Vinland Saga หรือที่แปลในชื่อไทยแบบแอบเสร่อว่า ‘สงครามคนทมิฬ’ จัดจำหน่ายโดยบริษัท สยามอินเตอร์คอมมิคส์ เป็นหนึ่งในมังหงะผู้ใหญ่ (Seinen Manga) สายดาร์กที่ผมชอบมากอีกเรื่องหนึ่งครับ มังหงะเกี่ยวกับชีวิตของนักรบไวกิ้งและสารพัดการแก้แค้น ที่เขียนโดยมาโกโตะ ยูคิมูระ (Makoto Yukimura)

ดูตามหน้าปกและเนื้อหาแต่คร่าวๆ แล้วก็คงต้องจัดเป็นมังหงะในกลุ่มที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์และการสงคราม โดยเป็นประวัติศาสตร์ของนักรบไวกิ้งในช่วงศตวรรษที่ 11 ที่เข้ายึดและปกครองบริเตน (หรือสหราชอาณาจักร) ได้ โดยเนื้อเรื่องหลักๆ จะเป็นช่วงก่อนการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์คนุตมหาราช (Cnut the Great (Cnut นะครับ อย่าสะกดผิดเป็น Cunt มันจะคนละความหมาย) หรือบางครั้งเขียนว่า Canute ครับ) และตัวกษัตริย์คนุตเองก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องด้วย แต่ไม่ใช่พระเอกของนะครับ พระเอกเป็นนักรบหนุ่มชื่อธอร์ฟิน (Thorfinn) ซึ่งมีเรื่องราวผูกพันธ์ซับซ้อนกับคิงคนุตที่ว่านี้ด้วย

ภาพปกของ Vinland Saga เล่ม 1 (ซ้าย) เป็นรูปของธอร์ฟิน (Thorfinn) และเล่ม 7 (ขวา) เป็นรูปของคิงคนุต

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ Vinland Saga แบบไม่สปอยล์มากก็คือ มันว่าด้วยการแก้แค้นของธอร์ฟิน ลูกของหนึ่งในนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่ไวกิ้ง พ่อของเขาโดนกลุ่มนักรบรับจ้าง นำโดยผู้นำกลุ่มที่เจ้าเล่ห์และมากฝีมือคนหนึ่งชื่ออัสเคลัด (Askeladd) สังหารต่อหน้าต่อตาด้วยยุทธวิธีที่อาจจะดูไม่ใสสะอาดไปบ้าง อีกทั้งตัวพ่อเขาเอง จากที่เคยได้สมญานามว่าเป็นดั่งนักรบอสูรในอดีต ก็เปลี่ยนมาเป็นคนที่หันเข้าหาสันติวิธี ไม่ตอบโต้ด้วยกำลังด้วย ทำให้พ่ายแพ้กองกำลังทหารรับจ้างของอัสเคลัดไปในที่สุด

ธอร์ฟินต้องการแก้แค้นให้พ่อ จึงฝึกฝนตัวเอง ตามติด และท้าสู้กับอัสเคลัดหลายครั้ง สุดท้ายก็ยังแพ้ และก็เลยได้ติดตามอัสเคลัดไป เพราะอัสเคลัดเองก็ชื่นชอบและหวังใช้ประโยชน์ในฝีมือของธอร์ฟิน ธอร์ฟินเองก็ยอมร่วมคณะและทำงานให้คณะของอัสเคลัด ด้วยเงื่อนไขที่ว่า อัสเคลัดต้องยอมสู้กับเขาเรื่อยๆ เมื่อเขาพร้อม (จริงๆ คือ จนกว่าธอร์ฟินจะชนะและฆ่าอัสเคลัดได้นั่นแหละ) และด้วยความที่เป็นกองกำลังทหารรับจ้างนี้เอง ทำให้กลุ่มของอัสเคลัดตระเวณไปในสารพัดสงคราม และได้พบกับคิงคนุตในที่สุด ร่วมทำศึกด้วยกันต่างๆ มากมาย จนสามารถยึดครองบริเตนได้ และคิงคนุตได้ขึ้นครองบัลลังค์

