ภายใน ‘พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์’ ใจกลางแหล่งโลกีย์ของกรุงเทพมหานคร นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของย่านดังระดับโลกผ่านประวัติศาสตร์นับร้อยปีแล้ว ในมุมหนึ่งยังมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา หรือซีไอเอ (Central Intelligence Agency) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับย่านนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสถานที่พบปะของบรรดาสายลับในคราบฝรั่งสวม ‘เชิ้ตผูกเนกไท’ อีกทั้งยังมีสำนักงานเร้นแฝงอยู่ในย่านนี้ด้วย

บนผนังด้านหนึ่งของมุมซีเอไอ มีภาพและเกร็ดประวัติของโทนี โพ (Tony Poe) หรือชื่อจริงว่า แอนโธนี โพเชปนี (Anthony Poshepny) อดีตซีไอเอ ที่มีภารกิจเกี่ยวพันกับสงครามเวียดนาม (1955-1975) และเหตุการณ์ไม่สงบในลาว (1964-1973)

โทนี โพเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองล่องซาน ฐานทัพในลาว ก่อนจะถูกสั่งย้ายไปประจำการทางตะวันตกเฉียงเหนือ นักข่าวของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลเคยเขียนถึงเขาว่า สายลับโพเริ่มหันหลังให้กับความศิวิไลซ์ แต่งงานอยู่กินกับลูกสาวหัวหน้าเผ่า และสะสมใบหูของศัตรูที่เขาสังหาร

โรเจอร์ วอร์เนอร์ (Roger Warner) นักเขียนที่เคยรู้จักโทนี โพยืนยันเรื่องใบหูหรือศีรษะศัตรูที่เขาตัดเก็บไว้เป็นหลักฐานแทนการรายงานจำนวน รวมถึงความเป็นคนชอบทะเลาะเบาะแว้ง แต่โพก็เป็นคนน่าทึ่ง เป็นนักดื่ม ที่สามารถเล่าเรื่องได้ยอดเยี่ยม

ปี 1970 เล่าขานกันว่าโทนี โพเริ่มเพี้ยน และทำตัวเป็นเจ้าป่า จนกระทั่งได้รับคำสั่งให้ถอนตัวจากภารกิจในลาว นักข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัลหยิบยกคำบอกเล่าของเพื่อนซีไอเอมาเขียน ตอนที่แอนโธนี โพเชปนีถูกเรียกตัวเข้าพบทูตอเมริกันในกรุงเวียงจันทร์ เขาเข้าไปพร้อมกับปืนลูกซองในมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างถือมีดดาบ

ว่ากันว่า โทนี โพนี่แหละเป็นภาพต้นแบบของตัวละครผู้พันวอลเตอร์ อี. เคิร์ตซ์ในภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทดลาวตั้งแต่ปี 1964 นั้น ช่วงห้าปีแรกถูกเปิดเผยในภายหลังว่าเป็น ‘สงครามลับ’ ที่แม้แต่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาก็ไม่รับรู้ หรืออาจจะรับรู้ แต่พากันนิ่งเงียบเหตุเพราะเป็นฝ่ายลงมติสนับสนุน

ลาวประกาศตัวเป็นกลางอย่างเป็นทางการ และได้รับการรับรองจาก 14 ประเทศในการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาเมื่อปี 1962 รวมทั้งได้รับความคุ้มครองจากองค์การสหประชาชาติ แต่ลาวก็ยังกลายเป็นหมากกระดานของประเทศมหาอำนาจ นั่นเพราะลาวมีพรมแดนติดกับเวียดนาม และตามความเชื่อในทฤษฎีโดมิโนของรัฐบาลในวอชิงตันว่า ถ้าลาวเสียท่าตกไปอยู่ในอุ้งมือของระบอบคอมมิวนิสต์ มันจะกระทบถึงประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงคล้ายโดมิโน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประเทดลาวก็มีคอมมิวนิสต์ติดอาวุธเคลื่อนไหวอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ

ด้วยเหตุนี้ลาวจึงกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของหน่วยงานซีไอเอ งานนี้มีการคัดเลือกผู้คนจากชนเผ่าต่างๆ ในลาว เพื่ออบรม ฝึกฝนการใช้อาวุธ และสร้างพลรบไปต่อสู้กับประเทศลาว (ฝ่ายคอมมิวนิสต์) และเวียดกง (แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้) ศูนย์ปฏิบัติการกลางอยู่ที่เมืองล่องซาน ซึ่งอยู่ในเขตปกครองพิเศษไซสมบูน ห่างจากเมืองหลวงเวียงจันทน์ไปทางตอนเหนือประมาณ 130 กิโลเมตร

