เวลาบ่ายโมงตรง ชายชาวต่างชาติรูปร่างสูงโปร่ง สวมแว่น สวมเสื้อยืดสีดำและกางเกงสีน้ำตาล สะพายเป้ไว้ฝั่งหนึ่งของไหล่ ก้าวฉับเข้ามาในบริเวณโถงของโรงแรม สายตาอันเป็นมิตรของ เกร็ก จิราร์ด (Greg Girard) ช่างภาพชาวแคนาดาทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายลง หลังจากนั่งตื่นเต้นมาครู่ใหญ่ 

หลังจากยื่นมือไปเขย่ากระชับสัมพันธ์กันเรียบร้อย เราก็แทบลืมไปเลยว่าชายที่อยู่เบื้องหน้าผู้นี้ถือเป็นช่างภาพที่โดดเด่นในการถ่ายภาพเชิงสารคดีข่าวในระดับนานาชาติ และหลายคนนับถือเขาเป็น ‘ปรมาจารย์’ ด้วยซ้ำ

หลังจากติดต่อกันทางอีเมลมาหลายเดือน เราได้คิวสัมภาษณ์เกร็กในวันที่เขาเดินทางมาประเทศไทย เพื่อจัดเวิร์กช็อปด้านการถ่ายภาพที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เราแทบไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าเขาจะตอบ ‘ตกลง’ ง่ายดายตั้งแต่ครั้งแรก

เกร็ก จิราร์ด เริ่มงานในฐานะช่างภาพตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนออกเดินทางมาใช้ชีวิตอีกฟากหนึ่งของโลกที่ฮ่องกงในฐานะสื่อ ก่อนที่ความหลงใหลในการถ่ายภาพจะพาเขาเดินทางไปทั่วเอเชีย เพื่อถ่ายภาพและถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นโปรเจกต์ภาพถ่ายเกี่ยวกับ ‘เมืองใหญ่’ ที่โดดเด่นและน่าจดจำ

งานของเขาไม่ได้บันทึกแค่ภาพถ่าย แต่บันทึก ‘เรื่องราว’ ความเปลี่ยนแปลงของเอเชียในหลายพื้นที่ บางแห่งไม่หลงเหลือแม้เศษซากประวัติศาสตร์บนโลกแล้วด้วยซ้ำ แต่ภาพของเขายังทำหน้าที่บอกเล่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นอยู่ 

ในวัย 68 ปี หลังผ่านการเดินทางมากว่าสามทศวรรษ เขากลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ขณะที่ความคิดและมุมมองที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การถ่ายภาพที่ผ่านมาเริ่มตกผลึก

จากการได้สนทนากันในเวลาเพียงสั้นๆ ถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาและบทเรียน เขาดูคล้ายคุณลุงใจดีคนหนึ่ง แต่ยามที่เขาควักกล้องคู่ใจออกมาถือ เขาก็กลายเป็น ‘ช่างภาพสุดเก๋า’ ได้อย่างเหลือเชื่อ

งานภาพถ่ายของคุณถูกจดจำในฐานะภาพข่าวหรือภาพสารคดี คุณเริ่มหลงใหลงานภาพประเภทนี้ได้อย่างไร

ในตอนเริ่มต้น ผมไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ทำคือการถ่ายภาพสารคดี ผมแค่ถ่ายรูป ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าช่างภาพสารคดีคืออะไร ผมเป็นช่างภาพที่แวนคูเวอร์ตั้งแต่ยังอายุน้อย พออายุ 18 ปี ผมได้มาเยือนฮ่องกงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย หลายปีที่ผมเป็นแค่ช่างภาพธรรมดา

ปี 1982 ผมไปฮ่องกงและตัดสินใจอยู่ที่นั่น ผมยังไม่รู้ว่างานแบบไหนที่ผมสามารถทำได้ แต่ผมได้เจอกับช่างภาพที่ทำงาน BBC News ซึ่งเป็นข่าวโทรทัศน์สำหรับดูในสหราชอาณาจักร เขาเสนองานให้ผมเป็นคนบันทึกเสียงสำหรับโทรทัศน์ ดังนั้น ในช่วงทศวรรษ 1980 ผมจึงอยู่ประจำที่ฮ่องกง และเดินทางไปทั่วเอเชียเพื่อทำข่าว จากอินเดียสู่ออสเตรเลีย นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มรู้จักการทำงานประเภทนี้ เพราะผมไม่ได้เรียนถ่ายภาพ ไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์ โดยพื้นฐานแล้วผมไม่ได้เรียนอะไรเลย นอกจากเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเอง

ผมไม่มีความรู้ในการทำงานเลย แต่ผมเรียนรู้จากคนอื่น จากการดูภาพถ่าย ดูข่าวใหญ่หรืออีเวนต์ใหญ่ในโทรทัศน์ ตอนนั้นจะมีช่างภาพที่ถ่ายภาพให้กับ Times Newsweekly และนิตยสารฝั่งยุโรป แล้วก็คิดว่า ‘ผมก็ถ่ายได้’ แถมถ่ายได้ดีกว่านั้นด้วย (หัวเราะ)

หลังจากนั้น ผมเปลี่ยนจากการทำงานโทรทัศน์มาเริ่มทำงานในโลกนิตยสาร แต่ก็ใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียว แน่นอน ผมต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ ผมคิดว่าผมสามารถเป็นช่างภาพนิตยสารได้ ถ้าได้รับโอกาส แต่มันก็ยากที่จะได้รับโอกาสนั้นมา 

พอถึงช่วงวันหยุดฤดูร้อนในปี 1997 ผมไปที่ศรีลังกาเพื่อถ่ายภาพสงครามกลางเมืองให้บีบีซี และได้ชุดภาพถ่ายที่ดีกลับมา แต่มันก็ค่อนข้างรุนแรง แล้วตอนนั้น นิตยสาร Asiaweek ในฮ่องกง ซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้ว ใช้ภาพของผมภาพใหญ่มาก และก็เสนองานให้กับผม นั่นเป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะหมายถึงว่า ผมจะสามารถหาเงินเลี้ยงชีพได้ด้วยการเป็นช่างภาพ หลังจากนั้น ผมจึงลาออกจากบีบีซีรวมถึงงานโทรทัศน์ เพื่อเริ่มต้นชีวิตในการทำงานเป็นช่างภาพนิตยสารในวัย 33 ปี

ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ช้าไปไหมในฐานะช่างภาพนิตยสาร

อาจจะช้าไปนิด ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมว่าตอนนั้นเป็น Lucky Break ของผมนะ เป็นโอกาสที่เข้ามาและทำให้ได้เริ่มต้นทำงานในฐานะช่างภาพนิตยสาร เป็นขวบปีที่ยุ่งมาก ผมไปทำข่าวตั้งแต่ญี่ปุ่น อินเดีย อัฟกานิสถาน ในยุคนั้น นิตยสาร Asiaweek มีคอลัมน์รายสัปดาห์ที่เรียกว่า Eyewitness ทุกสัปดาห์คอลัมน์นี้ใช้ภาพประมาณ 12-14 ภาพ และผมก็ได้ถ่ายภาพเรื่องราวสำหรับหน้าเหล่านั้น ถือว่าค่อนข้างหายากเลยทีเดียว เพราะแม้กระทั่ง Times Newsweekly ก็ไม่ค่อยมีภาพถ่ายหลายหน้านัก Asiaweek จึงเป็นพื้นที่ที่ดีมากสำหรับช่างภาพ เพราะเปิดโอกาสให้ผมได้คิดเกี่ยวกับการเล่าเรื่องผ่านภาพ มากกว่าแค่ภาพพอร์เทรต มันจึงน่าตื่นเต้นและน่าพึงพอใจมาก ยกเว้นปัญหาเดียว คือรูปภาพทั้งหมด นิตยสารเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนผมได้แค่ค่าจ้าง

