“ผมชอบบทบาทของมนุษย์บนโลกออนไลน์นะ ใครคิดแบบไหนก็คิดไป ใครอยากทำอะไรก็ทำไป ดังนั้น มันเลยตัดสินไม่ได้หรอกว่าอะไรถูกอะไรผิด บางคนขับรถทับแตงโมก็คนดูเป็นล้าน ในมุมมองของเราอาจมองว่าคลิปโคตรไร้สาระ ทำขึ้นมาทำไม แต่มุมของคนทำอาจบอกว่า เฮ้ย กูขับรถทับแตงโมคนดูเป็นล้านเลยนะเว้ย เจ๋งเปล่า อะไรแบบนี้”
มุมมองของ ‘เก่ง’ หรือที่รู้จักกันในนาม จันเรด เจ้าของแชนแนลยูทูบ RedremasteRed และ #FE0000 คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดัง ที่ออกมาพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะวงการครีเอเตอร์ในปัจจุบันที่มีคอนเทนต์มากมายหลายรูปแบบจนยากจะตัดสินได้ว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’
“โลกออนไลน์ก็คือโลกออนไลน์ เวลาดูคลิปอาจจะฟังดูเหมือนผมกำลังพูดถึงปัญหา แต่เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบนนั้น แล้วก็จะไม่มีวันเปลี่ยนด้วย มันเป็นแบบนี้แหละ ดังนั้นเป้าหมายการพูดในแต่ละคลิปคือ เอาสนุกกับสะใจ แค่นั้นเอง”
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ The Momentum ชวน RedremasteRed สนทนาเรื่อง ‘ภาพยนตร์’ ศิลปะแขนงที่เขาชื่นชอบจนนำมาสร้างเป็นคอนเทนต์พูดถึงหนังแต่ละเรื่องได้อย่างออกรส ไปจนถึงกระแสดรามาต่างๆ บนโลกออนไลน์ ที่เจ้าตัวหยิบยกขึ้นมาเล่าจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ชั่วข้ามคืน ในฐานะ ‘นักเล่าเรื่องฝีมือฉกาจ’ เขาอธิบายด้วยสไตล์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร จนสามารถเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ความบันเทิงบนโลกออนไลน์นั้นช่างวุ่นวายโกลาหลเกินกว่าจะตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด
นอกจากการวิจารณ์โลกออนไลน์จะเป็นคอนเทนต์หลัก การวิจารณ์หนังนอกกระแสก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่อง RedremasteRed มีชื่อเสียง อยากรู้ว่าคุณมีมุมมองต่อหนังประเภทนี้อย่างไรบ้าง
ขอเทียบผ่านเกมนอกกระแสก็แล้วกัน ตัวผมเองจะไม่ชอบเล่นเกมค่ายยักษ์หรือเกมของบริษัทใหญ่ๆ ที่มีคุณภาพดีๆ เลย เพราะสิ่งที่พวกเขาสร้างนั้นมักจะ ‘เพลย์เซฟ’ เพื่อคงไว้ซึ่งยอดขายหรือฐานแฟนคลับ แต่ขณะที่เกมอินดี้นั้นจะนำเสนอสิ่งใหม่ๆ พยายามหามุมที่แตกต่างไปจากที่ค่ายใหญ่ทำ เพราะเขารู้ดีว่าทำตามไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้ประชุมกันเล็กๆ ช่วยกันสร้างไอเดียที่มันหลุดไปจากคำว่า ‘ตลาด’ กับ ‘ฐานแฟนคลับ’ ดีกว่า ผมก็เลยชอบที่จะเห็นเกมระบบใหม่ๆ การนำเสนอที่แตกต่าง หรือเกมเพลย์ที่น่าสนใจซะมากกว่า
