สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของเทพปกรณัมกรีกโรมันนอกเหนือจากเหล่าทวยเทพและอสุรกายล้ำจินตนาการแล้ว ก็คือเหล่าวีรบุรุษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฮอร์คิวลีส (หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า เฮราคลีส) เพอร์เซียสผู้ปราบเมดูซ่า เจสันผู้โด่งดังจากภารกิจพิชิตขนแกะทองคำ หรือ ธีเซียสผู้สังหารมิโนทอร์ ซึ่งการผจญภัยของวีรบุรุษเหล่านี้ก็เป็นที่มาของศัพท์และสำนวนจำนวนไม่น้อยในภาษาอังกฤษด้วย

แม้จะเคยเขียนคำที่มาจากเทพปกรณัมกรีกโรมันไปแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำที่ใช้เรียกอาหารอย่างซีเรียล คำเรียกสถานที่อย่างป่าแอมะซอน ไปจนถึงคำที่เราได้ยินในสื่อบันเทิงอย่างเมนเทอร์ ชื่อธาตุต่างๆ หรือแม้แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่อิทธิพลของปกรณัมโบราณเหล่านี้แผ่ซ่านแทรกซึมไปกว้างมากจนยังมีคำอีกมากมายที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันโดยอาจไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วมีที่มาจากเทพปกรณัมกรีกโรมัน

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกตำนานวีรบุรุษธีเซียส (Theseus) แห่งเมืองเอเธนส์และดูว่าเราได้คำศัพท์มาบ้างจากเรื่องนี้มาใช้ในภาษาอังกฤษบ้าง

กำเนิดธีเซียส

เรื่องมีอยู่ว่า อีเจียส (Aegeus) กษัตริย์เมืองเอเธนส์ (Athens จริงๆ แล้วออกเสียงว่า แอธเธินสฺ) อยากมีลูกใจจะขาด แต่พยายามอย่างไรก็ยังไม่มีลูกเสียที (สมัยนั้นยังไม่มีคลินิกผู้มีบุตรยากอะเนอะ) อีเจียสเลยไปขอคำพยากรณ์จากเทพอพอลโล (Apollo) ที่เดลฟี (Delphi) เผื่อจะได้ทราบว่าต้องทำอย่างไร ปรากฏว่าโหรในวิหารของเทพอพอลโลก็ให้คำทำนายแสนงงงวยมาว่า “อย่าคลายปากถุงหนังใส่เหล้าองุ่นจนกว่าจะถึงเมืองเอเธนส์”

อีเจียสได้ยินคำทำนายที่งงเกือบเท่าชื่อเพลงของวง Getsunova ก็ถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก ตีลังกากลับหัวคิดกี่ตลบก็ยังไม่เก็ต จึงตัดสินใจเดินทางไปปรึกษาเพื่อนผู้ปราดเปรื่องนามว่า พิทเธียส (Pittheus) ซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองทรอยเซ็น (Troezen) ปรากฏว่ากษัตริย์องค์นี้ก็ฉลาดจริง เพราะทันทีที่ได้ยินคำทำนายก็รู้ทันทีว่าเทพไม่ได้หมายถึงถุงหนังใส่เหล้าองุ่นจริงๆ แต่หมายถึง กระปู๋ ต่างหาก พูดอีกอย่างก็คือ อย่าเพิ่งไปมีอะไรกับใครจนกว่าจะกลับถึงบ้านในกรุงเอเธนส์ เพราะครั้งต่อไปที่ประกอบกิจกาม จะได้ลูกตามที่ต้องการ แต่พิทเธียสนี่ก็ร้ายพอตัว เพราะตัวเองมีลูกสาวชื่อ อีธรา (Aethra) ที่แอบอยากให้ได้ดองเป็นทองกับแผ่นเดียวกันกับตระกูลของกษัตริย์อิจีอุส ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองใหญ่อย่างเอเธนส์ ก็เลยทำทีเป็นไม่เข้าใจคำทำนาย เท่านั้นไม่พอ ยังจับเพื่อนมอมเหล้าองุ่นจนเมาแล้วให้หลับนอนกับลูกสาวตัวเอง*

