มังหงะเรื่อง Yugo และ Yugo, the Negotiator อาจจะเป็นที่คุ้นหูของนักอ่านการ์ตูนรุ่นอายุประมาณผมอยู่บ้าง คือ ราวๆ 30 ปี (+/- 5) กระนั้นผมก็คงพูดไม่ได้ว่ามังหงะสำหรับผู้ใหญ่เรื่องนี้โด่งดังอะไร (แต่มันก็ดังพอจะถูกนำไปทำเป็นอนิเมะอยู่นะครับ) แต่ผมพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่านี่คือหนึ่งในมังหงะที่ผมคิดว่าดีที่สุดในชีวิตที่ผมอ่านมา หากต้องทำลิ้สต์มังหงะที่ชอบที่สุด 50 อันดับอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้คงติดท็อป 10 สำหรับผมแน่ๆ

นอกจากจะชอบแล้ว เรื่องนี้ยังมีอิทธิพลต่อความคิดผมมากทีเดียว จวบจนกระทั่งปัจจุบันที่มาเป็นโอตาคุอ้วนที่ทำงานวิชาการแล้ว “มุมคิด มุมมอง” ที่มาจากเรื่อง Yugo นี้ยังทำงานกับผมอยู่เลยครับ เรียกได้ว่ามันถึงขนาดเป็นฐานเริ่มต้นให้กับวิทยานิพนธ์ของผมสมัยเรียนปริญญาโทที่สหราชอาณาจักรที่ทำเรื่องก่อการร้าย และต่อมาก็ได้ถูกพัฒนามาเป็นหนังสือชื่อ Thou Shall Fear: เจ้าจงตื่นกลัว – ก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ

น่าเสียดายว่าเป็นมังหงะที่อายุอานามไม่น้อยนักแล้ว และไม่ดังมากนัก จึงค่อนข้างจะหาอ่านแบบครบๆ ทางออนไลน์ได้ลำบาก ผมเลยต้องเขียนจากความทรงจำพอสมควร แต่หากใครยังพอหาอ่านได้ แนะนำให้ลองอ่านดูนะครับ มันดีมากจริงๆ ว่าแล้ว ผมก็ขอเกริ่นเรื่องย่อให้ฟังก่อนสักนิดดีกว่า

Yugo (ยูโกะ) เป็นผลงานร่วมของ ชินจิ มาคาริ (Shiji Makari) ผู้แต่งเนื้อเรื่อง กับ ชู อาคานะ (Shu Akana) ผู้วาดครับ โดยเรื่องนี้เริ่มลงในวารสารการ์ตูนรายเดือนของโคดันฉะ (Kodansha) ที่ชื่อ Monthly Afternoon ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 1994 จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2002 แล้วจากนั้นก็ย้ายมาลงในวารสารการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ราย 2 สัปดาห์ของโคดันฉะที่ชื่อ Evening แทน โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Yugo – koushounin หรือ Yogo, the Negotiator ที่แปลว่า “ยูโกะ นักเจรจา” นั่นเองครับ

เมื่อชื่อมันบอกขนาดนี้แล้ว ก็คงจะพอรู้แล้วสินะครับว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร มันเกี่ยวกับ “นักเจรจา” ที่ชื่อว่าเบปปุ ยูโกะ (Beppu Yugo) ครับ เพียงแต่เค้าไม่ใช่นักเจรจากะโหลกกะลาอะไร (แม้ดูเผินๆ อาจจะเป็นเช่นนั้น) แต่ตายูโกะเนี่ย เค้าเป็นนักเจรจาชั้นเซียนตัวท็อป ที่ชำนาญการพิเศษในการเจรจาเคสยากๆ และอันตรายๆ ต่าง อย่างการเจรจาขอปล่อยตัวประกันในต่างแดน, เจรจาผลประโยชน์กับแก๊งยากูซ่า, ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง ศาสนาและความแตกต่างทางค่านิยมความคิด ดูจะเป็นอาหารโปรดทางวิชาชีพของยูโกะเลย

