หากมีคนมาถามผมว่า ณ วินาทีนี้ มังหงะเรื่องไหนที่ผมติดตามที่สุด และรอคอยตอนใหม่อย่างลงแดงที่สุด คงหนีไม่พ้นมังหงะดังอย่าง Kingdom ที่ผมตามอ่านมาตั้งแต่ยังไม่ทันจะดังแล้ว (แน่ะ มีการอวดเบ่งอีกต่างหาก) ผมคิดว่าเรื่องนี้คงเป็นที่รู้จักของคอการ์ตูนแทบทุกคนเพราะดังมาก และมันมากจริงๆ เป็นมังหงะของวัยรุ่นค่อนไปทางผู้ใหญ่ หรือเซย์เน็นมังหงะ ที่มีฐานคนอ่านเป็นเด็กรุ่นเล็ก กับกลุ่มโชเน็นไม่น้อยทีเดียว เนื้อหาหลักเกี่ยวกับสงครามในยุครณรัฐของจีน (จ้านกว๋อ) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า 7 Warring States Period และจุดสิ้นสุดของยุครณรัฐนี้ก็คือ การรวมตัวอย่างเป็นปึกแผ่นของประเทศจีนได้เป็นครั้งแรกโดยฉินฉี่ห่วง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉินนั่นเอง
ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานของ ยาสุฮิสะ ฮาระ (Yasuhisa Hara) ซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นที่ชื่อ Weekly Young Jump สังกัดสำนักพิมพ์ชูเอฉะ (Shueisha) เรื่องราวก็ว่าด้วยชีวิตของจิ๋นซีฮ่องเต้นี่แหละครับ ไล่มาตั้งแต่เด็กเลย ที่กว่าจะขึ้นครองอำนาจในแคว้นตนเองได้ต้องฝ่าสารพัดศึกในครัวเรือน ไปจนถึงศึกใหญ่กับแว่นแคว้นอื่นๆ รอบกาย ที่ทำให้คนอ่านได้ลุ้นจนขนลุกกันไป แต่คุณฮาระเขาไม่ได้เล่าเรื่องของจิ๋นซีผ่านตัวจิ๋นซีซึ่งในเวลานั้นชื่อยังชื่อว่า ‘อิ๋งเจิ้ง’ แต่เล่าเรื่องผ่านบทบาทของขุนศึกคู่บัลลังก์ของอิ๋งเจิ้งคนหนึ่งที่ชื่อ ‘หลี่ซิ่น’ ครับ หลี่ซิ่นคือเด็กชาวบ้านที่ฝันจะเป็นขุนพลใหญ่แห่งยุค และสู้ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ
อาจจะด้วยความที่หลี่ซิ่น ขุนพลตัวเอกของเรื่องที่แม้จะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ประวัติของตัวเขาเองนั้นไม่ได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียดมากนัก ต่างจากขุนพลดังตัวท็อปของยุคอย่างไป่ฉี หวังเจี่ยน หลี่มู่ หรือเหมิงเทียน ทำให้ฮาระมีพื้นที่ในการเติมเต็มช่องว่างของบันทึกประวัติศาสตร์นี้ด้วยจินตนาการและพลังการเล่าเรื่องของเขาเองได้โดยที่คนอ่านรู้สึกสนุก แนบเนียน และไม่ทำให้ตัวภาพรวมของประวัติศาสตร์จริงผิดแปร่งไปมากนักด้วย
ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ เรื่องคิงด้อมนี่ก็ดำเนินมาถึงตอนที่ 569 แล้ว เนื้อเรื่องนอกจากจะมันหยดติ๋ง ยังแฝงเรื่องราวให้พูดถึงได้มากมายด้วย ทั้งเรื่องแนวคิดเรื่องดุลย์กำลัง (Balance of Power) แนวคิดเรื่องเงินในฐานะกลไกการสร้างสันติภาพ ไปจนถึงการอภิปรายในเรื่องเชิงยุทธศาสตร์ศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย แต่คราวนี้ผมอยากจะพูดถึงอีกเรื่องครับ นั่นคือ การสร้างความเป็นอื่น และวิธีคิดเรื่องกฎหมายนิยมในตัวมังหงะเรื่องนี้