วันรุ่งขึ้น อีเจียสตื่นขึ้นมาถึงเพิ่งรู้ตัวว่าได้นอนกับนางอีธรา เนื่องจากแต่ก่อนไม่มีถุงยางหรือยาคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ อีเจียสก็ไม่รู้ว่านางอีธราจะมีลูกหรือเปล่า ก่อนเดินทางกลับเมืองเอเธนส์ก็เลยเอาดาบกับรองเท้าแตะไปซ่อนไว้ใต้หินขนาดใหญ่ แล้วบอกกับนางอีธราว่า ถ้าได้ลูกชาย พอโตเป็นหนุ่มและแข็งแรงพอที่จะเอาดาบกับรองเท้าแตกออกจากใต้หินได้แล้ว ให้ส่งลูกชายมาที่เมืองเอเธนส์

ปรากฏว่าเก้าเดือนต่อมา นางอีธราก็ได้ให้กำเนิดลูกชายนามว่า ธีเซียส (Theseus) เมื่ออีธราแม่เลี้ยงเดี่ยวของเราก็เลี้ยงดูจนลูกชายโตเป็นหนุ่มและแข็งแรงพอที่จะเคลื่อนหินที่พ่อซ่อนดาบกับรองเท้าไว้ข้างล่างได้ในที่สุด จึงบอกลูกให้เดินทางไปยังเมืองเอเธนส์เพื่อไปพบพ่อ

*บางตำนานบอกว่า ในคืนเดียวกันนั้น เทพอธีนา (Athena) ผู้ปกปักษ์รักษาเมืองเอเธนส์ได้มาเข้าฝันนางอีธรา บอกให้นางลุกขึ้นมากลางดึกและเดินแหวกน้ำไปยังเกาะแห่งหนึ่งเพื่อไหว้ทวยเทพ นางอีธราก็ทำตามแต่โดยดี เมื่อทำทุกอย่างเสร็จสิ้น เทพโพไซดอน (Poseidon) ก็ขึ้นมาจากทะเลมาสมสู่กับนางอีธราในคืนนั้น ทำให้บอกไม่ได้ว่าสรุปแล้วธีเซียสเป็นลูกคนหรือลูกเทพ

ธีเซียสปราบโจร

แต่หนทางจะไปเมืองเอเธนส์ใช่จะง่ายดาย เพราะนอกจากหนทางจะไม่ได้สะดวกแบบมีบีทีเอสตัดผ่านแล้ว ยังมีโจรชุมอีกต่างหาก ธีเซียสจึงต้องปราบโจรและวายร้ายไปด้วยระหว่างทาง

ในบรรดาโจรทั้งหมดที่ธีเซียสเจอ รายที่ดังที่สุดก็น่าจะเป็นโพรครัสทีส (Procrustes) โจรรายนี้ทำทีเป็นว่ามีน้ำจิตน้ำใจ เชิญนักเดินทางให้เข้ามาพักในบ้าน จัดเตียงนอนอะไรไว้ให้เสร็จสรรพ แต่พอนอนลงบนเตียงปุ๊บ โพรครัสทีสก็จะมาจัดการทำให้เหยื่อขนาดพอดีกับเตียง นั่นคือ ถ้าใครแขนขายาวกว่าเตียง ก็จะเอาเลื่อยตัดแขนขาออก ถ้าใครเตียงใหญ่ไป ก็จะเอาค้อนทุบให้แขนขาแผ่ออกจนได้ความยาวพอดี แต่ว่าธีเซียสของเราไม่เพลี้ยงพล้ำและใช้วิธีการเดียวกันนี้ปราบโพรครัสทีส

ชื่อของโจรคนนี้ได้กลายมาเป็นคำในภาษาอังกฤษด้วย นั่นก็คือคำว่า procrustean ใช้อธิบายกฎระเบียบที่ดูตั้งขึ้นมาตามอำเภอใจและคาดหวังให้ทุกคนต้องทำเหมือนๆ กันหมดโดยไม่คำนึงว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน หากไม่ทำก็จะมีผลพวงที่ไม่น่าพิสมัยตามมา เช่น หากโรงเรียนมีกฎว่านักเรียนทุกคนจะต้องไว้ผมทรงเดียวกันกันหมด ใครผิดเพี้ยนไปแม้แต่น้อยต้องถูกกล้อนผม แบบนี้ก็อาจเรียกว่ากฎนี้เป็น a procrustean rule

