สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม เกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนวงการธนาคารไทย เมื่อธนาคารใหญ่ต่างทยอยประกาศยกเลิกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์

โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มให้บริการแบบไม่มีค่าธรรมเนียม ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทย ที่เริ่มมีผลในวันที่ 28 มี.ค. ตามมาด้วยธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ที่จะมีผลในวันที่ 29 มีนาคม และ 1 เมษายน ตามลำดับ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การยกเลิกค่าธรรมเนียมจะทำให้รายได้ของธนาคารหายไปประมาณ 9,000 ล้านบาท จากระยะเวลาที่เหลือ 9 เดือนในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมเติบโตแค่ 2-3% จากปีก่อนที่ 7.1%

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมโอนเงินข้ามเขต โอนเงินระหว่างธนาคาร จ่ายค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งการเติมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลงประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และเฉพาะในปีนี้ ในช่วงเวลา 9 เดือนที่เหลือ คาดว่ารายได้จะหายไป 9,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนประมาณ 7-10% ของรายได้จากค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่มีประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมต่อรายรับรวมของธนาคารอยู่ที่ 20% จึงทำให้มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของธนาคารไม่มากนัก

ทั้งนี้ นางสาวธัญญลักษณ์กล่าวว่าธนาคารยังมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ อีกหลากหลาย เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ รายได้จากเงินลงทุน ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งหากธนาคารบริหารจัดการได้ดี การยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ก็จะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิไม่มาก

นอกจากนี้ เมื่อมีลูกค้าใหม่มาใช้บริการ ธนาคารก็จะได้ข้อมูลของลูกค้า สามารถนำไปวิเคราะห์และนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ได้ต่อไปในระยะยาว

 

(หมายเหตุ: แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ริเริ่มการยกเว้นค่าธรรมเนียมในวันที่ 26 มี.ค. ก่อนจะจัดงานแถลงข่าวในวันที่ 28 มี.ค.)

 

รวบรวมข้อมูลโดย ชินบัญชร สุทธิ์นภา

Tags: , , , , , ,