เขาว่าผู้ชายที่มีซิกซ์แพ็ก คือหุ่นในอุดมคติที่ผู้ชายทั่วโลกอยากมีอยากครอบครองไว้ที่หน้าท้องของตัวเอง ทั้งเป็นหุ่นที่ทำให้สาวๆ (และเกย์) จดจ้อง หลงใหล
อะไรบ้างที่ทำให้ระลอกกล้ามเนื้อทั้ง 6 ก้อนบนหน้าท้องนั้นเป็นที่ปรารถนา และใครกันที่ตกเป็น ‘ทาสซิกซ์แพ็ก’
Where is my John Wayne gone?
“Where is my John Wayne. Where is my prairie song. Where is my happy ending. Where have all the cowboys gone.”
ในเพลง ‘Where have all the cowboys gone’ เพลงที่ถือว่าเป็นการขุดหลุมฝัง ‘ความแมน’ ของผู้ชายไว้ด้วยเสียงสวรรค์ของพอลลา โคล (Paula Cole) ซึ่งหลังจากเพลงนี้ออกอากาศไปในปี 1997 นักร้องสาวอเมริกันคนนี้ก็ถูกแปะยี่ห้อว่าเป็นเฟมินิสต์ทันที
จอห์น เวย์น นักแสดงผู้เป็นตำนานและเป็นอุดมคติสำหรับชาวอเมริกัน โดยเฉพาะบทคาวบอยหนุ่มขี่ม้า ถือปืน ที่สร้างชื่อให้เขาโด่งดังมาตั้งแต่ยุค 30’s คือมรดกแห่ง ‘ความแมน’ ที่ยังเป็นประวัติศาสตร์และตกค้างมาจนถึงทุกวันนี้ ดังเช่นที่ถูกอ้างถึงในเพลงของพอลลา โคล แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ความแมนของจอห์น เวย์น ไม่เหมือนความแมนของแชนนิ่ง ทาทั่ม หรือจัสติน บีเบอร์ หรือชอว์น เมนเดส หนุ่มสุดฮอตในปัจจุบันที่อัดแน่นไปด้วยซิกซ์แพ็กแน่ๆ
ความเป็นผู้ชายก็เหมือนกับเทรนด์แฟชั่น ที่ฮิตเป็นช่วงๆ อยู่ไม่นานประเดี๋ยวก็เลิก หรือบางทีอาจจะหวนกลับมาฮิตอีกครั้ง ย้อนกลับไปในยุค 20’s และ 30’s อันเป็นยุครุ่งเรืองของเศรษฐีใหม่ ความเป็นผู้ชายในยุคนั้นถูกผูกติดกับเรื่องของชนชั้นและเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก ดูได้จากภาพยนตร์เรื่อง The Great Gatsby หรือภาพพระเอกหนุ่มในภาพยนตร์ขาวดำทั้งหลาย ที่ต่างสวมสูทแบล็กไทเสมือนยูนิฟอร์ม จนดูเหมือนว่าโลกนี้ไม่มีผู้ชายแบบอื่นเลย
ภาพของผู้ชายในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองของอเมริกายังนำเสนอผ่านภาพโฆษณาต่างๆ และที่โดดเด่นจนกลายเป็นภาพตัวแทนอุดมคติของผู้ชายในยุคนั้นก็คือ ภาพโฆษณาเสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษแบรนด์ Arrow ที่มีมาตั้งแต่ปี 1905 จนถึงปี 1931 ซึ่งเป็นภาพวาดของศิลปิน J.C. Leyendecker ภายใต้ธีม ‘Arrow Collar Man’ สะท้อนความเป็นสุภาพบุรุษในชุดสูทที่บ่งบอกได้ถึงชนชั้น หน้าที่การงาน และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เช่นหนึ่งในลูกค้าชั้นดีของ Arrow อย่างประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์และปกเสื้อสีขาวของ Arrow ก็ขายได้มากกว่า 4 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงยุคปลายยุค 30’s จนถึงกลางยุค 40’s ความเป็นผู้ชายในแบบชนชั้นสูงสวมสูทมาดเรียบก็หายไป แทนที่ด้วยชุดทหารมาดขึงขัง แต่ความเป็นผู้ชายในยุคสงครามโลกครั้งที่สองไม่ได้แสดงผ่านร่างกายแข็งแรงบึกบึนแบบทหารดังที่เราจินตนาการไว้แต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็น ‘หัวใจ’ ที่มีอุดมการณ์รักและพร้อมเสียสละเพื่อชาติ ด้วยการสมัครเป็นทหารไปร่วมรบ จากเสื้อผ้าและภาพลักษณ์อันเรียบเนี้ยบหรู ความเป็นผู้ชายไหลย้อนกลับสู่จิตใจ แสดงออกผ่านความรู้สึกแบบชาตินิยม อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โลก แต่เมื่อโลกกลับเข้าสู่โหมดสงบสุขภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง อุดมคติของความเป็นชายกลับย้อนไปยังยุค 30’s อีกครั้ง ด้วยรูปแบบของคาวบอยหนุ่มที่ตอนนี้ในมือไม่ได้ถือปืนอีกต่อไปแล้ว แต่หันมาถือบุหรี่แทน ในชื่อ Marlboro Man ในภาพโฆษณาอันโด่งดังโดยที่หลายคนคุ้นหน้ามากกว่าประธานาธิบดีเสียอีก