ยูโกะไม่ได้มีเพียงแค่ความบ้าระห่ำอยากทำงานยากๆ ที่ว่ามาแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ ตัวเขาเองมีฐานความรู้และซัพพอร์ตมารองรับอย่างแน่นทีเดียว เค้าจบด้านจิตวิทยา สมัยเรียนเป็นนักเรียนตัวท็อปของมหาวิทยาลัย พูดได้คล่องแคล่วมากกว่า 5 ภาษา มีสายสัมพันธ์และเครือข่ายกับคนนั้นคนนี้ทั่วโลกทั้งสายข่าวและคนที่จะจัดหาอุปกรณ์เอาชีวิตรอดให้เค้าได้ รวมไปถึงความสมองไว (witty) ของพี่แก ที่จะหาทางเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ ได้เสมอ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการอ่านสถานการณ์ได้ขาดมากๆ ทั้งในแง่ภาพรวมและในแง่ความเข้าใจที่มีต่อธรรมชาติของมนุษย์ อาจจะแลดูเหนือมนุษย์ไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกินจริงระดับดราก้อนบอล หรือปริ๊นซ์ออฟเทนนิสอะไรขนาดนั้นนะครับ และด้วยเหตุนี้เองยูโกะจึงได้ไปเผชิญหน้ากับวิกฤติมากมาย ทั้งต้องดีลกับตัววิกฤติต่างๆ ที่มีความพัวพันทั้งเรื่องศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ความมั่นคง และเสี่ยงชีวิตอยู่โดยตลอด

ด้วยเส้นเรื่องลักษณะนี้เอง ยูโกะจึงเป็นมังหงะที่ฉายให้เราเห็นถึงโลกการเมืองของความขัดแย้ง ธรรมชาติมนุษย์ และความแตกต่างทางความเชื่อ รวมไปถึงวิธีการจัดการกับวิกฤติอันมาจากสิ่งเหล่านี้โดยตลอดครับ (มีตอนที่มาซ่องในไทยด้วยนะครับ) แต่ด้วยความที่เนื้อเรื่องค่อนข้างจะหนัก ยาวพอสมควรและประเด็นเยอะแยะมากๆ ผมเลยจะขอยกมาเพียงบางช่วงบางตอน อย่าง เนื้อหาในตอนแรกเลยที่เป็นตอนสร้างชื่อให้กับเรื่องนี้ คือ ยูโกะไปเจรจาให้กลุ่มโจรพื้นเมืองในแถบปากีสถาน-อินเดีย (ตั้งต้นที่เมืองการาจี ปากีสถาน) ที่เรียกว่า Dacoit ให้ปล่อยตัวประกันชาวญี่ปุ่น แต่คนเหล่านี้ไม่ได้สนใจฟังหรือยอมรับการพูดคุยด้วยฐานวิธีคิดแบบที่เราคุ้นชิน คือ ฐานของเหตุผลแบบยุครู้แจ้ง (enlightenment rationality) ที่เชื่อในความเป็นเหตุเป็นผลเลย แต่พวกเขาวางฐานวิธีคิดอยู่บนไวยากรณ์ บนภาษาคนละชุด ผูกติดตัวเองอยู่กับความเชื่อและการตีความศาสนาอิสลามของพวกเขาเองอย่างเข้มข้น เช่นนั้นแล้วเราจะเริ่มคุยกับคนแบบนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร นั่นแหละครับคือเรื่องยูโกะ