ที่นั่นมีชุมชนลับๆ จำนวนประชากรราว 40,000 คน ในสมัยนั้นนับเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของลาว มีสนามบินที่การจราจรคับคั่ง เพราะมีเครื่องบินใบพัดและเครื่องบินขนส่งสินค้าบินขึ้น-ลงตั้งแต่รุ่งเช้าจนพลบค่ำ การบินส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของ Air America กิจการที่ถือครองโดยซีไอเอร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำการขนส่งอาหาร อาวุธ และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับชาวเผ่าที่เป็นมิตร อีกทั้งยังให้สายลับไปสืบความเคลื่อนไหวของเวียดกงและประเทศลาว หรือทำเครื่องหมายจุดทิ้งระเบิด

ในช่วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกาทำการทิ้งระเบิดในลาวถึงสองล้านตัน ในจำนวนนั้นเป็นระเบิดหว่านราว 270 ล้านลูก นับว่ามากกว่าที่เคยใช้ระเบิดกันในสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก ทั้งที่ความจริงแล้ว ลาวเป็นเพียงเหตุการณ์ข้างเคียงของสงครามเวียดนามเท่านั้น

แอนโธนี โพเชปนี เกิดที่แคลิฟอร์เนียในปี 1924 และไปเติบโตที่ลองบีช ตอนที่สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง เขาอายุ 18 ปีและถูกเกณฑ์เข้าสังกัดเหล่านาวิกโยธินสหรัฐ ครั้นเสร็จศึกแล้วเขาก็กลับเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซานโจเซ สเตท

เมื่อเรียนจบ โพเชปนีสมัครเข้ารับราชการกับเอฟบีไอ แต่หลังจากสอบประวัติแล้วทางเอฟบีไอกลับส่งตัวเขาไปให้กับซีไอเอ ได้รับการฝึกอบรมที่นั่นก่อนถูกส่งตัวไปทำภารกิจในสงครามเกาหลี ต่อมาอินโดนีเซีย และกลายเป็นคนสำคัญของซีไอเอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช่วงต้นทศวรรษ 1960 โพเชปนีมีชื่อเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่า โทนี โพ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประเทศไทยผ่านอุดม พัฒน์พงศ์พานิช ทายาทหนึ่งในเจ็ดคนของหลวงพัฒน์พงศ์พานิช เคยไปเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาและเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อุดมเดินทางกลับมาเมืองไทยเมื่อสงครามโลกยุติลงแล้ว จากนั้นจึงหันมาพัฒนาที่ดินของครอบครัว เริ่มจากการตัดถนนผ่านที่ดินของตนเอง พร้อมสร้างอาคารพาณิชย์รูปแบบทันสมัยเพื่อทำเป็นร้านค้า และตั้งชื่อว่า ‘ซอยพัฒน์พงศ์’ นับตั้งแต่นั้นมา

โทนี โพ และซีไอเอซึ่งอยู่ในข่ายเพื่อนพ้องของอุดม พัฒน์พงศ์พานิชได้รับการติดต่อ และชักชวนให้เข้าไปทำธุรกิจในซอยพัฒน์พงศ์ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ ทั้งบริษัท IBM บริษัทน้ำมัน และสายการบินจากทั่วโลกเข้าไปตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านนี้ รวมทั้งสำนักงานของซีไอเอที่แฝงตัวอยู่ในหมู่อาคารเหล่านั้นเช่นกัน พัฒน์พงศ์จึงกลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น ก่อนจะถึงจุดเปลี่ยนในช่วงกลางทศวรรษ 1970s ถึงต้น 1980s เมื่อบริษัทต่างชาติเริ่มย้ายออกจากพื้นที่ และมีไนต์คลับ บาร์อะโกโกผุดขึ้นมาแทนที่

เมื่อปี 1959 หลังจากภารกิจวางแผนและฝึกกองกำลังเพื่อนำพาทะไล ลามะหลบหนีออกจากทิเบตอย่างปลอดภัยแล้ว โทนี โพได้รับมอบหมายงานต่อที่ลาว แต่งงานอยู่กินกับสาวชาวเผ่าที่นั่น

และใช้ชีวิตอยู่กับเธอจนถึงวันตายในปี 2003

อ้างอิง:

https://www.shootingillustrated.com/articles/2017/12/19/fightin-iron-cia-operative-tony-poe/

https://www.dw.com/de/laos-und-usa-blut-und-geheimnisse/a-19527710

Roger Warner, Shooting at the Moon: The Story of America’s Clandestine War in Laos, Steerforth (1998)

The Patpong Museum Bangkok: @patpongmuseum