ภาพของดาร์เรลล์ วินฟิลด์ (Darrell Winfield) ขี่ม้าสวมหมวกคาวบอยจุดบุหรี่อันเป็นภาพโฆษณาของบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรตั้งแต่ช่วงยุค 50’s จนถึง 80’s เป็นเสมือนภาพตัวแทนอันโด่งดังของผู้ชายในยุค 50’s จนถึงยุค 60’s แต่นั่นก็ไม่ได้บอกอะไรเราไปมากกว่าการเป็นผู้ชายแมนๆ จะต้องสูบบุหรี่ (ซึ่งอุดมคตินี้ยังคงฝังรากลึกอย่างยาวนานมาจนบัดนี้ จนเมื่อความรู้ทางสาธารณสุขบอกเราว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปอด) นอกจากผู้ชายแมนๆ จะต้องสูบบุหรี่แล้ว แบรนด์บุหรี่คู่แข่งอย่าง Camel ยังได้ขยายความความเป็นผู้ชายมากไปกว่าการสูบบุหรี่ ด้วยภาพโฆษณาในช่วงยุค 60’s ไปจนถึงยุค 70’s ที่นำเสนอให้เห็นว่า ลูกผู้ชายตัวจริงไม่ใช่แค่สูบบุหรี่อย่างเดียว แต่ต้องทำกิจกรรมในแบบที่ลูกผู้ชายเขาทำกันด้วย นั่นคือขี่มอเตอร์ไซค์ เดินป่า ผจญภัย ใช้ชีวิตแบบ ‘outdoor life’ แน่นอนว่าผู้ชายต้องอยู่ในชุดเสื้อผ้าสไตล์ซาฟารีแบบ Camel โดยที่ไม่ต้องโชว์ซิกซ์แพ็กเลยสักนิด
ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในปลายยุค 70’s เมื่อโลกทั้งใบถูกเชื่อมด้วยวัฒนธรรมบันเทิง มีผู้ชายสองคน หนึ่งคือ เดวิด โบวี (David Bowie) อีกหนึ่งคือ เฟรรี เมอร์คิวรี (Freddie Mercury) แห่งวง Queen อุดมคติความเป็นชายถูกทำลายลงอย่างราบคาบด้วยรูปร่างผอมบาง สวมเสื้อผ้ารัดรูปโชว์สัดส่วนที่แม้ไม่น่าโชว์ก็จะโชว์ พร้อมใบหน้าคมสวย กรีดอายไลเนอร์และแต่งหน้าอย่างชัดเจน การปรากฏตัวของเดวิด โบวี่ และเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ ทำให้เราต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า ‘ผู้ชายต้องเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ’ และผู้ชายในยุคเดียวกันก็คงอดสบถคิดไม่ได้ว่า ‘นี่มันเ_ี้ยอะไรกันเนี่ย’ เพราะ เดวิด โบวี หรือแม้แต่เฟรดดี เมอร์คิวรี อาจจะไม่ได้สร้างอุดมคติของความเป็นผู้ชายแบบใหม่ขึ้นมา แต่เขาทั้งสองได้ทำลายล้างอุดมคติแบบเดิมที่ฝังรากมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรีก ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง คาแร็กเตอร์ กิจกรรมที่ทำ เส้นที่แบ่งระหว่างชาย-หญิงที่เคยชัดเจนกลับลางเลือนและเหมือนจะเหลื่อมซ้อนกันอยู่นิดๆ ด้วยรูปลักษณ์แบบ Androgynous ของทั้งสองคนนั้น
แม้จะดูเป็นการเปิดทางให้กับความหลากหลายของความเป็นผู้ชาย แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้นนั่นละว่า ความเป็นผู้ชายก็เหมือนเทรนด์เสื้อผ้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ซึ่งยุคนี้ก็ถึงฤดูกาลที่เรานั่งจ้องซิกซ์แพ็กของจัสติน บีเบอร์ หรือชอว์น เมนเดส ในหน้าโฆษณาคาลวิน ไคลน์แล้ว แต่หากนึกย้อนตามอดีตที่ว่ามา จะเห็นว่า ความเป็นผู้ชายที่ผ่านมาหลายทศวรรษนั้นยังไม่ดูเปลืองเนื้อเปลืองตัวมากเท่าผู้ชายยุคนี้
ว่าแต่อยู่ดีๆ ซิกซ์แพ็กโผล่มาเป็นตัวแทนแสดงความเป็นผู้ชายของผู้ชายสมัยนี้ตั้งแต่ตอนไหน?