อีกตอนที่จะยกมาควบคู่กันด้วยก็คือ ตอนที่ยูโกะไปเจรจาที่อินเดีย และต้องดีลกับกลุ่มโจรกบฏฮินดูหัวรุนแรงที่ทำอย่างไรก็ไม่ยอมเผยข้อมูลสำคัญออกมา ทั้งคุยด้วยเหตุผล หรือทรมานทางร่างกายใดๆ แล้วก็ตาม แต่หากไม่ได้ข้อมูลที่ว่ามา ยูโกะก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ นี่แหละครับคือสถานการณ์วิกฤติที่จะได้พบกันหากอ่านเรื่องนี้ และการแก้ไขปัญหาหรือวิกฤติของยูโกะนี้เอง ที่ผมอยากจะนำมาพูดถึงในรอบนี้

หากพอจะจำกันได้ (หรือได้อ่านกัน) เมื่อครั้งที่แล้วผมได้หยิบเอาเรื่อง Vinland Saga มาเล่าถึงวิถีความคิดและธรรมชาติของการมองตัวตนกับความตายของมนุษย์ก่อนสมัยใหม่ ว่าเค้ามีฐานวิธีคิดที่แตกต่างจากเรา (มนุษย์สมัยใหม่) อย่างไร ความตายไม่ใช่ความกลัวสูงสุด และชีวิตไม่ใช่สิ่งซึ่งทรงคุณค่าที่สุดของพวกเขาอย่างไร กระนั้นเราต้องเข้าใจด้วยว่าวิถีความคิดเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่ความผิดปกติอะไรในยุคสมัยนั้น ตรงกันข้าม มันเป็นชุดความคิดหลัก เป็นกระแสวิธีมองตัวตนที่มองกันเช่นนี้โดยทั่วไป แต่เมื่อเกิดหลักคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและกระแสของประชาธิปไตยแล้ว มันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดและมองตัวตนครับ ชีวิตกลายเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด ด้วยฐานคิดเรื่องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ (Right to life) และความกลัวตายกลายเป็นความกลัวสูงสุด ความต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้ยืนยาวที่สุดกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในวิถีคิดของมนุษย์สมัยใหม่ นอกจากนี้ด้วยฐานคิดของโลกยุคสมัยใหม่ ที่วางฐานอยู่บนกระแสคิดของนักคิดแห่งยุครู้แจ้ง โดยเฉพาะอิมานูเอล ค้านท์ (Emanuel Kant) ทั้งเรื่องการพยายามจะสร้างสันติภาพที่ถาวร ฐานความคิดแบบเสรีนิยมจากฝรั่งเศส ไปจนถึงการปรับวิถีคิดมาวางบนฐานของ “ความเป็นเหตุเป็นผล” (enlightenment rationality) แทนที่การวางฐานบนความเชื่อแบบมืดบอด (Blind faith) อีกด้วย

จาก Yugo เล่มที่ 1 ตอนที่ 1

เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ความไม่กลัวตายและความเชื่องมงายอย่างมืดบอดเป็นกระแสหลักอีกแล้ว อย่างไรก็ดีมันไม่ได้หมดสิ้นไป วิถีความคิดแบบยุคก่อนสมัยใหม่ที่ยกชูคุณค่าของบางสิ่งเหนือยิ่งกว่าชีวิตและความเจ็บปวดเหนือร่างกายของตนเองนั้นมันยังมีอยู่ และหากเราต้องเผชิญหน้ากับมัน เราจะจัดการกับมันอย่างไร ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาผิดที่ผิดทางไปอย่างไร ผมคิดว่าเรื่อง Yugo พยายามให้คำตอบกับเราอย่างชัดถ้อยชัดคำ และไม่สนใจความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) หรือพีซีใดๆ ด้วย

ผมคิดว่าที่ผ่านมา อย่างน้อยๆ ก็นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930s เป็นต้นมา กลุ่มคนที่เราจะเจอลักษณะของความเป็นมนุษย์ก่อนสมัยใหม่ได้มากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มที่ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้าย และอาจจะมีกลุ่มมาเฟีย แก๊งก่อความรุนแรงบ้าง หรือกระทั่งกลุ่มยกพวกตีกันจนตายไปข้าง แต่ที่เป็นปัญหาหนักที่สุดของโลกร่วมสมัยตอนนี้ก็หนีไม่พ้นแล้วที่จะเป็นเรื่องกลุ่มก่อการร้าย ฉะนั้นผมก็จะขอถือใช้กลุ่มนี้ในการ “แทนตัว” คำอธิบายในเรื่อง Yugo ไปเลยนะครับ

คำถามก็คือ ที่ผ่านมาเราตอบโต้ หรือจัดการแก้ปัญหาเรื่องการก่อการร้ายอย่างไร?