หากเราลองตั้งคำถามว่า อะไรกันหนอที่เป็นต้นตอแรกเริ่มสุดเลยในการเกิดความขัดแย้งใดๆ ผลประโยชน์? การล้างแค้น? ความหมั่นไส้? เกียรติยศ ชื่อเสียง? พวกพ้อง? เงินทอง? ความเชื่อ? ฯลฯ คำตอบเหล่านี้ที่ว่ามาไม่มีข้อไหนผิดเลยครับ แต่หากเราต้องสรุปรวบยอดสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลให้เหลือเพียงคำสั้นๆ โดยรวบรัดแล้ว ในทางวิชาการจะเรียกว่า ‘การสร้างความเป็นอื่น’ หรือ Otherness of Self ครับ
แนวคิดพื้นฐานของการสร้างความเป็นอื่นนั้นมัน ก็คือการสร้างสถานะของการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า ‘เรา’ กับ ‘คนอื่น’ ขึ้นมา แต่ไอ้ความเป็นอื่น ซึ่งวางฐานอยู่บนความต่าง หรือความไม่เป็นพวกเดียวกันนี้เอง ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทุกอย่างทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง หรือคะแนนอะไรใดๆ ก็ตามแต่
ว่าง่ายๆ ก็คือ หากเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับเรามากเท่าๆ กับที่เป็นประโยชน์หรือโทษกับคนอื่นๆ ทั้งหมด มันก็จะไม่มีข้อขัดแย้งให้เกิดขึ้น เพราะมันคือประโยชน์ของ ‘เรา’ โดยไม่มีความเป็นพวกอื่นเข้ามาแทรกอยู่ด้วย แต่ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิครับ มักจะมีคนที่ได้ประโยชน์มากกว่าเรา หรือน้อยกว่าเราแล้วก็มาเรียกร้องอะไรจากเรา หรือกรณีอื่นใดอีกเสมอ
ทีนี้ ความเป็นอื่นนั้นมันมีอยู่หลายระดับครับ ในเรื่อง Kingdom นี้เองก็ได้แสดงให้เห็นถึงจุดนั้น อย่างการดราม่าตบตีภายในราชสำนักของรัฐฉิน ระหว่างอิ๋งเจิ้งกับหลี่ปู้เหว่ย อัครมหาเสนาบดีของแคว้นฉิน ผู้หวังจะขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคว้น โดยโค่นอำนาจของอิ๋งเจิ้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความชัดเจนมากในจุดยืนเรื่องความเป็นอื่นที่มีต่อกันและกัน ทั้งในด้านการชิงอำนาจ อุดมการณ์ และความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่เมื่อรัฐฉินถูกกระหน่ำบุกโดยรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อรัฐอื่นๆ อีก 6 รัฐที่เหลือ เคลื่อนกำลังพลจะมาถล่มฉิน คู่อริอย่างอิ๋งเจิ้งกับหลี่ปู้เหว่ยนั้นก็สามารถมาร่วมกลายเป็น ‘พวกเดียวกัน’ เป็นการชั่วคราวก่อนได้ เพราะ ณ เวลานั้น ผลกระทบหรือผลประโยชน์ต่างๆ มวลรวมอันจะมาจากสงครามกับรัฐอื่นๆ นี้จำเป็นจะต้องแบกร่วมกัน ว่าง่ายๆ ก็คือซวยร่วมกันนั่นเอง
