วันนี้ ‘วิมานหนาม’ ถือเป็นความสำเร็จจากค่ายหนัง GDH และ JAI STUDIOS หลังถ่ายทอดเรื่องราวของการแย่งชิงสมบัติสุดเข้มข้นแห่งปี จนสามารถทำรายได้พุ่งพยานสู่หลัก 150 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย
กล่าวโดยสังเขป หนังเรื่องนี้เล่าถึงโศกนาฏกรรมอันน่าหดหู่ใจของการแย่งชิง สวนทุเรียน บ้าน และที่ดิน จากภัยความไม่เท่าเทียมที่สร้างแรงปรารถนาให้ทุกตัวละคร ต้องทำทุกวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัติชิ้นสุดท้าย
ทว่าท่ามกลางเรื่องราวความขัดแย้งของตัวละครหลัก กลับมี จิ่งนะ ตัวละครสมทบที่รับบทโดย เก่ง-หฤษฎ์ บัวย้อย เข้ามาพัวพันในเรื่องราวจนสามารถเรียก ‘ความน่าเห็นใจ’ จากผู้ชมได้ไม่แพ้ โหม๋ (แสดงโดย อิงฟ้า วราหะ) และทองคำ (แสดงโดย วรกมล ชาเตอร์) แม้แต่น้อย
หากมองในแง่ของตัวบุคคล หฤษฎ์เล่าให้ฟังว่า ตัวละครจิ่งนะกับเขามีความคล้ายกัน จนทำให้เขาถูกเลือกมาแสดงในภาพยนตร์ชิงรางวัลเรื่องนี้ ด้วยความที่เป็นคนชายขอบที่ต้องการความมั่งคงในชีวิตเหมือนกัน
เพราะก่อนที่เขาจะได้รับบทบาทการเป็น ‘นักแสดง’ หฤษฎ์เคยเป็น ‘คุณครู’ สอนวิชาภาษาไทยให้กับเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาตัดสินใจเบนเข็มชีวิตหันมาจับงาน ‘การแสดง’ ที่ศาสตร์และศิลป์ในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ด้วยความสงสัย The Momentum จึงชวนหฤษฎ์มานั่งจับเข่าพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต และจุดเปลี่ยนในครั้งต่างๆ ที่เปลี่ยนคุณครูคนหนึ่งให้กลายมาเป็นนักแสดงมากความสามารถ จนได้รับความชื่นชมและรายได้มากกว่าร้อยล้านบาท
“สวัสดี เก่ง หฤษฎ์ครับ ก่อขอฝากเนื้อฝากโต๋กับกุ๊คนตวยหนาครับ ผมเป๋นหละอ่อนขี้อายครับ อู้ยังบ่าค่อยเก่งเหมือนกั๋น ก่อฝากเนื้อฝากโต๋กับกุ๊คนตวยครับ”
(สวัสดีครับ เก่ง หฤษฎ์ครับ ก็ขอฝากเนื้อฝากตัวกับทุกคนด้วยนะครับ ผมเป็นเด็กขี้อายครับ พูดยังไม่ค่อยเก่งเหมือนกัน ขอฝากเนื้อฝากตัวกับทุกคนด้วยนะครับ)
เป็นประโยคทักทายภาษาไทลื้อที่นักแสดงที่รับบทจิ่งนะจากภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม เลือกที่จะพูดกับเราในฐานะที่เจอกันเป็นครั้งแรกในวันนี้
ครู-นักแสดง
‘ความฝันวัยเด็กอยากเป็นอะไร’
คำถามง่ายๆ ถูกเลือกเปิดบทสนทนาครั้งนี้ โดยหฤษฎ์ให้คำตอบว่า ตั้งแต่จำความได้ เขาอยากเป็นนักฟุตบอล เพราะชื่นชอบกีฬาชนิดนี้มาก จนถึงขั้นที่ไปคัดเลือกเป็นตัวแทนโรงเรียนในช่วงมัธยมฯ แต่จะไม่ผ่านการคัดเลือก
แต่ใช่ว่าความล้มเหลวครั้งนั้นจะหยุดยั้งความฝันของเขาได้ หฤษฎ์เล่าต่อว่า หลังจากนั้นเขาเริ่มมีความคิดที่อยากเป็นคุณครูพลศึกษา แต่เพราะอุบัติเหตุเส้นเอ็นขาด ทำให้เขาไม่สามารถเป็นครูพละได้ จึงทำให้ต้องย้อนกลับมามองตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
