“ผมเพิ่งผ่านการเลิกรามา” ตุล ไวฑูรเกียรติ แห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้าบอกเราแบบนั้นเป็นประโยคแรกๆ หลังจากหย่อนตัวลงนั่งพูดคุย หากแต่ในประโยคซึ่งควรจะหม่นเศร้านั้นกลับมีท่าทียั่วล้อและขบขันชีวิตรักอันเป็นอดีตไปแล้วของตัวเอง

ก็คงเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อเราวัดจาก ‘X’ the Xhibition งานนิทรรศการที่เขาจัดร่วมกันกับ โต๋–นุติ์ นิ่มสมบุญ หรือในนาม Slowmotion นักออกแบบที่กอดคอร่วมเดินทางกับตุลมานานหลายปีและมีส่วนในการทำหนังสือตลอดจนรูปลักษณ์ของอพาร์ตเมนต์คุณป้าอัลบั้มก่อนๆ X จึงเป็นงานนิทรรศการที่ประกอบด้วยบทกวีจากปลายปากกาของตุล ผสานกับงานอาร์ตที่ตีความจากตัวหนังสือออกมาเป็นรูปธรรมอันจับต้องได้โดยโต๋ เพื่ออุทิศให้ ‘การจากลา’

น่าสนใจที่จุดตั้งต้นของนิทรรศการนี้เริ่มขึ้นมาจากชีวิตรักที่จบลงของตุลนี่เอง “คือเมื่อปีที่แล้วผมกับโต๋คุยกันว่าอยากมีนิทรรศการร่วมกันเป็นไอเดียแรก แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไรดี ตอนแรกผมก็คิดว่าคงต้องใช้เวลานานแน่เลยกว่าจะคิดเรื่องออก ว่าผมจะเขียนเรื่องอะไรดี ปรากฏว่ามันก็มีเรื่องบังเอิญในชีวิตเกิดขึ้นกับผม เรียกว่ารักคุด” เขาว่า จบประโยคด้วยรอยยิ้ม “มีอุปสรรคในความรักเกิดขึ้น มันทำให้เรามีตะกอน ผมเลยโทรมาบอกกับโต๋ว่า มีวัตถุดิบแล้วนะ เพราะว่าช่วงที่เรามีความทุกข์นั้นเราเขียนบทกวี ผมจะไม่ยอมให้ตัวเองทุกข์นานหรอก ผมจะต้องบำบัดตัวเอง และการบำบัดตัวเองคือการเขียนบทกวี ซึ่งการเขียนบทกวีมันทำให้เราเห็นปัญหาทบทวนตัวเอง ว่ากูทำอะไรผิดไปวะ ความรักมันถึงไปไม่รอด ก็ดูเหมือนไม่มีปัญหานี่นา อยู่ดีๆ ทำไมมันถึง —ตูม จบ ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย มาอย่างเร็วไปอย่างเร็ว”

“ตอนที่ตุลย์พูดถึงนิทรรศการเราก็นึกถึงภาพอพาร์ตเมนต์คุณป้านิดหนึ่งนะเพราะเคยร่วมงานกันมาแล้ว” โต๋ที่สร้างงานศิลปะจากบทกวีของเพื่อนสนิทขยายความ “ตอนแรกที่นึกไว้ก็จะมีความร็อคแอนด์โรลล์ น่าจะสนุก แต่พอได้ฟังเรื่องจริงๆ ที่เขาประสบมา ก็รู้สึกว่า ตายละ (หัวเราะ) เขาโทรมาบอกผมว่าเขียนบทกวีเสร็จแล้วนะ เร็วมาก พรั่งพรูมาเลย เป็นบทกวี 27 บท”

บทกวีทั้ง 27 บทระเบิดขึ้นในชั่วระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์หลังการจากลาในครั้งนั้น มันเป็นทั้งการบำบัด การเยียวยา และการหวนกลับไปทบทวนสาเหตุที่ทำให้รอยแผลแห่งชีวิตคู่ขยายออกอย่างที่ไม่มีทางหวนคืน “มันเป็นปัญหาซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ตัวเรานี่แหละ ผมจะเจอปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบอีหรอบเดิมนี่แหละ คือตัวเรามันเป็นแบบนี้ เราไม่ได้เป็นคนเจ้าชู้นะ แต่เราแรดออกไปทุกคืนน่ะ” เขาว่า 

