Apocalypse Now (1979) และ Apocalypse Now Redux (2001) ซึ่งเป็นฉบับตัดต่อใหม่นั้น ถือเป็นผลภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้กำกับภาพยนตร์ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola 1939- ) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าสร้างหนังที่ยิ่งใหญ่และเปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพคนหนึ่งของโลก

สถิติที่ยังไม่มีผู้กำกับภาพยนตร์คนไหนทำได้เช่นคอปโปลา คือ การได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather (1972) ซึ่งเป็นภาคแรก และภาคต่อ The Godfather Part II (1974)

ส่วน Apocalypse Now (ดูเหมือนว่าจะ) เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม เมื่อตัวเอกคือ ร้อยเอกวิลลาร์ด นำแสดงโดย มาร์ติน ชีน (1940- )) แห่งหน่วยปฎิบัติการพิเศษได้รับคำสั่งให้เข้าไปลอบสังหารผู้พันเคิร์ซ (แสดงโดย มาร์ลอน แบรนโด (1924-2004)) นายทหารอเมริกันผู้แปรพักตร์  จากแม่น้ำใหญ่ในประเทศเวียดนาม ร้อยเอกวิลลาร์ดและลูกเรือบนเรือลาดตระเวน (ขนาดเล็ก) พบเห็นความวิปริตสารพัดของสงคราม และเมื่อเข้าสู่ใจกลางป่าลึกของกัมพูชา ผู้พันเคิร์ซ นายทหารอเมริกันคนนั้นกลับกลายเป็นของเทพเจ้าของชนเผ่าโบราณไปเสียแล้ว

แท้จริงแล้ว จอห์น มิลลิอุส (1944- ) เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายใต้การหารือกันกับเพื่อนผู้กำกับภาพยนตร์อีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ จอร์จ ลูคัส (1944- ) เจ้าของแฟรนไชส์ภาพยนตร์สตาร์วอรส์ ที่โด่งดังในปัจจุบันนั่นเอง ว่ากันว่าลูคัสจะใช้วิถีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เลียนแบบสารคดี โดยจะใช้กล้อง 16 มม. ถ่ายทำแบบหนังข่าวด้วยฟิล์ม ขาว-ดำ และจะเข้าไปถ่ายทำในประเทศเวียดนามด้วยจริงๆ แต่โปรเจ็กต์นี้ก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ใดเลย จนฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ร่ำรวยเป็นเศรษฐีขึ้นมาจากความสำเร็จของภาพยนตร์ The Godfather ทั้งสองภาคที่ทำเงินถล่มทลาย

คอปโปลาจึงร่วมทุ่มเงินส่วนตัวลงทุนในการปัดฝุ่นบทภาพยนตร์ของ จอห์น มิลลิอุส ขึ้นมาสร้างและกำกับด้วยตนเอง ทั้งนี้ คอปโปลา มิลลิอุส และ ลูคัส ต่างก็เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนวิชาภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัย UCLA (University of California Los Angeles) นั่นเอง

แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมคลาสสิก Heart of the Darkness

จอห์น มิลลิอุส เขียนบทภาพยนตร์ Apocalypse Now ขึ้นจากการผสมผสานสถานการณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐต่อนโยบายสงครามตัวแทนในแถบเอเชีย เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์จากจีนและโซเวียตรัสเซีย เนื้อหาเข้ากันกับวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Heart of the Darkness (1902) ของ โจเซฟ คอนราด (1857-1924)  

หลายปีที่ผ่านมา มีคนค้นพบแง่มุมใหม่ๆ จากภาพยนตร์ Apocalypse Now โดยเฉพาะแง่มุมทางคติชนวิทยา (Folklore) เทววิทยา (Theology) และมานุษยวิทยา (Anthropology) จากการที่ผู้กำกับภาพยนตร์ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา จงใจถ่ายภาพให้เห็นตำราทางมานุษยวิทยาสองเล่ม บนกองหนังสือที่หัวเตียงของผู้พันเคิร์ซ เล่มหนึ่งคือ The Golden Bough (1890) งานเขียนของ เซอร์เจมส์ จอร์จ เฟรเซอร์ (1854–1941) ที่กล่าวถึงการที่ชนเผ่าต่างๆ สร้างรูปแบบของพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นแบบแผนในการปกครองและธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกย่องหัวหน้าเผ่าขึ้นเป็นราชันย์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ดุจเทพเจ้า ส่วนอีกเล่มคือ From Ritual to Romance (1920) ผลงานเขียนของ เจซซี่ เวสตัน (1850–1928) นักมานุษยวิทยาหญิงที่ศึกษาตำนานของจอกศักดิ์สิทธิ์แห่งกษัตริย์อาเธอร์