หนังก็เช่นกัน อย่างเรื่อง The Snake (2020) เขาอยากเล่าเกี่ยวกับงู เกี่ยวกับตำนาน โดยที่ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าทำไมถึงต้องมีซอมบี้โผล่มาในเรื่อง ตัวผมเองจะไม่มองเป็นข้อเสีย เราก็จะมองแค่ว่า เออ มันก็เป็นมุมมองของผู้กำกับเขาแหละ ในขณะที่กำลังถ่ายทำฉากนี้อยู่เขาอาจจะตะโกนขึ้นมาว่า เฮ้ย ฉากนี้มันต้องมีซอมบี้ด้วย น่าจะสนุกว่ะ แล้วก็เอาซอมบี้มาเข้าฉากมาดื้อๆ เลย ตัวผมเองในฐานะคนดูก็งงแหละว่าสิ่งนี้คืออะไร แต่อย่างน้อยอีกมุมหนึ่งมันก็ทำให้เราได้ดูอะไรที่สดใหม่ ไม่เหมือนกับมาตรฐานที่หนังฟอร์มยักษ์เขาทำกัน
การดูหนังสักเรื่อง คุณคาดหวังอะไรบ้าง
ผมว่าเราต้องแยกหนังให้เป็นหมวดหมู่ตามเป้าหมายของผู้กำกับก่อน ถ้าเรื่องไหนเขาทำขึ้นมาแล้วบอกว่าเป็นหนังแอ็กชัน สิ่งที่ผมต้องได้คือความเร้าใจจากฉากบู๊ ดังนั้น ไม่ว่าจะตลก เศร้า น่ากลัว บทดีหรือบทห่วยขนาดไหน ถ้าหนังมันบู๊ได้ตามสิ่งที่มันเป็น สำหรับผม เรื่องนั้นถือว่าสอบผ่าน
ยกตัวอย่างเรื่อง พี่นาค 2 (2020) หนังเรื่องนี้ไม่ตลกเลย แต่หลายๆ อย่างก็น่าชื่นชมมากๆ ทั้ง CGI ทั้งการดีไซน์ตัวละคร ดีไซน์ฉาก มันสวยงามไปหมด แต่พอดูจบผมกลับรู้สึกว่าหนังมันทำลายจุดประสงค์ตั้งต้นของตัวเองทิ้ง แล้วมีอะไรมาเคลือบเต็มไปหมด ผมมานั่งคิดแล้วรู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้ชื่นชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่
คำว่า ‘หนังดี’ ในความหมายของคุณคืออะไร
ผมได้ยินคำว่า ‘หนังดี’ ครั้งแรกจากปากพ่อผม พ่อผมบอกว่าหนังที่ดีคือหนังของเฉินหลง ตอนนั้นผมก็งงอยู่เหมือนกันว่าคำว่าดีคือแบบไหนในหนังเรื่องนั้น สารภาพว่าตอนนั้นดูก็รู้สึกชอบ สนุกไปกับมัน แต่ก็อย่างที่บอกว่าผมยังมีคำถามกับคำนี้อยู่
พอโตขึ้นผมเริ่มตั้งคำถามกับมันอีกครั้ง แต่คราวนี้ซับซ้อนกว่าเดิม ยกตัวอย่างหนังเรื่อง The Shawshank Redemption (1994) ดูครั้งแรกผมหลับ แต่พอดูครั้งที่สองผมจึงรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดี แฝงแนวคิด มีเรื่องราวน่าประทับใจ เวลามีใครมาถามผมว่าจะดูหนังเรื่องไหนดี ผมก็สามารถแนะนำเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าพูดกันตามตรง ผมดูครั้งแรกผมหลับเลย แบบนี้จะบอกว่านี่เป็นหนังที่ดีสำหรับผมได้ไหม ก็คงยาก
ดังนั้นคำว่าดีมันคงต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือหนังดีในแบบที่สังคมโดยรวมน่าจะยอมรับ กับดีจนเป็นหนังดีในแบบที่เราชื่นชอบส่วนตัว
คิดอย่างไรที่คนทำหนังพยายามผลักดันประเด็นสังคมเป็นพิเศษในปัจจุบัน