“ผมชอบการเป็นครู จึงมองหาว่าตัวเองชอบอะไร ก็มารู้ว่าผมชอบจำ แต่จำไม่เก่ง ชอบจำ ชอบอ่าน เลยเลือกเป็นครูภาษาไทย ประกอบกับที่ทางบ้านอยากให้เป็นข้าราชการด้วย
“ตอนนั้นผมเป็นแค่เด็ก ม.6 ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน เคว้งมาก เพื่อนแต่ละคนรู้หมดเลยว่าตัวเองชอบวิศวะ ชอบคอมพิวเตอร์ แต่ผมไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร ผมเป็นเด็กหลังห้อง ชอบเล่นกีตาร์ ร้องเพลง ตอนเที่ยงเตะฟุตบอล พอถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ ผมเลยมองหาว่า สุดท้ายแล้วชอบอะไรกันแน่”
ผลจากการนั่งตกตะกอนความคิดของตัวเองในครั้งนั้น ทำให้หฤษฎ์เลือกที่จะเข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และได้มีโอกาสสั้นๆ 1 ปีในฐานะครูฝึกสอน (2565-2566)
“ตอนนั้นสนุกมาก ผมเรียนมาตลอด ไม่เคยทำงานเลยครับ พอไปทำงานแล้วพบว่า มันต่างจากที่เรียนมากๆ ไม่มีอะไรมาช่วยในการสอนเลย เพราะในโรงเรียนกับที่เราเรียนมันต่างกันมาก ความรู้ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด ผมต้องทำการบ้านเองว่า ชั้นนี้สอนอะไร มีหลักสูตรอะไรบ้าง ต้องสอนในรูปแบบไหนให้เข้ากับพวกเขา” หฤษฎ์เล่าประสบการณ์อาจารย์ครั้งแรกให้ฟัง
“ครูเก่งเป็นครูที่ดุไหม?” ผู้เขียนลองถามหยอกล้อกลับไป
“ดุครับ เด็กๆ บอกครูเก่งดุมาก แต่ก็จะมีมุมที่เราใจดีอยู่นะ” เขาตอบแล้วกลั้วหัวเราะ
พร้อมทั้งอธิบายว่า ด้วยความที่เขาเป็นคน Introvert จะมีบางมุมเวลาที่นักเรียนดื้อ เขาจะดุด้วยสายตาเพียงเท่านั้น หรือหากเด็กเสียงดัง เขาก็เลือกที่จะเงียบเพื่อเป็นการเตือนว่า เขากำลังจะดุแล้วนะ
“แต่ถ้าผมสอนเสร็จก็จะเปลี่ยนเป็นอีกแบบ เวลาเด็กๆ เตะฟุตบอล เราก็จะเตะด้วย”
แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณครูสอนภาษาไทยที่กำลังมีความสุขกับการสอน เบนทิศทางชีวิตก้าวมาสู่การเป็น ‘นักแสดง’
‘ครอบครัว’ คือคำตอบสั้นๆ ของหฤษฎ์
“จริงๆ ผมพยายามเข้ามาในวงการตั้งแต่ปี 1 แล้ว คือผมเข้ามหาวิทยาลัย แล้วชนะการประกวดเดือนมหา’ลัย ประกอบกับตอนนั้นมีแคสติงบทหนังที่เชียงใหม่ พี่เลี้ยงก็ให้ลองไปแคสต์ดู พอแคสต์ติดก็มาทางนี้ต่อเรื่อยๆ จนได้เข้ามาในกรุงเทพฯ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ไปต่ออย่างจริงจังๆ ก็ค่อนข้างผิดหวังนะตอนนั้น
“แต่เอาเข้าจริง ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องยึดกับอาชีพนี้ ผมคิดแค่ว่ามันเป็นโอกาสที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ ไม่ต้องเพิ่มภาระให้ครอบครัว เราเรียนโดยที่ไม่ต้องขอเงินทางบ้าน”