Brad Pitt Takes It All
เคยสังเกตไหมว่าก่อนที่หนังซูเปอร์ฮีโรทั้งหลายจะลงจอ บรรดาหนังสือกอสซิปแทบลอยด์ทั้งหลายจะเต็มไปด้วยรูปของพระเอกหนุ่มเจ้าของบทบาทนั้นเปลือยท่อนบนอวดหุ่นและซิกซ์แพ็กเต็มไปหมด แม้กระทั่งหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่สวมชุดพรางหุ่นอย่างซูเปอร์แมน สไปเดอร์แมน หรือกรีน แลนเทิร์น ก็ยังต้องโชว์หุ่นและซิกซ์แพ็กที่แท้จริงของนักแสดงทั้งในหนังและนอกหนัง ทั้งๆ ที่ในที่สุดคาแร็กเตอร์เหล่านี้ต้องสวม ‘เครื่องแบบ’ ปกปิดทั้งหมด ฟังดูอาจจะไม่แปลกอะไร เพราะบทบาทของซูเปอร์ฮีโร่หมายถึงผู้ที่มีพลังเหนือมนุษย์ปกติ ย่อมต้องมีร่างกายกำยำล่ำสันเป็นธรรมดา
แต่หากเราย้อนกลับไปยัง George Reeves พระเอกหนุ่มคนแรกที่ได้รับบทซูเปอร์แมน ในซีรี่ส์ชุด The Adventure of Superman ในปี 1951 เราแทบจะไม่เห็นรูปเปลือยท่อนบนของซูเปอร์แมนหนุ่มคนนี้เลย ไม่ว่าจะในจอหรือนอกจอ ที่สำคัญ หุ่นของซูเปอร์แมนคนแรกก็ยังแตกต่างกันลิบลับกับซูเปอร์แมนที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันอันเต็มไปด้วยมัดกล้ามและแผงซิกซ์แพ็ก เพราะถ้าจอร์จ รีฟส์ในชุดซูเปอร์แมนไม่ทำท่าสูดลมหายใจอกผายไหล่ผึ่งอันเป็นท่าเอกลักษณ์ของซูเปอร์แมนแล้ว สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือพุงและไขมันรอบเอวของเขานั่นเอง และเมื่อเราไล่ดูพระเอกหนุ่มตั้งแต่ยุค 60’s เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าซิกซ์แพ็กนั้นไม่ใช่อาวุธประจำกายที่ช่วยให้อาชีพนักแสดงชายรุ่งเรืองเมื่อเทียบกับนักแสดงชายในปัจจุบัน พระเอกหนุ่มในยุค 60’s อย่างอแล็ง เดอลอง (Alain Delon) (ที่หล่อไม่แพ้เจมส์ ดีน เลยล่ะ) ผู้แจ้งเกิดในระดับอินเตอร์ฯ กับภาพยนตร์เรื่อง Purple Noon ก็มีหุ่นในแบบพระเจ้าให้มา โดยไม่ได้เสริมเติมแต่งด้วยการ ‘เพาะ’ แต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับพระเอกระดับตำนาน Steve McQueen แม้จะมีหุ่นที่หนาบึกบึน (กว่าอแล็ง เดอลอง) แต่ก็ใช่ว่ามัดกล้ามหรือซิกซ์แพ็กจะชัดเจน หุ่นของเขาถ้าต้องมาประชันกับนักแสดงหนุ่มในปัจจุบัน อาจต้องบอกว่ายังห่างไกลจากคำว่าหุ่นดีด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นเหมือนเป็นคำตอบว่าไม่ใช่คาแร็กเตอร์ในภาพยนตร์ที่บังคับให้นักแสดงชายต้องมีหรือโชว์ซิกซ์แพ็ก
จนกระทั่งในยุค 70’s เมื่อซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) รับบทเป็นนักมวยหนุ่มในซีรีส์เรื่อง Rocky ที่ออกฉายในปี 1976 หุ่นใหญ่ล่ำอย่างนักเพาะกาย (มากกว่าจะเป็นนักมวย) ตอกย้ำด้วยภาพลักษณ์ของคนเหนือคนในซีรีส์เรื่อง First Blood (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Rambo) ในปี 1982 ไม่ใช่แค่สตาโลนคนเดียว แต่ในปี 1984 ยังมี อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) อีกคน จากภาพยนตร์เรื่อง The Terminator ทั้งสองคือผู้จุดประกายหุ่นดีในแบบอุดมคติ ที่ต้อง ‘เพาะ’ ของผู้ชายขึ้นมา ยุค 80’s กระแสการเพาะกายหรือเพิ่มกล้ามเนื้อจึงได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ ยาวมาถึงยุค 90’s ผลพวงของความนิยมดังกล่าวก็คือนิตยสารเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายอย่าง Men’s Health และ Men Fitness ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายยุค 80’s รวมไปถึงบรรดา Health Club ต่างๆ ที่กลายร่างมาเป็นฟิตเนสในปัจจุบันนี้
เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม อุดมคติความเป็นผู้ชายก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง อันเนื่องมาจากแบรด พิตต์ (Brad Pitt) และภาพยนร์เรื่อง Fight Club ในปี 1999 (ถ้าดูจากสภาพแบรด พิตต์ในตอนนี้แล้ว คุณจำไม่ได้ว่าเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนนั้นเขามีสภาพเป็นอย่างไร ขอให้รีบหาหนังเรื่องที่ว่ามาดูด่วน) ก่อนที่แบรด พิตต์จะมาเล่นหนังเรื่องนี้ เขาก็เหมือนกับผู้ชายจากยุค 80’s และ 90’s ทั่วไปที่ปั๊มกล้ามจนเหมือนป๊อปอายตอนกินผักโขม แต่เมื่อต้องมาแสดงหนังเรื่องนี้ สิ่งที่แบรดต้องทำก็คือลดน้ำหนัก ถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่านี้ก็คือลดไขมันในร่างกายให้เหลือเพียง 3-5% รูปร่างของแบรด พิตต์ในเรื่อง Fight Club ที่หน้าท้องแบนราบ กล้ามเนื้อชัดเจน กลายมาเป็นอุดมคติแบบใหม่ของผู้ชายยุคศตวรรษที่ 20 บรรดาเทรนเนอร์หรือผู้เชี่ยวชาญในนิตยสารสุขภาพและการออกกำลังกายทุกฉบับ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันจนกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในการออกกำลังกาย และเทรนด์ของหุ่นผู้ชายมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ไขมันในร่างกาย 3-5% คือความสมบูรณ์แบบของร่างกายผู้ชายยุคปัจจุบัน