ใน Apocalypse Now นอกเหนือไปจากความหลอกหลอนของบรรยากาศแบบไซเคเดลิก (Psychedelic) จากฉากการพี้ยาของเหล่าทหารหาญและฉากของหมอกควันในการเดินทางเข้าสู่ดินแดนอันลึกลับแล้ว ในสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำ คอปโปลาชี้แจงต่อทีมนักดนตรีก่อนการบันทึกเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ (ที่พอจะแปลเป็นไทย) ว่า “….เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ดำเนินไป จังหวะดนตรีจะเริ่มจากเพลงในปี 1969 จากนั้นจะเป็นเพลงของปี 1954 จากนั้นจะเป็นดนตรีของยุคปี 1900 ยุคปี 1600 ยุคปี 1200 เรื่อยไปจน 2000 ปีก่อน ….เรื่อยไปถึงหนึ่งล้านปีก่อน ….เรากำลังเดินทางย้อนเวลากลับไป กลับไปสู่ความมืดมิด กลับไปสู่ ‘หฤทัยแห่งอันธการ’….”   ชื่อเรื่อง Apocalypse Now ที่พอจะแปลไทยในความหมายที่ว่าเป็นวันสุดท้ายแห่งมวลมนุษยชาตินั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องราวของพิธีกรรม บูชายัญ และความมืดมนแห่งจิตใจของเหล่ามวลมนุษย์นั่นเอง

เดวิด ไชร์ มือประพันธ์คนแรก ก่อนร้างลาไปตามความสัมพันธ์

ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 1976 และออกฉายได้ในปี 1979 กว่าสามปีของการดำเนินงานสร้าง เกิดปัญหาในทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนการผลิตดนตรีประกอบภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน

หลังจากผิดหวังกับการที่สังกัดแผ่นเสียงไม่ยินยอมให้ ไอซาโอะ โทมิตะ (Isao Tomita 1932-2016) นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ซินธิไซเซอร์คนสำคัญของญี่ปุ่นมาทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ให้  ผู้ที่รับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นคนแรกก็คือ เดวิด ไชร์ (David Shire 1937-) ไชร์ ถือเป็นผู้ประพันธ์เพลงที่ชำนาญหลากหลายแนวดนตรี ทั้ง ป็อป ร็อก แจ๊ซ และดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเช่นกัน

คอปโปลาให้ไชร์ใช้แค่เปียโนตัวเดียวสร้างเสียงดนตรีประกอบ ซึ่งนอกจากแนวดนตรีบรรเลงแบบเปลี่ยวเหงาผสมแจ๊ซแล้ว ไชร์ยังใช้เทคนิคแต่งเสียงด้วยเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ให้เสียงเปียโนตัวโน้ตต่ำๆ นั้นกลายมาเป็นเสียง Drone หรือ Ambient Noise

แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ไชร์ได้จ็อบงานจาก คอปโปลา  เหตุผลสำคัญที่แท้จริงกว่าก็คือ ไชร์เป็นน้องเขยของคอปโปลา เขาแต่งงานกับ ทาเลีย คอปโปลา ดารานักแสดง น้องสาวแท้ๆ ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา

ด้วยการที่ คอปโปลาใช้ชีวิตระหว่างการถ่ายทำ  Apocalypse Now ที่โลเคชั่นในฟิลิปปินส์มากกว่าสหรัฐอเมริกา การให้คนใกล้ตัวรับผิดชอบงานสำคัญ จึงอาจจะเป็นอีกผลหนึ่งที่ เดวิด ไชร์ ทำหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบในแบบดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ตามที่คอปโปลาเคยตั้งใจไว้ (ชมคลิป เดวิด ไชร์ ย้อนรำลึกอดีตคุยกันกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ถึงไอเดียการสร้างสรรค์เสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ The Conversation ได้ที่นี่)