เรื่องราวของภาคแรกก็เป็นประมาณนี้ครับ ตอนนี้มังหงะยังไม่จบ และเนื้อเรื่องโดยหลักแล้วถือว่าอยู่ในช่วงภาคสอง คือ เป็นช่วงหลังจากคิงคนุตครองราชย์แล้ว และธอร์ฟินเห็นดีด้วยกับวิถีทางแบบที่พ่อของเขาเคยเลือก คือ การฆ่าฟันไม่ใช่หนทางในการยุติปัญหาความรุนแรงอีกต่อไป และมุ่งหมายจะดำเนินชีวิตโดยไม่ฆ่าใครอีก

โดยสรุปก็คือ นอกจาก Vinland Saga จะให้เราได้เห็นถึงภาพชีวิตของสงคราม สนามรบ การฆ่าฟัน การวางแผนการรบ รวมไปถึงการล้างแค้นต่างๆ แล้ว มันยังทำให้เราได้เห็นถึงภาพของการเมืองในยุคสงคราม บทบาทของพระเจ้าและความเชื่อในสภาวะวิกฤติ การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติของมนุษย์ จากอ่อนโยนเป็นแข็งกร้าว และแข็งกร้าวสู่อ่อนโยน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเห็นกระทั่งการต่อสู้ของกระแสคิดหลักๆ สองแบบ คือ Realism หรือสัจจนิยมที่มองกำลังหรืออำนาจในฐานะปัจจัยที่จำเป็น กับแนวคิดฝั่ง Liberalism ที่เชื่อในการพึ่งพากัน การขึ้นต่อกันและกัน (Interdependence) และมองว่ากำลังอำนาจนั้นไม่ใช่ปัจจัยที่ใช้ในการตอบโจทย์ของความรุนแรงขัดแย้งได้ หรือกระทั่งเรื่องเบสิคๆ แบบที่สังคมไทยไม่เคยจะเข้าใจนักก็คือ เราสามารถเขียนงานที่ล้อที่บิดประวัติศาสตร์ได้ เราไม่จำเป็นต้องเคารพเหง้าราก อดีตชาติของบรรพบุรุษชนิดแตะต้องไม่ได้ พูดได้แบบเดียวอย่างที่สังคมไทยมักจะเป็นกัน แต่ภายใต้สารพัดแง่มุมที่มังหงะเรื่องนี้เสนอนั้น เรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงมากที่สุดก็คือการสะท้อนภาพของ ‘มนุษย์ก่อนสมัยใหม่’ และบทบาทของ ‘ความตาย’

ความตาย หรือเอาให้ชัดๆ ก็คือ ‘ความกลัวตาย’ นั้นสัมพันธ์กับความเป็นสมัยใหม่มากครับ เพราะความรู้สึกกลัวตาย การให้คุณค่ากับชีวิตอย่างที่เราๆ ท่านๆ เป็นกันอยู่ตอนนี้นั้น มันไม่ได้เป็นอยู่โดยตัวมันเอง แต่มันถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของแนวคิดเสรีนิยมที่มากับยุคสมัยใหม่ ที่บางครั้งเราเรียกกันว่า Liberal Modernity นั่นเอง

การที่ผมเขียนแบบนี้ ไม่ได้แปลว่า ผมจะบอกว่ามนุษย์ไม่เคยกลัวตายมาก่อนเลย หรือไร้ซึ่งความกลัวต่อความตายอะไรเลยนะครับ มนุษย์เราก็ดังเช่นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั่นแหละครับ มีความกลัวตายตามธรรมชาติ หรือตามสัญชาตญาณอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าความกลัวตายในฐานะความกลัวสูงสุด ที่เกิดขึ้นและเป็นผลพวงมาจากการที่ ‘ชีวิต’ ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มีค่าสูงที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้น โดยมันเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้เอง จากการปฏิวัติอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา และการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ได้ลงหลักปักฐานให้กับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ยืนยันคุณค่าของมนุษย์ทุกคนในฐานะมนุษย์ และบอกอีกด้วยว่าสิทธิในการมีชีวิตอยู่ หรือ Right to Life นั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