แม้แบรด พิตต์จะเป็นเหมือนต้นแบบของหุ่นผู้ชายยุคใหม่ ที่มีอิทธิพลทั้งต่อนักแสดงชายในวงการฮอลลีวูดด้วยกัน รวมไปถึงผู้ชายทั่วไปที่สนใจการออกกำลังกายและตามติดนิตยสารสุขภาพและการออกกำลังกายสำหรับผู้ชาย แต่การเป็น ‘ทาสซิกซ์แพ็ก’ ก็ยังจำกัดอยู่ในวงผู้ชายที่มองซิกซ์แพ็กเป็นอุดมคติของร่างกายที่ตนเองอยากมีอยากเป็น ยังไม่ข้ามไปสู่การที่ผู้หญิงและเกย์จะร่วมตกไปเป็นทาสของซิกซ์แพ็กอย่างสมบูรณ์แบบ อันหมายถึงการมองเรือนร่างและซิกซ์แพ็กในฐานะวัตถุทางเพศที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ (Sex Object)
กระบวนการการทำให้เรือนร่างของผู้ชายกลายมาเป็น Sex Object ได้ดังทุกวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืน จากหนังสือเรื่อง Screening the Male: Exploring Masculinities in the Hollywood Cinema และ Ways of Being Male: Representing Masculinities in Children’s Literature and Film ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การนำเสนอรูปร่างของผู้ชายในบทบาทซูเปอร์ฮีโรนั้น ทั้งภาพวาดในการ์ตูนที่เน้นส่วนสัดมัดกล้ามอย่างชัดเจน หรือกระทั่งภาพยนตร์อย่าง Hercules ในปี 1997 เป็นต้นมา นอกจากจะนำเสนอความเป็นชายผ่านรูปร่างที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามและซิกซ์แพ็กแล้ว ยังนำเราไปสู่การมองเรือนร่างของผู้ชายในแบบอีโรติกอีกด้วย ดูได้จากการแช่กล้อง หรือเลื่อนกล้องผ่านร่างกายและมัดกล้ามของซูเปอร์ฮีโรเหล่านั้นในภาพยนตร์ที่เหมือนดังสายตาที่กำลังสำรวจไปทั่วทั้งเรือนร่าง
และเมื่อมาถึงยุคที่หนังซูเปอร์ฮีโร่ครองเมือง ทั้ง Superman, Spiderman, Fantastic Four, Incredible Hulk, Ironman หรือ Thor เรือนร่างของผู้ชายจึงเป็นทั้งจุดขายและ Sex Object ในการจ้องมอง เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่อง Captain America ที่โลมไล้ร่างกายผ่านมุมกล้องได้ราวกับเรากำลังเอื้อมมือไปสัมผัสเอง และเมื่อมาถึงจุดที่ไม่ต้องพึ่งพาพล็อตเรื่องซูเปอร์ฮีโร่เพื่อให้พระเอกต้องถอดเสื้อแล้ว ดารายุคใหม่ๆ อย่าง ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ในหนังเรื่อง Crazy Stupid Love หรือ ไรอัน เรย์โนลด์ (Ryand Reynold) ใน The Proposal ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์รัก ซิกซ์แพ็กก็เป็นตัวช่วยให้ทั้งคู่แจ้งเกิดได้อย่างงดงาม รวมถึงภาพยนตร์ที่ขายเนื้อหนังมังสาและซิกแพ็กช์ของผู้ชายอย่างโต้งๆ เช่นเรื่อง Magic Mike ที่ทำให้เราตกเป็นทาสของซิกซ์แพ็ก (และแชนนิ่ง ทาทัม) อย่างสมบูรณ์แบบ
Who’s The Real Man In Magazine
เมื่อวงการภาพยนตร์มีซิลเวสเตอร์ สตอลโลนและอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (อ้อ—เราลืม บรูซ วิลลิส (Bruce Willis) จากเรื่อง Die Hard ไปได้อย่างไร) ที่ทำให้กระแสของผู้ชายตัวล่ำอย่างนักเพาะกายเกิดความนิยมไปทั่วโลก สหรัฐฯ ผุดสถานที่ออกกำลังกายคับคั่ง และนิตยสารการออกกำลังกายระดับท็อปของโลกสองฉบับที่เกิดในยุคปลาย 80’s คือ Men’s Fitness ซึ่งวางแผงครั้งแรกในปี 1987 และในปีถัดมาคือ Men’s Health ที่กลายเป็นภาพแสดงแทนอุดมคติของความเป็นชายได้เป็นอย่างดี เพราะเนื้อหามุ่งตรงไปยังผู้ชาย
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับนิตยสารสองฉบับนี้ คือการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้ชายบนหน้าปกเปลี่ยนแปลงไปตามอุดมคติแห่งยุคสมัย (ผิดกับนิตยสารออกกำลังกายเก่าแก่ Muscle & Fitness ที่ก่อตั้งในปี 1936 ก็ยังคงคอนเส็ปต์การเป็นนิตยสารสำหรับ ‘นักเพาะกาย’ โดยเฉพาะมาจนถึงปัจจุบัน) แน่นอนว่าภาพแสดงแทนความเป็นชายบนปกนิตยสารออกกำลังกายนั้น ก็ต้องนำเสนอผู้ชาย (วัย 25-40 ปี) ที่มีร่างกายสมบูรณ์ไปด้วยมัดกล้ามตามอุดมคติความเป็นชาย ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว แต่สำหรับ Men’s Health ในช่วงแรกตั้งแต่ปลายยุค 80’s มาจนถึงปลายยุค 90’s นำเสนอผู้ชายในท่วงท่าของการเป็นนักกีฬาและการออกกำลังกายเสียส่วนใหญ่ เราจะเห็นผู้ชายถือดัมเบลล์ขึ้นปก ผู้ชายกำลังขี่จักรยาน ผู้ชายกำลังกระโดดเชือก หรือผู้ชายกำลังปีนหน้าผา อุดมคติความเป็นชายตามที่ Men’s Heath นำเสนอ นอกจากจะมีร่างกายที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามแล้ว ยังไม่สามารถแยกจากการออกกำลังกายได้ เพราะมัดกล้ามนั้นมาด้วยการออกกำลังกาย และเป็นไปเพื่อควบคู่กับการออกกำลังกายเท่านั้น และดูเหมือนผู้ชายบนปกที่แม้จะสวมใส่เสื้อผ้า จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกล้ามเนื้อต้นแขนและท่อนแขนที่มีข้อลำราวกับป๊อปอายตอนกินผักโขมเสียเป็นส่วนใหญ่