สำหรับผม ถ้าปรากฏบนหนังในรูปแบบที่ผู้กำกับต้องการ ผมจะมองในมุมมองที่เป็นผลงานของเขา แทนที่จะเป็นมองเหตุการณ์ดังกล่าวต้องถูกต้องตามสิ่งที่สังคมยึดถือ ผมเลือกที่จะให้พื้นที่สิ่งที่เขาต้องการจะสื่อออกมามากกว่า บางทีมันจะดูแย่หรือดูไม่เหมาะสม นั่นก็เป็นอีกประเด็นที่เราจะมาพูดกันในภายหลัง
แต่การไม่ตัดสินอะไร ก็ไม่ได้จะบอกว่าผมมองข้ามไปเลย บางอย่างถ้าผมมีมุมมอง ผมก็จะแสดงความคิดเห็น หากผมรู้สึกต่อมัน ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง Music (2021) ที่พูดถึงเด็กออทิสติก หลายคนดูอาจจะรู้สึกตลกและสนุกไปกับมัน แต่สำหรับผมที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับคนออทิสติกมาก่อน ผมจึงมองว่ามันไม่ตลก แล้วค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่น่าเกลียดมาก เพราะพวกเขาจะไม่มีวันทำอะไรแบบในเรื่องแน่นอน
ถ้าเป็นแบบกรณีนี้ สิ่งที่ผมจะทำคือพูดถึง แสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เขาทำขึ้นมา ผมคงไม่ไปเรียกร้องให้เขาทำลายหนังตัวเองทิ้ง อย่าทำหนังแบบนี้ขึ้นมาอีก แต่ถ้าทำอีก ผมก็จะด่าอีก ซึ่งตรงนี้มันก็สิ้นสุดขอบเขตของผู้ชมอย่างผมแล้ว ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องของผู้กำกับว่าเขาจะรับฟังแล้วจะทำอย่างไรต่อกับหนังของเขา
คุณมองว่าตัวเองเป็นนักวิจารณ์หนังไหม
ไม่เลย ผมรู้สึกว่าในเชิงหลักการไม่ได้เก่งเลย แค่เป็นคนอธิบายเก่ง อธิบายให้เห็นภาพได้ว่าทำไมคุณอาจจะรู้สึกสนุกกับเรื่องนี้ จากการเปรียบเทียบของผม โอเค คุณอาจจะดูหนังเรื่อง The Snake ไม่สนุก แต่ผมสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ว่าทำไมผมสามารถรู้สึกสนุกกับมันได้ มันน่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่า
ในคลิปของผมคงใช้คำว่าวิจารณ์ไม่ได้ เพราะผมไม่ได้พูดถึงหนังเป็นที่ตั้งเลย แต่สิ่งที่พูดคือมันเริ่มจากตัวผมไปดูหนัง แล้วผมรู้สึกอย่างไรกับหนังเรื่องนี้ ดังนั้น มันเลยเป็นความเห็นที่ค่อนข้างเอนเอียง บางส่วนที่นักวิจารณ์ต้องพูด บางทีผมก็ปล่อยข้าม หนังเรื่องนี้มุมกล้องสั่นจนน่าโมโห บางทีถ้าผมชอบก็ปล่อยผ่านไป
คำวิจารณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาให้ยากเกินไป อย่างที่ผมบอกว่าหนังคือผลงานของผู้กำกับ เราไปพูดถึงความชอบเขา มันยากที่จะแม่นยำอยู่แล้ว ดังนั้น ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนพูดถึงจากความรู้สึกของตัวเองดีกว่า มันธรรมชาติและจริงใจดี