“เมื่อก่อนนี่เรียกกันว่า ตุลสี่ที่” โต๋ยืนยัน

“ผมชอบอยู่ท่ามกลางผู้คนตลอดเวลา ฉะนั้นคนที่จะมาคบหาเราก็ต้องเข้าใจเราประมาณหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่า factor ไหนในชีวิตเราที่ไป trigger ให้เขาตัดสินใจว่า กูไม่เอามึงแล้วล่ะ ซึ่งเมื่อเราได้รู้ว่าเขาตัดสินใจอย่างนั้นแล้ว ผมก็เป็นคนไม่ยื้อนะ เพราะเรารู้สึกว่าตัวเราเองก็ไม่ได้เป็นคู่รักที่ดีสักเท่าไหร่ ถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็ไปเถอะ หน้าที่ผมผมก็จะบำบัดตัวเอง จะไม่ยื้อให้คุณลำบากใจ

“ก็โชคดีที่มีบทกวี มันเหมือนผมมีประกันภัย เวลามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็มีบทกวี แล้วมันทำให้เกิดพลังบวกน่ะ ความทุกข์ของผมไม่กี่สัปดาห์หรืออาจจะเป็นเดือน สุดท้ายมันก็หายไป แต่เราได้งานศิลปะมาแทน ผมไม่อยากให้มองมันเป็นเรื่องเศร้า อยากให้มองมันเป็นเรื่อง enjoyment มากกว่า หน้าที่ความเป็นศิลปินคือออกไปยิ้ม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มันเป็นจุดหนึ่งที่ผมเขียนเสมอว่า ที่ที่เหงาที่สุดมันคือบนเวที มันแปลว่าทุกครั้งที่เราเกิดปัญหาชีวิต ความรักหรืออะไรก็ตาม บางทีมันจะเป็นช่วงก่อนขึ้นแสดงหรืออะไรก็ตาม แล้วเรามีปัญหาแต่บอกใครไม่ได้ หน้าที่ของเราคือขึ้นไปสร้างความสุขทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา”

มันไม่ยิ่งพังหรือ กับการที่ต้องฝืนความรู้สึกตัวเองแบบนั้น เราอดสงสัยไม่ได้ หากแต่อีกฝ่ายตอบเรากลับมาเร็ว “อาชีพต้องทำ ผมถึงบอกว่า บางทีศิลปินมันก็มีความน่าสงสารตรงนี้นะ ถึงเข้าใจว่าทำไมศิลปินหลายๆ คนถึงมีปัญหา เพราะทุกคนคาดหวังให้เราสนุก ให้วันนี้เรามาสร้างความบันเทิง ให้เราฉลาดตลอดเวลา ให้เราคิดอะไรที่คมๆ เท่ๆ คิดงานใหม่ๆ ที่จี๊ดได้ตลอด ซึ่งในความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น

“ตอนแรกนิทรรศการนี้มันเลยออกจะหมองหม่นมาก แทบจะดำทั้งนิทรรศการเลย แต่พอตอนหลังเรามีทางออก ทางออกของเรา เราเรียกว่าความสนุกแล้วกัน” โต๋หาคำนิยาม

