1.

ไม่จากมังงะสักเล่ม ก็คงจากหนังสักเรื่องหนึ่ง ที่แนะนำให้ผมได้รู้จักกับชื่อของ ‘Sigmund Freud’ จากข้อมูลเพียงคร่าวๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นจากความทรงจำในวัยเยาว์ ผมรู้แต่เพียงว่า ฟรอยด์เป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรีย เป็นยิว และเป็นผู้ให้กำเนิด ‘ทฤษฎีจิตวิเคราะห์’ (Psychoanalysis) ที่ผมก็ไม่ค่อยจะเข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร คิดแค่ว่า ชื่อฟังดูเท่ชะมัด

หลายปีผ่านไป ชื่อของฟรอยด์หวนกลับมาอีกครั้งในขณะที่ผมกำลังไล่อ่านรายชื่อวิชาที่เปิดให้ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัย จิตวิทยาพื้นฐานคือหนึ่งในชื่อวิชาที่ฟังดูน่าสนใจ หากพ้นไปจากเรื่องราวเพียงสั้นๆ ของฟรอยด์แล้ว ผมแทบจะไม่รู้อะไรที่พอจะเกี่ยวข้องกับวิชาจิตวิทยาเลย ลังเล แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลงทะเบียนวิชาจิตวิทยา เพราะเชื่อว่า อย่างน้อยๆ ก็อาจช่วยให้รู้จักทฤษฎีของฟรอยด์มากขึ้น ทว่าหลังจากเวลาผ่านไปอีกเกือบเทอม ผมกลับพบว่า สถานะของฟรอยด์ยังคงไม่ต่างอะไรจากคนแปลกหน้าที่ผมแทบจะไม่รู้จัก

ฟรอยด์คือชื่อของนักจิตวิทยาคนแรกที่ผมรู้จัก แต่น่าแปลกที่ชื่อของเขากลับไม่ได้รับการให้ความสำคัญนักในวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน เพราะฟรอยด์อาจไม่ใช่นักจิตวิทยาคนสำคัญอย่างที่ผมปักใจเชื่อมาตลอดอย่างนั้นหรือ? หรือเพราะทฤษฎีจิตวิเคราะห์อาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าชื่อเท่ๆ ของมัน คำถามผุดโผล่อยู่เรื่อยๆ แม้ในวันสอบของวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน

แต่แล้ว ปริศนาที่ผมสงสัยอยู่นานวันว่า “ฟรอยด์เป็นใครกัน?” ก็ค่อยๆ ได้รับความกระจ่างผ่านซีรีส์บทความ ‘เยี่ยมบ้านฟรอยด์’ ของนักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า ‘Visuelle’

 

2.

ผมอ่านบทความของ Visuelle (หรือที่เพิ่งจะมารู้ในทีหลังว่า เขาคือ ศรยุทธ เอี่อมเอื้อยุทธ อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา และวัฒนธรรมการทัศนา ประจำภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) มาตั้งแต่ที่ยังตีพิมพ์อยู่ในเว็บไซต์ The Momentum กระทั่งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา พอได้รู้ว่า บทความของเขาจะรวมเล่มเป็นหนังสือ ผมก็ไม่พลาดที่จะสั่งซื้อมาเพื่ออ่านซ้ำ

‘การเดินทางในระยะห่างของดวงตา’ คือหนังสือเล่มที่ว่า และแม้ว่าเนื้อหาของหนังสือจะประกอบด้วยบทความที่เคยได้ผ่านตามาบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อได้จดจ่อกับเรื่องเล่าของศรยุทธอย่างต่อเนื่อง จากหน้าหนึ่งสู่อีกหน้า โดยไม่ต้องเฝ้ารอเวลาตีพิมพ์ของบทความต่อไป ในแง่นี้ ความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวชีวิตของฟรอยด์ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และบทบันทึกความคิดของศรยุทธต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละบทจึงร้อยเรียงกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อการอภิปรายให้ผู้อ่านมองเห็นถึงพัฒนาการของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ รวมถึงนำเสนอข้อถกเถียงต่างๆ ที่แม้ว่าบ้างจะคัดค้าน แต่บ้างก็ช่วยต่อชีวิตให้กับทฤษฎีนี้