ในแง่นี้เอง เราจะเห็นได้ว่าความเป็นอื่น นอกจากจะมีหลายระดับแล้ว ยังมีความลื่นไหลสูงด้วยนั่นเองครับ มนุษย์เราสามารถจัดลำดับ และปรับเปลี่ยนลำดับชั้นของความเป็นอื่นที่เราจะเลือกมาใช้งานได้อย่างหลากหลายวุ่นวายจนน่าตื่นตะลึงยิ่ง ระดับพื้นฐานที่สุดเลยก็คือ ระดับที่ของตัวเราเองในฐานะปัจเจก เป็นอื่นจากคนอื่นๆ ทั้งหมดในโลกนี้ เช่น เวลาเราเห็นคนรำพึงรำเพยว่า “ช่างเศร้านัก โลกนี้ไม่มีใครเข้าใจ หรือเห็นใจชั้นเลย” หรือการมองว่า “ตัวเองช่างมีความแตกต่าง ไม่มีใครเหมือน” อะไรแบบนี้ และมนุษย์เราก็สามารถไต่ระดับไล่ไปได้ถึงระดับเราทุกคนเป็นมนุษย์ร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน ด้วยแนวคิดแบบที่เรียกว่า ‘ประชากรโลก’ (world citizen) ของพวกสำนัก Cosmopolitanism เค้าล่ะ
คำอธิบายลักษณะนี้มักจะปรากฏเยอะในหมู่นักสิ่งแวดล้อมนิยม (Environmentalist) ด้วย ที่จะอธิบายว่า “เราทั้งโลกแชร์สิ่งแวดล้อมเดียวกัน โลกใบเดียวกันอยู่ ฉะนั้นอย่าทำลายสิ่งแวดล้อมเลยนะ มาช่วยกันอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กันทั้งโลกเถอะพวกเรา แอร๊ยยยย” อะไรแบบนี้ ซึ่งก็อาจจะเหมาะที่จะพูดกับแค่บางที่ เพราะคนที่ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ไปวันๆ อย่างคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในซีเรีย เค้าก็คงไม่ได้คิดว่าเค้าอยู่ใน ‘โลกเดียวกัน’ กับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเหล่านั้น หรืออย่างน้อยก็คนละเซ้นส์แน่ๆ เป็นต้น
หากจะพูดถึงความเลื่อนไหลของ ‘ความเป็นอื่น’ นี้ ที่เห็นภาพชัดที่สุดก็น่าจะเป็นการเชียร์ฟุตบอล (ถ้าอธิบายผ่านโครงสร้างสถาบันการเมือง บางทีมันมีอะไรซ้อนทับไปทับมามากจนจับต้นชนปลายกันเหนื่อยหน่อย) อย่างเช่นนาย A เชียร์แมนยู ส่วนนาย B เชียร์ลิเวอร์พูล (คลาสสิคดี) แต่ทั้ง A และ B พอเป็นทีมชาติในบอลโลกหรือบอลยูโรกลับนิยมชมชอบทีม (น่าเบื่อๆ) อย่าง ‘อังกฤษ’ ด้วยกันทั้งคู่
หากศึกนั้นเป็นพรีเมียร์ลีก ทุกครั้งที่แมนยูยิงบอลเข้าไปตุงตาข่ายได้ จะสร้างความทุกข์ ความเซ็งให้กับนาย B เว้นแต่ถ้าแมตช์นั้นคู่แข่งของแมนยูจะเป็นคนที่ชิงอันดับกับลิเวอร์พูลอยู่ และในทำนองเดียวกันกับกรณีแมนยูด้วย เช่นกัน ทุกครั้งที่ลิเวอร์พูลถลุงประตูคู่แข่ง นาย A ก็จะเหนื่อยจิตไป และมันจะขึ้นมาสู่จุดพีคปานจะฆ่ากันตาย เมื่อแมนยูกับลิเวอร์พูลต้องมาแข่งกันเอง ความเป็นอื่น ความเป็นศัตรูก็จะทะยานขึ้นถึงขีดสุด การยิงประตูของแต่ละฝ่ายล้วนกระทบใจกันอย่างหนักหน่วง (แต่สุดท้ายทั้งแข่งทั้งแช่งกันแทบตาย โดยแมนซิฯคาบเอาแชมป์ไปแดกซะงั้น – ล้อเล่นแต่กึ่งจริงนะฮะ)
อย่างไรก็ตาม พอบอลโลก หรือบอลยูโรมาปุ๊บ อีนาย A กับ B นี่ก็จะเปลี่ยนไปทันที ประตู (ผลประโยชน์/คะแนน) ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นความสำราญใจ และดีใจไปด้วยกันทันที ไม่มีการแช่งอะไรระหว่างกันอีก อยู่ร่วมกันโดยสันติสุขจนเทศกาลบอลใหญ่จบลง ไม่ก็ทีมอังกฤษแพ้กลับบ้านเกิดไป ถึงฤดูกาลพรีเมียร์ลีกค่อยมาตบกันใหม่
