ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวย ความเก่ง และความมั่นใจ เป็นสิ่งที่หลายคนต้องการ โดยเฉพาะเมื่อภาพของผู้หญิงยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม พวกเธอถูกสนับสนุนให้มีความมั่นใจและได้เป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งบทบาทของผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในบ้านหรือครัวอย่างในอดีต แต่มีพื้นที่ให้แสดงความสามารถมากขึ้นในตลาดแรงงาน จึงไม่แปลกหากใครๆ ก็อยากที่จะเป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจแบบตัวแม่ ฉลาด และประสบความสำเร็จในชีวิต

ทว่าบางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป กลับกันอาจทำให้ต้องพิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าความมั่นใจในตัวเองที่คิดว่ามีเต็มเปี่ยมนั้น มีได้เพราะตัวตนข้างในของเรา หรือเป็นเพราะความสำเร็จที่สังคมคาดหวังเพียงอย่างเดียว

‘Girlboss’ เป็นคำที่ใช้พูดถึงผู้หญิงยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ มั่นใจ ทำงานเก่ง มีความเป็นผู้นำไม่ต่างจากผู้ชาย แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นโดยโซเฟีย อมอรูโซ (Sophia Amoruso) เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง Nasty Gal ซึ่งในปี 2014 เธอได้เขียนหนังสือ Girlboss หรือในชื่อไทยว่า เพราะเป็นผู้หญิงไม่แคร์ใคร ฉันถึงได้เป็นนายคน เพื่อบอกเล่าถึงชีวิตและประสบการณ์การทำงานของเธอเองว่าผ่านอะไรมาบ้างกว่าที่จะได้เป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้

ความนิยมของหนังสือทำให้เน็ตฟลิกซ์หยิบ Girlboss ไปทำเป็นซีรีส์ในปี 2017 ภาพสาววัยทำงานที่สวมแว่นกันแดด ใส่รองเท้าส้นสูง ก้าวเดินด้วยท่าทางมั่นใจ ในมือมีกาแฟสักแก้วเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานตลอดทั้งวัน กลายเป็นสิ่งที่ดูคุ้นเคยหากเรานึกถึงภาพของการเป็นหญิงแกร่งแห่งยุคสมัยที่ถูกผูกติดอยู่กับการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเป็นภาพฝันของใครหลายคนอยู่นาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดแบบ Girlboss เกิดขึ้นได้เพราะในตลาดแรงงานยังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ค่าตอบแทนของแรงงานแตกต่างกันเพราะเพศสภาพ (Gender Pay Gap) โดยผู้หญิงมักได้ค่าตอบแทนที่น้อยกว่าผู้ชายแม้ว่าจะมีความสามารถเท่ากัน อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และบริษัทเดียวกันก็ตาม ยกตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้ ตามรายงาน Gender Pay Gap ของปี 2017 ชี้ว่าผู้ชายเกาหลีใต้มีรายได้มากกว่าผู้หญิงถึง 35%

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความเท่าเทียมทางเพศและการจ้างงาน คือภาพเหมารวมทางเพศ (Gender Stereotype) กับความคิดที่ว่าหัวหน้ามักต้องเป็นผู้ชาย ค่านิยม Girlboss จึงเกิดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ เพื่อลบภาพเหมารวมทางเพศที่ว่าผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้นำได้ และพิสูจน์ว่าพวกเธอมีความสามารถในการทำงานไม่แพ้ผู้ชาย แม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายก็ตาม

Girlboss เกิดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ที่ดีในการสนับสนุนพลังของผู้หญิง แต่อีกแง่หนึ่งก็มีปัญหาในตัวเองหลายประการด้วยกัน ประเด็นสำคัญคือการที่ Girlboss ถูกจำกัดไว้ให้เป็นเรื่องของบุคคลตามแนวคิดว่า ‘ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา’ ดังนั้นหากมีความพยายามและทำงานหนักก็จะประสบความสำเร็จ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักเพื่อจะเป็นผู้นำ ได้สะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ลึกกว่านั้น และไม่อาจพูดได้ว่าเป็นการทำเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่ส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวม

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของ Girlboss ยังมีความจำกัดอยู่ที่การเป็นสาวมั่นแบบชาวตะวันตก ผู้ที่มีท่าทางกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว แม้จะเดินบนรองเท้าส้นเข็มสูงหลายนิ้ว และที่สำคัญคือต้องเป็นคนระดับชนชั้นกลางขึ้นไปที่ทำงานในออฟฟิศติดแอร์ที่เมืองใหญ่

ภาพดังกล่าวส่งผลให้ Girlboss จะไม่มีทางเป็นผู้ใช้แรงงานหนัก แบกหาม หรือประกอบอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับว่ามีเกียรติ ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นไปตามคุณลักษณะนั้นก็จะถูกมองข้ามอยู่ดี คำว่าหญิงแกร่งตามแบบฉบับ Girlboss จึงมีความหมายที่แคบมาก และครอบคลุมเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จตามสูตรของสังคม

แม้จะเคยเป็นกระแสมาก แต่ในระยะหลังแนวคิดแบบ Girlboss นอกจากจะโดนโจมตีว่าไม่ได้เป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แนวคิดดังกล่าวยังสวนทางกับวิถีชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะคน Gen Z ที่กำลังเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน และไม่ได้มีวัฒนธรรมบูชาการทำงานหนัก จนถึงกับมีกระแส ‘That Girl’ ที่มีขึ้นเพื่อต่อต้าน Girlboss

แนวคิด That Girl เสนอว่าผู้หญิงสมัยใหม่ควรให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพกายใจ ดังนั้นแทนที่จะโหมงานหนักเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ พวกเธอขอเลือกที่จะทำงานอย่างพอดี พักผ่อน กินอาหารมีประโยชน์ และออกกำลังกายเบาๆ อยู่ที่บ้านแทน

ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าในแบบของเรา ทั้ง Girl Boss และ That Girl ล้วนเป็นไปด้วยความตั้งใจว่าจะส่งเสริมพลังของผู้หญิงด้วยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตน แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือความจริงที่ว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคม การให้คุณค่าแบบส่วนตัวจึงต้องดำเนินไปพร้อมกับการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในแง่มุมอื่นๆ และทุกคนควรได้รับมัน ไม่นำเอาสถานะทางสังคมมาประเมินคุณค่าที่แต่ละคนมี

“ถ้าอยากได้รับการเคารพ ก็ต้องประสบความสำเร็จเสียก่อน”

ในยุคสมัยของการแข่งขัน เราอาจได้ยินคำพูดเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอันที่จริง เราสามารถเคารพกันและกันได้แม้ไม่มียศ ตำแหน่งนำหน้า หรือการศึกษาที่ห้อยท้าย และนับถืออีกฝ่ายด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องอ้างอิงถึงความสำเร็จ เช่นนั้นแล้ว Girlboss จะไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองแล้วขึ้นไปเป็นหัวหน้าเพื่อให้ได้รับความเคารพใดๆ หากเรามองว่าทุกคนเป็นมนุษย์และสนับสนุนความเท่าเทียมจริงๆ

ที่มา

https://www.vox.com/22466574/gaslight-gatekeep-girlboss-meaning

https://www3.weforum.org/docs/WEF_GGGR_2017.pdf

https://www.refinery29.com/en-gb/2020/01/9044921/girlboss-culture-women-work

https://www.rpc.co.uk/snapshots/advertising-and-marketing/gender-stereotyping-and-that-girl-boss-thing/

Tags: ,