ธีเซียสเจอพ่อ

เมื่อธีเซียสเดินทางมาถึงเอเธนส์ ก็ได้เข้าพบกับกษัตริย์อีเจียส ซึ่งขณะนั้นได้แต่งงานใหม่กับนางเมดีอา (Medea) แม่มดอำมหิต (เคยฆ่าลูกของตัวเองกับสามีเก่ามาแล้ว) ในตอนนั้นธีเซียสยังไม่ได้มีโอกาสแสดงดาบและรองเท้าให้อีเจียสดู แต่นางเมดีอาดูออกว่าธีเซียสต้องเป็นลูกของอีเจียสแน่ๆ และอาจทำให้ลูกของนางกับกษัตริย์อีเจียสอดเป็นทายาทสืบราชบัลลังก์ นางเมดีอาจึงเป่าหูอีเจียสว่าธีเซียสต้องเป็นผู้ไม่หวังดีแน่ๆ อีเจียสที่กำลังกลัวอยู่แล้วว่าจะมีการโค่นบัลลังก์ตัวเอง จึงสั่งให้ธีเซียสไปปราบวัวดุร้ายที่เที่ยวทำร้ายผู้คนที่ทุ่งมาราธอน (อ่านได้ที่นี่ว่าเกี่ยวข้องกับการวิ่งมาราธอนอย่างไร) ธีเซียสอยากจะแสดงให้พ่อเห็นอยู่แล้ว (แม้พ่อจะยังไม่รู้ว่าตนเองเป็นลูกก็ตาม) ว่าตัวเองโตเป็นหนุ่มและมีความกล้าหาญ จึงยินดีรับคำสั่ง เดินทางไปยังทุ่งมาราธอนแล้วต้อนวัวดุร้ายตัวนั้นกลับมายังเมืองเอเธนส์ ก่อนที่จะสังเวยให้แก่เทพเจ้าต่อหน้าชาวเมือง

นางเมดีอาก็ยังไม่ลดละความพยายาม เกลี้ยกล่อมกษัตริย์อีเจียสให้เชื่อว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นภัย ควรจะต้องวางยากำจัดทิ้งเสีย ในระหว่างที่กินเลี้ยงฉลอง เมดีอาจึงผสมยาพิษในเหล้าองุ่นและให้อีเจียสเอาให้ธีเซียสกิน แต่ก่อนที่ธีเซียสจะยกแก้วขึ้นดื่ม อีเจียสดันเหลือบไปเห็นดาบของธีเซียส (บางตำนานบอกว่าธีเซียสหยิบดาบขึ้นมาหั่นเนื้อ) และจำได้ว่านี่คือดาบของตัวเองที่เคยซ่อนไว้ใต้หิน จึงรีบปัดแก้วเหล้าองุ่นออกจากมือธีเซียสทันแบบเส้นยาแดงผ่าแปดและบอกธีเซียสว่ารู้แล้วว่าเป็นลูก นางเมดีอารู้ว่าตัวเองโป๊ะแตกแล้วเห็นท่าไม่ดีจึงรีบเผ่นแนบออกจากเมืองกลับบ้านเกิด

หลังจากเหตุการณ์นี้ กษัตริย์อีเจียสก็ป่าวประกาศกับชาวเมืองรับรู้ว่าธีเซียสเป็นลูกของตนเองและเป็นรัชทายาทที่จะสืบบัลลังก์ต่อไป

ในขณะนั้น เมืองเอเธนส์ต้องส่งเชลยเด็กหนุ่มและเด็กสาวอย่างละ 7 คนไปให้กษัตริย์ไมนอส (Minos) แห่งเกาะครีต (Crete) ทุกปีเพื่อสังเวยให้แก่มิโนทอร์ (Minotaur) ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดกินคนครึ่งวัวครึ่งคน (ลูกของไมนอสมาตายที่เมืองเอเธนส์ ครีตกับเอเธนส์จึงรบกัน ทั้งสองเมืองทำสัญญาสงบศึกกันโดยมีเงื่อนไขคือเมืองเอเธนส์จะต้องส่งเชลยให้เกาะครีตทุกปี) เมื่อธีเซียสรู้เช่นนั้น จึงอาสาขอเป็นเชลยเพื่อไปปราบมิโนทอร์ เพื่อที่ชาวเมืองจะได้ไม่ต้องส่งลูกหลานไปตายทุกปี