ผมคิดว่าภาพแรกๆ ที่โผล่ขึ้นมาในหัวก็คงจะหนีไม่พ้นการส่งกองกำลังไปปราบ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิด ประกาศกร้าวอย่างชัดเจนในการกำจัดให้สิ้นซาก ไปจนถึงการเพิ่มงบประมาณทางการทหารมากมายทั้งเพื่อรุกโจมตีตามที่ว่ามา และเพื่อตั้งรับ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการสอดแนม ติดตาม ดักฟัง รวมไปถึงการเข้ารหัสต่างๆ เพื่อความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่ “โลก” เราทั้งโลกดำเนินการอย่างจริงจังเข้มข้นมาอย่างน้อยก็ 17 ปีแล้ว นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 หรือการขับเครื่องบินชนตึกแฝดเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตาก้อนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 อันนำมาซึ่งสงครามการก่อการร้ายและความรุนแรงต่างๆ มากมายที่ยังคงสืบเนื่องมาอยู่จนถึงตอนนี้

มันได้ผลจริงหรือครับ? การก่อการร้ายมันลดลง? เรายุติปัญหาอะไรได้สักอย่าง? เราคุยกับเขารู้เรื่องขึ้นสักนิด? … ไม่เลย ไม่แม้แต่น้อยด้วย ในทางตรงกันข้าม กลุ่มก่อการร้ายทั้งเพิ่มมากขึ้น ก่อเหตุถี่ขึ้น และขยายวงกว้างมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แต่มันเพราะอะไรเล่า? ประเด็นนี้เองที่ Yugo มีคำตอบให้กับเรา

เพราะอะไรทำไมเอาปืนไปไล่ยิงผู้ก่อการร้าย เอาระเบิดไปบอมบ์ฐานที่มั่น ไม่แก้ปัญหาการก่อการร้ายล่ะครับ? จริงๆ เรื่องนี้คำตอบมันง่ายมาก เพียงแต่มันถูกทำให้เป็นเรื่องที่คิดออกได้ยากเท่านั้นเองครับ ลองคิดดูนะครับว่ากับคนที่เชื่อมั่นในคุณค่าบางอย่างสูงยิ่งกว่าชีวิตตนเอง ขนาดยอมขับเครื่องบินโหม่งชนตึก เอาระเบิดมาพันรอบตัว หรือใส่ซีโฟร์ไว้เต็มรถต่างๆ นั้นเขาจะกลัวความตายหรือ? ถ้าความกลัวตายเป็นความกลัวสูงสุด และชีวิตเป็นคุณค่าสูงสุดแล้วในระบบความคิดของพวกเค้า พวกเค้าก็คงจะไม่เอาระเบิดมาพันตัวเองแล้วระเบิดร่างตัวเองทิ้งไปกับสิ่งต่างๆ กลางจตุรัสในเมืองสักแห่งเป็นแน่แท้ แต่เพราะว่าเค้าเชื่อในคุณค่าบางอย่างที่ก้าวพ้นไปจากชีวิตและความเจ็บปวดทางร่างเนื้อของพวกเขา เพื่อคุณค่าสูงสุดเหล่านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อศาสนา การชิงดินแดนคืน ชาติพันธุ์ หรืออะไรก็ตามแต่ พวกเขายินดีสละชีวิตให้ได้ ซึ่งนี่เองครับคือกรอบวิธีคิดแบบก่อนสมัยใหม่ กรอบความคิดแบบก่อน Enlightenment rationality