ไอเดียที่คอปโปลาตั้งใจไว้ก็คือการผสมผสานเสียงดนตรีและเสียงประกอบ (เช่น เสียงบรรยากาศ  เสียงป่า เสียงลม เสียงฝน หรือเสียงเครื่องจักรกลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงใบพัดของเครื่องเฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น) เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน คอปโลลา อยากจะให้เสียงของใบพัดเฮลิคอปเตอร์ปรับความถี่ลงให้ต่ำและเป็นเสมือนเสียงทุ้มๆ ในการให้จังหวะ  ขณะที่เสียงลมหวีดหวิวสามารถแปลงเป็นเสียงของเครื่องดนตรีที่บรรเลงทำนองออกมาได้ เสียง Drone ต่ำๆ ที่ลากยาวจะแทนบรรยากาศอันเป็นไปด้วยหมอกหนาและความลึกลับกลางป่าทึบ ดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงทำหน้าที่แทนเสียงประกอบและเสียงบรรยากาศอื่นๆ ของเรื่องด้วยเช่นกัน

แม้ว่า เดวิด ไชร์ จะลงมือแต่งดนตรีไปหลายคิวแล้วก็ตาม แต่ด้วยเหตุหมางใจกันอย่างไรไม่ทราบได้แน่ชัดนัก บ้างก็ว่าไชร์ไปรับจ็อบทำดนตรีให้ภาพยนตร์เรื่องอื่นระหว่างงานเรื่องนี้ยังค้างคาอยู่ บ้างก็ว่าตัวหนังมีปัญหาเลื่อนฉายออกไปอย่างไม่รู้กำหนด  แต่เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือชีวิตสมรสของไชร์และทาเลียมาถึงจุดจบ ในที่สุดทั้งสองหย่าขาดจากกัน และทำให้คอปโปลาสั่งรื้อทิ้งผลงานสกอร์แนวอิเล็กทรอนิกส์ซินธิไซเซอร์ที่ไชร์แต่งไว้ออกจากภาพยนตร์ทั้งหมด

ถึงมือ คอปโปลา ผู้พ่อ

ทีมงานชุดที่สองที่เข้ามารับผิดชอบต่อในการแต่งดนตรีประกอบให้กับ Apocalypse Now คือคนใกล้ตัวอีกเช่นกัน นั่นก็คือ คาร์ไมน์ คอปโลลา (Carmine Coppola 1910-1991) บิดาของเขานั่นเอง

คาร์ไมน์จบการศึกษาทางด้านดนตรีจากวิทยาลัยการดนตรีแมนฮัตตัน (Manhattan School of Music) ในนิวยอร์ก เขาเป็นนักดนตรีและผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้กับวงดนตรี Radio City Music Hall และเป็นคอนดักเตอร์ หรือผู้อำนวยเพลงให้กับการแสดงโอเปร่าที่ Brooklyn Academy of Music

คาร์ไมน์แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ให้กับผู้กำกับภาพยนตร์เพียงคนเดียว นั่นก็ถือลูกชาย ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา คอปโปลารู้จุดอ่อนของบิดาเป็นอย่างดี ว่าคาร์ไมน์ชำนาญเฉพาะดนตรีคลาสสิกและโอเปร่า เพื่อจะให้ได้แนวดนตรีแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย คอปโปลาจึงว่าจ้างนักซินธิไซเซอร์อีกหลายคนให้เข้ามาช่วยงานในครั้งนี้ โดยมี เชอร์ลี่ย์ วอล์กเกอร์ (Shirley Walker 1945–2006) นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์หญิง เป็นผู้แปลงผลงานการประพันธ์ของคาร์ไมน์ที่เขียนไว้บนกระดาษโน้ตดนตรีให้เป็นแทร็กเปียโนไกด์ และส่งต่อแทร็กไกด์เหล่านี้ให้กับบรรดานักซินธิไซเซอร์ คือ เบอร์นี่ เคราส์ (Bernie Krause 1938– ) แพทริก กลีสัน (Patrick Gleeson 1934– ) ดอน เพรสตัน (Don Preston 1932– ) และ ไนล์ สไตเนอร์ (Nyle Steiner) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีซินธิไซเซอร์