ที่สำคัญ มันสะท้อนให้เห็นว่ายุคนั้น ‘ซิกซ์แพ็ก’ ยังไม่ใช่ ‘จุดขาย’ ของความเป็นผู้ชายด้วยซ้ำไป และยิ่งตอกย้ำว่า ซิกซ์แพ็กไม่ใช่สิ่งที่ผู้ชายตกเป็นทาสของการอยากได้อยากมี หรือผู้หญิงและเกย์ตกเป็นทาสของการจ้องมองและหลงใหล ประกอบกับคำโปรยปกที่ส่วนมากจะโฟกัสไปที่ร่างกายอันเป็นภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น Get the Perfect Body, Strong Body, Show Your Strengh ฯลฯ
แต่เมื่อเข้าสู่ปลายยุค 90’s ผู้ชายบนปกที่เล่นกีฬาเอาเป็นเอาตาย ท่าทางจริงจังขึงขังเหล่านั้นก็หายไป เราจะพบเห็นภาพผู้ชายเดินเล่นริมชายหาดอย่างมีความสุข หัวเราะร่าเริง แช่ตัวอยู่ในทะเลหรือสระว่ายน้ำ แม้กระทั่งนั่งชิลล์ๆ บนเรือยอชต์ แสดงให้เป็นถึงความผ่อนคลาย การมีเวลาว่าง การเปิดเผยตัวตนและร่างกายในที่สาธารณะ พร้อมกับหุ่นอันสมบูรณ์แแบบ สะท้อนให้เห็นว่าจากการผูกติดกับกีฬาก็กลายไปสู่การผูกติดกับไลฟ์สไตล์ และอย่างน้อยมันก็บอกได้ว่าหมดยุคแล้วสำหรับการจมจ่อมอย่างเคร่งเครียดอยู่กับร่างกายตัวเองเพื่อตัวเอง แต่เป็นยุคของผู้ชายที่มีความหรูหรา มีไลฟ์สไตล์ และต้องมีรูปร่างที่ดีด้วย ที่สำคัญพร้อมจะ ‘โชว์’ ให้คนอื่นๆ ได้เห็นในที่สาธารณะอย่างไม่เขินอาย อีกทั้งคำโปรยปกนิตยสารที่มีคำว่า Abs ก็เริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่น่าสนใจและทำให้ปกนิตยสารในช่วงยุคต้นปี 2000s แตกต่างจากจากที่ผ่านมาก็คือ ภาพปกที่ไม่จำเป็นต้องสื่อว่าผู้ชายคนนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับอะไร แต่เป็นเพียงปกผู้ชายถอดเสื้อยืนโชว์หุ่นที่มีความชัดเจนของซิกซ์แพ็กบนพื้นแบ็กกราวนด์ขาวธรรมดา ซึ่งกลายมาเป็นแบบฉบับของปกนิตยสาร Men’s Health มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่การที่ไม่ต้องผูกติดกับกิจกรรมหรือไลฟ์สไตล์อะไรเพื่อจะบ่งบอกถึงความเป็นผู้ชาย รอยยิ้มอันแสดงถึงความสุขก็เลือนหายไปจากผู้ชายที่อยู่บนปก ทดแทนด้วยสายตาอันมีนัยยะที่จ้องมายังผู้ที่มองดูปกนั้นๆ สายตาของผู้ชายที่แสดงความเซ็กซี่และเย้ายวน
จากงานวิจัย Rethinking Masculinity: Men and Their Bodies ของ Rosalind Gill และ The Representations Of Men Depicted In Men’s Health Magazine ของ María del Mar Rubio-Hernández รวมไปถึง Idealized Bodies, the Grotesque and Homosocial Communities: Masculinities and Men’s Magazines ของ Sarah Jane Doan ได้นำเสนอถึงความเปลี่ยนแปลงของความเป็นชายในนิตยสาร โดยเฉพาะตัวอย่างของ Men’s Health ไว้ว่า ไม่เพียงความเป็นชายจะถูกแสดงออกผ่านรูปร่าง มัดกล้ามและซิกซ์แพ็กซ์ที่หน้าท้องเท่านั้น แต่ยังมีความเปลี่ยนไปในปฏิสัมพันธ์ในฐานะผู้ถูกจ้องมองอีกด้วย ผู้ชายถูกทำให้เป็นวัตุทางเพศในการจ้องมองทั้งด้วยสังคมที่เปลี่ยนไป และการเปิดรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ รวมไปถึงผู้หญิงและเกย์ที่ซื้อนิตยสารในฐานะที่มันเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ผู้ชายบนปกจึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการเป็นตัวแทนความเป็นชายในแบบเดิมอีกต่อไป แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็นสินค้าที่เชิญชวนให้ถูกซื้อผ่านร่างกาย มัดกล้าม และซิกซ์แพ็ก รวมไปถึงสายตาที่บอกว่า ‘ซื้อผมสิ’ อีกด้วย และแน่นอนว่าเมื่อได้รับการเชิญชวนด้วยรูปร่าง มัดกล้าม ซิกซ์แพ็ค และสายตาอย่างนั้น ใครบ้างที่ไม่อยากจะซื้อ
Look at Me and Buy Me
ในปี 1982 Calvin Klein คลอดไลน์กางเกงในสำหรับผู้ชายเป็นครั้งแรก ภาพแคมเปญโฆษณาปรากฏเป็นนักกีฬาโอลิมปิก Tom Hintnaus ใส่กางเกงในสีขาวแบบบรี๊ฟ ยืนโพสท่าโชว์รูปร่างกำยำล่ำสันในแบบนักกีฬาท่ามกลางแสงแดดเจิดจ้า ประวัติศาสตร์ภาพโฆษณาของ Calvin Klein (โดยเฉพาะผลงานถ่ายภาพของ Bruce Weber — ช่างภาพชาย straight แต่ชื่นชอบการถ่ายภาพเด็กผู้ชายในแบบ Homoerotic — น่าประหลาดใจดีแท้) ถือเป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นตัวอย่างที่มีการศึกษามากที่สุดในการพูดถึงภาพร่างกายของผู้ชายที่ถูกนำเสนอในอุตสาหกรรมแฟชั่น