ที่ผมบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ยาก แต่ “คิดออกได้ยาก” นั้นเพราะว่าเราเองเป็นมนุษย์สมัยใหม่ครับ เราถูกเลี้ยงดู ปลูกฝัง สั่งสอนให้อยู่บนฐานวิธีคิดแบบนี้มาตั้งแต่ต้น กระบวนการวิธีคิดของเราจึงถูกกำกับด้วยชุดภาษา ไวยากรณ์ และตรรกะแบบสมัยใหม่ที่กลายเป็นวิถีคิดอันเป็นปกติของเรา ทำให้มันเป็นการยากมากที่จะคิดหรือเข้าใจปรากฏการณ์ที่อยู่นอกกรอบกำกับอันเป็นปกตินี้ไปได้ และเมื่อเราหาทางแก้ปัญหา จัดการกับวิกฤติที่เกิดขึ้น เราจึงแก้ไขมันด้วยฐานตรรกะ ด้วยระบบคิดแบบที่เราคุ้นชิน ด้วยหวังว่ามันจะส่งผลกับฝ่ายตรงข้ามแบบเดียวกัน เพราะเรากลัวความตาย และหากมีคนใช้ความตายมาเป็นกลไกในการจัดการเรา ตัวเราเองก็คงจะต้องจำยอม (อย่างที่เรา “รักเพราะคุก กราบเพราะปืน” กับรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศอยู่ตอนนี้) เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าการใช้ความตายเข้าแก้ปัญหากับผู้ก่อการร้ายจึงจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีได้เช่นเดียวกัน

แต่นั่นมันผิด เพราะเค้าไม่ได้กลัวตายอย่างเรา ดังที่บอกไป เค้าสนทนากันคนละภาษา ไวยากรณ์และระบบคิดแบบเรา ฉะนั้นการที่จะทำให้เค้าฟังเราได้ เรื่อง Yugo ได้เสนอทางที่ชัดเจนไว้ครับนั่นคือ “การต้องปรับไปคุยภาษาเดียวกับพวกนั้น เข้าใจระบบคิดของพวกเขา เพื่อจะได้รับการยอมรับและมีไวยากรณ์ชุดเดียวกันกับพวกเขาได้” ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่แม้ยูโกะจะไม่ได้เสนอ แต่ในทางหนึ่งมันก็นำทางมาสู่อีกข้อสรุปได้ก็คือ การทำให้เค้าหันมาพูดภาษาเดียวกันกับเราให้ได้ นั่นคือหันมาใช้ ยอมรับ และเข้าใจตรรกะของโลกสมัยใหม่ให้ได้ (ซึ่งนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งแยกไปต่างหาก)

จาก Yugo ตอนที่ 8

จากรูปข้างต้น เป็นการเจรจาครั้งสร้างชื่อของยูโกะ ที่ยูโกะพยายามสวมทับวิธีคิดของกลุ่มโจรก่อการร้ายแถบปากีสถาน-อินเดียที่เรียกรวมๆ ว่า Dacoit ที่คลั่งคลั่งอิสลามในแบบที่ตนเองตีความอย่างสูงสุด และเชื่อว่าอัลเลาะห์นั้นเป็นหนึ่งเดียวกับพวกตน และจะมอบพลังอำนาจให้กับผู้กล้าที่แท้จริง ให้ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดทางกายภาพใดๆ สิ่งที่ยูโกะทำก็ในเรื่อง ในตอนนี้ที่เขาเป็น “ฝ่ายตั้งรับ” คือ เป็นฝ่ายเสียเปรียบและต้องการจะเข้าไปขอเจรจานั้น ยูโกะเลยทำให้กลุ่ม Dacoit ยอมรับ “ด้วยฐานตรรกะชุดที่ Dacoit เข้าใจ และเชื่อมั่น” (ไม่ใช่ฐานความคิดแบบที่ตัวเราเองเข้าใจและเชื่อมั่น) ด้วยการแสดงการเป็นหนึ่งเดียวกับอัลเลาะห์และไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดให้อีกฝ่ายเห็น เพื่อให้การเจรจาเริ่มขึ้นได้นั่นเอง และนี่เองครับคือการสื่อสารกันด้วยไวยากรณ์ชุดเดียวกัน