นอกจากหนังแล้ว มีเรื่องราวดราม่าบนโลกออนไลน์หรือประเด็นร้อนๆ ที่คุณหยิบขึ้นมาพูดบ่อยๆ สิ่งใดในโลกออนไลน์ที่คุณสนใจเป็นพิเศษ
โลกออนไลน์ก็คือโลกออนไลน์ เวลาดูคลิปอาจจะฟังดูเหมือนผมกำลังพูดถึงปัญหา แต่เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบนนั้น แล้วก็จะไม่มีวันเปลี่ยนด้วย มันเป็นแบบนี้แหละ ดังนั้น เป้าหมายการพูดในแต่ละคลิปคือเอาสนุกกับสะใจแค่นั้นเอง
เวลาที่ผมปล่อยคลิปประเภทนี้ออกไป สิ่งที่ผมคาดหวังคืออยากรู้ปฏิกิริยาของโลกออนไลน์ที่มีต่อสิ่งที่เราเพิ่งยัดเพิ่มลงไปในนั้น เช่น คลิปพูดถึงคนที่ทำคอนเทนต์รีแอกชัน (คนที่ดูวิดีโอจากช่องอื่นแล้วรีวิวในคลิปตัวเองอีกที) มันเกิดจากความรู้สึกที่ว่า ทำไมคลิปแบบนี้เยอะจัง ทั้งที่มันโคตรน่าเบื่อเลย ผมเลยไปรวบรวมหลายชื่อคนทำคลิปประเภทนี้แล้วก็มาพูดถึงอีกที ซึ่งคำว่าพูดถึงคือพูดถึงจริงๆ นะ แค่อยากอธิบายความเห็นในมุมมองของเราแค่นั้นเองว่ารู้สึกอย่างไร แต่วิธีการเล่า วิธีการเรียบเรียง วิธีการจัดวางเนื้อหา มันทำให้ดูเหมือนว่าผมกำลังวิจารณ์และพยายามที่จะผลักดันสังคมอยู่ แต่มันไม่ใช่เลย
มันเป็นนิสัยของผมจริงๆ นะ เวลาจะเล่าอะไรบางอย่างแล้วชอบคิดไปเรื่อย พูดไปไกลกว่าสิ่งที่ตั้งใจ อย่างเช่นเวลาผมจะเล่าเรื่องที่ตัวเองเหยียบขี้หมา สุดท้ายผมก็จะไปสรุปท้ายคลิปว่าทำไมผมถึงสนับสนุนการทำหมันหมาทั่วประเทศ มันเป็นแบบนั้นไป ถูกปรุงแต่ง ถูกใส่อารมณ์ จนไปสะกิดความรู้สึกคนแทน
เวลาทำคลิปแบบนี้ คาดหวังว่าคนดูจะต้องรู้สึกอย่างไรบ้าง
ผมจินตนาการว่าคนจะกดไลก์ครึ่งหนึ่ง กดดิสไลก์ครึ่งหนึ่งเลยนะ เพราะผมรู้สึกว่า สิ่งที่ตัวเองพูดค่อนข้างจะกระทบกับคนที่ชอบทำและชอบดูอะไรแบบนี้บนโลกออนไลน์พอสมควร
แต่ถ้าถามเรื่องอยากทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น มีคนไปรุมด่าคนในคลิป แบบนี้ผมก็ไม่ชอบนะ ผมไม่อยากให้ความเห็นของผมมันชี้นำให้คนอื่นทำเรื่องแบบนั้น ถึงแม้ผมจะชอบให้โลกออนไลน์วุ่นวายในแบบที่มันเป็นทุกวันนี้อยู่ แต่มันก็ควรวุ่นวายเพราะทุกคนคิดแบบนั้น ไม่ใช่เพราะทุกคนทำตามความเห็นผม ดังนั้น ถ้าดูคลิปผมก็อย่าเพิ่งตัดสินว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง เลือกฟัง เลือกเชื่อ รับผิดชอบพฤติกรรมของคุณเอง
กลับกัน ถ้าตัวผมโดนด่าบนโลกออนไลน์บ้าง ในมุมมองของผู้ถูกกระทำ ผมรู้สึกเฉยๆ นะ เราเข้าใจว่าโลกออนไลน์มันต้องวุ่นวายอยู่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมันเลยปกติมากๆ และอาจเป็นที่นิสัยส่วนตัวของผมด้วย ที่ชอบฟังความเห็นคนอื่นเวลาพูดถึงผม มันเป็นกระจกที่ช่วยสะท้อนตัวเราได้ดีมากๆ ได้ทบทวนตัวเองว่าทำไมเขาถึงด่าเรา เราทำอะไรผิดหรือเปล่า