ในตอนนั้น ผมรู้ตัวว่าต้องการได้ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายเป็นของตัวเอง หลังจากนั้นราวหนึ่งปี ผมลาออกและเริ่มทำงานฟรีแลนซ์ เพราะผมอยากเป็นเจ้าของภาพของตัวเอง แต่โชคดีที่ว่า หลังจาก 3 ปีที่ทำงานให้ Asiaweek ผมมีพอร์ตฟอลิโอที่ดีมาก ผมเลยโชว์ให้นิตยสารอื่นๆ ได้เห็นผลงาน และเริ่มงานให้กับนิตยสารฝั่งอเมริกาต่อทันที หรือบางครั้งก็นิตยสารฝั่งอังกฤษและยุโรป 

ในช่วงการทำงานกับนิตยสารและได้เดินทางในภูมิภาคนี้ คุณมองเห็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ในเอเชียช่วงปลายทศวรรษ 1990 จีนกำลังเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ และโลกเริ่มจับตาดูว่า จีนกำลังเริ่มทำอะไรบางอย่าง และนั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการผงาดขึ้นของจีนอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ผมได้เดินทางไปทั่วภูมิภาคเพื่อทำงาน แต่โดยส่วนตัว ผมเริ่มสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นในจีน 

นอกจากนี้ ระหว่างที่ผมอาศัยอยู่ที่ฮ่องกง ได้เดินทางไปทำงานถ่ายภาพข่าวนอกฮ่องกง เช่น อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน หรือที่ไหนก็ตาม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มได้ทำงานโปรเจกต์ภาพถ่ายเกี่ยวกับเมือง ด้วยความบังเอิญล้วนๆ (หัวเราะ)

ในตอนนั้น มันค่อนข้างแปลกเล็กน้อย เพราะไม่มีช่างภาพฮ่องกงคนไหนสนใจการถ่ายภาพแบบนี้เลย แต่ไม่กี่ปีต่อมา ช่างภาพฮ่องกงหลายคนถึงเริ่มถ่ายภาพแนวนี้ มันเพิ่งเกิดขึ้นก่อนที่ฮ่องกงจะเริ่มหันมาสนใจอัตลักษณ์ในช่วงของคนรุ่นถัดมา และบางที สิ่งเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทย จากความแตกต่างของช่วงวัย ผมคิดว่าช่างภาพในรุ่นหนึ่งเคยถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ ถ่ายภาพเหล่าคนดัง ถ่ายภาพโฆษณา แต่พวกเขาไม่ได้ถ่ายภาพอะไรที่เรียบง่าย อย่างเช่นชีวิตหรือเรื่องราวต่างๆ ผมไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด แต่ก็เป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงรุ่นหนึ่ง และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเริ่มต้นทำงานในแบบที่คุณอาจจะเรียกว่า ช่างภาพสารคดี

ตอนที่ย้ายมาอาศัยอยู่เอเชีย เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า คุณไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่บ้างไหม เช่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือความเชื่อ

ผมรู้ว่าผมไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ แต่เรื่องนี้ไม่ได้กวนใจผมเลย ผมหมายความว่า การที่รู้สึกว่าผมไม่เป็นส่วนหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็น (หัวเราะ) ความจริงแล้ว การมาประเทศไทยครั้งนี้ ผมจัดเวิร์กช็อปที่ใช้ชื่อว่า ‘Photography where you don’t belong’ เพราะผมไม่คิดว่ามันจำเป็นหรือเป็นสิ่งแย่ หากคุณไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนก็ตาม ตราบใดที่คุณอดทนได้ ผมว่ามันโอเค หรือหากคุณได้รับการยอมรับจากบางสิ่ง ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการถ่ายภาพ จะเป็นงานเขียน หรืออะไรก็ตามที่คุณทำในฐานะผู้สร้างสรรค์ 

หากคุณมีความต้องการเขียนถึงบางสิ่ง หรือค้นหาบางสิ่งบางอย่าง นั่นสำคัญกว่าความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งเสียอีก

ถ้าบางคนอยากย้ายสถานที่ไปอยู่ต่างถิ่นเพื่อทำงาน ใช้ชีวิต คำแนะนำของคุณคืออะไร

ผมหวังว่าเขาจะทำอย่างนั้นนะ และค้นหาความหมายของสถานที่นั้นด้วยตัวเอง เพราะไม่ว่าคุณจะเคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับสถานที่นั้น ไม่ว่าคุณจะเคยอ่านอะไรเกี่ยวกับสถานที่นั้น ไม่ว่าจะมีใครบอกอะไรคุณเกี่ยวกับสถานที่นั้น การไปเห็นด้วยตัวเองคือทางเดียวที่จะได้รู้จริงๆ 