อีกทั้งหฤษฎ์ยังเล่าถึงช่วงที่ได้รับการคัดเลือก เป็นนักแสดงโฆษณาผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่ง แต่โชคกลับไม่เข้าข้าง เมื่อไวรัสตัวร้ายอย่าง ‘โควิด-19’ ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดชะงัก รวมถึงกองถ่ายโฆษณาของหฤษฎ์ต้องยุติลงไปด้วย
“ผมเลยท้อ ไม่เอาแล้ว ตั้งแต่ปี 1 ยันปี 4 มีแต่อุปสรรค สงสัยโชคชะตาอยากให้เรากลับไปเป็นครูแล้วแหละ (หัวเราะ) ผมเลยกลับไปเรียนตอนต่อ จนพอใกล้จะเรียนจบ ทาง ‘ดูมันดิ’ (DoMunDi) ก็ติดต่อมาบอกว่า ลองกลับมาแคสต์การแสดงอีกสักครั้ง เผื่อครั้งนี้อาจจะใช่ที่ของเรา
“ผมก็เลยตัดสินใจลองเข้ามา แล้วมันเป็นช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์วิมานหนามพอดี ตอนนั้นพี่ออม (อธิศ อาสนจินดา) ทีมแคสติงทักไปว่า ลองกลับมาแคสต์ไหม เพราะบทจิ่งนะเหมือนกับเก่งมากๆ” เขาเล่าให้ฟัง
แล้วทำไมถึงตัดสินใจกลับมาแคสต์งานครั้งนี้ ผู้เขียนถามต่อ
“ตอนนั้นผมใกล้เรียนจบแล้ว มันชั่งใจระหว่างการเป็นครู ไม่ต้องมีความเสี่ยงอะไร รูปแบบการทำงานมันตายตัว พ่อแม่มีสวัสดิการ มีเงินเดือน
“กับอีกอาชีพหนึ่งคือการเป็นนักแสดง ผมก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน แค่รู้สึกว่าถ้าเราไม่คว้าโอกาสมันจะไม่มีอีกแล้ว แคสติงครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสสุดท้าย ก็เลยลองเสี่ยงมา เหมือนเสี่ยงดวง ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า แต่ก็เข้ามาได้”
แต่เป็นที่รู้กันว่า ค่ายหนังดังอย่างจีดีเอช (GDH) มีการแคสติงตัวละครที่เข้มข้น เพื่อเฟ้นหานักแสดงที่ถูกต้องที่สุด แต่เหตุใดบทจิ่งนะจึงตกเป็นของอดีตคุณครูคนนี้
“ผมว่ามันหลายปัจจัยเลย ทั้งในเรื่องของความเป็นเด็กชายขอบด้วย ความเป็นเด็กเหนือด้วย และความเป็นชาติพันธุ์ด้วย ผมเป็นชาติพันธุ์ไทลื้อ มันจะมีสำเนียงที่คล้ายภาษาไทใหญ่ เลยอาจจะมีเสน่ห์อะไรบางอย่างที่มันมีความคล้ายกับจิ่งนะ ผมคิดว่า ผมน่าจะเหมือนจิ่งนะจริงๆ ในบางเรื่อง
“ผมในเวอร์ชันก่อน เชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรมซึ่งคล้ายกับจิ่งนะ ที่มันรู้สึกว่าชีวิตมันก็แค่นี้แหละ คงเป็นกรรมของเรา คงเป็นอะไรที่เราไม่สามารถดันเพดานตัวเองให้สูงกว่านี้ได้แล้วล่ะ แบบผมไม่ได้มีความรู้เยอะขนาดนั้น ไม่ได้มีพื้นฐานครอบครัว หรือสังคมที่มันเอื้ออำนวยให้เราดันเพดานตัวเองขึ้นไปได้
“ผมรู้สึกว่าชีวิตผมเรียนจบมาแล้วก็หาอะไรสักอย่างทำ โดยที่ไม่รู้ว่าเป้าหมายมันคืออะไร ผมเชื่อว่าเป็นบุญเป็นเวรกรรม เดี๋ยวให้ทุกอย่างมันพาไปเอง ชะตาฟ้าลิขิต มันก็จะมีแววตาที่คล้ายๆ กันระหว่างผมกับจิ่งนะ” หฤษฎ์อธิบาย
จนมาวันนี้ความคิดดังกล่าว เปลี่ยนไปบ้างไหมหลังได้รับบทจิ่งนะ?