มิโนทอร์มาจากไหน

ย้อนความกลับสักนิดก่อนไมนอสขึ้นเป็นกษัตริย์เกาะครีต ตอนนั้นกษัตริย์องค์ก่อนหน้านั้นเพิ่งตายไป แต่เนื่องจากไม่ได้มีรัชทายาทสืบบัลลังก์ จึงมีคนมากหน้าหลายตาประกาศตัวว่าตนควรได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ไมนอสเองแม้จะไม่ได้ใช่รัชทายาทแต่ก็เป็นถึงลูกของเทพซุส (Zeus) จึงมั่นใจว่าเทพเจ้าต้องสนับสนุนแน่นอน เลยประกาศว่าตนเองมีเทพหนุนหลังอยู่ ขอพรอะไรเทพก็ให้ ถ้าไม่เชื่อ เดี๋ยวจะสาธิตให้ดู ทันใดนั้น ไมนอสก็ขอให้เทพโพไซดอนส่งวัวสีขาวขึ้นมาให้จากทะเล โดยสัญญาว่าจะสังเวยให้โพไซดอนส่งวัวมาให้ตามคำวิงวอน ปรากฏว่าเทพโพไซดอนก็ส่งวัวสีขาวรูปงามขึ้นมาให้จริง ทำให้ไมนอสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เกาะครีต

ปัญหาก็คือ วัวตัวนี้สวยมากจนไมนอสฆ่าไม่ลง จึงผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับเทพและเลี้ยงวัวตัวนี้ไว้ โพไซดอนจึงโกรธมากและขอให้เทพีอโฟรไดที (ชื่อของเทพีองค์นี้เป็นที่มาของยาปลุกเซ็กซ์) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรักและแรงราคะ บันดาลให้นางพาซิฟาอี (Pasiphaë) เมียของไมนอส หลงรักวัวตัวนี้เข้าอย่างหัวปักหัวปำ (เมียซวยเฉยเลย)

ทันใดนั้น นางพาซิฟาอีก็เกิดจิตปฏิพัทธ์อยากสมสู่กับวัวตัวนี้ คิดว่าต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้มีอะไรกับน้องวัว จึงขอให้เดดาลัส (Daedalus) นักประดิษฐ์อัจฉริยะคิดหาวิธี เดดาลัสจึงสร้างวัวไม้ที่แสนสมจริง ข้างในมีช่องให้นางพาซิฟาอีเข้าไปอยู่เพื่อปฏิบัติกิจกับวัวตัวนี้ จนท้ายที่สุด นางพาซิฟาอีก็ตั้งท้องและให้กำเนิดแก่สัตว์ประหลาดครึ่งวัวครึ่งคนที่มีนิสัยดุร้ายและกินเนื้อคนเป็นอาหาร

กษัตริย์ไมนอสเห็นอย่างนั้นจึงให้เดดาลัสสร้างเขาวงกต (labyrinth) ขึ้นใต้วังเพื่อใช้ขังมิโนทอร์ ซึ่งเดดาลัสก็สร้างได้ชาญฉลาดมากจนใครที่หลงเข้าไปก็ยากที่จะหาทางออกได้

คำว่า labyrinth ที่ใช้เรียกเขาวงกตที่เดดาลัสสร้างขึ้นนี้ ภาษาอังกฤษก็ได้ยืมเอามาใช้เช่นกัน ทั้งในความหมายว่า เขาวงกต และ สิ่งที่ซับซ้อนราวเขาวงกต (เช่น ออฟฟิศไหนมีคอกเยอะและซับซ้อนไปหมด ก็อาจจะเรียกว่าเป็น labyrinth) อีกทั้งยังสร้างเป็นรูปคุณศัพท์ labyrinthine เพื่อใช้บรรยายสิ่งที่ซับซ้อนวกวน เช่น labyrinthine streets ก็คือถนนที่วกวนคดเคี้ยว

นอกจากนั้น ชื่อของเดดาลัสนี้เป็นที่มาของศัพท์ระดับแอดแวนซ์คำหนึ่งในภาษาอังกฤษ นั่นคือคำว่า daedal เป็นคุณศัพท์หมายถึง ฉลาดล้ำโลก ซับซ้อน เช่น daedal contraptions ก็จะหมายถึง สิ่งประดิษฐ์ซับซ้อนฉลาดล้ำโลก