‘การเดินทางในระยะห่างของดวงตา’ เริ่มต้นบทที่หนึ่งด้วยทริปสั้นๆ ที่ผู้เขียนพาเราไปยังอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งกลางกรุงเวียนนา ที่กาลครั้งหนึ่ง – ภายในห้องเช่าห้องหนึ่งของอพาร์ตเมนต์หลังนี้ – ฟรอยด์เคยใช้เป็นห้องทำงาน เป็นห้องรอคิวรักษา เป็นห้องตรวจคนไข้ และเป็นบ้านของเขา

“…บ้านหลังนี้เคยเป็นที่พำนักของซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาทางความคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ และเป็นหนึ่งในนักคิดทรงอิทธิพลของคริสต์วรรษที่ 19 แนวคิดของเขามิได้เป็นเพียงแค่การเปิดภูมิทัศน์ทางจิตอันซับซ้อนของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ทว่ายังแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับบริบททางสังคม และระบอบของอำนาจที่ทำงานในสังคมนั้นๆ อย่างแยบยล”

                                            (หน้า 9)

….

กว่า 47 ปีที่ฟรอยด์ดำเนินชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ ทุกๆ วันจะมีคนไข้ผู้มีอาการทางจิตแวะเวียนมาให้เขารักษาอยู่เรื่อยๆ ศรยุทธเล่าว่า ในระหว่างศตวรรษที่ 19 – 20 ที่ความเจริญในยุโรปได้พุ่งทะยานขึ้นสุดขีด ผู้คนจำนวนมากกลับพบว่า จิตใจของพวกเขากำลังป่วยไข้จากโรคจิตเภท ภายใต้บริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนการพัฒนาให้รุดหน้าไปอย่างไม่มีสิ้นสุด

หนึ่งในคำอธิบายที่สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของโรคจิตเภทในช่วงศตวรรษนี้คือ ‘สังคมกำลังเสื่อมศีลธรรม’ ทว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ไม่เพียงแต่จะวิพากษ์คำสั่งสอนลักษณะนี้ หากเขายังนำเสนอคำอธิบายอื่นที่แตกต่างออกไป สำหรับฟรอยด์ การเสื่อมลงทางศีลธรรมไม่ใช่สาเหตุของความป่วยไข้ทางจิตใจ ตรงกันข้าม ความป่วยไข้ทางจิตใจเป็นผลลัพธ์ของความพยายามที่จะควบคุม และปิดกั้นแรงขับทางเพศให้อยู่ภายใต้กรงเหล็กของศีลธรรมทางสังคมต่างหาก

“ฟรอยด์อธิบายเพิ่มเติมถึงบทบาทของของความศิวิไลซ์ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในเมืองใหญ่ต่อสภาวการณ์ป่วยไข้ทางจิตของผู้คน อาทิ การแสดงออกซึ่งความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามของสังคม ขณะที่ การค้าบริการทางเพศในเมืองก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับแรงขับทางเพศ (Libido) ของผู้ชายซึ่งมิอาจแสดงออกได้กับภรรยาภายใต้มายาคติเรื่องศีลธรรมทางเพศ (Sexual morality) ที่น่าสนใจคือภาวะป่วยไข้อันเนื่องมาจากความเก็บกดปิดกั้นทางเพศนี้มักเกิดขึ้นในบรรดากลุ่มชนชั้นกลาง”

                                            (หน้า 15)

….