ที่ผมบอกแบบนี้ก็เพราะว่าก่อนจะเข้าสู่ Liberal Modernity นั้น มนุษย์ถูกมองหรือปฏิบัติด้วย ในฐานะทรัพย์สินของเจ้าผู้ปกครอง ทุกคนในอาณาจักรเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์ หรือลอร์ดต่างๆ ที่ปกครองเรา ในแง่นี้เรากล่าวได้ว่าสถานะของมนุษย์นั้นเป็นปศุสัตว์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ที่ถูกประเมินค่าด้วยฐานการประเมินเชิงทรัพยากรในครอบครองของผู้มีอำนาจ (หรือก็คือ เจ้าของปศุสัตว์มนุษย์เหล่านี้) หรือหากไม่เช่นนั้นแล้ว มนุษย์ก่อนสมัยใหม่ก็มักจะเคารพบูชาหรือให้ค่ากับบางสิ่งบางอย่างเหนือยิ่งกว่าชีวิตของตน นั่นแปลว่าหากเจ้านายสั่งให้ไปสู้รบเสี่ยงตาย แม้จะไม่สมัครใจก็ต้องไป หรือหลายๆ ครั้งก็พร้อมยินดีจะสละชีวิตตนเองเพื่อคุณค่าบางอย่างที่ตนให้ค่าไว้สูงเสียยิ่งกว่าชีวิตของตน

อย่างไรก็ตามในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 คำอธิบายเรื่อง Virtue of the Cowardice หรือคุณค่าของคนขี้ขลาด (ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปแล้วตอนพูดถึงเรื่อง Sinking of Japan) โดยโธมัส ฮอบส์ ที่ยืนยันว่าคุณค่าของชีวิตตนเองนั้นสำคัญยิ่งกว่าอะไร ฉะนั้นการเป็นคนขี้ขลาดจึงน่านับถือ เพราะทำให้เราอยู่ห่างไกลจากความตายได้นานที่สุด ผนวกกับการเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนควรจะได้รับการประกันในสถานะของความเป็นคนและปฏิบัติด้วยในฐานะคนเหมือนๆ กันหมด ไม่ใช่มอบความเป็นคนให้กับคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกคัดเลือกมาตามฐานันดรและสายเลือด และการจะประกันไปจนถึงสถานะของความเป็นคนใดๆ ให้กับใครใดๆ ได้นั้น คนๆ นั้นก็ต้อง ‘มีชีวิตอยู่’ ในฐานะมนุษย์เสียก่อน สิทธิอื่นๆ ที่ตามมามันจึงจะมีผล เพราะฉะนั้นสิทธิในการมีชีวิตอยู่ จึงถือกันว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของสิทธิมนุษยชนไป และเป็นที่ยอมรับกันในสังคม

จากการเกิดขึ้นของกระแสคิดใหม่ๆ เหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ความกลัวตายในฐานะความกลัวสูงสุดมันถูกผูกติดกับความเป็นสมัยใหม่ และรัฐสมัยใหม่ก็มีหน้าที่ปกป้องหรือยืดระยะความตายของประชากรของตนให้มากที่สุด ทั้งในแง่ความมั่นคง สาธารณะสุข การให้การศึกษา สวัสดิการที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์ได้ในระดับพื้นฐาน และอื่นๆ ไม่ได้มอบการปกป้องและทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดทั้งมวลให้กับกษัตริย์หรือเจ้าผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่อง Vinland Saga นี้เป็นเนื้อหาอิงตามประวัติศาสตร์ในโลกจริง คือ ไม่ได้มีจักรวาลแยกออกไปเป็นของตัวเองแบบมังหงะแนวแฟนตาซี และเรื่องราวอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 11 ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการพูดถึงสังคมมนุษย์ในยุคก่อนสมัยใหม่ หรือ Pre-modern man สังคมยุคก่อนความกลัวตายและสิทธิมนุษยชนใดๆ ครับ