หฎษฎ์ให้คำตอบว่า ปัจจุบันเขาเริ่มคิดบวก (Positive) มองโลกในแง่ดีมากขึ้น พร้อมรับทุกโอกาสที่เข้ามา พร้อมที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง ซึ่งก็คล้ายกับตัวละครจิ่งนะอีกเช่นเคย ที่เมื่อเขาพบกับทองคำ (ตัวละครเอกในเรื่อง) ก็รู้สึกว่าโลกใบนี้สดใสมากขึ้น อยู่ด้วยแล้วมีความสุข
หากทองคำคือจุดพลิกมุมมองความคิดชีวิตของจิ่งนะ แล้ว ณ วันนี้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้ความคิดของหฤษฎ์เปลี่ยนไป ผู้เขียนชวนตั้งคำถาม
“ครอบครัวอย่างเดียวเลยครับ ครอบครัวเป็นจุดเดียวที่ผมรู้สึกว่า มองเห็นแสงสว่างในความมืด ผมรู้ว่าต้องพุ่งเข้าหาจุดนั้นอย่างเดียวเลย ไม่รู้แหละว่าระหว่างทางมันจะเจออะไร แต่ปลายทางเรารู้ว่า ถ้าเราทำได้ ครอบครัวจะสบาย”
เก่ง-จิ่งนะ
มาถึงจุดนี้ เอ่ยชื่อจิ่งนะไปอยู่หลายครั้งหลายหน ถ้าไม่ถามถึงตัวละครก็คงจะเป็นเรื่องแปลก ผู้เขียนจึงขอชวนหฤษฎ์ย้อนกลับไปที่การออกแบบตัวละครว่า มีแรงบันดาลใจจากอะไร ทำไมถึงได้ครองใจผู้ชมวิมานหนามได้มากถึงเพียงนี้
เรื่องนี้หฤษฎ์กล่าวว่า มาจากประสบการณ์ตรงของตนเองล้วนๆ เพราะทาง บอส-นฤเบศ กูโน ผู้กำกับภาพยนตร์ เคยบอกกับตนว่า ตัวละครจิ่งนะอยู่ในตัวของเขา ดังนั้นแล้วจึงเปิดกว้างในการออกแบบตัวละคร
หฤษฎ์เล่าให้ฟังว่า ผู้กำกับก็จะช่วยเหลือเรื่องการวิเคราะห์บท เพราะผู้กำกับก็เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท ที่รู้ว่าตัวละครมีความคิดอย่างไร และต้องผสมสิ่งที่ตัวของเขามีอย่างไร
“ผมจะพาจิ่งนะไปทานข้าว ไปเดินห้างฯ ไปเตะฟุตบอล พาจิ่งนะไปทำกิจกรรม ผมก็จะคิดว่า ถ้าเป็นจิ่งนะเนี่ยมันจะมีมุมมองในการมองโลกอย่างไร
“แม้แต่ข้าวไข่เจียวจานหนึ่ง สมมติว่าถ้าเป็นผม ข้าวไข่เจียวก็คือเมนูธรรมดา แบบที่เราคิดอะไรไม่ออก ก็แค่ข้าวไข่เจียว เหมือนกะเพรา แต่ถ้าเป็นจิ่งนะมันอาจจะมองอีกแบบ โอ้โห! ข้าวไข่เจียวมันคืออาหารที่อยู่ในท็อป 3 ของเขาเลยนะ ที่ 1 ปีอาจจะได้กินครั้งหนึ่ง เราก็ค่อยๆ ย่อยไปว่า ถ้าจิ่งนะมาเดินห้างฯ มันจะรู้สึกอย่างไร”
มีซีนไหนของการแสดงที่เรารู้สึกว่ายากบ้างไหม?