และการทบทวนตัวเองที่ตุลว่านั้นไม่เพียงแต่เป็นการสำรวจกลับไปยังร่องรอยชีวิตรัก หากแต่มันไปไกลถึงการจับจ้องและตั้งคำถามต่ออุดมคติความรักอันสุขสมบูรณ์ดังที่ปรากฏในบทกวี ‘เจ้าหญิงนิทรา’ บอกเล่าถึงความไม่สวยงามของชีวิตจริงที่สวนทางกับเทพนิยาย กับงานวิดีโอที่ดีไซเนอร์ตีความกลายเป็นการ์ตูนเนื้อหาหม่นเศร้าและโหดร้าย ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตุลตั้งคำถามกับค่านิยมและมายาคติเรื่องชีวิตคู่ ก่อนนี้ ในนามของคนแต่งเพลง เขาเคยสะท้อนวิธีคิดเช่นนี้ผ่านบทเพลง สมรสและภาระ มาแล้ว “ตัวผมเองค่อนข้างจะกลัวการสมรสนะ” เขาบอก ตรงไปตรงมาเช่นเคย “เวลาเรามีความสัมพันธ์ที่ผ่านมาตลอดก็มักจะคุยๆ เรื่องนี้กับคนที่เป็นแฟนเรา ว่าเราไม่เคยคิดไปไกลถึงเรื่องการแต่งงาน แล้วไม่คิดว่ากระดาษใบเดียวมันจะการันตีว่าเราจะไม่เลิกกันได้ ผมคิดว่าจริงๆ แล้วความรักมันอยู่ที่คนสองคนมากกว่าไอ้ตัวทะเบียนสมรสหรือพิธีรีตอง ซึ่งถ้าใครมาคบกับผมเขาก็คงต้องเข้าใจประมาณหนึ่ง

“ทีนี้ พอมันมาอยู่กับบทกวีนี้มันก็เป็นการเสียดสีแฟนตาซีของมนุษย์ มันเป็นภาพในอุดมคติที่บอกว่าชีวิตนี้จะมีคำว่า Happy Ending ชั่วนิจนิรันดร์ (หัวเราะ) ไอ้คำว่าชั่วนิจนิรันดร์นี่ผมว่ามันเป็นคำที่ยาก การที่เราจะสัญญากับใครคนหนึ่งว่าชั่วนิจนิรันดร์นั้นเราจะรู้ได้ยังไงว่าเหตุการณ์ factor มันจะมีอะไร มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผมเองก็โตมากับเทพนิยายแบบนี้นะ มันมีแน่นอนอยู่แล้ว ใครๆ ก็โตมากับการ์ตูนแบบนี้ ผมแค่ไม่เคยอินกับเรื่องพวกนั้นมากกว่า แต่มันก็มีไง คู่ชีวิตที่อยู่กันจนแก่เฒ่าโดยไม่แต่งงานกัน อยู่กันยั่งยืนและไม่ทะเลาะกันด้วย ผมเคยเห็น มันไม่จำเป็นต้องแต่งงาน”

กับตุลที่ยังไม่แต่งงานและเพิ่งจะเลิกรากับคนรักไปนั้น การมองเรื่องนี้ดูจะเข้าใจง่ายกว่าโต๋ที่เป็นพ่อของลูกสาว เขาหัวเราะ “ตอนนี้เรากลายเป็นพ่อแล้วไง กลายเป็นคนนั่งอ่านให้ลูกฟังทุกวัน พวกซินเดอเรลล่านี่เราก็อ่านให้เขาฟังนะ แต่ในความรู้สึกเราคือมันเหมือนที่ตุลบอก ว่ามันมีกรอบอะไรบางอย่าง จริงๆ มันดาร์กแหละ บางทีเราก็อ่านให้ลูกฟังแล้วแต่งเรื่องอะไรของเราให้มันเข้ากับสมัยนี้มากขึ้น คือจริงๆ เทพนิยายนี่มันดาร์กออกจะตายไปนะ”