ภาพของนักรบไวกิ้งในเนื้อเรื่อง Vinland Saga นั้นสะท้อนวิธีคิดที่ชัดเจนมากของ ‘การยินดีหรืออยากได้ไปตายในสนามรบ’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการได้ตายในสนามรบนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการเป็นนักรบไวกิ้งที่ดี แล้วการเป็นนักรบไวกิ้งที่ดีมันสำคัญอย่างไร? มันสำคัญเพราะว่าหากเขาเป็นนักรบไวกิ้งที่ดี ผู้ต่อสู้จนตายในสนามรบแล้ว เขาจะได้ไปอยู่ที่ดินแดนของเหล่าทวยเทพนอร์สที่เรียกว่าวาลฮาล่า (Valhalla) ไปวาลฮาล่าแล้วไม่ได้ไปเสพสุขอะไรด้วยนะครับ ตามความเชื่อของชาวไวกิ้ง (ชาวนอร์ส) แล้ว การที่นักรบตายแล้วได้ไปต่อที่วาลฮาล่านั้น พวกเค้าก็ต้องไปฝึกทหารต่ออีกอยู่ดี เพื่อเป็นกำลังให้กับกองทัพของมหาเทพโอดิน (เทพสูงสุดของชาวนอร์ส) และเตรียมตัวสู้รบในสงครามสุดท้ายที่เรียกว่าแร็คนาร็อค (Raknarok) อีกที ซึ่งก็คือ คงจะมีการตายอีกบานเบอะ และในวาลฮาล่านี้เองจะเป็นที่ที่พวกเค้าได้ทำสงครามไปเรื่อยๆ แบบไม่มีวันสิ้นสุดด้วย คือสู้จนตาย และเกิดมาสู้ใหม่ตายห่าใหม่วนไปเรื่อยๆ

สำหรับเราอาจจะรู้สึกว่านี่แม่มบ้า แต่นั่นคือสิ่งที่คนในสังคมก่อนสมัยใหม่เขาให้คุณค่าเสียยิ่งกว่าชีวิตและความตายของตนเสียอีก พวกเค้าเลือกที่จะตาย เพื่อที่จะได้ไป ‘ตายแล้วตายอีกไม่รู้จบ’ เพื่อเทพสูงสุดของพวกเขา

ภาพสะท้อนวาลฮาล่าจาก Vinland Saga (อ่านจากขวามาซ้าย บนลงล่างครับ)

ภาพข้างบนนี้เป็นภาพที่สะท้อนเรื่องราวของวาลฮาล่า ที่คนที่ตายไปแล้ว (หรือก็คือซากศพดีๆ นี่เอง) กลับมามีชีวิตอีกครั้งและสู้รบกันเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ ดังจะเห็นได้จากศพที่ถูกฟันหัวแบะ จมลงน้ำ (เลือด?) แล้วก็กลับขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง แล้วก็สู้วนไปใหม่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตามภาพสะท้อนของวาลฮาล่านี้ สำหรับอัสเคลัด ผู้นำกองกำลังทหารรับจ้าง ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครที่ฉลาดและคิดอะไรบนฐานตรรกะที่สุดแล้วในเรื่อง ก็พูดกับธอร์ฟินอย่างน่าสนใจว่า ภาพของวาลฮาล่า (ที่คนร่วมยุคสมัยของเขาทุกคนอยากไป) นั้น จริงๆ แล้วมันก็เป็นเพียงแค่ภาพในความคิด สุดท้ายตายก็คือตาย อยู่ก็คืออยู่

