจบ’ ของเหล่าวิญญูชนจอมปลอม ตอนจบที่จะต้อง ‘แสนสุข’ เสมอ แม้ว่าความสุขนั้นจะคือการไร้สุขชั่วนิรันดร์ การเสแสร้งชั่วนิรันดร์ก็ตามที

Tags: , , , ,