เป็นที่ทราบกันว่า ‘โนเบล’ คือรางวัลประจำปีที่แจกสำหรับผู้ที่สร้างคุณูปการต่อสังคมใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเคมี, ด้านวรรณกรรม, ด้านสันติภาพ, ด้านฟิสิกส์ และด้านการแพทย์ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1901 (115 ปี) ซึ่งตลอดระยะเวลา 115 ปีที่ผ่านมา มีนักเขียนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรม

หลังจากที่รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2016 ตกเป็นของ Bob Dylan นักดนตรีคนแรกๆ ที่แหวกโผได้รับรางวัลนี้ ก่อนที่เราจะต้องรอลุ้นกันว่า Dylan จะเดินทางมารับรางวัลไหม The Momentum จึงขอทำการจัดอันดับหนังสือดี วรรณกรรมเด่นที่ควรค่าแก่การอ่านจำนวน 13 อันดับไปพลางๆ โดยทั้งหมดเป็นผลงานของนักเขียนที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมมาแล้วทั้งสิ้น

Photo: แพรวสำนักพิมพ์, Nobelprize.org

13. โคตรไคโร (Cairo Trilogy, 1956-1957)

สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์ / แสงดาว
เขียน: Naguib Mahfouz (อิยิปต์)
แปล: แคน สังคีต
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 1988

วรรณกรรมไตรภาคที่เล่าเรื่องราวของอียิปต์ แบ่งเป็น 3 ตอน 3 เล่ม ได้แก่ พาเลซ วอล์ค (Palace Walk) พาเลซ ออฟ ดิไซร์ (Palace of Desire) และ ชูการ์ สตรีท (Sugar Street) โดยเนื้อหาเล่าถึงครอบครัวไคโร และการต่อสู้ระหว่างประเพณีและเสรีภาพในวันที่อียิปต์ถูกยึดครองโดยประเทศอังกฤษช่วงราวปี 1960 ด้วยเสน่ห์ในการเล่าเรื่องแบบ นากิบ มาห์ฟูซ ที่ใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อยทุกส่วนสัด โคตรไคโร จึงกลายเป็นผลงานชิ้นเอกของเจ้าตัวที่ทำให้เขาได้รับโนเบลมาครองในปี 1988

เนื่องจาก โคตรไคโร ในเวอร์ชั่นของแพรวไม่มีการตีพิมพ์แล้ว โดยเป็นสำนักพิมพ์แสงดาวที่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์ ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีวางจำหน่ายครบทั้ง 3 เล่ม แต่ด้วยปัญหาเรื่องขนาดรูปภาพ และองค์ประกอบของภาพที่ดี เราจึงจำเป็นต้องใช้ภาพของหนังสือโคตรไคโรในเวอร์ชั่นแพรว

Photo: Nanmeebooks, Wikimedia Commons

12. ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ (Soul Mountain, 1989)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
เขียน: Gao Xingjian (จีน)
แปล: รำพรรณ รักศรีอักษร
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2000

ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ ผลงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวจีน เกาสิงเจี้ยน ที่เล่าเรื่องราวความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ ผ่านบริบทวัฒนธรรมโลกตะวันออก ประเพณี, พิธีกรรม, ตำนาน, การเมืองการปกครอง และเรื่องราวต่างๆ ในสังคมชนบทจีน ยิ่งไปกว่านั้นความพิเศษและความแปลกใหม่ของงานวรรณกรรม ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ ยังอยู่ที่รูปแบบการเล่าเรื่องที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวละครทั้ง 3 ตัว ได้แก่ ผม (I), คุณ (You) และเธอ (She)

Photo: บทจร, Nobelprize.org

11. สุดชีวิต (Dear Life, 2012)

สำนักพิมพ์: บทจร
เขียน: Alice Munro (แคนาดา)
แปล: อรจิรา โกลากุล, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2013

ความพิเศษของ สุดชีวิต ไม่ได้เป็นแค่การรวบรวมผลงานเรื่องสั้น 14 เรื่องไว้ด้วยกัน แต่ สุดชีวิต ยังถือเป็นงานเขียนเล่มสุดท้ายของ แอริซ มันโร นักเขียนเรื่องสั้นชาวแคนาดา ก่อนที่เจ้าตัวจะเกษียณตัวเองจากงานเขียนในช่วงราวๆ ปี 2013