ข้อสังเกตของอัสเคลัดนี้เอง ใกล้เคียงกับข้อสังเกตของโธมัส ฮอบส์ ที่มีต่อเพื่อนร่วมยุคสมัยของเขามาก ฮอบส์ตั้งข้อสังเกตคนร่วมยุคสมัยของเขาว่าหลงผิดอยู่ในความเชื่อผิดๆ 3 ประการที่ทำให้ยอมสละชีวิตของตนโดยง่าย ดังนี้ครับ: “ความกลัวต่อความตาย (fear of death) นั้นเป็นผลิตผลสำคัญของยุคสมัยใหม่ ซึ่งเพื่อนร่วมยุคของเขาไม่เคยตระหนักถึง เนื่องจากโดนบังตาอยู่ด้วยหลักการผิดๆ 3 ประการ นั่นคือ 1.ความหลงผิดว่าโลกเรานี้อยู่กันอย่างกลมเกลียวด้วยเหตุผล และความเป็นธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า 2. คือ ความคิดเชิดชูมนุษย์ที่เชื่อว่าจะสามารถเป็นอมตะได้ด้วยการกระทำคุณงามความดี และ 3. การสั่งสอนที่ทำให้เชื่อว่าการลุกขึ้นสู้ และการตอบโต้การลุกขึ้นสู้นั้น เป็นการตายอันเป็นแบบอย่าง เพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้า อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการเสียสละร่างกายอันยิ่งใหญ่ (Martyrdom) ซึ่งมันจะรับประกันการพ้นทุกข์ให้แก่ผู้กระทำ”

ข้อสังเกตของอัสเคลัดที่ว่า “โลกของวาลฮาล่ามันเป็นเพียงแค่ความคิด” นี้เองที่มันดูจะสะท้อนวิถีคิดต่อความ ‘พร้อมตาย’ ของเพื่อนร่วมยุคสมัยของเขา ที่แม้จะเป็นเพียงแค่ความคิด แต่มันก็เป็นความคิด เป็นแฟนตาซีที่ไม่ถูกแยกออกจากโลกความเป็นจริง ตรงกันข้าม มันถูกเชื่อในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความจริง และไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดที่ธรรมดาๆ ด้วย แต่เป็นส่วนของความจริงที่มีคุณค่าสูงสุดที่พวกเขาพร้อมจะสละชีวิตให้ได้เพื่อให้ได้มาหรือก้าวไปถึงคุณค่าในความคิดเหล่านั้น

ความกลัวต่อความตาย มันจึงเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินครับ ที่แบ่งสังคมมนุษย์ออกเป็นมนุษย์ก่อนสมัยใหม่ กับมนุษย์สมัยใหม่ สถานะที่เปลี่ยนไปนี้เองที่ในทางวิชาการเราเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนจาก Human subject ไปสู่การเป็น Human Being ที่ชีวิตเราไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของอีกแล้ว แต่ปัจเจกแต่ละคนเป็นเจ้าของชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง (Individual Self-Ownership)

เพราะฉะนั้นหากท่านอ่านมังหงะเรื่องนี้ หรืออื่นๆ ทำนองนี้ ก็อยากให้ลองอ่านด้วยสายตาที่เข้าใจ “กลไกวิธีคิดของมนุษย์ก่อนสมัยใหม่” ดูด้วยนะครับ แทนที่จะใช้ตรรกะแบบมนุษย์สมัยใหม่แบบเราไปตัดสิน การอ่านและทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เวลานั้น  ด้วยสายตาและวิธีคิดแบบคนตอนนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย และมันจะทำให้ได้อรรถรสไปอีกแบบด้วยครับ

ขอให้สนุกกับมังหงะครับ

Tags: , , , , , , , ,