ลักษณะอย่างนี้เองครับ คือ ฐานคิดใหญ่ในเรื่อง Kingdom นั่นคือ การคิดที่จะรบให้ชนะรัฐอื่นๆ อีก 6 รัฐให้ราบคาบ แล้วสถาปนาอำนาจการปกครองภายใต้ธงของฉินแต่เพียงธงเดียว เพราะเมื่อทุกคนกลายเป็นคนของรัฐเดียวกัน เป็นพวกเดียวกันหมดแล้ว ก็จะไม่ต้องทะเลาะกันอีก ผลประโยชน์ของฉิน ก็คือผลประโยชน์ของรัฐที่ทุกคนสังกัดอยู่ด้วยกันหมด วิธีการสร้างสันติภาพแบบนี้เอง เราเรียกกันว่า Pax (แปลว่า ‘Peace’ หรือสันติภาพ) หรือการสร้างสันติภาพภายใต้อำนาจที่เหนือกว่ามากๆ และทำให้ความเป็นอื่นทั้งหมดสลายลง เหลือเพียงอำนาจภายใต้การปกครองสูงสุดหนึ่งเดียวที่เหมือนกันนั่นเองครับ
ในประวัติศาสตร์มีการสร้าง Pax ขึ้นมาหลายครั้ง เช่น Pax Romana ที่ใช้เรียกสันติภาพภายใต้จักรวรรดิโรมันที่แผ่อิทธิพลยึดดินแดนแว่นแคว้นอื่นๆ ไปทั่ว ให้มาอยู่ภายใต้ธงของโรมัน หรือ Pax Britanica ที่ใช้อธิบายถึงโลกภายใต้อิทธิพลของบริเตนในยุคล่าอาณานิคม หรือ Pax Americana ที่พูดถึงสันติภาพของโลกหลังสงครามเย็นที่อยู่ใต้ปีกของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในแง่นี้เอง ประเทศจีนหลังการรวมประเทศสำเร็จในรัชสมัยของอิ๋งเจิ้ง ก็อาจจะเรียกได้ว่า Pax Qina ซึ่ง Qina นี้ออกเสียงว่า ‘ไชนา’ และมีคำอธิบายว่า China ในภาษาอังกฤษก็มีที่มาจากจุดนี้ ยึดเอาตามการสามารถรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวได้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก พร้อมกับสถาปนาตำแหน่ง ฮ่องเต้ (หวงตี้) หรือจักรพรรดิขึ้นมาเป็นครั้งแรกด้วย จากที่เดิมที่มีแต่ตำแหน่ง หวาง หรือกษัตริย์ที่ปกครองรัฐ/แคว้นต่างๆ เท่านั้น การสร้าง Pax หรือสันติภาพภายใต้แผ่นผืนอำนาจเดียวกันนี้มันจึงยิ่งใหญ่มากนะครับ เอาจริงๆ แล้วมันไปยึดโยงต่อเนื่องถึงคำอธิบายของโทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาและทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษที่ผมเคยพูดถึงหลายครั้งแล้วด้วย ว่าเราจะหลุดพ้นจากสภาวะธรรมชาติได้อย่างไร และฮอบส์ก็เสนอว่า จำเป็นต้องมีเลเวียธาน (Leviathan) หรือผู้ซึ่งมีกำลังอำนาจเหนือสูงสุดเหนือยิ่งกว่าใครจะต่อกรได้ขึ้นมา จึงจะยุติความขัดแย้ง วุ่นวาย สับสนอลหม่านลงได้ กรณีของ Kingdom นี้ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นการยุติความขัดแย้งวุ่นวายจากความเป็นอื่นในระดับ ‘รัฐกับรัฐ’ แทนที่คนกับคนเท่านั้นเอง
แต่เรื่อง Kingdom ยังไปไกลกว่านั้น โดยไปถึงการวางรากฐานของวิธีคิดแบบกฎหมายนิยม (Legalism) โดยเฉพาะในทิศทางที่ดูจะเป็นแบบปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ผมขออธิบายกฎหมายนิยมแต่โดยสั้นๆ ก่อน มันก็คือ รัฐที่ปกครองโดยยึดกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาความเชื่อ คุณค่าส่วนตัว วัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอะไรใดๆ มาเป็นมาตรฐานในการตัดสินความผิดถูก ความชอบชั่วดีต่างๆ แต่มันคือการใช้กฎหมายในฐานะ ‘ค่ากลางร่วม’ ที่ไม่ว่าจะมีฐานคิดความเชื่ออย่างไรก็ช่าง เอาค่ากลางนี้เป็นเกณฑ์ และปฏิบัติกับทุกคนด้วยมาตรฐานนี้เหมือนๆ กันทั้งหมดนั่นเองครับ
