ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเขาเคยทุกข์ใจ

เขาไม่ใช่ฅนแบบที่เราจะคอยสงสัยว่ามีความสุขดีหรือเปล่า

เขาคือโนเวเชนโต้ ก็แค่นั้นเอง

(หน้า 68)

 

โนเวเชนโต้ (Novecento) บทละครอิตาเลียนเล่มบางที่มีชื่อเรื่องเป็นชื่อเดียวกับตัวละคร

คำคำนี้แปลว่า 1900 ซึ่งฟังดูแล้วไม่น่าใช่ชื่อคน และยิ่งประหลาดเข้าไปอีก เมื่อเราพบว่า ตัวละครหลักของเรื่องนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘แดนนี่ บู้ดแมนน์ ที ดี เลม่อน โนเวเชนโต้’ ส่วนผสมของคำที่ดูไม่เกี่ยวข้องกัน เหมือนการตั้งชื่อที่ไร้กฎเกณฑ์และความเชื่อมโยง ก่อกำเนิดชายนักเปียโนคนหนึ่ง ที่ตลอดชีวิตของเขา ฝ่าเท้าแทบไม่เคยได้สัมผัสอยู่บนพื้นดิน

เขาเกิดและใช้ชีวิตกว่าสามสิบปีอยู่บนเรือเดินสมุทรเวอร์จิเนียน

แรกๆ ก็ในฐานะเด็กที่บังเอิญถูกไข่ทิ้งไว้บนเรือ ต่อมาก็กลายเป็นนักเปียโนที่หากินอยู่บนนั้นมาตลอดชีวิต

เรื่องราวที่เราได้อ่าน คือเรื่องเล่าจากมุมมองของชายนักเล่นทรัมเป็ต เริ่มต้นใน ค.ศ. 1927 หรือเมื่อโนเวเชนโตอายุได้ 27 ปี กล่าวได้ว่าเป็นมุมมองของคนเพิ่งรู้จัก และชีวิตของโนเวเชนโต้ก็แสนเป็นปริศนาสำหรับเขา

บาริกโกบรรเลง

จากนั้นเนื้อเรื่องก็พาเราเหวี่ยงตัวไปตามท่วงทำนองแจ๊ซและจังหวะเรือที่โคลงเคลงกลางพายุคลั่ง

ส่วนหนึ่งเพราะนี่คือชิ้นงานที่เขียนขึ้นเพื่อเป็น ‘บทละคร’ ซึ่งต้องการการเคลื่อนไหวมากมายเพื่อดำเนินเรื่องไปข้างหน้า ละเว้นการบรรยายอันยืดยาด และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องเดินไวจนจบภายใน 90 หน้า ก็เพราะว่านี่คืองานเขียนของ อเลซซานโดร บาริกโก

หากใครเคยอ่าน ไหม หรือ ไร้เลือด ก็คงเข้าใจถึงเสน่ห์ในงานเขียนสำนวนกระชับของบาริกโก ที่กลับแสดงภาพและเสียงได้กระจ่างอย่างน่าอัศจรรย์

ไม่แปลกที่เขาจะเขียนเรื่องดนตรีได้มีเสน่ห์อย่างที่เห็นในเล่มนี้ เพราะอันที่จริงบาริกโกจบการศึกษาด้านปรัชญาและดนตรี ก่อนจะเข้าไปทำงานในบริษัทโฆษณาในตำแหน่งก๊อปปีไรเตอร์ อย่างไรก็ตาม เขาเริ่มต้นเขียนงานจากความสนใจด้านวรรณกรรมและดนตรี โดยเขียนบทความวิจารณ์ดนตรีลงหนังสือพิมพ์ก่อน

บางที เราอาจได้ยินเสียงดนตรีผะแผ่ว จังหวะกลองกระตุ้นชีพจร ฯลฯ คลอมากับเนื้อเรื่องหลัก ที่แม้จะสั้นแต่ก็เต็มไปด้วยท่อนฮุก อย่างที่มีผู้เปรียบเปรยวิธีการเขียนของบาริกโกไว้ว่า “ร้อยเรียงงานเขียนด้วยลีลาไม่ต่างจากที่รอซซินีใช้ในการประพันธ์ดนตรี”

แจ๊ซ ดนตรีไร้กฎ

การเกิดขึ้นของโนเวเชนโต้ ประหนึ่งการปฏิเสธกฎเกณฑ์มาตั้งแต่แรก

เขาไม่มีตัวตนในสังกัดรัฐชาติใด เพราะเกิดขึ้นบนเรือที่ล่องลอยอยู่กลางทะเล

ไม่มีกระทั่งผู้ที่จะยืนยันความเป็นพ่อแม่ มีเพียงกะลาสีเรือสูงอายุที่รับเลี้ยงไว้เป็นลูก ที่สนุกคือชายคนนี้เป็นคนที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์และกฎหมายอย่างแข็งขัน และนั่นก็ทำให้เด็กชายเกิดมามีทั้งชื่อที่แสนประหลาด และไม่เคยถูกส่งเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร์อย่างจริงจัง

โนเวเชนโต้ ชายที่เกิดในปี 1900 เขาคือชายผู้ถูกสังคมปล่อยให้ลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเล

แต่เขากลับมีชีวิตรื่นเริงและเต้นระบำไปกับมัน – บรรเลงเพลงบนเรือโคลงเคลงไม่มั่นคงนั้นอย่างสำราญใจ