ซึ่งเมื่อย้อนเวลากลับไปในยุคนั้น เครื่องดนตรีเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยความรู้และทักษะพิเศษเฉพาะบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบเสียงให้เกิดเป็นเสียงชนิดใหม่ๆ ตลอดจนการผสมเสียง การบรรเลง และการบันทึกเสียงต่างๆ  แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถสร้างบรรยากาศอันลึกลับศักดิ์สิทธิ์อันเป็นประสบการณ์ตรงที่คอปโปลาได้รับขณะถ่ายทำที่ฟิลิปปินส์ได้เพียงพอ

จากพิธีบูชายัญ สู่ดนตรีพื้นเมืองจากเครื่องเคาะ

ภาพยนตร์อีกเรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่กับ Apocalypse Now คือ Hearts of Darkness: A Filmmaker’s Apocalypse (1991) ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีเบื้องหลังการสร้าง Apocalypse Now ที่ถ่ายภาพและเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ เอลินอร์ คอปโปลา (Eleanor Coppola 1936–) ภรรยาของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา  

ในฉากนึงของสารคดีนี้เล่าถึงการที่กองถ่ายว่าจ้างชนพื้นเมืองเผ่า อิฟูเกา (Ifugao) จากภูมิภาคเขาสูงตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์จำนวนหลายร้อยคนมารับบทเป็นกองกำลังของผู้พันเคิร์ซกลางป่าลึกในประเทศกัมพูชาตามท้องเรื่อง

ขณะว่างจากการถ่ายทำ ชาวเผ่าอิฟูเกาก็เรียกให้เอลินอร์ไปช่วยบันทึกภาพการประกอบพิธีกรรมที่กำลังจะจัดขึ้น ซึ่งทั้ง เอลินอร์ และ ฟรานซิส จึงได้เห็นการฆ่าสัตว์ทั้งหมูและควาย เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของเผ่าแบบต่อหน้าต่อตาเป็นครั้งแรก

มากไปกว่านั้น หัวใจของสัตว์ที่ถูกบูชายัญ ก็ถูกควักและนำมาให้กับผู้ปกครองสูงสุดของพวกเขา (ซึ่งตอนนั้นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในกองถ่ายก็คือ คอปโปลา นั่นเอง) ด้วยความประทับใจในลีลาการร่ายรำ การขับร้อง และบรรยากาศของการประกอบพิธีกรรม คอปโปลาจึงขอให้ชาวอิฟูเกาประกอบพิธีบูชายัญขึ้นอีกครั้งและถ่ายทำเพื่อบรรจุฉากนี้ลงในภาพยนตร์ และเมื่อกลับมายังสหรัฐอเมริกาแล้ว เขาจึงเซ็ตทีมนักดนตรีอีกทีมหนึ่งเพื่อบรรเลงดนตรีด้วยกลุ่มเครื่องเคาะ (percussion) ล้วนๆ ประกอบฉากเผ่าลึกลับกลางป่าและฉากพิธีกรรมนี้

มิกกี้ ฮาร์ท (Mickey Hart 1943– ) และ บิล ครูซมานน์ (Bill Kreutzmann 1946– ) ต่างก็เป็นมือกลองและเครื่องเคาะจังหวะให้กับวงร็อกชื่อดังอย่าง The Grateful Dead วงนี้ใช้มือกลองสองคน คนหนึ่งเล่นกลองชุด อีกคนเล่นกลองและเครื่องเคาะอื่นๆ สลับกันไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะ มิกกี้ ฮาร์ท ที่สนใจเครื่องดนตรีพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลกเป็นพิเศษ เขาเดินทางออกไปเรียนรู้และบันทึกเสียงดนตรีพื้นเมืองไว้เป็นจำนวนมาก แล้วก็สะสมบรรดากลอง เครื่องเคาะ เครื่องเขย่า และเครื่องดนตรีแปลกๆ เหล่านี้ไว้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

จากการที่คอปโปลาได้ชมการแสดงสดของวง The Grateful Dead จึงได้ว่าจ้างให้ทั้ง ฮาร์ทและครูซมานน์ รับหน้าที่สร้างเสียงดนตรีพื้นเมืองจากเครื่องเคาะจังหวะมากมายหลายร้อยชิ้น อีกทั้งยังว่าจ้างคณะกลองพื้นเมืองญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “Taiko” มาร่วมบรรเลงด้วย  