มีอีกครั้งหนึ่งที่ยูโกะต้องจัดการกับผู้ก่อการร้ายฮินดูหัวรุนแรง แต่ในรอบนี้ยูโกะเป็นฝ่ายรุกบ้าง เพราะเป็นฝ่ายได้เปรียบ จากการที่จับตัวผู้ร่วมขบวนการก่อเหตุมาได้ แต่ไม่ว่าคนของฝั่งยูโกะจะทำอย่างไร ฝั่งผู้ก่อการร้ายก็ไม่ยอมเปิดปากบอกข้อมูลของฐานที่มั่นให้ทราบ เพราะจะเป็นการทรยศต่อพระเจ้าและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แม้โดนทรมานปานใดก็ไม่ยอมบอก ขู่ฆ่าและเจียนจะฆ่าจริงๆ ก็แล้ว ในตอนนั้นเอง ยูโกะแก้เกมด้วยการไปหาอาหารมาป้อนผู้ก่อการร้ายที่อิดโรยและหิวโหยจากการโดนทรมานและสอบปากคำผู้นี้ครับ และสุดท้ายเค้าก็ยอมเปิดปากพูดข้อมูลออกมาแต่โดยดี เพราะสิ่งที่ยูโกะนำไปป้อนในเชิงบังคับให้กินนั้นคือ “สตูเนื้อวัว” ที่เป็นของศักดิ์สิทธิต้องห้ามในศาสนาฮินดูนั่นเอง แน่นอนว่าวิธีของยูโกะไม่พีซีเอาเสียเลย (แต่ Who cares?) แต่ชายผู้ยอมตายก็ไม่ปริปากนั้น กลับยอมปริปากเพราะอาหารน่ารับประทานชามหนึ่ง

แน่นอนว่านี่มันเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้น แต่มันก็แสดงให้เราเห็นถึงวิธีคิดและการดีลกับปัญหา โดยเฉพาะวิกฤติจากมนุษย์โดยเฉพาะที่มาจากฐานคิดแบบก่อนสมัยใหม่ อย่างภัยก่อการร้าย เพราะมันต่างจากสงครามระหว่างรัฐ ในสงครามระหว่างรัฐ ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าอีกฝ่ายกลัวอะไร แต่ในการเผชิญหน้ากับภัยการก่อการร้าย ฝั่งนั้นเขารู้ว่าเรากลัวอะไร แต่เราต่างหากที่ไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยรู้เอาเสียเลยว่าเขากลัวอะไรกันแน่ เค้าคิดแบบไหนกันแน่ และนั่นแหละครับคือสิ่งที่เรื่องยูโกะพยายามบอกกับเราว่า หากอยากจะแก้ปัญหากับมนุษย์ด้วยกันได้ เริ่มต้นจากการพยายามหาทางคุยกันให้ได้ คุยกันด้วยภาษาเดียวกันเสียก่อน ไม่งั้นก็จะไม่มีทางรู้เรื่อง และแก้ปัญหาอะไรได้กัน แน่นอนในตัวเนื้อเรื่องยูโกะเองก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบปกติ (ถล่มยิง ทิ้งระเบิด) ว่ามันไม่แก้ปัญหาอย่างไรอีกด้วย

อยากชวนให้ลองหามาอ่านกันดูมากๆ ครับ หากยังพอหากันได้

ขอให้สนุกกับมังหงะนะครับ

Tags: , ,