“ส่วนมากมันเป็นฉากง่ายๆ ครับ” หฤษฎ์ตอบพร้อมทั้งหัวเราะอ่อนๆ
“ฉากกินทุเรียนก็เล่นไปกว่า 20 เทก กับแค่กินทุเรียน แล้วก็เอาเม็ดทุเรียนมาเขียนแค่นั้นเลยครับ ผมเล่นไม่ได้ จริงๆ ฉากนั้นที่กินเยอะเพราะว่าผมเล่นไม่ได้ (หัวเราะ)
“ผมก็… พี่เจฟขอโทษนะพี่ ผมแบบ… ผมไม่ได้อะ ขออีกรอบละกัน พี่บอสก็แบบ… เก่งขออีกนิดหนึ่ง ใกล้ละ สรุปวันนั้นน่าจะกินทุเรียนไปประมาณ 6-7 พูได้ คือกัดจนร้องโอ๊ย! กัดอีกไม่ไหวแล้ว ก็เปลี่ยนแล้วกัดใหม่ ถ่ายไม่ได้ก็เปลี่ยนใหม่” หฤษฎ์เล่าย้อนถึงวันถ่ายทำ
ในฐานะที่เคยสัมผัสประสบการณ์การทำงานทั้ง 2 อาชีพ ทั้ง ‘ครู’ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ในการขัดเกลากับเยาวชน และ ‘นักแสดง’ ที่ต้องสวมจิตวิญญาณการแสดง เพื่อถ่ายถ่ายทอดประสบการณ์แก่ผู้ชม ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางอาชีพนั้นช่างแตกต่างกันเป็นอย่างมาก
ในมุมมองของเขา อะไรคือความต่างและความเหมือนกันของทั้ง 2 อาชีพ
ซึ่งคำตอบของนักแสดงที่กินทุเรียนไปเกือบ 10 พู ยืนยันว่า อาชีพทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย ‘คุณครู’ เป็นศาสตร์ที่เขาได้เรียนรู้มาว่า ต้องจัดเตรียมการสอนอย่างไร แต่ไม่ใช่กับ ‘นักแสดง’ ที่เขาไม่รู้อะไรในสายงานบันเทิงแม้แต่น้อย รู้แค่ว่าชอบร้องเพลง ชอบดูภาพยนตร์ แต่หากเป็นเรื่องกระบวนการถ่ายทำ เขายอมรับว่าเป็นศูนย์จริงๆ ก่อนหน้า
“ผมคิดตลอดเลยว่า จะไหวจริงหรือ จะแข่งขันในตลาดนี้ได้หรือ นี่คือข้อแตกต่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ผมรู้สึกว่ามีสติกับตัวเองตลอดเวลา เวลาทำงานหรือออกงาน ไม่ต่างอะไรจากการเป็นครูที่ต้องมีสมาธิกับการสอนเหมือนกัน” อดีตครูอธิบาย
แล้วชอบบทบาทไหนมากกว่ากัน? ผู้เขียนถามต่อ
“พูดยากมาก ผมชอบทั้งสองเลย การเป็นครูมันก็มีความสุข ตื่นเช้ามาเจอเด็กๆ มีเอเนอร์จี เฮฮาในชีวิต
“แต่พอมาเป็นนักแสดง ผมก็ชอบในช่วงที่ได้ออกจากเซฟโซนของตัวเอง พอผู้กำกับสั่ง 1 2 3 แอ็กชัน! ผมไม่ได้เป็นตัวเองอีกเลย ผมเป็นใครก็ไม่รู้ ก็ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา แต่พอคัตปุ๊บ ผมได้กลับมานั่งคิด เมื่อกี้ทำแบบนั้นจริงๆ เหรอ ถ้าเป็นเรา… เราจะทำแบบนั้นจริงๆ เหรอ” หฤษฎ์อธิบายถึงความชอบให้ฟัง
เมื่อชวนถามต่อถึงความรู้สึกก้าวแรกในวงการบันเทิงกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในมุมของการแสดงวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
หฤษฎ์คิดไปสักพัก ก่อนจะให้คำตอบว่า ณ ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าประสบความสำเร็จได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายหรือคำนิยามความสำเร็จเอาไว้ตั้งแต่แรก แค่รู้สึกว่าได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
จากความสำเร็จของวิมานหนามในวันนี้จะสร้างแรงกดดันในอนาคตมากน้อยแค่ไหน