เสียงประหลาดๆ ที่ มิกกี้ ฮาร์ท ทดลอง ซึ่งเมื่อ คอปโปลา ฟังแล้วจะชื่นชอบมากเป็นพิเศษ คือเครื่องดนตรีหน้าตาแปลกๆ ที่เรียกว่า “Beam” ลักษณะคล้ายกีตาร์ไฟฟ้าที่วางแนวนอน สายแต่ละเส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าสายกีตาร์ปกติ ดังนั้น เมื่อเวลาดีด ก็จะให้เสียงที่ทุ้มต่ำ ในขณะเดียวกัน Beam ก็ถูกต่อพ่วงด้วยเครื่องสร้างเสียงเอฟเฟ็กต์ที่ปรับแต่งให้มีเสียงก้องกังวาน มีเสียงสะท้อน และมีความยาวเพิ่มขึ้นอีก จนคอปโปลาเอ่ยว่า นี่คือเสียงของระเบิดนาปาล์มอย่างที่เค้าต้องการเลยทีเดียว (ชมคลิปสัมภาษณ์ของ มิกกี้ ฮาร์ท กับการทำงานดนตรีให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่นี่)

เครดิตท้ายเรื่อง กับบทสรุปที่แตกต่าง

Apocalypse Now เมื่อแรกออกฉายในสหรัฐอเมริกา เป็นฉบับฟิล์ม 70 มม. คอปโปลาต้องการสร้างความพิเศษให้กับการชมภาพยนตร์ โดยแถมสูจิบัตรให้กับผู้ชม และตัดเครดิตท้ายเรื่องออก ผู้ชมที่ต้องการรู้ว่าใครทำอะไรตำแหน่งไหนก็ให้ไปเปิดสูจิบัตรดูเอาเอง แต่ในฉบับที่ฉายในประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นฟิล์ม 35 มม. เหมือนภาพยนตร์ทั่วไป ที่สำคัญคือจะมีเครดิตท้ายเรื่องความยาวประมาณหกนาทีใส่อยู่ด้วย

จะว่าไป ฉากเครดิตจบเรื่องนี้ก็มีความหมายต่อการตีความถึงบทสรุปที่แตกต่างกัน เพราะจะเป็นภาพการระเบิดเทวสถานที่ซึ่งกองกำลังของเคิร์ซหลบซ่อนอยู่  แต่ฉากนี้เป็นฉากที่เราจะได้ยินเสียงดนตรีประกอบจากการทดลองเครื่อง Beam โดย มิกกี้ ฮาร์ท ได้อย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็จะพบว่ามีแทร็กเสียงดนตรี(ที่อาจจะเป็น)ผลงานของ คาร์ไมน์ คอปโลลา เป็นบรรยากาศโหยหวนคลออยู่ ซึ่งนั่นเป็นการผสมเส้นเสียงจากผลงานดนตรีประกอบจากผู้ประพันธ์ดนตรีหลายๆ คนเข้าด้วยกัน อาจจะเป็นตัวคอปโปลาทำด้วยตนเองหรือช่างเสียงเป็นคนทำก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัดนัก

ภาพปกซีดีดนตรี by David Shire

ภาพปกซีดีบรรเลงเครื่องเคาะ Apocalypse Now by Mickey Hart

ความพิเศษเช่นนี้จึงทำให้ซีดีอัลบั้มดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ (แม้ว่าจะมีออกมาหลายชุด) ก็อาจจะยังฟังแล้วไม่เหมือนกับการได้ยินดนตรีประกอบชัดๆ จากภาพยนตร์โดยตรงด้วยเช่นกัน ชมเครดิตท้ายเรื่องที่ถูกตัดออกได้ที่นี่

ดนตรีที่ไม่ได้ใช้

ภาพปกซีดีดนตรีประกอบภาพยนตร์ Apocalypse Now

เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการออกซีดีเพลงของ เดวิด ไชร์ ที่ถูกถอดออกจากภาพยนตร์ในชื่อชุด David Shire’s Apocalypse Now (The Unused Score) ซึ่งก็คือการรวบรวมคิวดนตรีท่อนต่างๆ ที่ ไชร์ ประพันธ์ไว้แล้ว ทำให้ผู้สนใจในประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ Apocalypse Now ได้เสพอรรถรสที่แตกต่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น