ธีเซียสปราบมิโนทอร์

ก่อนธีเซียสจะออกเดินทาง ได้บอกพ่อว่าถ้าตนเองปราบมิโนทอร์ได้สำเร็จ จะเปลี่ยนใบเรือจากสีดำเป็นสีขาวเพื่อเป็นสัญญาณ จากนั้นก็ล่องเรือไปกับบรรดาเชลยจนถึงเกาะครีต

แต่ก่อนที่จะโดนส่งตัวเข้าเขาวงกต ธีเซียสโชคดีมีโอกาสได้พบกับนางอารีแอดเน (Ariadne) ลูกสาวของกษัตริย์ไมนอส ทันทีที่นางอารีแอดเนเห็นธีเซียสก็ตกหลุมรัก จึงได้ไปขอให้เดดาลัสคิดวิธีให้ธีเซียสหนีออกจากเขาวงกตได้ เดดาลัสจึงให้ลูกด้ายกับนางอารีแอดเนไปให้กับธีเซียส โดยบอกให้ผูกไว้กับประตูแล้วค่อยๆ คลายด้ายออกเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาจะได้เดินย้อนกลับมาตามเส้นด้ายและหาประตูเจอ

ทั้งนี้ ลูกด้ายที่ว่านี้เรียกว่า clew ในภาษาอังกฤษ แต่ภายหลังตัวสะกดเปลี่ยนไปกลายเป็น clue แต่เพราะตำนานเรื่องธีเซียสนี้ ความหมายของคำนี้จึงเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนไปหมายถึงสิ่งที่นำพาไปสู่ทางออกได้ และกลายมาหมายถึงเบาะแสหรือร่องรอยที่ช่วยให้ไขปริศนาได้ในที่สุด

ในท้ายที่สุด ธีเซียสก็ฆ่ามิโนทอร์ได้สำเร็จและกลับออกมาจากเขาวงกตได้เพราะลูกด้ายที่นางแอรีแอดเนให้ไว้ นอกจากนั้น ยังพานางอารีแอดเนหนีออกจากเมืองไปด้วย

ทั้งนี้ ชื่อของนางอารีแอดเนนี้มีความหมายว่า ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง และกลายมาเป็นชื่อที่เป็นที่นิยมพอสมควร แต่เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป เสียงก็เริ่มเพี้ยนจนเหลือแค่ Ariana เช่นในชื่อของ Ariana Grande นักร้องสาวที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง (แปลว่า Ariana กับพี่โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ มีความเกี่ยวดองกันทางชื่อนะเนี่ย!)

ธีเซียสกลับบ้าน

ระหว่างทางกลับบ้าน ธีเซียสได้แวะค้างคืนที่เกาะแน็กซอส (Naxos) แต่สงสัยหลังฆ่ามิโนทอร์แล้วจะสมองเสื่อม เพราะว่าวันรุ่งขึ้นธีเซียสก็ออกเรือจากไปโดยลืมเอานางอารีแอดเนไปด้วย (บ้างก็ว่าลืม บ้างก็ว่าตั้งใจทิ้งแบบฮาวทูทิ้ง) ทั้งที่นางอารีแอดเนเสี่ยงชีวิตช่วยตนเองมา แต่เรื่องนี้ก็ต้องถือว่ามีจุดจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะเทพไดโอไนซัส (Dionysus) ได้ลงมานำตัวอารีแอดเนไปเป็นศรีภรรยาและบันดาลให้เป็นเทพีและเป็นอมตะ

ระหว่างที่ธีเซียสไปปฏิบัติภารกิจที่เกาะครีตนั้น กษัตริย์อีเจียสก็ออกมาเฝ้าดูที่หน้าผาทุกวันว่าลูกกลับมาหรือยังและปลอดภัยดีไหม ปรากฏว่าตอนที่ธีเซียสล่องเรือกลับมายังเอเธนส์นั้น ธีเซียสลืมเปลี่ยนใบเรือจากสีดำเป็นสีขาวตามที่ได้บอกพ่อไว้ พออีเจียสเห็นใบเรือสีดำก็นึกว่าธีเซียสไม่รอด จึงตัดสินใจโดดน้ำตายจากหน้าผา ทำให้ทะเลบริเวณที่กระโดดลงไปนั้นมีชื่อเรียกว่าทะเลอีเจียน (Aegean Sea) นับแต่นั้นมา