ที่สำคัญ ประสบการณ์ชีวิตของมันโรที่โชกโชน ยังส่งผลให้งานเขียนของเธอมีจุดเด่นทางด้านการเล่าเรื่องที่พิถีพิถัน และตราตรึงใจผู้อ่านได้เสมอ

Photo: Nanmeebooks , Nobel.org

10. ครึ่งทางชีวิต (Half a Life, 2001)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
เขียน: Sir V. S. Naipaul (ตรินิแดดและโตเบโก)
แปล: จงจิต อรรถยุกติ
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2001

ครึ่งทางชีวิต นำเสนอเรื่องราวทางบริบทของสังคม และชนชั้นวรรณะในประเทศอินเดีย โดยมี Willie Somerset ตัวเอกของเรื่องที่เกิดมาจากพ่อที่อยู่ในชนชั้น ‘พราหมณ์’ และแม่ที่อยู่ในชนชั้น ‘ล้าหลัง’ ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้ามทางประเพณีปฏิบัติในสังคมของประเทศอินเดีย

เรื่องราวใน ครึ่งทางชีวิต จึงเปรียบเสมือนงานเขียนที่สะท้อนการเรียกร้องเอกราชของคนรุ่นใหม่ ผู้ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม

Photo: Nanmeebooks , Wikimedia Commons

9. กลองสังกะสี (Gunter Grass, 1959)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
เขียน: Gunter Grass (เยอรมัน)
แปล: อรัญญา พรหมนอก
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 1999

กลองสังกะสี ผลงานวรรณกรรมที่สะท้อนผลกระทบของสงครามและความโหดร้ายในจิตใจมนุษย์ เรื่องราวของ Oskar Matzerath ชายหลังค่อมผู้เกิดมาพร้อมหูวิเศษที่รับรู้ได้ทุกเรื่องราว เขาได้เขียนประวัติของตัวเองและครอบครัว โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนสงคราม และยุคหลังสงคราม โดยในวันเกิดครบรอบ 3 ปีของ Matzerath เขาได้รับกลองสังกะสีเป็นของขวัญวันเกิด กลองสังกะสี ยังได้รับความนิยมจนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1979 และประสบความสำเร็จในแง่เสียงวิจารณ์จนสามารถคว้ารางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 1979 และคว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของ Academy Awards ได้ในปี 1980

Photo: Nanmeebooks, Wikimedia Commons

8. ชะตาลิขิต (Sorstalanság, 1975)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
เขียน: Kertész Imre (ฮังการี)
แปล: ทองแท้
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2002

เรื่องเล่าประสบการณ์ในช่วงที่ คาลติซ อิมเร ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันชาวยิวที่แสนโหดร้ายในสมัยที่เจ้าตัวเป็นวัยรุ่น โดยเป็นช่วงที่นาซีเยอรมันแผ่อำนาจในมหาสงคราม และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับช่วงก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น เมื่ออิมเรกลายเป็นผู้รอดเพียงไม่กี่รายจากวันคืนต้องคำสาป เขาจึงนำเรื่องราวที่ตัวเองได้ประสบพบเจอถ่ายทอดออกมาให้คนอ่านอย่างเราได้ร่วมสัมผัสไปพร้อมๆ กัน

Photo: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, flickr

7. ผลพวงแห่งความคับแค้น (The Grapes of Wrath, 1939)

สำนักพิมพ์: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์
เขียน: John Steinbeck (อเมริกัน)
แปล: ณรงค์ จันทร์เพ็ญ
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 1962

วรรณกรรมที่สะท้อนปัญหาของชนชั้นระดับรากหญ้า เรื่องราวของชาวไร่ที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน จนต้องระหกระเหินกลายเป็นผู้อพยพที่แร้นแค้น ในยุคที่ระบบทุนนิยมครอบงำสังคม เศรษฐกิจกลับตกต่ำ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดคนจนจึงต้องต่อสู้กันเองเพื่อความอยู่รอดของปากท้องและชีวิตของคนในครอบครัว