“กดดันครับ (หัวเราะ) เพราะว่าผลงานต่อไปเป็นซีรีส์ฟอร์มใหญ่เหมือนกัน คือเขมจิราต้องรอด (ซีรีส์วายที่ได้รับการดัดแปลงจากนิยายสยองขวัญ ของค่าย Mandee Work) มันค่อนข้างเป็นสเกลใหญ่เป็นซีรีส์เกี่ยวกับความเชื่อด้วย มีเรื่องของซีจี (Computer Graphic: CG) เข้ามาด้วย เราไม่เคยทำงานกับซีจีเลยครับ ก็เป็นความท้าทายมาก”
หฤษฎ์ยังเล่าถึงเส้นทางในวงการบันเทิงหลังจากนี้ให้ฟังอีกว่า อยากผลักดันภาพยนตร์ให้ไปไกลยิ่งกว่านี้ เพราะยิ่งไปไกลเท่าไร สาร (Message) ที่ทีมงานทั้งผู้กำกับและนักแสดงต้องการสื่อสารจะยิ่งมีความหมายมากขึ้น
“อยากไปให้ต่างประเทศได้เห็น อยากให้คนไทยช่วยสนับสนุนภาพยนตร์ไทย เพราะผมรู้สึกว่า วิมานหนามเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ฉีกกรอบของภาพยนตร์ไทยเหมือนกัน”
สำหรับบทบาทในอนาคตที่หฤษฎ์รู้สึกท้าทายและอยากลองสักครั้ง เขาให้คำตอบว่า เป็นบทบาท ‘คุณหมอ’ เพราะรู้สึกว่าการที่อยู่ในการทำงานลักษณะนั้นที่มีสภาวะหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องส่วนตัวและการช่วยเหลือคนไข้ มันน่าจะเป็นอะไรที่หนักพอสมควร จึงอยากรู้ถึงความรู้สึกตรงนั้น
“สิ่งหนึ่งที่อยากทำคือ ผมชอบร้องเพลง อยากเป็นนักดนตรีครับ อยากตื่นเช้ามาแต่งเพลง ได้ออกเพลง มีทัวร์คอนเสิร์ต มีพี่ๆ แฟนเพลงมาฟัง” เขาเล่า
โอกาส-คนชายขอบ
เราชวนเก่งมองย้อนกลับไปถึงภาพรวมชีวิตอีกครั้ง กับ 1 ปีที่บทบาทในชีวิตต้องพลิกอีกด้าน จาก ‘หฤษฎ์ในบทบาทคุณครู’ กับ ‘หฤษฎ์ในบทบาทนักแสดง’ มุมมองชีวิตของเขาได้เปลี่ยนเป็นเช่นไรบ้าง
“ผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยต่างกันเท่าไร เพราะผมโฟกัสกับครอบครัวและการทำงานไปทีละเรื่อง แต่มันพิเศษตรงที่ บางอย่างผมสามารถสนุกกับมันได้สุดๆ ออกจากกรอบได้ทุกเวลา แม้แต่ตอนที่ผมนั่งสัมภาษณ์ที่นี่ ผมก็ไม่เคยคิด มันก็เป็นประสบการณ์ใหม่เหมือนกัน (หัวเราะ)”
มาถึงจุดนี้ ในบทสัมภาษณ์จะเห็นว่า หลายครั้งหฤษฎ์เอ่ยถึงครอบครัวที่เป็นเสมือนลมใต้ปีกที่ช่วยหล่อเลี้ยงแรงกายแรงใจในทุกๆ วัน เขาเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เขาเป็นเด็กเขาไม่ได้รู้สึกว่าครอบครัวขาดเหลืออะไร เป็นครอบครัวเกษตรกรที่รายได้อยู่ระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำเล็กน้อย อาจจะมีที่ติดขัดปัญหาเรื่องเงินบ้าง
“ผมเห็นพ่อแม่เครียดตลอด มันก็เป็นสิ่งที่ผมอยากช่วยเหลือเขา แต่เขาไม่ได้บอกหรอกว่ามีปัญหาเรื่องเงิน ผมรู้ว่าต้องช่วยพ่อแม่ ผมมองออกว่าเขาเครียดตลอดเวลา
“ก็เป็นผมเองมากกว่าที่ออกไปหาเงิน ผมจะไม่ขอแล้ว ผมจะออกไปประกวด เสาร์-อาทิตย์ผมจะไปเดินแบบไปประกวดที่เชียงใหม่เพื่อหาเงินมาช่วย ผมจะพยายามรบกวนที่บ้านให้น้อยที่สุด”
วันที่ครอบครัวรู้ว่า เราจะมาเป็น ‘นักแสดง’ เขาพูดว่าอย่างไรบ้าง?