สอดคล้องไปกับการให้ความสำคัญต่อแรงขับทางเพศที่เชื่อมโยงคุณค่าทางศีลธรรมของสังคมกับปัจเจก ‘ความฝัน’ คือพื้นที่ซึ่งฟรอยด์มองว่า จะช่วยทำความเข้าใจกับจิตใต้สำนึกของมนุษย์

“ความฝันคือ กุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่โลกของจิตใต้สำนึก ความฝันเป็นเสมือนภาษาและอุดมไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย หากโลกของเหตุผลและกลไกของระเบียบแบบแผนทางสังคมต่างๆ ดำเนินอยู่ในโลกของความเป็นจริง โลกของความฝันก็คือพื้นที่หนึ่งของการปลดปล่อยความเก็บกดปิดกั้น ตลอดจนแรงปรารถนาที่มิอาจดำเนินได้ในโลกของความเป็นจริง”

                                            (หน้า 53)

….

สำหรับฟรอยด์ การตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในความฝัน จะเปิดเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ภายในตัวของปัจเจกเจ้าของความฝันนั้นๆ ในแง่นี้ การทำความเข้าใจความฝันของปัจเจกบุคคล จึงสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของอำนาจที่ปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ ปฏิสัมพันธ์อยู่ กล่าวให้ชัดขึ้นคือ ภายใต้การศึกษาความฝันของคนคนหนึ่ง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเข้าใจคนคนหนึ่งมากขึ้น แต่เคียงคู่ไปด้วยกัน การตีความความฝันยังเปิดเผยให้เห็นว่า ในแต่ละสังคม อำนาจทำงานอย่างไร

 

3.

แน่นอน ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไม่ได้เติบโตและเบ่งบานโดยปราศจากการคัดค้าน เช่น นักจิตวิทยาบางส่วนอาจมองว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ล้าสมัย และมีลักษณะที่นามธรรมเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิชาจิตวิทยาในปัจจุบันให้น้ำหนักกับกระบวนการศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ และการทำงานของร่างกายตามหลักชีววิทยา รวมถึงนักวิชาการสายสตรีนิยมที่วิพากษ์ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ว่า ให้ความสำคัญกับ ‘องคชาต’ ในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการแยกความเป็นชาย กับความเป็นหญิงออกจากกัน แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า ฟรอยด์เองก็ยังถูกครอบงำอยู่ภายใต้ความคิดแบบชายเป็นใหญ่

แต่แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์ทฤษฎีจิตวิเคราะห์อยู่เรื่อยๆ ทั้งในช่วงเวลาที่ฟรอยด์ยังมีชีวิตอยู่ หรือหลายทศวรรษหลังจากที่เขาจากโลกนี้ไปแล้ว หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่า ทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะล้มหายตายจากโลกนี้ไป ตรงกันข้าม ในปัจจุบันยังคงมีนักวิชาการที่ยังคงกลับไปทบทวนความคิดของฟรอยด์ ต่อยอด และพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ ปรัชญา สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา

สำหรับผมที่ไม่ได้มีความรู้ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์อะไรนัก การได้อ่าน ‘การเดินทางในระยะห่างของดวงตา’ นอกจากจะช่วยตอบข้อสงสัยที่ว่า “ฟรอยด์เป็นใครกัน?” จนกระจ่างแล้ว อีกคุณูปการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ยังคือการแสดงให้เห็นว่า ทำไมเราจึงควรจะหันมาให้ความสนใจกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ไม่เพียงแต่ในแง่ของการทำความเข้าใจกัลกลไกทางความคิดของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เผลอๆ จะสำคัญไปกว่า คือการพิจารณาต่อไปให้เห็นถึงโฉมหน้าของอำนาจในสังคมปัจจุบันที่กระทำต่อปัจเจกบุคคลหนึ่งๆ อย่างสาหัสสากรรจ์ขึ้นเรื่อยๆ

อำนาจที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ชื่อของความดีบ้าง ศีลธรรมบ้าง และความจงรักภักดีบ้าง

Fact Box

  • การเดินทางในระยะห่างของดวงตา : ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เขียน : สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด
Tags: , , ,