คำถามนี้คือคำถามที่อิ๋งเจิ้งมีไปถึงหลี่ซือนักกฎหมายคนสำคัญแห่งยุครณรัฐและของประวัติศาสตร์จีนเลยด้วย (ที่ในเวลานั้นโดนจองจำอยู่ เพราะเคยเป็นพวกเดียวกับหลี่ปู้เหว่ย ต่อมาจึงมาร่วมเป็นพวกกับอิ๋งเจิ้ง) โดยเป็นการถามผ่านปากของชางเหวินจวิน เสนาบดีคนสนิทของอิ๋งเจิ้ง เพื่อเตรียมตัวสร้างระบบไว้รองรับความฝันของพวกเขาที่หากวันหนึ่งสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งได้แล้ว จะต้องทำอย่างไร จึงจะสามารถควบคุมความสงบสุขของบ้านเมืองให้มีขึ้นโดยยั่งยืนต่อไปได้
ผมขอยกบทสนทนาระหว่างหลี่ซือ (ในรูปจะใช้คำออกเสียงแบบภาษาญี่ปุ่นว่า Ri Shi) กับชางเหวินจวิน (ในรูปคือ Shobunkun) มาให้ดูครับ อ่านจากขวาไปซ้าย บนลงล่างนะครับ ที่นำมาให้อ่านนี้มาจากเรื่อง Kingdom ตอนที่ 494 ครับ แต่หากท่านยังไม่อยากโดนสปอยล์ สามารถข้ามไปได้เลยครับ รูปชุดนี้ เพราะผมเชียร์ให้ได้อ่านกันมากๆ จริงๆ เรื่องนี้
แนวคิดเรื่อง Legalism นี้เอง เป็นอีกหนึ่งในฐานคิดใหญ่ที่สำคัญมากๆ อีกอย่างหนึ่งครับที่เข้ามาทำลาย ‘ความเป็นอื่น’ ไป เพราะทุกๆ คนอยู่ภายใต้ กติกาชุดเดียวกัน แบบเดียวกัน ได้รับประโยชน์และโทษแบบเดียวกันหมด ทุกคนจึงเป็น ‘พวกเดียวกัน’ อย่างแท้จริงภายใต้ระบบฐานคิดนี้ ไม่มีคำว่า “เป็นฉินยุคเริ่มแรก หรือเป็นฉินมากกว่า แท้กว่า เป็นฉินที่รักรัฐฉินมากกว่า” แล้วจะแปลว่าเป็นพลเมืองฉินมากกว่าตามไปด้วย หรือเมื่อทำผิดแล้วจะโดนบทลงโทษที่น้อยกว่าลงไปเช่นกัน ความเป็นมาตรฐานเดียวอย่างเสมอเหมือนกันนี้เองจึงจำเป็นอย่างมากในการทำลายความเป็นอื่นครับ
ฉะนั้นการที่บ้านเรายังคงเป็นอื่น ยังคงแตกหัก ยังคงทะเลาะกันหนักหน่วงอยู่จนตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจเพราะมาตรฐานกฎหมายที่อ้างว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันนั้น มันไม่เคยเป็นมาตรฐานเดียวกันจริงๆ ก็เป็นได้ ลูกคนรวยที่ทำผิดกฎหมายหลายรายก็หนีไปนอกประเทศได้ก่อนทุกที นายพลและผู้มีอำนาจไม่แจงบัญชีทรัพย์สินก็เหมือนจะไม่เป็นไร คนที่อ้างว่ารักชาติรักแผ่นดินในนามคนดี ก็ดูจะหลุดรอดพ้นคดีได้ง่ายกว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์ชาติมากนัก รวมถึงอีกหลายเคสเหลือเกินที่ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยไป เห็นอย่างนี้แล้วก็อยากเอามังหงะเรื่อง Kingdom นี้ให้นายพลเขาลองอ่านกันดูบ้าง
ขอให้สนุกกับมังหงะนะครับ
Tags: Theories of Manga, Kingdom, otherness of self, legalism, ความเป็นอื่น, กฎหมายนิยม