“เอาจริงๆ ที่บ้านก็คัดค้านตลอด ไม่ได้อยากให้เป็นดารานักแสดง เพราะเขาคิดว่ามันไม่ได้ยั่งยืน เป็นแค่ช่วงจังหวะที่มันฉาบฉวย เขากลัวว่าพอเราแก่ตัวไป แล้วเราจะมีงานทำหรือเปล่า
“แต่ผมบอกพ่อแม่ว่า ตอนนี้เรียนจบแล้ว ผมอยากลองก้าวออกจากกรอบ อยากลองไปหาอะไรที่มันท้าทายดู แล้วมันคุ้มค่ากับการที่เราจะเสี่ยงออกไป เพราะผมคิดตลอดว่า การที่ผมมาจุดนี้ผมมาทำเพื่อครอบครัว อยากให้ครอบครัวผมดีขึ้น เพราะฉะนั้น ผมเลยรู้สึกว่าไม่ได้ต้องกลัวอะไรที่มันจะเข้ามานั่นเอง”
หฤษฎ์เล่าให้ฟังว่า ตอนที่วิมานหนามฉายถึงฉากไคลแม็กซ์ พ่อของเขาน้ำตาไหล ขณะที่แม่และพี่สาวปิดตา ไม่กล้าดู
“พวกเขาภูมิใจครับ จริงๆ ผมอยากพามาพวกเขามาดูที่กรุงเทพฯ นะ แต่งานผมเยอะมากๆ กลัวดูแลได้ไม่ทั่วถึง”
เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกครอบครัวต้องการให้ลูกหลานมีความมั่นคงในชีวิต อาชีพที่มั่งคงในรายได้และสวัสดิการต่างๆ จึงเป็นที่หมายปองของใครหลายคน จึงไม่แปลกใจที่ ‘อาชีพข้าราชการ’ ถูกแนะนำโดยคนรอบข้างอยู่เรื่อย ประกอบกับเหตุผลที่ว่า จังหวัดเมืองเล็กย่อมมีโอกาสน้อยกว่าจังหวัดเมืองใหญ่ในการเลือกประกอบอาชีพ
หากว่ากันตามตรง เก่ง หฤษฎ์ถือเป็นคนในสัดส่วนที่น้อยมากของประชาชนที่มาจากจังหวัดเล็กๆ และสามารถไล่ตามความฝันและเป้าหมายของการทำเพื่อครอบครัวได้
“ผมพูดแบบไม่ได้โลกสวยเลยนะ ผมรู้สึกว่าการที่เราคว้าโอกาส ในทุกโอกาสที่เข้ามามันเป็นสิ่งที่ดี บวกกับโชคด้วยครับ
“แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า มันขับเคลื่อนอยู่ลึกๆ ไม่ใช่กรอบที่ครอบเราอยู่ แต่มันคือเรื่องของครอบครัว จิตวิญญาณอะไรบางอย่าง มันผลักดันผมมา เพื่อที่จะให้คนหนึ่งหรือคนรอบข้างเราสบาย ซึ่งเป็นจุดที่แข็งแรงมากๆ
“มันพาผมมาอยู่ตรงนี้ ผมคิดตลอดว่าผมมาถึงจุดนี้ได้ไง ผมพยายามตกตะกอน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันหนักแน่นมากคือ ‘การสู้’ บางทีเราก็ต้องออกจากกรอบ ต้องเสี่ยงเข้ามา ไม่รู้แหละว่ามันจะดีหรือเปล่า แต่ผมมาด้วยความแข็งแรงและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