ใช่ คุณอาจจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่นั้นก่อนจะไป ได้เรียนภาษาก่อนจะไป แต่การไปเห็นด้วยตาตนเอง มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เป็นเรื่องโชคดีถ้าได้ทำ และผมคิดว่าควรทำ 

คุณได้เดินทางไปทำงานในสถานที่ที่มีความแตกต่างมากมาย คุณมีวิธีคิดอย่างไรที่จะไม่เลือกตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่แตกต่างจากมุมมองหรือความเชื่อของคุณ

เป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมคิดว่าคนเป็นช่างภาพเก่งนะ ในการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่อาจจะดูไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกัน แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ผมหมายถึงว่า โลกมีสิ่งที่ไม่จำเป็นแต่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันโดยธรรมชาติ การถ่ายภาพเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสำรวจสิ่งเหล่านั้น

ผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองสามารถระงับความรู้สึกที่ไม่ตัดสินในสิ่งที่เห็นได้ไหม ซึ่งผมทำมันอย่างมีสตินะ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงทีเดียว ที่กล้องถ่ายภาพอนุญาตให้คุณก้าวออกไปข้างนอกด้วยตัวคุณเอง ทำให้ได้เห็นปฏิกิริยาแท้จริงของคุณ และยอมรับสิ่งที่เห็นตรงหน้าได้มากขึ้น แน่นอนว่ามันคงไม่ใช่การแสวงหาวัตถุประสงค์อะไร แต่ผมคิดว่ามันคือการที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งอาจไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

อยากให้ยกตัวอย่างเวลาคุณไปทำงาน คุณได้ไปหลายที่ เห็นชีวิต ที่แตกต่างมากมาย ครั้งไหนที่คุณรู้สึกว่าต้องสู้กับมุมมองของคุณมากที่สุด

ฮ่องกงอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดี ในครั้งแรกสุดที่ผมไปเยือนเกาลูนวอลซิตี้ (Kawloon Walled City) สิ่งแรกที่ผมรู้สึกคือ ผมไม่อยากจะเชื่อว่ามีสถานที่แห่งนี้บนโลกจริงๆ มันดิบ แปลกประหลาด ไม่อยากเชื่อเลยว่าจะมีสถานที่เช่นนี้ในฮ่องกงสมัยใหม่ได้อย่างไร และทำไมถึงมีสถานที่แห่งนี้ 

ในการไปเยือนครั้งแรกมันค่อนข้างน่ากลัวสำหรับผม แต่ผมก็คิดได้ทันทีว่าไม่จำเป็นต้องกลัว ความรู้สึกมันเป็นแค่ปฏิกิริยาที่มากเกินไป และเพราะรู้ตัวเร็ว ผมจึงคิดได้ว่า คนที่นั่นก็แค่พยายามจะมีชีวิตธรรมดาของพวกเขา แต่บางครั้งสิ่งทั้งหมดที่อยู่ในความคิดของคุณ ภาพในหัวที่คุณคิดก่อนหน้า อคติ ก็ขัดขวางไม่ให้คุณมองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างที่มันเป็น ดังนั้น กล้องถ่ายภาพจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการพลิกความคิดเดิมของคุณ และทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่ต้องฟังความคิดเดิมที่คุณนำติดตัวมาในทีแรก

คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเป็นช่างภาพ

ผู้คนยอดเยี่ยมมาก พวกเขาพยายามจะช่วยเหลือคุณโดยไม่ต้องมีเหตุผล ขณะที่ไม่ได้รับอะไรคืนเลย ถ้าคุณเอ่ยถาม คนส่วนใหญ่จะช่วยเหลือคุณ นี่ผมพูดจากประสบการณ์นะ