แม้จะเป็นภาพโฆษณากางเกงในผู้ชาย แต่ในช่วงยุค 80’s จะเห็นว่าภาพตัวแทนผู้ชายในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยังไม่ได้ดูแตกต่างจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือในนิตยสาร ความเป็นผู้ชายที่มีร่างกายกำยำล่ำสันในแบบนักกีฬายังคงเป็นตัวแทนภาพอุดมคติของร่างกายผู้ชาย ดังเช่นการนำนักกีฬาโอลิมปิก ทอม ฮินนาส (Tom Hintnaus) มาเป็นนายแบบคนแรกของ Calvin Klein จากนั้นความอีโรติกเริ่มยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1986 กับภาพแคมเปญโฆษณาน้ำหอม Obsession ของ Calvin Klein ที่ปรากฏเป็นภาพชายหญิงร่างกายเปลือยเปล่านอนกอดก่ายโชว์เรือนร่าง โดยไม่รู้ว่าคนไหนหญิงคนไหนชาย มีเพียงผิวอันเปลือยเปล่าและส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกายเป็นตัวกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึก ตามมาด้วยภาพโฆษณาน้ำหอม Obsession For Men For Body ที่ฉากหลังนั้นดูไม่ต่างจากภาพโฆษณากางเกงในชายชิ้นแรก เพียงแต่ในครั้งนี้เต็มไปด้วยนายแบบหุ่นล่ำเปลือยกายในอิริยาบถต่างๆ ถึง 4 คน พร้อมนางแบบอีก 2 คน ก่อนที่จะสร้างความฮือฮาอย่างสุดขีดกับภาพโฆษณาน้ำหอม Obsession ในปี 1989 กับภาพการโล้ชิงช้าของนางแบบนายแบบคู่หนึ่งที่เปลือยกายหัวหน้าเข้าหากัน
ความเปลี่ยนแปลงของภาพโฆษณา Calvin Klien ตั้งแต่ชิ้นแรกก็ไม่ต่างจากนิตยสาร Men’s Health ที่ไม่เพียงนำเสนอร่างกายของผู้ชายที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามและซิกซ์แพ็ก แต่ในเมื่อจะ ‘ขายของ’ ให้ผู้ชาย ก็ต้องนำเสนออุดมคติของร่างกายอันสมบูรณ์แบบและเป็นที่ปรารถนาของผู้ชายที่อยากจะมีหุ่นแบบนั้น แต่คาลวิน ไคลน์มีวิวัฒนาการที่รวดเร็วกว่า ในการนำเสนอความอีโรติกของร่างกายในฐานะวัตถุทางเพศ ที่ถูกจ้องมองจากทั้งเพศชายด้วยกันเองในฐานะอุดมคติของร่างกายที่ผู้ชายอยากมี อยากได้หุ่นแบบนั้น และทำให้ถูกจ้องมองทั้งจากเพศหญิงและเกย์ในฐานะตัวกระตุ้นความปรารถนาเชิงอีโรติก ดังที่งานวิจัย Object or Ground? The Male Body as Fashion Accessory ของ David Buchbinder และ Sex for Sale: Positioning the Eroticized Male Body in Calvin Klein Advertising ของ Laura R. Oswald ที่กล่าวไว้อย่างสอดคล้องกันว่า การนำเสนอร่างกายผู้ชายในภาพแคมเปญโฆษณาของ Calvin Klein แตกต่างจากภาพอุดมคติเก่าๆ ที่ถูกนำเสนอก่อนหน้านี้ก็คือ การหยิบยืมวิธีการที่อุตสาหกรรมแฟชั่นใช้ในการนำเสนอร่างกายของผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศมาใช้ ไม่ใช่แค่มัดกล้ามหรือซิกซ์แพ็ก แต่มันคือการนำเสนอส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกายผู้ชาย ที่ไม่ต่างจากผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นท่ายืน การโพส หรือแม้กระทั่งมุมมองในการถ่ายภาพ แต่ถึงกระนั้น การนำเสนอร่างกายอันเป็นที่น่าปรารถนาในเชิงอีโรติกของผู้ชายก็ยังคงพ่วงอยู่กับรูปแบบของ Heteroerotic เพราะยังคงใช้ร่างกายของผู้หญิงเข้ามาสร้างเรื่องราวในการถ่ายภาพคู่ไปกับร่างกายของผู้ชายอยู่
จนกระทั่งในปี 1991 เมื่อคาลวิน ไคลน์ปล่อยภาพโฆษณา Calvin Klein Jeans ตัวใหม่ออกมาเป็นภาพหุ่นผู้ชายที่ถูกคร็อปภาพให้เหลือเพียงช่วงคอลงมา มีเพียงกางเกงยีนส์ที่เขาถือปิดบังจุดสงวนที่หว่างขา ท่ามกลางสายน้ำที่สาดลงมาเปียกไปทั้งร่างอันสุดแสนจะเซ็กซี่ แสดงให้เห็นถึง ‘ร่างกาย’ ของผู้ชายล้วนๆ โดยปราศจากความหมายว่าจะเป็นใคร มีหน้าที่การงานหรือสถานะเช่นไร ตอกย้ำความชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอร่างกายผู้ชายให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ ถูกจ้องมองในเชิงอีโรติก โดยที่ไม่จำเป็นต้องแอบอยู่กับร่างกายของผู้หญิงอีกต่อไป หรือจากภาพแคมเปญโฆษณากางเกงใน Calvin Klein ในปี 1992 แสดงแบบโดยมาร์ค วอห์ลเบิร์ก หรือที่รู้จักกันดีในตอนนั้นในชื่อ Marky Mark ที่สวมใส่กางเกงในสีขาวเพียงตัวเดียวและใช้มือขยุ้มที่เป้ากางเกง และจากนั้นเป็นต้นมา ในช่วงต้นยุค 90’s ก็เต็มไปด้วยภาพแคมเปญโฆษณาผลิตภัณฑ์ผู้ชาย โดยเฉพาะน้ำหอม ที่นำเสนอความเซ็กซี่เย้ายวนของร่างกายผู้ชายเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นก็คือผลงานของ Tom Ford ที่ฝากไว้ในช่วงที่เขายังทำงานกับแบรนด์ Gucci สื่อแสดงให้เห็นว่าน้ำหอมไม่ได้เป็นเพียงแค่สารให้ความหอม แต่มันคือฟีโรโมนทางเพศที่ช่วยขับเน้นและเพิ่มแรงดึงดูดทางเพศของผู้ใช้