จากซีดีชุดดังกล่าว จะพบได้ว่าหลายๆ เพลงก็คล้ายกันกับที่ คาร์ไมน์ คอปโลลา แต่งไว้ คือเป็นดนตรีที่ไม่มีฐานเสียง (Atonal) ที่เน้นเป็นบรรยากาศ หรือบางเพลงเป็นท่วงทำนองในสำเนียงแบบเอเชีย บางเพลงก็เป็นการออกแบบเสียงอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นเสียงใบพัดเฮลิคอปเตอร์ บางเพลงก็มิกซ์เสียงบรรยากาศของป่าเข้ามา

ที่น่าสนใจก็คือความพยายามในการบรรเลงบทเพลง Ride Of The Valkyries ของคอมโพสเซอร์  ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner 1813-1883) ในฉากฝูงทหารม้าเฮลิคอปเตอร์บุกถล่มเวียตกงอันเป็นเทรดมาร์คสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า มีการทดลองเปลี่ยนดนตรีออร์เคสตราทั้งในท่อนทำนองหลักและท่อนนักร้องหญิงเสียงโซปราโน ให้เป็นการใช้เครื่องซินธิไซเซอร์ล้วนๆ แทน  ซีดีชุดนี้จึงเป็นเสมือนแหล่งข้อมูลอันสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำกับภาพยนตร์ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ได้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น (ลองฟังบทสัมภาษณ์จาก เดวิด ไชร์ และเพลงตัวอย่างได้ที่นี่)

The End by The Doors

อีกเพลงหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ ก็คือเพลง The End ผลงานของวงแนวไซเคเดลิกร็อคชั้นเยี่ยมของโลก นั่นก็คือวง The Doors ทั้งนี้เพราะ จิม มอร์ริสัน (Jim Morrison 1943 –1971) ซึ่งเป็นทั้งนักร้องนำ ผู้ประพันธ์เพลงและหัวหน้าวง The Doors รวมถึงนักดนตรีอีกคนในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดและผู้ประพันธ์เพลง คือ เรย์ แมนซาเร็ค (Ray Manzarek 1939– 2013)  ล้วนแต่เป็นนักศึกษาวิชาภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัย UCLA ร่วมชั้นเรียนกันกับทีมงานทั้ง คอปโปลา, จอห์น มิลลิอุส และ จอร์จ ลูคัส ด้วยกันมาแล้วทั้งสิ้น แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งคือเมื่อวง The Doors เริ่มมีชื่อเสียงได้ไม่นานนัก จิม มอริสัน ต้องมาเสียชีวิตจากไปก่อนวัยอันควร แม้ว่าคู่หู เรย์ แมนซาเร็ค จะพยายามประคับประคองวงเอาไว้ แต่เมื่อขาดผู้นำวงที่โดดเด่นอย่าง จิม มอริสัน ไปจึงทำให้วง The Doors เป็นอันต้องยุบตัวลง

ว่ากันว่าไอเดียแรกเริ่มเดิมที คอปโปลา ตั้งใจที่จะให้ภาพยนตร์ Apocalypse Now ใช้บทเพลงต่างๆ ของวง The Doors ประกอบในภาพยนตร์ตลอดทั้งเรื่องเสียด้วยซ้ำ (ชมคลิปเพลง Light My Fire ของวง The Doors เวอร์ชั่นการประกอบพิธีกรรมที่ คอปโปลา ถ่ายทำไว้แต่ไม่ได้นำมาใช้ในภาพยนตร์ได้ที่นี่) แต่ไอเดียนี้อาจจะไม่เหมาะกับตัวภาพยนตร์ เมื่อตัวเรื่องสลับซับซ้อนมากขึ้น  

อย่างไรก็ดี จากการตัดต่อ-ลำดับภาพในขั้นสุดท้ายที่ดูเหมือน คอปโปลาจะยกฉากจบของเรื่องมาไว้ตอนต้นเรื่อง (สังเกตได้จากการแทรกภาพปราสาทบายนกับฉากระเบิดในห้วงหลอนของวิลลาร์ด) ชื่อของเพลง The End ตลอดจนท่วงทำนอง เนื้อหาของเพลง และเสียงร้องของ มอริสัน ซึ่งมีทั้งความลุ่มลึกและแปลงมาเป็นความเกรี้ยวกราดจึงเข้ากันได้กับสไตล์ภาพหลอนไซเคเดลิกที่คอปโปลาวางไว้เป็นอย่างดี

