หนังสือ 7 เล่ม ที่น่าจับตาในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เดือนเมษายน ปี 2560 คัดสรรจากเด็กหนุ่มผู้รักการเฝ้าบูธหนังสือ – ปิยฤทธิ์ ปัญจธรรมวิทย์

1. โลลิต้า
เขียน: Vladimir Nabokov, แปล: ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ไลท์เฮ้าส์

นับตั้งแต่มีกระแส ‘จินยองอ่าน’ หนึ่งในสมาชิกวง GOT7 ที่ออกมาบอกว่าตัวเองชอบหนังสือเล่มไหนบ้าง เห็นทีว่าเราคงจะต้องขอพูดถึง โลลิต้า เล่มนี้อีกสักครั้งในฐานะที่พิมพ์ใหม่ เปลี่ยนปกสวยงาม ลบภาพปกดำชมพูมาเป็นโทนชมพูเต็มตัว เหมาะกับเด็กสาว แต่ก็ยังคงมีความซุกซน ลึกลับ และแฝงไปด้วยอารมณ์ของที่พลุ่งพล่านของตัวเอก จนเราไม่สามารถแบ่งแยกท่ามกลางมรสุมของอารมณ์ได้อีกต่อไปว่าอะไรคือขาว อะไรคือดำ

2. มาร์โควัลโด
เขียน: Italo Calvino แปล: นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์บทจร

นอกจากหน้าตาของปกที่มีความน่ารักค่อนข้างสูงแล้ว ไม่มีเค้าใดๆ ทั้งสิ้นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือตลกและทำให้เราขำ(มาก) มาร์โควัลโดและครอบครัวพาเราไปพบกับความธรรมดาของการใช้ชีวิต พวกเขาพาเราเดินสวนทางกับความเหลื่อมล้ำอย่างมีศิลปะ กล่าวคือพวกเขาไม่ได้เดินเพื่อไปปะทะ แลกหมัด แต่พาเราเดินผ่านและเริ่มมีคำถามว่าเรากำลังรู้สึกอะไรกันแน่

3. วัสดุนิยม: เรื่องราวชวนทึ่งของสารพันวัตถุเปลี่ยนโลก (Stuff Matters)
เขียน: Mark Miodownik, แปล: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
สำนักพิมพ์ openworlds

กระดาษ พลาสติก มีดโกน ถ้วยชา โฟม และอีกสารพัดวัตถุคือสิ่งที่เราพบเจออยู่ทุกวัน แต่เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ดีแค่ไหน เหตุใดสิ่งต่างๆ จึงประพฤติตัวในแบบที่มันเป็น? หนังสือเล่มนี้เปรียบได้กับเครื่องมือวิเศษที่จะพาเราเข้าไปสำรวจโลกเล็กจิ๋วภายใต้เปลือกนอกอันคุ้นตา และบอกเล่าวิวัฒนาการอันน่าอัศจรรย์ จาก ‘วัสดุ’ ธรรมดาสามัญสู่ ‘วัตถุ’ ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปตลอดกาล

4. ความงามแห่งฟิสิกส์ (Seven Brief Lessons on Physics)
เขียน: Carlo Rovelli, แปล: สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
สำนักพิมพ์ openworlds

ฟิสิกส์อาจเป็นยาขมสำหรับใครหลายคน แต่หนังสือขนาดกะทัดรัดเล่มนี้จะพาเราไปสำรวจแง่งามในอาณาจักรแห่งฟิสิกส์ที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับปรัชญาอันลึกซึ้ง เดินทางล่องไปในเอกภพอันกว้างใหญ่ก่อนเดินทางย้อนกลับมาพินิจความหมายแห่งตัวตนของเรา นี่คือหนังสือที่ผสมผสานทั้ง ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ เข้าด้วยกันได้อย่างหมดจดด้วยภาษาที่งดงามจับใจ เปรียบดัง ‘บทกวีแห่งฟิสิกส์’ อย่างแท้จริง

5. แสง: นิ้วกลม
สำนักพิมพ์ koob

ในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าใคร ที่ไหน ก็คงจะหนีไม่พ้นความมืดมนที่ตีแผ่มาครอบคลุมทั้งบรรยากาศและจิตใจ แต่ก็มักจะมีใครสักคนในยุคสมัยนั้นๆ เช่นกันที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่คอยสอดส่องให้ความมืดที่มีอยู่คลี่คลายลงไป ‘แสง’ เป็นหนังสือที่รวบรวมแสงที่ว่านั้น ทั้งแสงในอดีตและปัจจุบัน ผ่านการเรียบเรียง และถูกย่อยออกมาโดย นิ้วกลม นักเขียนแห่งยุค ใครที่กำลังรู้สึกมืดมนกับหนทางในชีวิตทั้งในขนาดย่อมๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ลองให้แสงเล่มนี้ส่องทางดูนะ

6. พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก
เขียน: ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม

ถ้าเรายังเคยมีความเชื่อที่ว่าสมัยก่อนพม่าเผาเศียรพระ เพื่อลอกทองครั้งเมื่อตอนเสียกรุงศรีอยุธยา หนังสือเล่มนี้น่าสนใจและติดตามเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าผู้เขียนได้พบเศียรพระขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลงทะเบียนโบราณวัตถุชิ้นนี้ไว้ว่า มาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ได้บอกว่า เป็น พระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปองค์สำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้เขียนจึงได้ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลออกมา และได้นำเสนอข้อมูลล่าสุดว่านี่อาจจะเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ที่ไม่ได้ถูกกองทัพอังวะเอาไฟเผาลอกทอง! หลักฐาน ข้อเท็จจริงที่อยู่ในเล่มนี้จะเป็นอย่างไร จะหักล้างเหตุผลแต่เดิมที่มีไว้ได้หรือไม่ เราอาจจะต้องเริ่มรับฟังอย่างจริงๆ จังๆ ดูสักที

7. ลมละเมอ
เขียน: ทินกร หุตางกูร
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

หลังจากห่างหายไป 9 ปี ทินกร หุตางกูร กลับมาด้วย ลมละเมอ นิยายเล่มใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องของเหล่าวัยรุ่นที่เริ่มสงสัยในตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราเป็นใครกันแน่ “หรือว่าเราจะเป็นมนุษย์กลายพันธุ์?” คำถามกำลังถูกตอบด้วยการเดินทางค้นหาตัวเองของวัยรุ่นกลุ่มนี้ ท่ามกลางเหตุบ้านการเมืองที่เดินร่วมทางไปพร้อมกับพวกเขา เหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร คราวนี้ก็เหลือแค่ผู้อ่านพลิกหน้ากระดาษแล้ว

Tags: , ,