The Grapes of Wrath ได้รับความนิยมจนเยาวชนส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเคยอ่านวรรณกรรมเล่มนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ที่สำคัญในปี 1940 The Grapes of Wrath ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดย John Ford และในปี 2013 ก็มีข่าวลือเช่นว่า Steven Spielberg จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งร่วมกับ Dreamworks แต่ท้ายที่สุด โครงการนี้ก็ยังคงเงียบไปอย่างไร้วี่แวว

Photo: openbooks, Wikimedia Commons

6. สิทธารถะ (Siddhartha, 1922)

สำนักพิมพ์: openbooks
เขียน: Hermann Hesse (เยอรมัน)
แปล: สดใส
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล:
 1946

อีกหนึ่งวรรณกรรมยอดนิยมที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นจำนวนมาก ผลงานการประพันธ์ของ Hermann Hesse นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวการค้นหาสัจธรรมการเวียนว่ายตายเกิด โดยบริบทของเรื่องราวใน สิทธารถะ ถ่ายทอดผ่านสังคมอินเดียในยุคสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพและเสด็จออกเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทั่วชมพูทวีป ตัดสลับกับการเล่าเรื่องแต่งที่เขาได้รับแรงบันดาลใจในระหว่างไปเยือนประเทศอินเดีย

ถึงแม้ สิทธารถะ ในเวอร์ชันพิเศษที่ตีพิมพ์โดย openbooks ในจำนวนจำกัดเพียง 1,000 เล่มจะจำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็ว แต่เชื่อสิ! คุณก็ยังสามารถหา สิทธารถะ ในเวอร์ชันอื่นได้จากมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21

Photo: บลิสพับลิชชิ่ง, flickr

5. My Name Is Red (1998)

สำนักพิมพ์: บลิสพับลิชชิ่ง
เขียน: Orhan Pamuk (ตุรกี)
แปล: นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2006

นวนิยายที่ผสมผสานเรื่องราวความลึกลับของศาสนา ศิลปะ ความรัก ปรัชญา และคดีฆาตกรรมได้อย่างลงตัว My Name is Red พาคุณย้อนไปยุค 60s ในช่วงจักรวรรดิออตโตมัน  ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ที่พูดถึงคดีฆาตกรรมในหมู่แวดวงศิลปินที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นต่างในเชิงมุมมองและทัศนคติด้านงานศิลปะ

หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 60 ภาษาทั่วโลก และเชื่อกันว่าเป็นงานที่ทำให้ Orhan ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม หลังจากได้รับการตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษในปี 2001

Photo: Sangsanbooks, Wikimedia Commons

4. เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea, 1952)

สำนักพิมพ์: สร้างสรรค์บุ๊คส์
เขียน: Ernest Hemingway (อเมริกัน)
แปล: วิทย์ ศิวะศริยานนท์
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 1954

ผลงานวรรณกรรมอมตะของนักเขียนชาวอเมริกันนาม Ernest Hemingway เฒ่าผจญทะเลบอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยต่อสู้ชีวิตกลางทะเลของชาวประมงสูงอายุนาม ‘ซานติเอโก’ ที่เคยชินกับการออกหาปลามือเปล่ามาเป็นเวลานาน กระทั่งซานติเอโกได้เผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่พัดพาตนไปเรียนรู้เรื่องราวสัจธรรมการใช้ชีวิต ทั้งการได้เป็นผู้ชนะ และการต้องยอมรับบทบาทผู้แพ้

จุดเด่นของ เฒ่าผจญทะเล ไม่ได้มีแค่เรื่องราวการผจญภัย และการเรียนรู้สัจธรรมของชาวประมงเฒ่าเพียงเท่านั้น แต่สำนวนภาษาที่ Hemingway เลือกใช้ก็มีความง่าย, สั้น, กระชับ แต่กลับสะเทือนอารมณ์ใครต่อหลายคนที่ได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้มาแล้วนักต่อนัก

Photo: Readery, Wikimedia Commons

3. รอยชีวิต (A Personal Matter, 1964)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
เขียน: Kenzaburō Ōe  (ญี่ปุ่น)
แปล: เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 1994

วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ Ōe เนื่องจากลูกชายของเขาเกิดมาพร้อมกับภาวะผิดปกติทางสมอง เขาจึงตัดสินใจเขียนรอยชีวิตในปีถัดมาโดยนำประสบการณ์ และความรู้สึกที่ตัวเองเผชิญเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครชื่อ ‘เบิร์ด’ ชายผู้มีลูกป่วยหนักไม่ต่างจากเขา เรื่องราวในรอยชีวิตจึงมุ่งเน้นไปในเชิงการตั้งคำถามกับการต้องเลือกระหว่างความสุขส่วนตัว หรือศีลธรรมที่ควรรักษาไว้

Photo: Nanmeebooks, Thedailybeast

2. ไร้เกียรติยศ (Disgrace, 1999)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
เขียน: J.M.Coetzee (แอฟริกาใต้)
แปล: ขจรจันทร์
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2003

Disgrace ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘เดวิด ลูรี’ ศาสตราจารย์วัย 52 ปี ที่ต้องปิดฉากอาชีพตัวเองด้วยข้อกล่าวหาที่น่าอับอายจากสังคม เมื่อไร้สิ้นหนทาง เขาจึงต้องหันไปหาลูกสาว ‘ลูซี่’ ชาวไร่ในหมู่คนผิวสีแห่งแอฟริกาใต้ ชีวิตอันเรียบง่ายที่ดูมีทีท่าว่าทุกอย่างจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง กระทั่งเหตุการณ์ในเที่ยงวันหนึ่ง ชีวิตของสองพ่อลูกก็ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้รับการยอมรับในฐานะที่ Coetzee สามารถมอบความรู้สึกหดหู่แบบไม่ต้องพยายามยัดเยียดให้กับผู้อ่านได้ เพราะเรื่องราวที่ตัวละครใน Disgrace ต้องเผชิญเต็มไปด้วยความรุนแรง การข่มขืน และการเหยียดผิว

Photo: Nanmeebooks, Wikimedia Commons

1. ลมหายใจที่ขาดห้วง (The Hunger Angel, 2009)

สำนักพิมพ์: Nanmeebooks
​เขียน: Herta Müller (โรมันเนีย-เยอรมัน)
แปล: ผศ. ดร.อัญชลี โตพึ่งพงศ์
ปีที่นักเขียนได้รับรางวัล: 2009

นับเป็นงานเขียนชิ้นเอกของ Herta Müller เลยก็ว่าได้ สำหรับ The Hunger Angel หรือ ลมหายใจที่ขาดห้วงซึ่งบอกเล่าเรื่องราวหลังเปลี่ยนผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านตัวละครเด็กชายวัย 17 ปีที่ถูกส่งตัวไปเป็นเชลยแรงงานที่สหภาพโซเวียตนานนับ 5 ปี ภายใต้ความกดดัน และความทรมานใจที่กวนใจเด็กชายด้วย 3 เรื่องใหญ่ๆ ทั้งความคิดถึงบ้าน ความหิวโหย และ ความอึดอัดใจที่ไม่สามารถบอกใครได้ว่าตนเป็นรักร่วมเพศ

ความน่าสนใจของลมหายใจที่ขาดห้วง ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวของสงคราม และเชลยศึกเท่านั้น แต่เรื่องราวการยอมรับเพศที่ 3 ของคนในสังคมยุคนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามเช่นกัน

 

DID YOU KNOW?

  • 108 คือจำนวนครั้งที่มีการแจกโนเบลในสาขาวรรณกรรมตลอดระยะเวลา 114 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 1901-2015)
  • 14 คือจำนวนตัวเลขที่มีนักเขียนที่เป็นผู้หญิงได้รับรางวัลโนเบล
  • 4 คือจำนวนครั้งที่มีนักเขียนได้รับรางวัลร่วมกัน
  • 41 คืออายุของ Rudyard Kipling ผู้แต่ง The Jungle Book หรือ เมาคลีลูกหมาป่า ขณะได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัล
  • 88 คืออายุของ Doris Lessing ผู้แต่ง The Grass is Singing ขณะได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นนักเขียนที่อายุมากที่สุดที่ได้รับรางวัล
  • 65 คืออายุเฉลี่ยของนักเขียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่ได้รับโนเบลสาขาวรรณกรรม
Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,