ทุกวันนี้คุณมองหาอะไรจากงานของตัวเอง หรืออยากให้คนที่ดูภาพถ่ายคุณรู้สึกอย่างไร 

(คิดนาน) ผมอยากให้พวกเขาได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้รู้ในบางสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้คิดในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหญ่ แต่เป็นสิ่งเล็กๆ ก็ได้ ที่เปลี่ยนมุมมองของพวกเขา คือผมสนใจการถ่ายภาพบางสิ่งที่ไม่ได้ถูกซ่อนเร้นอะไร มันอยู่ตรงนั้น แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ผู้คนกลับหลีกเลี่ยงที่จะมองเห็นมัน บางทีอาจหมายถึงการถูกมองข้าม ถูกมองว่าไม่สำคัญ หรือไม่มีคุณค่า หรือถูกห้าม ผมคิดว่าทุกโปรเจกต์ที่ผมถ่ายก็เป็นแบบนั้น และถ้ามีคนทำแล้ว หรือมีคนสนใจแล้ว ผมก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องทำ

ช่างภาพที่ดีในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร

คนที่พยายามจะเปิดโลกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ผมไม่ได้พยายามจะอวยตัวเองนะ แต่ผมหมายถึง มันก็สมเหตุสมผลที่จะได้รู้หรือเห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และนั่นก็เพียงพอแล้ว

คุณอยากจะบอกอะไรกับช่างภาพรุ่นใหม่ๆ บ้างไหม

ในบางแง่มุม การถ่ายภาพวันนี้ง่ายกว่าตอนที่ผมเริ่มต้น ตอนนี้ภาพถ่ายเป็นภาษาสากลมากขึ้น เราทุกคนสามารถพูดได้ เราทุกคนสามารถอ่านได้ และตอนนี้เราทุกคนก็ถ่ายภาพได้เช่นกัน คำถามคือ สิ่งที่คุณต้องการสื่อสารในรูปถ่ายของคุณคืออะไร บางครั้งคุณอาจไม่รู้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คุณต้องหยุดถ่ายภาพ ผมอยากบอกว่า คุณต้องถ่ายภาพเพื่อค้นหาว่าอะไรที่สำคัญสำหรับคุณ แม้มันอาจไม่ง่ายที่จะได้รู้ตั้งแต่แรกเริ่ม การค้นหามันจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ถ้าทุกวันนี้คุณไม่ได้เป็นช่างภาพ คุณคิดว่าจะทำอะไร

ผมจะทำอะไรน่ะเหรอ เป็นคำถามที่ดีนะ แต่ผมไม่รู้คำตอบเลย เพราะผมไม่รู้จริงๆ ว่าผมจะทำอะไรได้อีก บางทีการถ่ายภาพก็ใกล้เคียงกับการเขียน ในแง่หนึ่ง คุณลงมือทำมันด้วยเครื่องมือเพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับนักเขียนที่ต้องเขียนก่อนจึงจะรู้ว่ามันคืออะไร ช่างภาพก็ต้องถ่ายภาพก่อนจึงจะรู้ว่ามันคือภาพอะไร ตอนคุณเริ่มเขียน คุณไม่รู้ว่ามันจะพาไปจุดไหน ผมคิดว่าช่างภาพก็เหมือนกัน แต่คุณจำเป็นต้องเริ่มก่อน และลงมือทำเยอะๆ ยิ่งทำมากเท่าไร ก็ยิ่งทำได้ดีขึ้นเท่านั้น เหมือนคุณเล่นสกี แคนู บาสเก็ตบอล มันเป็นเรื่องทางกายภาพ นั่นคือสิ่งที่ผมสนใจจากการถ่ายภาพ คือคุณจะได้โยกย้ายไปทั่วโลก 

ช่างภาพทุกวันนี้สามารถทำงานได้บนสกรีน ในสตูดิโอ แต่ผมคงพลาดถ้าไม่ได้ออกเดินทางไปดูโลก ผมรู้ว่าผมจะกระปรี้กระเปร่าเวลาได้ทำแบบนั้น แต่เวลาผมต้องนั่งดูคอมพิวเตอร์ ผมไม่แน่ใจว่าผมจะรู้สึกแบบนั้นได้ (หัวเราะ)

Tags: , , , ,