“บางทีพอเป็นเด็กต่างจังหวัด กรอบของเราคือ ถ้าออกไปจะไม่มั่นคงนะ มันจะมีความกลัวอยู่ลึกๆ ข้างในต่ออนาคตของเราว่า ถ้าเราออกตามฝัน มันจะดีหรือเปล่า ด้วยความที่เป็นเด็กชายขอบพูดได้เลยว่า ฐานครอบครัวของเรา บางครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยหรือมีเงินทองที่จะช่วยเหลือขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าครอบครัวเราไม่ได้รัก เขาก็ช่วยเหลือเราเต็มที่แล้ว แม้มันจะไม่ได้เท่ากับเด็กในเมืองที่มีโอกาสเยอะก็ตามที” หฤษฎ์กล่าว
ถ้าให้พูดจากมุม ‘คนชายชอบ’ อยากจะสื่อสารอะไรกับคนทั้งประเทศ ให้หันมามองพวกเราบ้าง?
หฤษฎ์บอกกับเราว่า ‘ขนลุก’ ก่อนจะขบคิดอยู่ชั่วครู่
“ผมรู้สึกว่าการที่ผมเป็นเด็กชายขอบแล้วมาอยู่จุดนี้ได้ ผมดีใจมากๆ คือ อย่างน้อยผมไม่รู้ว่า ผมจะพูดในเรื่องของวัฒนธรรม หรือภาษาออกมาได้ทุกครั้งที่ไปออกงานหรือเปล่า แต่ผมจะพูดทุกครั้งที่มีโอกาส มีพื้นที่สื่อ ผมดีใจที่ผมได้ทำตรงนี้
“ผมอยากให้ทุกคนมองเห็นจังหวัดรอบๆ ไม่ใช่แค่ในภาคเหนือนะครับ อยากให้ทุกคนออกไปสัมผัส ไปเที่ยวเมืองรองเยอะๆ เพราะมันจะทำให้ทุกคนมันไม่กระจุกอยู่แค่ในเมือง คนจะได้เห็นอะไรหลากหลาย เห็นความสวยงามของสถานที่ต่างๆ ถ้าทุกคนไปแล้วได้ถ่ายรูป อะไรแบบนี้มันก็เป็นการบอกต่อกันได้ครับ”
แม้ปัจจุบันหฤษฎ์คือเด็กต่างจังหวัดที่มีโอกาสได้เดินตามความฝัน แต่ในขณะเดียวกันยังมีอีกหลายชีวิตที่ยังต้อนดิ้นรน หาโอกาสในการเข้ามาประกอบอาชีพนี้ในเมืองหลวงอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เขาทำได้ในวันนี้ คือการสร้างขวัญกำลังใจและมอบคำแนะนำให้กับทุกคน สู้และพยายามกับมันต่อ
หฤษฎ์กล่าวว่า ในยุคนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสื่อสังคมออนไลน์แล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้คนเห็นเราได้ง่าย จึงอยากให้ลองโยนหินถามทางก่อนว่า ชอบจริงหรือไม่
“เริ่มจากสิ่งที่เราชอบเล็กๆ น้อยๆ ก่อน พอเรามั่นใจมากขึ้นแล้วเจอโอกาสก็ลองคิดดูว่า เราจะคว้ามันหรือเปล่า เพราะผมก็ไม่รู้ว่าจะแนะนำให้ทุกคนคว้าเลยไหม ถ้าเป็นผมในเวอร์ชันก่อน แล้วไปตัดสินใจในจุดนั้นอีกครั้ง ผมอาจจะไม่คว้ามันเลยก็ได้” หฤษฎ์ตอบทิ้งท้าย
Tags: นักแสดง, GDH, The Frame, วิมานหนาม, เก่ง หฤษฎ์, DuManDi, JAI STUDIOS