อย่างกรณีนวย (บุคคลบนโลกออนไลน์ที่มีกรณีพิพาทกับ RedremasteRed) ก็มีแฟนคลับของคุณพากันไปก็โจมตีเขาเหมือนกัน
อย่างกรณีของนวย มันเริ่มจากเขาพูดถึงผมในทางที่ไม่ดีก่อน ผมเลยทำคลิปให้เขาเต็มๆ เลยหนึ่งคลิป มันก็เหมือนคนทะเลาะกัน แต่แค่ไปอยู่บนโลกออนไลน์เท่านั้นเอง คือพูดกันตามตรง มันก็เป็นเรื่องผมกับเขาโดยตรง แล้วเหมือนมีเพื่อนช่วยรุมด่าแค่นั้นแหละ กรณีนี้ผมไม่สนใจคำตอบที่เพิ่งบอกเมื่อกี้หรอก เอาสะใจไว้ก่อน
แต่เอาจริงๆ ผมว่าการทำคลิปพูดถึงนวยแบบนี้ เพราะผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่น่าสนใจนะ นี่คงไม่ใช่ตัวตนของเขาจริงๆ หรอก มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาบนโลกออนไลน์ ผมเลยชอบที่จะเล่น (ทะเลาะ) กับเขา เพราะรู้ว่ายังไงเขาก็ไม่สะทกสะท้าน ก็มันไม่ใช่ตัวเขาจริงๆ นี่ ก็เป็นความสัมพันธ์ที่สนุกดี
คิดว่าโลกออนไลน์จำเป็นต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ หรือสร้างคอนเทนต์เพื่อขับเคลื่อนสังคมอะไรแบบนั้นไหม
ผมว่าไม่จำเป็น เหมือนกับหนังเลย บางคนแค่อยากจะดูอะไรที่สนุกแค่นั้นเอง ผมคงไม่อยากที่จะเปิดยูทูบมาแล้วเห็นคนสอนผมอยู่ตลอดเวลา บางทีแค่อยากเห็นคลิปเพื่อนแกล้งใส่ยาถ่ายลงในเครื่องดื่มก็ได้ ซึ่งบางทีมันก็อาจมีข้อคิดหรือประโยชน์ได้เหมือนกัน เช่น ‘ไม่น่ามาดูอะไรแบบนี้เลย’
ผมชอบบทบาทของมนุษย์บนโลกออนไลน์นะ ใครคิดแบบไหนก็คิดไป ใครอยากทำอะไรก็ทำไป ดังนั้น มันเลยตัดสินไม่ได้หรอกว่าอะไรถูกอะไรผิด บางคนขับรถทับแตงโมก็คนดูเป็นล้าน ในมุมมองของเราอาจมองว่าคลิปโคตรไร้สาระทำขึ้นมาทำไม แต่มุมของคนทำอาจบอกว่า เฮ้ย กูขับรถทับแตงโมคนดูเป็นล้านเลยนะเว้ย เจ๋งเปล่า อะไรแบบนี้
ในชีวิตจริง คุณมีนิสัยเหมือนในโลกออนไลน์ไหม
ค่อนข้างที่จะแตกต่างพอสมควร พูดว่าเป็นอีกบุคลิกเลยก็ว่าได้ ในชีวิตจริงผมจะเป็นคนไม่ชอบออกมาพูด ออกมาแสดงความคิดเห็นอะไรแบบนี้เลย ชีวิตจริงผมไม่ชอบถูกพูดถึง ถูกมอง หรือเป็นที่รู้จักเสียเท่าไหร่ แต่พอจะสร้างอะไรบางอย่างบนโลกออนไลน์ขึ้นมา ผมแค่รู้สึกว่าเราต้องทำลายกำแพงตรงนั้นให้ได้ ต้องกำจัดจุดอ่อน มันเลยกลายเป็นอีกตัวตนบนโลกออนไลน์แทน
ตอนที่นั่งสัมภาษณ์อยู่นี่ก็เหมือนกัน เหมือนกับว่าตัวเองอยู่บ้าน แล้วส่งใครบางคนมาพูดมากกว่า ตัวตนผมจริงๆ คงไม่ได้ทำอะไรแบบนี้เท่าไหร่
พอมีตัวตนบนโลกออนไลน์แล้วรู้สึกหลงใหลได้ปลื้มกับชื่อเสียงหรือการเป็นดาวเด่นบ้างไหม