ตัดภาพกลับไปที่เกาะครีตเล็กน้อย กษัตริย์ไมนอสโกรธเดดาลัสมากที่ช่วยเหลือธีเซียส จึงจับเดดาลัสและลูกชายชื่ออิคารัส (Icarus) ลงไปขังในเขาวงกตเสียเอง แต่ด้วยความเป็นนักประดิษฐ์ของเดดาลัส จึงได้คิดหนีทางรอดออกมาได้ในที่สุด นั่นคือการนำขนนกที่ร่วงเข้ามาในเขาวงกตมาประกอบกันด้วยขี้ผึ้งเป็นปีก แล้วบินหนีออกจากเขาวงกต ทั้งนี้ เดดาลัสได้เตือนอิคารัสว่าอย่าบินต่ำหรือสูงไป เพราะไอทะเลหรือความร้อนของดวงอาทิตย์อาจทำให้ปีกพังได้ แต่พออิคารัสได้โผบินแล้วก็ติดใจ บินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เกินไป ทำให้ขี้ผึ้งที่ยึดขนนกบนปีกละลาย อิคารัสจึงตกน้ำตาย เหลือแต่เดดาลัสคนเดียวที่รอดชีวิต ส่วนบริเวณที่อิคารัสตกน้ำก็เลยได้ชื่อว่า ทะเลอิคาเรียน (Icarian Sea)

ชีวิตกษัตริย์

เมื่อกษัตริย์อีเจียสกระโดดน้ำตายแล้ว ธีเซียสก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองเอเธนส์ ในระหว่างที่เป็นกษัตริย์อยู่นี้ ธีเซียสได้รวบรวมดินแดนแถบเมืองเอเธนส์ในแอตติกาเข้าเป็นหนึ่งเดียว จึงได้ชื่อว่าเป็น synoikistes หรือผู้รวบรวมบ้านเมืองเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ธีเซียสเป็นกษัตริย์ในตำนานที่ชาวเอเธนส์ถือว่าเป็นต้นตระกูลของกษัตริย์ที่ปกครองเอเธนส์องค์ต่อๆ มาด้วย

ในระหว่างนี้ ธีเซียสได้บุกไปยังดินแดนของชาวแอมะซอน และลักพาตัวนางฮิพพอลิตา (Hippolyta) มาเป็นราชินี ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อ ฮิพพอลิทัส (Hippolytus) แต่ต่อมาเบื่อเลยเปลี่ยนภรรยา มาแต่งงานกับนางฟีดรา (Phaedra) ซึ่งเป็นน้องสาวของอารีแอดเนแทน (ซึ่งชวนให้งงอย่างยิ่งว่ากษัตริย์ไมนอสผู้เป็นพ่อยอมให้แต่งได้อย่างไร)

ความแซบซุยของการแต่งงานครั้งนี้ก็คือ นางฟีดราดันไปหลงรักฮิพพอลิทัสที่เป็นลูกเลี้ยงเข้า (เทพีอโฟรไดทีโกรธฮิพพอลิทัสที่ปวารณาตัวว่าจะถือครองพรหมจรรย์ เลยบันดาลให้นางฟีดรามาหลงรักเพื่อทำลายฮิพพอลิทัส) ปรากฏว่าพอฮิพพอลิทัสไม่เล่นด้วย นางฟีดราเลยแขวนคอตาย โดยทิ้งระเบิดไว้เป็นจดหมายบอกธีเซียสว่าฮิพพอลิทัสพยายามข่มขืนตัวเอง ธีเซียสโกรธมากจึงแช่งลูกให้ตายโหงตายห่า ระหว่างที่ฮิพพอลิทัสขี่รถม้าหนีออกจากเมือง โพไซดอนก็เลยส่งกระทิงขึ้นมาจากทะเลให้ม้าที่เทียมรถของฮิพพอลิทัสตกใจเตลิด ทำให้ฮิพพอลิทัสถูกสลัดตกจากรถม้าและโดนรถม้าลากไปจนตายในที่สุด

