เดินเข้าไปในช็อปเบอร์เบอร์รี (Burburry) ที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่ว่าฤดูกาลใด แล้วมองหาเทรนช์โค้ต (Trench Coat) เลื่องชื่อของแบรนด์ คุณอาจบ่นว่าทำไมราคาสูงนัก ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็อาจเป็นหลักแสนบาท แต่หากทราบประวัติความเป็นมา คุณก็อาจเข้าใจมูลค่าและคุณค่าที่อยู่ในไอเท็มซึ่งเป็นเสมือนซิกเนเจอร์ของแบรนด์ดังจากเกาะอังกฤษชิ้นนี้
ย้อนกลับไปในปี 1856 อดีตเด็กฝึกงานในร้านขายผ้าวัย 21 ปี ทอมัส เบอร์เบอร์รี (Thomas Burberry) หาญกล้าเปิดร้านเสื้อผ้าชื่อ Burberry ที่เน้นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชื่นชอบกีฬากลางแจ้ง ที่บ้านเลขที่ 20 ถนนวินเชสเตอร์ เมืองเบซิงสโตก ตามความฝันที่อยากจะมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง
ไม่เพียงเท่านั้น ทอมัส เบอร์เบอร์รี ยังเป็นนักทดลองและนักประดิษฐ์ตัวยง ในปี 1879 เขาคิดค้นผ้าที่เรียกว่า ‘กาบาร์ดีน’ (Gabardine) คุณสมบัติของผ้าชนิดนี้คือเหนียวแน่น คงทน มีน้ำหนักเบา และกันน้ำได้เป็นอย่างดี โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อกันหนาวผ้าลินินของชาวไร่และคนเลี้ยงแกะในศตวรรษที่ 19
เขานำผ้ากาบาร์ดีนมาตัดเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตและทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งกลายเป็นจุดกำเนิดของเสื้อกันฝนเทรนช์โค้ตของเบอร์เบอร์รีในเวลาต่อมา
ในปี 1912 ทอมัส เบอร์เบอร์รี ก็สร้างสรรค์เทรนช์โค้ตแบบแรกของแบรนด์ได้สำเร็จ โดยใช้ผ้ากาบาร์ดีนในการตัดเย็บ ดีไซน์เป็นแบบเรียบง่าย ไม่มีกระดุม มีแค่สายรัดด้านหน้า ซึ่งมันก็กลายเป็นไอเท็มชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์เป็นอย่างมาก
เสื้อกันฝนของเบอร์เบอร์รีได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักกีฬากลางแจ้งและนักผจญภัย ถึงขนาดที่นักผจญภัยผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษอย่างเออร์เนสต์ ชาเคิลตัน (Ernest Shackleton) ก็สวมใส่ในการเดินทางไปสำรวจขั้วโลกเหนือ นอกจากนั้น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เทรนช์โค้ตของเบอร์เบอร์รียังกลายเป็นเครื่องแบบของทหารอังกฤษ พร้อมๆ กับการปรากฏโลโก้ลายตารางอันเป็นเอกลักษณ์ที่ใช้เป็นซับในในการตัดเย็บ
ด้วยความที่ผ้ากาบาร์ดีนมีน้ำหนักเบา ป้องกันฝนและช่วยเพิ่มความอบอุ่นได้ในเวลาเดียวกัน ทหารอังกฤษจึงชื่นชอบมันเป็นพิเศษ แม้ไม่ได้ออกสงครามหรือปลดประจำการแล้ว ก็ยังนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน
ไม่เพียงเท่านั้น เทรนช์โค้ตของเบอร์เบอร์รียังปรากฏในวงการภาพยนตร์ มันกลายเป็นไอเท็มคู่กายของศิลปินดาราระดับโลกมากมาย ทั้งในจอภาพยนตร์ เวลาออกงาน และสวมใส่เดินตามท้องถนน เช่น ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) นักแสดงสาวคนดังในยุค 50s-60s ก็เคยใส่ในหนังเรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961) จนเป็นที่โด่งดังมาแล้ว ขณะที่เมอรีล สตรีป (Meryl Streep) ดารารุ่นใหญ่ สวมใส่เสื้อกันฝนเบอร์เบอร์รีในหนังเรื่อง Kramer vs. Kramer (1979) เช่นเดียวกับพอล นิวแมน (Paul Newman) ในหนังเรื่อง Paris Blues (1961) ไมเคิล เคน (Michael Caine) ในหนังเรื่อง The Ipcress File (1965) รวมถึงแบรด พิตต์ (Brad Pitt) และแมตต์ เดมอน (Matt Damon) ในหนังเรื่อง Ocean’s Twelve (2004)
นักแสดงและนางแบบแถวหน้าอีกหลายคน ต่างก็เคยทำงานร่วมกับเบอร์เบอร์รี เพื่อตอกย้ำความคลาสสิกและความร่วมสมัยของเทรนช์โค้ตในแต่ละคอลเลกชัน ไม่ว่าจะเป็นเคต มอส (Kate Moss), โรซี ฮันทิงตัน-ไวต์ลีย์ (Rosie Huntington-Whiteley), อเล็กซา ชุง (Alexa Chung) และเอ็มมา วัตสัน (Emma Watson)
แม้แต่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอานาก็ยังเคยใส่เทรนช์โค้ตของเบอร์เบอร์รีในช่วงวันหยุดพักผ่อนที่รัฐโนวาสโกเชีย ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของแคนาดาเมื่อปี 1983 รวมถึงเคต มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริจด์ ก็มักจะสวมใส่ไปไหนมาไหนอยู่เป็นประจำ
ทุกวันนี้ ภายใต้การดูแลของคริสโตเฟอร์ ไบลีย์ (Christopher Bailey) ซีอีโอคนปัจจุบัน เบอร์เบอร์รีก็ยังพัฒนาไอเท็มสุดคลาสสิกนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การดีไซน์และการใช้วัสดุที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การนำผ้าลูกไม้หรือหนังมาตัดเย็บ เพื่อความทันสมัยและตอบรับกับกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจ See Now, Buy Now ซึ่งเบอร์เบอร์รีเป็นหนึ่งในแบรนด์แถวหน้าที่นำมาใช้ตั้งแต่ปลายปีก่อน
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไอเท็มชิ้นนี้จึงเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และยังเปรียบเสมือนชุดประจำชาติของอังกฤษตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
Tags: Gabardine, คริสโตเฟอร์ ไบลีย์, Christopher Bailey, See Now, Buy Now, Thomas Burberry, Burberry, กาบาร์ดีน, Trench Coat, ทอมัส เบอร์เบอร์รี