เช่นกันกับฉากจบซึ่งวิลลาร์ด ลงมือสังหาร เคิร์ซ บทเพลง The End ในท่อนบรรเลงก็กลับเข้ามาอีกครั้งโดยตัดสลับกับการล้มควายเพื่อบูชายัญ เสียงตะโกนก่นด่าที่ จิม มอริสัน แทรกไว้ในเพลงจึงเสมือนเสียงที่มาจากจิตใจของทั้งวิลลาร์ดและเคิร์ซที่กำลังต่อสู้กัน ในที่สุด เคิร์ซ เองจึงเหมือนถูกจับบูชายัญ  ขณะที่ วิลลาร์ด ไม่ได้สิ้นสุดภาระกิจเช่นในเพลง The End แต่เหตุการณ์ท่ามกลางป่าลึกนี้จะวกวนหลอกหลอนเขาไปตลอดกาล (ลองฟังเพลง The End เวอร์ชั่นเต็มความยาว 12 นาที ซึ่งจะมีเสียงตะโกนอย่างเกรี้ยวกราดของ จิม มอริสัน ได้ที่นี่) และ (ลองฟัง The End เวอร์ชั่นที่มิกซ์เสียงเพื่อใช้ในภาพยนตร์ที่มีเสียงใบพัดเฮลิคอปเตอร์และเสียงบรรยากาศป่า ความยาว 6 นาที ได้ที่นี่)

คอปโปลา เองก็ยอมรับว่าความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างให้ภาพยนตร์ Apocalypse Now มีความหมายลึกซึ้งถึงความมืดมนในห้วงจิตใจของมวลมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยมนี้ มาจากฝีมือการดัดแปลงวรรณกรรม Heart of the Darkness ให้เป็นบทภาพยนตร์ของผู้เขียนบทภาพยนตร์ จอห์น มิลลิอุส

ต่อมา ภายหลังที่ มิลลิอุส ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับใหญ่อีกคนในฮอลลีวูด อาจจะเป็นเพราะมิลลิอุสยังคงค้างคาใจในความสำเร็จของ Apocalypse Now แต่ตนเองพลาดโอกาสที่จะได้ลงมือกำกับภาพยนตร์ด้วยตนเอง  มิลลิอุส จึงสร้างภาพยนตร์ขึ้นอีกเรื่องคือ Farewell to the King (1989) อันเป็นเรื่องของนายทหารอเมริกันที่บังเอิญจับพลัดจับผลูได้ขึ้นเป็นราชาแห่งเผ่าคนป่าบนเกาะบอร์เนียว และนำทัพคนป่าเข้าสู้กับทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องสะท้อนแง่มุมของการเปลี่ยนผ่านจากคนธรรมดากลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายมาเป็นเทพเจ้า กลายมาเป็นคนเหนือคน หรือนั่นอาจจะเป็นจุดสูงสุดของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่เฝ้าฝันอยากจะเป็น ก็เป็นไปได้

Fact Box

  • วรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Heart of the Darkness (1902) ของ โจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad 1857-1924)  แปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า หฤทัยแห่งอันธการ โดย เกียรติขจร ชัยเธียร ผู้ซึ่งเป็นทั้ง ศิลปินอิสระ สถาปนิก นักโบราณคดี และผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม อ่านรายละเอียดที่เกียรติขจร ชัยเธียร เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์ Apocalypse Now กับวรรณกรรม Heart of the Darkness นี้ที่เว็บไซต์นี้  ส่วนหนังสือ ‘หฤทัยแห่งอันธการ’ มีเฟซบุ๊กแฟนเพจ ที่นี่
  • นอกจากดนตรีประกอบภาพยนตร์แล้ว เดวิด ไชร์ยังแต่งดนตรีและเพลงร้องสำหรับละครเพลงด้วย (เช่น The Waterfall (2015) ที่ดัดแปลงจากนวนิยายข้างหลังภาพ นำแสดงโดย สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) ผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของไชร์คือ The Conversation (1974) ซึ่งก็คือผลงานการกำกับของคอปโปลานั่นเอง
Tags: , , , , , ,