ทั้งนี้ ตำนานยังเล่าต่อว่า หลังนางฟีดราตายแล้ว ธีเซียสกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งนามว่า ไพริโธอัส (Pirithoüs) ก็ชวนกันเปิดโครงการช่วยเพื่อหาเมีย เพราะภรรยาของไพริโธอัสก็เพิ่งตายไปไม่นานเช่นกัน แต่ตกลงกันว่าเมียใหม่ต้องไฉไลกว่าเก่า คือต้องเป็นลูกสาวของเทพซุส เมื่อตกลงกันแล้ว ธีเซียสก็เลือกว่าจะไปลักพาตัวนางเฮเลน (Helen) จากเมืองสปาร์ตา (ตอนนั้นนางเฮเลนยังเด็กมาก ยังไม่ได้แต่งงาน) เมื่อลักพาตัวมาได้สำเร็จแล้ว ก็ถึงคิวของไพริโธอุส แต่เพื่อนรักดันเล่นของสูง ต้องการนางเพอร์เซโฟนี (Persephone) ที่เป็นถึงภรรยาของเทพเฮดีส (Hades) แห่งยมโลก ทั้งคู่เลยต้องดั้นด้นเดินทางลงไปยังยมโลก เมื่อถึงที่หมาย เทพเฮดีสก็ทำทีเป็นต้อนรับขับสู้อย่างดี เชิญให้นั่งเก้าอี้หินที่ตระเตรียมไว้ให้ แต่พอทั้งคู่นั่งลงไปเท่านั้นกลับลุกไม่ขึ้น แถมยังหลงลืมทุกสิ่งว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน นั่นก็เพราะเก้าอี้นั้นเป็นเก้าอี้แห่งความหลงลืม

แต่โชคยังดีสำหรับธีเซียสเพราะในเวลาต่อมา เฮอร์คิวลีสได้ลงมาปฏิบัติภารกิจในยมโลกพอดี จึงช่วยดึงธีเซียสขึ้นจากเก้าอี้ได้สำเร็จ ทำให้ธีเซียสไม่ต้องอยู่ในยมโลกตลอดกาล แต่ทั้งนี้ ตอนที่ฉุดตัวธีเซียสขึ้นมานั้น เนื้อขาและก้นบางส่วนหลุดติดอยู่กับเก้าอี้ ซึ่งชาวเอเธนส์เชื่อกันว่าจึงเป็นสาเหตุให้ชาวเอเธนส์มีต้นขาเรียวและก้นเล็ก ส่วนไพริโธอุสนั้น เฮดีสไม่อนุญาตให้ช่วย ก็เลยต้องนั่งน้ำลายยืดอยู่ในยมโลกต่อไป

จุดจบธีเซียส

เมื่อธีเซียสกลับขึ้นมายังโลกมนุษย์ ก็เดินกลับไปยังเมืองเอเธนส์ แต่ในขณะนั้นมีกษัตริย์องค์ใหม่ชื่อมีนีสเธียส (Menestheus) ขึ้นครองราชย์แทนแล้ว จึงเดินทางไปหากษัตริย์ไลโคมีดีส (Lycomedes) ที่เกาะสกีรอส (Skyros) หวังไปพึ่งใบบุญ แต่กลับโดนไลโคมีดีสผลักตกผาตาย นับว่าเป็นจุดจบที่น่าอนาถมากสำหรับวีรบุรุษคนนี้

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Buxton, Richard. The Complete World of Greek Mythology. Thames & Hudson: New York, 2004.

Byrne, Josefa Heifetz. Mrs. Byrne’s Dictionary of Unusual, Obscure, and Preposterous Words. Twelfth Printing: New Jersey, 1974.

Euripedes. Medea and Other Plays. Translated by James Morwood. OUP: Oxford, 2008.

Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Hard, Robin. The Routledge Handbook of Greek Mythology. Routledge: New York, 2004

Hellweg, Paul. The Wordsworth Book of Intriguing Words. Wordsworth Editions: Hertfordshire, 1993.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019

Nurnberg, Maxwell. I Always Look up the Word “Egregious.” Barnes & Noble Books: New York, 1981.

Stuttard, David. Greek Mythology: A Traveller’s Guide from Mount Olympus to Troy. Thames & Hudson: London, 2016.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

 

Tags: ,