ช่วงแรกที่ทำช่อง Fireting E ซึ่งตอนนี้ซ่อนคลิปส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว มีคนติดตาม 3 หมื่นกว่าคน ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมาก พูดอะไรก็มีคนฟัง มีคนเห็นด้วยตลอด แต่ทุกวันนี้ 5 ปีผ่านไป มันไม่มีประโยชน์ที่จะรู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว การที่ไม่มีใครมาคอยเถียง คอยเห็นต่าง คอยแย้งเรา ทำให้เราก็ยังเป็นตัวเองใน 5 ปีก่อน มันไม่พัฒนาไปไหน ยังหลงอยู่ในความคิดของตนเองอยู่ ผมเลยเลิกที่ภูมิใจกับการที่มีคนเห็นด้วยกับเราเป็นจำนวนมาก
พอคิดแบบนี้มันก็เหมือนเป็นการเปิดโลกเลย ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องมีภาระมารักษาความสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ เขาสนับสนุนต่อ เราก็ยินดีและขอบคุณ แต่สุดท้ายก็จะฟังเสียงตัวเองมากกว่าว่าอยากทำอะไรกันแน่
ความรู้สึกที่อิ่มตัวกับการเป็น #FE0000 และ RedremasteRed เกิดขึ้นมาตอนไหน
มันเกิดขึ้นมาตลอดที่ทำเลย ผมเคยเปิดๆ ปิดๆ เพจมาแล้ว 5 รอบ ตอนนี้ก็ยังมีแชนแนลยูทูบอีก 2 ช่อง ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็น 5 ช่อง มันก็เป็นหลักฐานชั้นดีว่าผมเป็นคนขี้เบื่อและอิ่มตัวง่ายมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะ ผมเป็นคนสนใจอะไรหลายอย่างอยู่แล้ว งานอดิเรกเปลี่ยนไปตลอดเวลา
จำได้ว่าตอนทำช่อง #FE0000 ผมตื่นเต้นมาก เวลาเล่าไอเดียกับเพื่อนนี่ตาเป็นประกายเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแบบนั้นอีกแล้ว จะทำคลิปแต่ละทีมีแต่ความโอดโอย โอเค ผมอาจจะยังทำให้ดีได้อยู่เหมือนเดิม แต่ตัวผมไม่อินกับมันแล้ว รู้สึกว่าตัวเองพามันไปต่อมากกว่านี้ไม่ได้ คนดูอาจจะมองว่าไม่เห็นเป็นไร แบบนี้ก็ดีแล้ว แต่มันสำคัญกับผม เพราะถ้ามัวแต่ทำแบบเดิมอยู่ เราคงไม่พัฒนาไปไหน
เวลานี้ถือว่าใกล้ถึงตอนอวสานของ #FE0000 และ RedremasteRed แล้วหรือยัง
อาจจะยังไม่ใช่เสียทีเดียว คงไม่เหมือนหนังที่มีฉากจบสวยงาม เรื่องมันยังคงดำเนินต่อไป แต่ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าที่ควรแล้ว ตอนนี้ผมมีแผนที่จะเปิดแชนแนลที่ 3 อยู่ ทั้ง 2 ช่องก็อาจจะต้องเงียบๆ ไปบ้าง
ถามว่าเสียดายไหม ผมขอตอบว่าก็ไม่เท่าไหร่ มันก็เป็นไปตามความสนใจของผม อีกอย่างคือผมมองเป็นความท้าทายด้วย ผมลองสังเกตตัวเองแล้วค้นพบว่า ช่วงที่สนุกที่สุดคือตอนเพิ่งเริ่มสร้างช่องใหม่ๆ เริ่มปั้นอะไรบางอย่างขึ้นมา มันเป็นช่วงที่ใช้ความครีเอทีฟเอามากๆ ดังนั้น การกระโดดไปทำสิ่งเหล่านี้อีกครั้ง ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าจะมาเสียดายความสำเร็จเก่าๆ