ในผลงานการศึกษา Gendered Bodies: Representations of Feminity and Masculinity in Advertising Practise ของ Lora Stevens และ Jacob Ostberg แสดงให้เห็นว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการนำร่างกายผู้ชายมาใช้และนำเสนอเป็นวัตถุทางเพศในอุตสาหกรรมแฟชั่น นั่นก็คือเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู และก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ๆ โดยเบนเข็มจากผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงแต่เดิมสู่ผู้ชายและเกย์มากขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดนั้นก็คือ ‘สายตา’ ของแบบที่เป็นผู้ชายจ้องมองออกมาเพื่อสื่อความหมายเชิงอีโรติกโดยตรง และเป็นภาพที่ถูกผลิตซ้ำๆ มากขึ้นในต้นยุค ’90s สายตาอันเปิดเผยและเชิญชวนอย่างโจ่งแจ้งให้ผู้ที่จ้องมองดูอยู่ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม ถูกดึงดูดให้รู้สึกเหมือนตกอยู่ในมนตร์สะกดของภาพที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามและซิกซ์แพ็ก เช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ตามปกนิตยสารดังกล่าวไปในตอนต้น แน่ละว่า ถ้าจ้องมาขนาดนี้แล้ว ใครบ้างจะไม่จ้องกลับและจับจ่ายซื้อมา—จริงไหม
Six Pack Rules the World
จากทั้งหมดที่ว่ามา ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอและการเปลี่ยนแปลงอุดมคติของความเป็นผู้ชายผ่านทางร่างกายของผู้ชาย ทั้งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นิตยสาร หรือแฟชั่น เราจะเห็นความสอดคล้องของเวลาว่า คลื่นของการเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มต้นอย่างช้าๆ มาตั้งแต่ปลายยุค 70’s ก่อนจะซัดกระหน่ำระลอกแรกในช่วงยุค 80’s ที่ถูกนำเสนอมาพร้อมๆ กันทั้งในภาพยนตร์ นิตยสาร และแฟชั่น ก่อนที่คลื่นระลอกใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดในการมองรูปร่างของผู้ชาย ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติของรูปร่างที่ผู้ชายมองว่าควรเป็น-อยากมี-หรืออยากเป็นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเชื้อของความเร่าร้อน ยั่วยวน และน่าปรารถนาในเชิงอีโรติกต่อทั้งผู้หญิงและเกย์
การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดเจนในยุค 90’s ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในสังคมโลกที่ก่อตัวมาตั้งแต่ยุค 80’s จากงานวิจัย เรื่อง The Tyranny of the ‘Six Pack’? Understanding Men’s Responses to Representations of the Male Body in Popular Culture ของ Gill, Rosalind, Henwood, Karen และ McLean, Carl A. รวมไปถึงงานวิจัยเรื่อง Rethinking Masculinity: Men and Their Bodies ของ Rosalind Gill และ Eroticizing Men: Cultural Influences on Advertising and Male Objectification ของ Deana A. Rohlinger ได้สรุปถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมคติของรูปร่างผู้ชายที่กลายมาเป็นวัตถุทางเพศที่ก่อกระตุ้นให้เกิดการจ้องมองและความปรารถนาในเชิงอีโรติกของผู้หญิงและเกย์ไว้ ดังนี้
-
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเดินทางเข้าสู่สังคมแห่งการบริโภคในระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว
เห็นได้จากการเกิดขึ้นใหม่และเติบโตของผลิตภัณฑ์ผู้ชายในตลาดโลก ทั้งแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องสำอาง น้ำหอม ที่ต้องการสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่นอกจากผู้หญิงที่ตกเป็นทาสของการบริโภคมาช้านาน จากงานวิจัยเรื่อง Eroticizing Men ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า ในปี 1992 ผู้ชายใช้เงินกว่า 88 ล้านดอลลาร์ไปกับการดูดไขมัน การยกกระชับหน้า การทำจมูก และการศัลยกรรมดวงตา และตัวเลขนี้สูงขึ้นไปอีกถึง 130 ล้านดอลลาร์ ในปี 1997 นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดจากการเติบโตของหน้าโฆษณาในนิตยสารผู้ชายในช่วงปี 90’s ไม่ว่าจะเป็น GQ, Men’s Health, Sport Illustrated, Popular Mechanics ที่สำคัญก็คือการเพิ่มขึ้นของภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์ผู้ชายที่ใช้ผู้ชายเป็นแบบในเชิงอีโรติก แต่ไม่ระบุโดยเฉพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงอีโรติกที่เกี่ยวเนื่องกับเพศใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการถ่ายภาพ เรื่องราวในภาพ การจ้องมอง รวมไปถึงข้อความต่างๆ ในโฆษณา