แน่แท้ เราล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าเราเติบโตมากับความรักในอุดมคติผ่านนิทาน เทพนิยาย งานเขียนหรือแม้แต่บทเพลงที่ครวญถึงรักอันยั่งยืน ในวัฒนธรรมกระแสหลักอันหลากหลาย ความรักและชีวิตคู่ถูกตีความแทบไม่ซ้ำรูปแบบ แล้วใครบ้างจะไม่เคยอินหนังหรือเพลงรักที่ตีตลาดในแต่ละยุค “เมื่อก่อนนี่ฟังเพลงนูโวไง” ตุลย้อนความ “จำได้เลย ถึงแม้ว่าเราเลิกกัน (ร้องเพลง) เราอินกับเพลงนี้ตั้งแต่เรายังไม่เคยมีแฟนเลย เลิกกันเป็นยังไงวะแต่กูอินไปแล้ว พี่โจแม่งน่าสงสารว่ะ พี่เขาเฮิร์ต แต่ขนาดเฮิร์ตเขายังเท่เลย อกหักนี่แม่งโคตรเท่ ความสมหวังมันไม่เท่ คือเราคงไม่อยากฟังเพลง คางคกร่าเริงเลย ของนูโวอะ แต่เราอยากฟังเพลง ลืมไปไม่รักกัน นั่นขนาดว่าตอนวัยทีนเราไม่มีแฟนนะ โต๋มีแฟนไหมตอนนั้น” เขาหันไปถามเพื่อนที่ส่งยิ้มเป็นคำตอบ

“มีครับ แล้วเวลาอกหักนี่ฟังหมดเลยนะ จะพี่เบิร์ด จะนูโว ผมจำได้ว่าฟังเพลง ผู้ชายอย่างฉัน (ตุลหัวเราะ) เอ็มวีนี่ต้องมีขับรถแล้วน้ำตาพุ่ง เปิดฝักบัวอาบน้ำอะไรแบบนั้น” (“โคตรเปลืองน้ำ ถ้าเป็นตอนนี้คือนายกฯ ด่าแล้ว” ตุลว่า) 

“เคยมีนักศึกษามาบอกผมว่า สมัยก่อนเขามีปัญหาเรื่องความซึมเศร้า แล้วเพลงของอพาร์ตเมนต์คุณป้ามันก็ช่วยเยียวยาเขาได้ แต่พอผ่านมาหลายปี มันก็เริ่มไม่ค่อยจะช่วยแล้วพี่ ผมก็บอกว่า น้องคงเบื่ออะ น้องฟังเพลงเดิมๆ มาประมาณสามปีแล้ว น้องลองเปลี่ยนไปฟัง Polycat ไหม” ตุลว่า –ขณะที่โต๋หัวเราะดังลั่น- อย่าไปติดยึดกับดนตรีเลย มันมีคำตอบของแต่ละยุคน่ะ อพาร์ตเมนต์คุณป้าอาจจะมีความหมายกับคุณในยุคนั้น แต่ปีนี้คุณอาจจะไปฟังอย่างอื่น หรืออาจจะไม่ต้องเป็นเพลงก็ได้ เพลงมันไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก บทกวีก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก มนุษย์มันมีทางออกหลายอย่าง เพลงมันเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเรื่องของวัย”

ด้านหนึ่ง ความรักจึงเป็นเสมือนประสบการณ์ร่วมอย่างใหญ่ที่สุดที่ทุกคนพึงมีร่วมกัน และเราล้วนเคยผ่านห้วงเวลาอันแสนสะบักสะบอมและบอบช้ำ ทั้งจากความคาดหวังของตัวเอง ความคาดหวังต่อคนรัก หรืออาจย้อนไปไกลถึงความคาดหวังทั้งหมดที่มันก่อตัวขึ้นมาจากมายาคติที่เราได้ยินได้ฟังกันตั้งแต่เด็ก จึงไม่แปลกใจเลยหากเราจะ ‘รู้สึกร่วม’ ไปกับความแตกสลายใน X the Xhibition นี้ …หากมันก็เป็นดังที่ตุลและโต๋ตั้งใจไว้ นั่นคือในความเศร้าและจากลา มันยังเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันและท่าทียียวนซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการมองโลกด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจและเปี่ยมไปด้วยพลังบวก 

“ผมว่าสุดท้ายผมอยากให้มันจบแล้วขำ ผมยังหัวเราะกับชะตาชีวิตผมได้เลยแล้วทำไมคนอื่นจะหัวเราะกับชะตาชีวิตผมไม่ได้” ตุลปิดท้าย

Fact Box

นิทรรศการเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 2020 จัดแสดงที่แกลเลอรี WOOF PACK BANGKOK ในวันที่ 1-16 กุมภาพันธ์นี้

Tags: , , , , ,