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของการทำทั้ง 2 ช่อง คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ผมว่าผมอ่านกระแสของชาวเน็ตได้ง่ายขึ้น รู้ว่าทำคลิปแบบไหนคนจะดูเยอะ ทำคลิปแบบไหนคนจะไม่ดู ซึ่งผมมองว่าอะไรแบบนี้ไม่ดีต่อตัวผมเลย ในช่วงแรกที่วาดการ์ตูน ผมจับกระแสได้และเข้าใจว่าวาดอะไรถึงจะดัง มันเป็นดาบสองคมมาก
ยกตัวอย่างเช่น สมมติช่วงนั้นมีนกพิราบขี้กันทั่วเมืองเลย ผมก็ต้องวาดการ์ตูนเกี่ยวกับนกพิราบขี้ทั่วเมือง เพื่อให้คนหมู่มากเข้าถึงได้ง่าย มันเลยเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นกับดักที่ทำให้เราต้องทำอะไรในกระแสอยู่เสมอ
มีอะไรในโลกออนไลน์ที่คุณไม่ชอบเลย แม้มันจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดก็ตาม
ก็คงเป็นพวกที่โพสต์แต่รูปหรือมีมเดิมๆ บางทีเวลาผมโพสต์อะไรก็อยากอ่านความเห็นของคนอื่นบ้าง แต่ทุกวันนี้เจอแต่มีมของนวย อันนี้ก็ไม่ไหว
อีกอย่างคงเป็นเรื่องการบีบบังคับให้ทำอะไรบางอย่างที่คนอื่นเขากำลังทำกัน ผมรู้สึกว่าสถานการณ์แบบนี้เหมือนมีใครกำลังหายใจรดต้นคอผมอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนกับมีคนกระซิบข้างหูว่า พูดเรื่องนี้สิ พิมพ์เรื่องนี้สิ บางทีไม่ใช่เรื่องที่สำคัญด้วย อาจจะเป็นกระแส เป็นเทรนด์อะไรก็ได้ แบบนี้ผมจะรู้สึกไม่ชอบมากๆ เพราะตัวผมเองก็คงหาพื้นที่สำหรับแสดงออกอยู่แล้ว ถ้านั่นเป็นเรื่องที่เราสนใจ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าผมต้องโพสต์ทุกอย่างที่คิดลงบนช่องทางที่ใช้ทำงานอยู่ จริงไหม
ถ้าให้วิจารณ์ตัวคุณเองในวันนี้ คุณจะวิจารณ์ตัวเองว่าอย่างไร
ผมจะรู้สึกว่าไอ้หมอนี่มันมองโลกในแง่ร้ายไปหมด แต่ขณะเดียวกัน มันก็ไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสีย ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามันเหยียบขี้หมาครั้งที่หนึ่ง มันจะไม่โกรธตัวเองว่าทำไมถึงเดินเหยียบขี้หมา แต่มันจะมองว่า โอเค ฉันจะไม่เหยียบขี้เป็นครั้งที่สอง อะไรประมาณนั้น ซึ่งเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจมาก มันเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ไอ้หมอนี่มันอยู่ในโลกออนไลน์ได้ ในสังคมที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทั้งพูดกันแบบสุภาพชน และด่าทอกันอย่างไร้เหตุผล ไอ้หมอนี่เลือกที่จะรับฟัง และรู้ว่าความเห็นแบบไหนสามารถนำไปปรับปรุงได้ คือไม่ได้จะบอกว่ามันมีความสุขกับอะไรแบบนี้หรอก แต่แค่มันไม่ได้รู้สึกว่าทุกข์เกินจะรับไหว
Tags: #FE0000, วิจารณ์หนัง, โลกออนไลน์, The Frame, RedremasteRed