-
เฟมินิสต์เปลี่ยนโลก
ในช่วงปลายยุค 70’s และ 80’s เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันทางเพศจากบรรดานักกิจกรรมด้านเฟมินิสต์อย่างโหมกระหน่ำ จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสังคมมากขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องสิทธิระหว่างชายหญิงในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม กระแสเฟมินิสม์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างดีที่ส่งผลกระทบต่อการนำเสนอความเป็นผู้ชาย—ที่ก่อนหน้านี้ตั้งตัวเป็น ‘ผู้กระทำ’ เพียงอย่างเดียว ดังเช่นภาพโฆษณาต่างๆ ที่นำเสนอผู้ชายในเชิงความก้าวร้าว ความรุนแรง และกระทำต่อเพศหญิง แต่เมื่อเฟมินิสต์พยายามรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจะเริ่มเห็นได้ว่า ภาพผู้หญิงที่ถูกนำเสนอในสื่อก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน ดังเช่น ภาพโฆษณาไดเอทโค้ก ในช่วงยุค 90’s ที่ปรากฏเป็นภาพผู้หญิงกำลังต่อคิวซื้อไดเอทโค้กอยู่ในร้าน ในขณะที่สายตาก็กำลังจ้องมองชายหนุ่มผู้ใช้แรงงานร่างกายกำยำล่ำสันที่อยู่ด้านนอกไปด้วย นอกจากทำให้เห็นว่าผู้หญิงจะลุกขึ้นมาเป็น ‘ผู้กระทำ’ บ้างแล้ว ผู้ชายหรือร่างกายของผู้ชายก็กำลังค่อยๆ ตกเป็นผู้ถูกจ้องมอง ผู้ถูกกระทำในฐานะวัตถุทางเพศเช่นเดียวกัน
-
การเคลื่อนไหวของเกย์
หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Milk อันว่าด้วยชีวประวัติของ Harvey Milk นักการเมืองเกย์ที่เปิดเผยตัวคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาแห่งซาน ฟรานซิสโก จะเห็นว่าในช่วงยุค 80’s นั้น กลุ่มเกย์ในสหรัฐอเมริกามีการเคลื่อนไหวอย่างมาก ทำให้เกย์ที่กระจายตัวอยู่ในส่วนต่างๆ ของสังคมพยายามผลักดันให้เกย์เปิดเผยตัวตน และเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในโลกแฟชั่น ภาพยนตร์ วงการศิลปะและดนตรี การเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของเกย์ในยุคดังกล่าวก่อให้เกิดผลผลิตตามมามากมายในยุค 90’s หนึ่งในนั้นก็คือนิตยสารเกย์ไลฟ์สไตล์ชื่อ Attitude ของอังกฤษ ที่วางแผงฉบับแรกในปี 1994 และมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่จำเพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มเกย์มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดตลาดใหม่ที่เรียกว่า ‘Pink Money’ อันเป็นตลาดที่บรรดาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายทั้งหลายหันไปเอาใจเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น มากกว่าจะมุ่งขายให้แก่ผู้ชายเพียงอย่างเดียว
ตลาดของกลุ่มเกย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ความเป็นผู้ชายอย่างมาก โดยเฉพาะในเชิงอีโรติกเพื่อตอบสนองรสนิยมทางเพศ ผู้ชายในฐานะเพศสรีระเดียวกันจึงถูกนำเข้ามาเป็นตัวหลอกล่อดึงดูดคนกลุ่มเกย์ ในงานศึกษาเรื่อง Eroticizing Men ระบุไว้อีกเช่นกันว่า ผู้ชายถูกนำเสนอในเชิงอีโรติกโดยไม่ระบุความสัมพันธ์ทางเพศมากขึ้นในภาพโฆษณาต่างๆ
จากเหตุและปัจจัยทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นทั้งในมุมมองของผู้ชายเองว่า อุดมคติทางความคิดต่อร่างกายของผู้ชายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การนำเสนอความกำยำล่ำสันของร่างกายผู้ชายในแบบนักกีฬา มาสู่หุ่น ‘lean’ ที่มีไขมันในร่างกายไม่เกิน 3-5% เช่นทุกวันนี้ มีความเป็นมาอย่างไร และผลพวงจากสื่อต่างๆ ที่นำเสนอภาพผู้ชายในอุดมคติ ที่ทำให้ผู้ชายเกิดความอยากได้อยากมีซิกซ์แพ็กไว้ในครอบครอง รวมไปถึงการเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงและเกย์ที่หลุดพ้นและตั้งตัวขึ้นมามีสถานะที่เด่นชัดขึ้นในสังคม โลกของผู้ชายจึงไม่ได้เป็นใหญ่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป เรือนร่างของผู้ชายได้กลายเป็นวัตถุทางเพศให้จ้องมอง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ชายก็ยังสามารถใช้ร่างกายและซิกซ์แพ็กเป็นสื่อดึงดูดให้ผู้หญิงและเกย์ตกเป็นทาสจนไม่อาจละสายตาได้เช่นกัน
Tags: คาวบอย, Masculinity, เรือนร่าง, แฟชั่น, เฟมินิสต์, ทุนนิยม, six pack, ซิกซ์แพ็ค, กล้าม, หนุ่มกล้าม, เพาะกาย