เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่า ใครที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์ คงทราบถึงปัญหาที่พบบ่อยคือการไม่มีข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับรถเมล์สายที่เราขึ้นประจำ เราไม่รู้ว่ารถเมล์จะมาจอดป้ายเมื่อไร แล้วถ้าพลาดคันนี้ไปต้องรออีกนานเท่าไร กว่าคันใหม่จะมา ถ้าจะไปที่อื่น ต้องขึ้นรถเมล์สายไหน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาคลาสสิกของคนใช้รถเมล์ไทยมาช้านาน

แอปพลิเคชั่น Viabus จึงเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แอปนี้ก่อตั้งโดย อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์, ธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร และ ธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ ทั้งสามคนเป็นเพื่อนกันที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และได้ทดลองเวอร์ชั่นเบต้าตั้งแต่เรียนปีสาม ก่อนจะพัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้งานได้จริงสำหรับคนทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561 

เป้าหมายของ Viabus ก็คือการยกระดับการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะของคนไทย ที่ไม่ใช่แค่รถเมล์​แต่เป็นทั้งระบบ รถ-ราง-เรือ และต้องการจะขยายไปทั่วประเทศไทยในอนาคต

จากรถป๊อปจุฬาฯ สู่รถเมล์ไทย

อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าว่า เดิมทีเคยทำแอปพลิเคชั่น ‘Chula Pop Bus’ ตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์ตัวเอง เนื่องจากพบปัญหาว่าตนมักจะตกรถป๊อปของจุฬาเป็นประจำ เนื่องจากไม่รู้ว่ารถจะมาถึงป้ายเมื่อไร และวิ่งผ่านอะไรบ้าง แต่กลายเป็นว่ามีทั้งนิสิตจุฬาและคนภายนอกเข้ามาดาวน์โหลดไปใช้บริการเยอะมาก

“จนตอนปีสามก็เริ่มอยากทำแอปที่ตอบโจทย์คนไทย ผมมองว่าขนส่งสาธารณะมีประโยชน์ โดยเฉพาะรถเมล์​แต่ทำไมเข้าถึงได้ยาก เลยเกิดเป็นแอป Viabus ขึ้นมา เพราะอยากแก้ปัญหาการขนส่งสาธารณะ ที่เริ่มจากแค่กรุงเทพฯ ก่อน”

โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)  และความร่วมมือระหว่างณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, เอไอเอส (AIS) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)  ซึ่งเวอร์ชั่นเบต้า ได้ออกมาทดสอบการใช้งานนานสามเดือนระหว่าง 28 มีนาคม ถึง 8 กรกฎาคม 2558 ในสามสายได้แก่ 36, 54 และ 204 เป็นจำนวน 70 คัน จากนั้นเวอร์ชั่นเบต้าที่สอง ช่วงเดือนกันยายน 2560 กับรถเมล์มากกว่า 2,300 คัน ครอบคลุม 110 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ ก่อนจะพัฒนาจนเปิดใช้งานจริงเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

ตอบโจทย์ทุกปัญหาของคนใช้รถเมล์

อินทัช อธิบายว่าคอนเซ็ปต์ของ Viabus คือแพลตฟอร์มที่มีเป้าหมายให้คนไทยใช้ขนส่งสาธารณะเยอะขึ้น และรถเมล์ต้องไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย 

“ตอนพัฒนาแอป เราลงพื้นที่ไปคุยกับคนทั้งที่ใช้รถเมล์เป็นประจำและไม่ใช้เลย เพื่ออยากรู้ปัญหาจริงๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพื่อพัฒนาแอปให้ตอบโจทย์มากที่สุด เราก็พบว่าการที่เขาไม่ใช้บริการรถเมล์เพราะคาดเดาไม่ได้ว่ารถเมล์จะมาเมื่อไร ส่วนคนใช้ประจำก็พบว่ายังไม่รู้ว่าถ้าอยากเดินทางไปที่อื่น ต้องนั่งรถเมล์สายอะไร ถ้ามีรถเมล์มาแล้วคนแน่นมาก จะยังมีรถเมล์มาอีกไหม หรือเจอปัญหาบางสายจอดไม่ตรงป้าย หรือไม่จอดป้ายนี้ทั้งๆ ที่เป็นถนนเส้นเดียวกัน

“เราเลยแก้ปัญหานี้ด้วยการมีข้อมูลรถเมล์ เส้นทาง และป้ายรถเมล์ เพราะถ้าไปรอที่ป้ายรถเมล์​ เราก็คงอยากรู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหน มีรถเมล์มาหรือเปล่า ขึ้นสายอื่นแทนได้ไหม ที่สำคัญไม่ต้องเสียเวลาไปทิ้งที่ป้ายรถเมล์ จากสถิติเราพบว่าเดิมทีคนรอรถเมล์มีตั้งแต่สองนาทียันสี่ชั่วโมง สาเหตุเพราะบางสายมีรถเมล์วิ่งน้อย รถติดบ้าง เป็นต้น”

เปลี่ยนมุมมองต่อการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ

ปัจจุบัน Viabus มีคนดาวน์โหลดแล้วกว่าล้านคน โดยอินทัชเชื่อว่าอย่างน้อยเป็นแอปที่เปลี่ยนพฤติกรรมและมุมมองต่อการเดินทางโดยขนส่งสาธาณะของคนได้จริงๆ

“ตอนนี้รู้แน่ๆ ว่ามีรถเมล์มาเข้าป้ายเมื่อไร รู้ว่าเดินทางอย่างไร สำหรับคนขึ้นรถเมล์ประจำก็ง่ายขึ้น เดินทางง่ายขึ้น ถ้าคนไม่เคยขึ้น ก็รู้ว่าขึ้นตรงจุดไหนได้ มีการเปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้รถยนต์ส่วนตัว วันเสาร์อาทิตย์ก็หันมาใช้รถเมล์ เพราะไม่เสียเวลา หาที่จอดรถ

“สำหรับคนที่ใช้ Viabus บางคนมีเวลากินก๋วยเตี๋ยว หรือแต่งหน้ารอได้เลย จริงๆ เรื่องความปลอดภัยก็ด้วย เช่น คนทำงานเลิกดึก แล้วบางพื้นที่เปลี่ยว ก็ไม่ต้องออกไปยืนรอ ถ้ารถเมล์มาค่อยเดินไปขึ้น”

รถ-เรือ-ราง

อินทัชอธิบายเพิ่มว่าปัจจุบัน Viabus ได้เป็นมากกว่าแอปดูรถเมล์ แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทุกการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีตั้งแต่รถเมล์​ เรือ สองแถว บีทีเอส เอ็มอาร์ที เป็นต้น 

“ปัจจุบันเราต้องการเห็นภาพว่ารถ-เรือ-ราง อยู่ในระบบเดียวกัน เราขึ้นรถไฟฟ้าต่อรถเมล์ได้ หรือต่อสองแถว รถตู้ มินิบัสก็ได้ คือมีหลายวิธีให้เดินทาง ถ้ารวมทั้งหมด ผมว่าประเทศไทยมีการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมประเทศหนึ่ง”

“ตอนนี้เราทำแล้วใน 22 จังหวัด แต่ในอนาคตเราอยากทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากสำหรับเรา” อินทัชกล่าวทิ้งท้าย

Tags: ,