บรรเลงเพลงไร้กฎเกณฑ์ที่เรียกว่า ดนตรีแจ๊ซ

 

“เพลงอะไร”

“ไม่รู้ครับ”

ดวงตาของเขาเป็นประกาย

“เวลาไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร ก็แปลว่า เป็นเพลงแจ๊ซ”

แล้วเขาก็ทำปากแปลกๆ อาจเป็นรอยยิ้ม …

“ดนตรีแบบนั้น บนนั้น คลั่งกันนะ”

(หน้า 18)

 

ใน โนเวเชนโต้ เรื่องราวไม่ได้หวือหวาจนต้องอ้าปากหวอ แต่จังหวะที่ถูกต้อง พร้อมประโยคที่เป็นหมัดฮุก ก็ทำให้เราหงายหลังและเผลอส่งเสียงประกอบการอ่านได้ง่ายๆ

ช่วงแรกของการอ่าน เราอาจต้องตั้งสติเพื่อตั้งจังหวะในใจให้ตรงกับดนตรีที่ไหลลื่นไปข้างหน้าแบบไม่มีอินโทรฯ และเนื่องจากเป็นบทละคร จึงเน้นการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้เกิด ‘การมองเห็นภาพ’ สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นงานเขียนที่มีชีวิตชีวา ที่ต้องอาศัยสมาธิในการจินตนาการตาม

แต่ผลลัพธ์คือบทเพลงที่หยุดฟังไม่ได้

ผวาแผ่นดิน

แม้ไม่เคยย่างกรายเข้าไปที่ใด แต่ชื่อเสียงโนเวเชนโต้ระบือไกล คนอื่นๆ ทั้งคนใหญ่โตและนักเปียโนขาใหญ่ลงทุนซื้อตั๋วเรือเพื่อมาเปิดโลกทางดนตรีด้วยเสียงเพลงอันไร้กฎเกณฑ์ของเขา

ในขณะที่ตัวเขา ไม่อาจเผชิญความไร้กฎเกณฑ์ที่แท้จริงของโลกได้

แม้สังคมจะดูมีกฎ แต่โลกนั้น ความจริงแล้ว ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างแป้นเปียโนที่มีคีย์อันจำกัด

การอ่านโนเวเชนโต้ ก็เช่นเดียวกัน นอกจากจังหวะการเล่าที่เป็นเสน่ห์แล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังมีความเซอร์ไพรส์เป็นจุดขาย เรื่องราวทั้งเล็กทั้งใหญ่ ปูพื้นมาเพื่อสร้างความประหลาดใจในแต่ละการพลิกหน้ากระดาษ

และแม้การบรรยายภาพ เสียง บทสนทนา เหตุการณ์ ในแนวทางของบาริกโกจะแจ่มชัด แต่เขาก็หลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอแนวคิดแข็งๆ ออกมาให้เราเห็นอย่างกระจ่าง และเพราะเหตุนั้น เรื่องราวทั้งหมดจึงสวยงามกำลังพอดี ที่เหลือคือการคาดเดาอันอิสระของผู้อ่าน

ดังเช่นเหตุการณ์ที่ทิ้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจขึ้นบกของโนเวเชนโต้ ยิ่งเมื่อเล่าผ่านมุมมองของนักเล่นทรัมเป็ต ผู้ใกล้ชิดกับเข้าทางดนตรี แต่กลับห่างเหินในทางความคิด อะไรที่อยู่ในหัวของโนเวเชนโต้บ้าง แท้จริง เราไม่อาจรู้ได้เลย

ในช่วงแรกๆ เราอาจชื่นชมปรบมือให้กับจังหวะแจ๊ซเหนือชั้นของเขา แต่ที่สุดแล้ว อาจกังขาต่อความสุขของชายคนนี้

เราอาจชื่นชมคนที่แหกกฎ ต่อเมื่อเขาอยู่ในพื้นที่อันจำกัดอย่างบนเรือ แต่ในชีวิตจริงที่โลกดูไร้เหตุผลมากพอแล้ว การไม่มีกฎนั้นดูเคว้งคว้างเหมือนโดนคลื่นพัดอยู่กลางทะเล เราพะงาบๆ ร้องขอกฎ ร้องขอการตัดสินใจของคนเบื้องบน แม้กฎนั้นจะแคบเพียงเส้นผ่านศูนย์กลางของรูห่วงยางชูชีพก็ตาม

ท้ายที่สุดเราไม่รู้ว่าโนเวเชนโต้มีจิตวิญญาณอันเป็นอิสระจากโลกและสังคม หรือตัวเขาเองถูกขังอยู่ในความ ‘กลัวโลก’ ของตัวเอง ความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์อันจำกัดบนเรือ

ความกลัวต่อแผ่นดินอันไม่เคยโคลงเคลง ที่อาจทำให้เขายืนเองไม่อยู่

FACT BOX:

  • บทละคร โนเวเชนโต้ (Novecento) เขียนโดย อเลซซานโดร บาริกโก (Alessandro Baricco) เมื่อปี 1994 เป็นที่มาแรงบันดาลใจให้บทภาพยนตร์เรื่อง The Legend of 1900 กำกับโดย จูเซปเป ทอร์นาทอเร (Giuseppe Tornatore) เผยแพร่เมื่อปี 1998
  • ​สำหรับนักอ่านไทย โนเวเชนโต้ แปลจากภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาไทยอันสละสลวยโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ และตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อเมื่อปี 2009
Tags: , , , , ,